7 ต.ค. 2020 เวลา 09:34 • การเมือง
7 ตุลาคม 2551
สลายการชุมนุมพันธมิตรฯ
การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่ล้อมรัฐสภาในวันนั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต มีการนำอาวุธปืน วัตถุระเบิดเข้ามาใช้ในการสลายการชุมนุมโดยไม่ได้ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากลจากหนักไปหาเบา มีผู้บาดเจ็บ 443 คน เสียชีวิต 2 คน
หลังการรัฐประหาร 2549 กลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีบทบาทในการทำให้เกิดทางตันทางการเมืองก่อนรัฐประหาร ได้ตัดสินใจกลับมาชุมนุมในวันที่ 25 พ.ค. 2551 เพื่อขับไล่รัฐบาลพรคพลังประชาชน ที่มีสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกฯ (ต่อมาเป็นสมชาย วงศ์สวัสดิ์) โดยอ้างว่ารัฐบาลเป็น “นอมินี” หรือตัวแทนของสิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯ เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ที่จะใช้อำนาจช่วยเหลือคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โดยมีการชุมนุมและเข้ายึดพื้นที่ในรัฐสภาเมื่อ 26 ส.ค. 2551 ด้วย
7 ต.ค. เป็นวันที่รัฐบาลสมชายนัดแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนจะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ในวันนั้นผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ได้ปิดล้อมทางเข้า-ออกของรัฐสภาเพื่อตอบโต้ที่ตำรวจจับ 2 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 3 ต.ค. 51 และเพื่อขัดขวางการแถลงนโยบาย โดยรัฐบาลสมชายแต่งตั้งให้ พล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ เป็นผู้นำในการเจรจาและคลี่คลายสถานการณ์กับผู้ชุมนุม โดยทำงานร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล
กำหนดการแถลงนโยบายจากเดิมที่จะใช้เวลา 3 วัน ได้ร่นลงเหลือ 2 ชั่วโมง ตลอดวันมีการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อเปิดทางให้ ส.ส. ส.ว. และฝ่ายบริหารได้เข้าและออกจากที่ประชุมสภา รวมถึงเพื่อควบคุมผู้ชุมนุม โดยผู้ชุมนุมได้มีการตอบโต้จนมีผู้บาดเจ็บทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาลทำให้เกิดแนวร่วมต่อต้านรัฐบาล ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำฝ่ายค้าน และ ส.ว. บางส่วนไม่เข้าร่วมฟังแถลงนโยบาย
การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังดำเนินต่อไป ทั้งยังขยายวงไปบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองในวันที่ 25 พ.ย. 2551 เพื่อกดดันให้สมชายลาออก ต่อมา เมื่อ 2 ธ.ค. 2551 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตยด้วยมติ 9-0 เสียง และยุบพรรคชาติไทยด้วยมติ 8-1 เสียง พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
กลุ่มการเมืองที่น่ากล่าวถึงในเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551 คือบทบาทกลุ่ม 40 ส.ว. ในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับพรรคพลังประชาชน มีการอภิปรายเรียกร้องให้สมชายลาออกหรือยุบสภากรณีสลายการชุมนุม 7 ต.ค. ก่อนหน้านี้ก็ยื่นศาลวินิจฉัยกรณีสมัคร สุนทรเวชจัดรายการชิมไปบ่นไปขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ จนมีอันต้องพ้นจากตำแหน่ง รวมถึงไม่เข้าร่วมประชุมสภาในวันแถลงนโยบายของรัฐบาลสมชายอีกด้วย
หลายคนในกลุ่ม 40 ส.ว. ยังคงมีที่ทางในการเมืองไทยในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย และรัฐบาล คสช. ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ ส.ส. เช่น ไพบูลย์ นิติตะวัน คำนูณ สิทธิสมาน ประสาร มฤคพิทักษ์ ตวง อันทะไชย สมชาย แสวงการ เจตน์ ศิรธรานนท์ รสนา โตสิตระกูล วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้มีจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จากการรัฐประหารให้สืบทอดอำนาจต่อไป ดังที่เห็นจากจุดยืนในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ ในวันที่ 6 มิ.ย. 2562
เมื่อ 31 ม.ค. 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 254 รายจากการสลายการชุมนุม 7 ต.ค. 2551 โดยสั่งให้จ่ายเงิน ตั้งแต่ 7,120 - 4,152,771.84 บาท ต่อคน ภายใน 60 วัน
ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551 มี 2 ราย ได้แก่ พ.ต.ต.เมธี ชาติมนตรี อดีตสารวัตรป้องกันปราบปราม จ.บุรีรัมย์ และอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์
อ่านเรื่องราวของกลุ่ม 40 ส.ว.
ที่มา: คมชัดลึก ไทยพีบีเอส วิกิพีเดีย เบนาร์นิวส์ ดูน้อยลง
โฆษณา