9 ต.ค. 2020 เวลา 13:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จีนกับโลกาภิวัตน์ 2.0
เปิดมุมมอง "แจ็ค หม่า" กับการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตทิศเศรษฐกิจจีนหลังวิกฤติโควิด ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ภายใต้หัวข้อที่น่าสนใจอย่าง "โลกาภิวัตน์ 2.0"
บทความ โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร | คอลัมน์มองจีนมองไทย
จีนกับโลกาภิวัตน์ 2.0 | กรุงเทพธุรกิจ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แจ็ค หม่า ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในงามสัมมนาธุรกิจใหญ่ที่เกาะไหหลำ ซึ่งจีนกำลังกำหนดให้เป็นเขตการค้าเสรีที่สำคัญแห่งใหม่ ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นครั้งแรกที่แจ็ค หม่า แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตทิศทางเศรษฐกิจจีนภายหลังจากวิกฤติโควิด ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับหลายคนวิกฤติโควิดเป็นเสมือนตัวตอกย้ำกระแสการสิ้นสุดของโลกาภิวัตน์ เพราะตอนนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างหันมาสนใจเศรษฐกิจภายในของตน การค้าและการลงทุนโลกดูเหมือนจะหยุดชะงักพร้อมกับการเดินทางข้ามประเทศที่สะดุดหยุดลง
จึงน่าสนใจยิ่งที่แจ็ค หม่า เลือกกล่าวในหัวข้อ “โลกาภิวัตน์ 2.0” และเนื่องจากแจ็ค หม่ามีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน คำกล่าวของเขาสามารถสะท้อนวิสัยทัศน์ “โลกาภิวัตน์จีนเชื่อมโลก” ของรัฐบาลจีนได้เป็นอย่างดี ที่จีนกำลังขายวิสัยทัศน์โลกาภิวัตน์ใหม่นั้น หน้าตาเป็นอย่างไร
แจ็ค หม่า เห็นว่าโลกาภิวัตน์ 2.0 หรือโลกาภิวัตน์ยุคใหม่ที่กำลังจะมาถึง แตกต่างจากโลกาภิวัตน์ 1.0 หรือโลกาภิวัตน์ในอดีตอย่างน้อย 3 ข้อ
1.โลกาภิวัตน์ 1.0 เป็นการเชื่อมโลกในยุคอุตสาหกรรมการผลิต แต่โลกาภิวัตน์ 2.0 จะเป็นการเชื่อมโลกในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
30 ปีที่ผ่านมา โลกาภิวัตน์เป็นเรื่องของการเคลื่อนที่ของสินค้าและคน แต่โลกาภิวัตน์ในช่วง 30 ปีต่อจากนี้จะเป็นเรื่องของการเคลื่อนที่ของข้อมูลและบริการ สิ่งที่จีนส่งออกจะไม่ใช่การผลิตส่วนเกิน (เช่น เหล็ก ซีเมนต์ที่เหลือจากประเทศจีน) แต่จะเป็นแพลตฟอร์มจีนหรือบริการของจีนที่จะสร้างคุณค่า ตัวอย่างเช่นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา ซึ่งจะเป็นบริการที่เชื่อมโลกเข้ากับตลาดผู้บริโภคจีน
2.โลกาภิวัตน์ 1.0 เป็นโลกาภิวัตน์ของประเทศพัฒนาแล้วและทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ แต่โลกาภิวัตน์ 2.0 จะเป็นโลกาภิวัตน์ของประเทศกำลังพัฒนา และของทุนขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นปัจจัยการผลิตในยุคใหม่ ขอเพียงมีสมาร์ทโฟน 1 เครื่องก็สามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้
ในอนาคต เอสเอ็มอีทุกบริษัทจะเป็นบริษัทข้ามชาติ แจ็ค หม่า กล่าวว่าสามสิบปีที่ผ่านมาเป็นยุคโลกาภิวัตน์ของทุนใหญ่ 6,000 บริษัท แต่ยุคต่อไปจะเป็นยุคโลกาภิวัตน์ของเอสเอ็มอี 6 ล้านบริษัททั่วโลก
3.โลกาภิวัตน์ 1.0 มีตลาดผู้บริโภค 300 ล้านคนของสหรัฐเป็นแกนกลาง ส่วนโลกาภิวัตน์ 2.0 จะมีตลาดผู้บริโภค 1,400 ล้านคนของจีนเป็นแกนกลาง ประเทศจีนจะเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ขายมาเป็นผู้ซื้อ "โลกาภิวัตน์จีนเชื่อมโลก” จึงหมายถึงให้บริษัทต่างๆ ในโลกเชื่อมเข้าสู่ตลาดมหึมาของจีน
มีนักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเร่งความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่แท้จริงแล้วคือการที่ตลาดผู้บริโภคชนชั้นกลางในจีนมีขนาดแซงหน้าสหรัฐ เป็นครั้งแรก
จากการประเมินของ McKinsey พบว่าในปี 2555 สัดส่วนของผู้บริโภคจีนที่เป็นชนชั้นกลางระดับบนมีเพียง 14% ของผู้บริโภคจีนทั้งหมด แต่ในปี 2565 สัดส่วนผู้บริโภคจีนที่เป็นชนชั้นกลางระดับบนจะเพิ่มเป็น 54% ของผู้บริโภคจีนทั้งหมด
ภายในปี 2568 ประชากร 70% ของจีนจะอาศัยในเขตเมือง แจ็ค หม่าได้อ้างถึงสถิติที่น่าสนใจว่าในปัจจุบัน สหรัฐมีเมืองที่มีประชากร 1 ล้านคนจำนวน 12 เมือง ส่วนในประเทศจีนมีเมืองที่มีประชากร 1 ล้านคนจำนวนถึง 167 เมือง และในอนาคตอาจมีถึง 300 เมือง ดังนั้น ศักยภาพในการเติบโตของตลาดผู้บริโภคจีนยังมีอีกมาก
โฆษณา