13 ต.ค. 2020 เวลา 03:27 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นักดาราศาสตร์ตรวจพบหลุมดำกลืนดาวฤกษ์
1
ภาพจำลองปรากฏการณ์ Tidal disruption event - ที่มา ESO
กล้องโทรทัศน์หลายตัวสามารถจับภาพเปลวแสงจากเหตุการณ์หลุมดำมวลยิ่งยวด (supermassive blackhole) ซึ่งมีมวลกว่า 1 ล้านมวลสุริยะ กลืนกินดาวฤกษ์ที่มีมวลพอๆ กับดวงอาทิตย์ของเราเอาไว้ได้ และนักดาราศาสตร์สังเกตเห็นปรากฏการณ์ Tidal Disruption Event หรือหลุมดำฉีกดาวฤกษ์ออกเป็นเส้นยาว (spaghettification) ขณะที่กำลังกลืนดาวฤกษ์เข้าไป ห่างจากโลกเพียง 215 ล้านปีแสง ซึ่งถือว่าใกล้ที่สุดที่เคยทำการบันทึกมา
“แนวคิดเรื่องหลุมดำ 'กลืน’ ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ๆ ลงไปฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ Tidal Disruption Event” แมทท์ นิโคลล์ หัวหน้าทีมศึกษา ผู้บรรยายและผู้ช่วยวิจัยจากราชสมาคมดาราศาสตร์ (Royal Astronomical Society) แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในสหราชอาณาจักรกล่าวในแถลงการณ์ของ ESO (European Southern Observatory – หอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป)
นักวิจัยตรวจพบเหตุการณ์นี้โดยใช้กล้องโทรทัศน์หลายตัว รวมถึงกล้อง Very Large Telescope และ New Technology Telescope ของ ESO
กล้องโทรทรรศน์ของ ESO - ที่มา ESO
“เมื่อดาวฤกษ์เคราะห์ร้ายเคลื่อนตัวเข้าใกล้หลุมดำมวลยิ่งยวดที่ใจกลางกาแล็กซี่มากเกินไป แรงดึงดูดที่มหาศาลสุดขีดของหลุมดำจะฉีกดาวให้กลายเป็นสายวัตถุเส้นบางๆ” โทมัส วีเวอร์ ผู้ร่วมวิจัยของ ESO ในประเทศชิลีกล่าวในแถลงการณ์เดียวกัน เขาอยู่ที่สถาบันดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในขณะทำการวิจัยเรื่องนี้
ปรากฏการณ์นี้พบเห็นได้ยากในอดีต เพราะหลุมดำที่กลืนกินดาวฤกษ์มักจะพ่นวัตถุต่างๆ เช่นฝุ่นออกจากดาวที่ใกล้ดับ ทำให้เหตุการณ์ถูกบดบัง เจ้าหน้าที่ ESO กล่าว โชคดีที่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ ถูกตรวจพบและทำการศึกษาตั้งแต่ตอนที่ดาวฤกษ์เพิ่งเริ่มถูกฉีกออกเป็นเส้น (ชมคลิปจำลองเหตุการณ์หลุมดำกลืนกินดาวฤกษ์ด้านล่าง)
นักวิจัยได้ทำการศึกษาเหตุการณ์ที่ตั้งชื่อว่า AT 2019qiz นี้กว่าหกเดือน ตั้งแต่แสงสว่างวาบจนเลือนหายไป การสังเกตการณ์กระทำในช่วงแสงอัลตราไวโอเลต แสงที่ตามนุษย์มองเห็น เอกซ์เรย์ และความยาวคลื่นวิทยุต่างๆ การมองเหตุการณ์ด้วยความครอบคลุมช่นนี้แสดงให้เห็นว่าวัตถุฉีดพ่นออกจากดาวอย่างไร และทำให้เห็นเปลวแสงที่ดาวฤกษ์ฉายออกมาในขณะที่ใกล้ดับ นักวิจัยกล่าว
นักวิจัยยังประเมินว่าดาวฤกษ์เคราะหร้ายนี้มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ และไม่มีโอกาสรอดจากหลุมดำที่มีมวลมหาศาลกว่า 1 ล้านมวลสุริยะได้เลย
เหตุการณ์นี้เป็นเสมือนตัวช่วยคาดการณ์สำหรับการศึกษาพฤติกรรมของสสารในสภาพแวดล้อมอันสุดโต่งรอบหลุมดำมวลยิ่งยวด งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารของราชสมาคมดาราศาสตร์
โปรดกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม
เพื่อเป็นกำลังใจให้ Space Explorer
สร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ มามอบให้คุณเป็นประจำ
โฆษณา