17 ต.ค. 2020 เวลา 04:43 • ความคิดเห็น
มืออาชีพพันธุ์ A-Adaptability การปรับตัว
คุณสมบัติที่สำคัญในโลกยุคใหม่
ทุกท่านเคยได้ยินคำว่า “ไม่เปิด เท่ากับ ไม่เปลี่ยน” กันหรือเปล่าครับ? ขยายความเพิ่มเติมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นคือ “การไม่เปิดใจ เท่ากับ ไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลง” แล้วการเปิดใจเกี่ยวอะไรกับ A ตัวที่ 4 ที่ผมจะพูดถึงในวันนี้? ก็เพราะว่า A-Adaptability การปรับตัวที่ดี จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆรับฟังความคิดที่แตกต่างภายใต้ทัศนคติที่เป็นบวก เพื่อส่งเสริมให้การปรับตัว/ ปรับปรุงในครั้งนั้น เกิดการพัฒนาจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพนั่นเองครับ
​คนที่มี A-Adaptability การปรับตัว ที่ดี ที่เก่งนั้น จะต้องมีความเข้าใจก่อนว่า “การเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดา” “ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน” ที่สำคัญ ต้องไม่ยึดติดกับความคิดแรกที่ปิ๊งขึ้นมา จะเป็นสิ่งที่ใช่เสมอ ถูกต้องเสมอไป เป็นธรรมดาที่ความคิดแรกที่เกิดขึ้น มักจะทำให้เรามี Passion ที่อยากจะทำไอเดียนั้นให้สำเร็จ แต่อย่าลืมว่าความคิดแรกนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด อย่าให้สิ่งที่อยู่ในใจอยู่แล้วแต่ต้น ทำให้เราขาดการเปิดใจรับฟังความคิดต่างจากเพื่อนร่วมงาน เพราะ นั่นเท่ากับเป็นการปิดกั้นการพัฒนาความคิดที่อาจจะเจ๋งกว่าในความคิดแรกก็ได้ จำไว้เสมอว่าการคิดต่างกัน ถือเป็นโอกาสที่จะต่อยอดในความต่างนั้น เพราะ เมื่อใดก็ตามที่เราคิดต่าง เราจะร่วมกัน find out จนเจอเหตุผลของการคิดต่างครั้งนั้น ซึ่งมันจะนำไปสู่อะไรใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเสมอ
ในมุมของธุรกิจ ปัจจุบันเกิด Startup หลายรายที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้ด้วยการพัฒนาปรับปรุงต่อยอดความคิดด้วยการปรับตัวอย่างรวดเร็ว พูดให้เห็นภาพชัด ๆ คือ จากยุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก กลายเป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า Startup ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น และ ประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้ ต่างต้องมี Adaptability การปรับตัว ที่รวดเร็วนั่นเอง น้องๆ startup จะถูกสอนให้ focus ใน pain point ที่สำคัญของลูกค้า และหาทางหา solution ในการแก้ไข แต่สิ่งสำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จมักจะมาจาการปรับเปลี่ยนมุมคิด เมื่อตั้งสมมุติฐานอะไรแล้ว เวลาลงสนามไปค้นหาข้อเท็จจริง มักจะไม่ใช่สิ่งที่คิดไว้แต่แรก แต่ทีมสำเร็จจะไม่ยึดติดกับความคิดเดิม แต่จะให้ตวามสำคัญกับข้อเท็จจริงและปรับเปลี่ยน solution จนนำมาซึ่งสิ่งใหม่จะทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจหรือบริการใหม่ๆจนประสบความสำเร็จ จุดนี้ทำให้ผมเกิดคำถามว่า แล้วถ้าเป็นปลาใหญ่ที่เร็วด้วยล่ะ? จะดีขนาดไหน? เพราะ ในมุมมองผม ขนาดองค์กรไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อความเร็วในการปรับตัว สิ่งสำคัญที่สุดเริ่มมาจาก Mindset ทัศนคติที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีของคนในองค์กร ที่เป็นบวกต่างหากครับ ที่จะทำให้การปรับตัวนั้นมีประสิทธิภาพ และ ทำให้เราเป็นทั้งปลาใหญ่ที่ว่ายน้ำได้เร็วมากขึ้นด้วย
ในชีวิตการทำงาน ผมมีโอกาสได้คุยกับน้องในทีม ถึงเรื่องของการปรับตัว จากการต้องโยกย้ายหน้าที่การทำงาน สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากเรื่องที่น้องเล่าได้ว่า การโยกย้ายงานนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ในการทำงาน ถ้าโชคดีเปลี่ยนไปเจองานที่รัก ถนัดที่จะทำ เราก็จะรับมือ และ ทำงานนั้นได้ดีพร้อมกับมีความสุข แล้วถ้าโชคไม่ดีล่ะ? ก็อาจจะทำงานนั้นไม่ได้ ทำได้ไม่ดี หรือ เกิดความเครียดสะสมจากการทำงาน ทำให้ไม่มีใจจะสู้ต่อไป ลองมองลึกลงไปในเรื่องนี้ จะเห็นเรื่องดีที่แฝงอยู่ในโชคที่ไม่ดีนั้น คือ ดีแล้วไม่ใช่เหรอ? ที่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ว่าอะไรที่ไม่ใช่ ก็คือ ไม่ใช่ ถ้าเราไม่ถนัดในงานนี้ ไม่ชอบในงานนี้จริง ๆ เราก็คงจะทำออกมาได้ไม่ดีเท่ากับสิ่งที่เราถนัดที่จะทำ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อรู้จักตัวเองดีพอแล้วว่าชอบอะไร? ไม่ชอบอะไร? ถนัดอะไร? ไม่ถนัดอะไร? จากนี้ไป คือ การมองหาจุดที่เราจะพัฒนาต่อไปให้ได้ ในสายงานที่รัก และ จงใช้ความรักในการทำงานสายนั้น เป็นแรงขับเคลื่อนการปรับตัว เพื่อพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไป อย่าหยุดที่ปรับตัว อย่าหยุดที่จะเปิดใจ ผมยังยืนยันคำเดิม “ไม่เปิด เท่ากับ ไม่เปลี่ยน” นะครับ
ถ้าวันนี้เรายังเป็นปลาตัวเล็กที่ว่ายน้ำได้ช้าอยู่ ลองนำ A ตัวที่ 4 Adaptability การปรับตัว ไปใช้พัฒนาตัวเอง พร้อมตั้งเป้าหมายดูว่า จะปรับตัวอย่างไร? เพื่อให้หลังจากนี้ จะว่ายน้ำได้ไวขึ้น จนกลายเป็นปลาที่ตัวใหญ่ ว่ายน้ำเร็วขึ้นกว่าวันนี้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา