1 พ.ย. 2020 เวลา 05:25 • ความคิดเห็น
A-Assertiveness การแสดงออกอย่างเหมาะสม
คุณสมบัติ มนุษย์พันธุ์ A
เมื่อไม่เห็นด้วยกับอะไรก็ตาม ควรกล้าที่จะพูดออกมา แสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเรามีความเห็นต่างด้วยเหตุผลใด? วันนี้ผมขอพูดถึง A-Assertiveness การแสดงออกอย่างเหมาะสม ”ตรงแต่ไม่แรง” คือ การที่เราแสดงออกด้วยคำพูดหรือกิริยาอาการว่า เรามีความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่ปิดบังหรืออ้อมค้อม แต่ไม่ก้าวร้าว ยกตัวอย่างเช่น การมีส่วนร่วมในที่ประชุม เราต้องกล้าแสดงออกทางความเห็นอย่างเหมาะสม ทำให้เกิด Productivity เป็นคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมของทั้งผู้นำ และ ผู้ตาม นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันต่อไป ในมุมมองของผม A ตัวที่ 5 นี้ ถ้าจะทำให้เกิดขึ้นพูดดูเหมือนว่าจะสร้างได้ง่าย ๆ แต่ทำจริงๆแล้วก็ยากเหมือนกันครับ จนถึงตอนนี้ตัวผมเองก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนา A-Assertiveness การแสดงออกอย่างเหมาะสม เลยครับ
​ช่วงหนึ่งของชีวิตผมเคยมีโอกาสได้ศึกษาที่ Harvard Business School ที่นั่นสอนให้ผมรู้จักกับ คุณสมบติของ A ตัวที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ได้ดีเลยทีเดียว ต้องเกริ่นนำก่อนว่า ผมเติบโตมาด้วยสังคม และ วัฒนธรรมของคนไทย ด้วยความที่เป็นเด็กต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน มีกิริยามารยาทที่ไม่แสดงออกถึงความก้าวร้าว เลยบ่มเพาะทำให้ผมและเชื่อว่าเด็กไทยแทบทุกคนต่างเติบโตมาด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ระวังคำพูดจนกลายเป็นนิสัยที่อาจกลายเป็นการไม่แสดงออกทางความคิด ติดตัวมาจนถึงวัยทำงานเลยก็ได้ ผมเองก็เป็นหนึ่งเคยที่เคยมีพฤติกรรมแบบนั้น แต่ Harvard Business School ทำให้ผมต้องปรับปรุงทัศนคติที่มีต่อการแสดงออกทางความคิดเห็นเสียใหม่ เนื่องจากตอนที่ศึกษาอยู่นั้น แรกเริ่มผมไม่กล้าแสดงออกทางความเห็นเลย ส่วนหนึ่งเกิดจากความกลัว กลัวการสื่อสารกับเจ้าของภาษา กลัวผู้ฟังไม่เข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อสาร กลัวว่าไอเดียจะดูเชย ไม่ทันสมัยในสายตาของเพื่อนรอบข้างหรือเปล่า? ผมจึงเลือกที่จะเงียบ และ ไม่แสดงออกความคิดเห็นจนเพื่อนในกลุ่มต้องคอยถาม คอยช่วยกระตุ้นให้ผมสื่อสารออกมา โดยบอกว่าความเห็นเราในกลุ่มดีและเป็นประโยชน์ ทำไมไม่พูดใน ห้องใหญ่ให้คนอื่นได้รับรู้และได้ประโยชน์บ้าง ตอนนั้นก็เลยก้าวข้ามผ่านความกลัวด้วยความคิดในใจว่า “ช่างมันละกัน ลองพูดดูก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร” ถ้าผู้ฟังจะฟังไม่รู้เรื่องก็เป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา คิดได้แบบนี้ก็เลยรู้สึกใจชื้นขึ้นมาหน่อย เลยเลือกเรื่องราวที่เรารู้สึกมั่นใจและเข้าใจดีมากหน่อยที่จะพูดออกมาเป็นจุดเริ่มต้น และก็ได้เพื่อนในกลุ่มคอยกระตุ้นให้กำลังใจ จึงได้เรียนรู้ว่าการสื่อสารของเราก็ไม่ได้แย่นะ หลังจากนั้นมาก็ปรับปรุง และ พัฒนาการสื่อสารของตนเองมาตลอดจนถึงวันนี้
ตรงแต่ไม่ก้าวร้าว
ผมได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมของการสื่อสาร รวมถึงการแสดงออกทางคิดเห็นในแต่ละบุคคลนั้น แบ่งประเภท ได้ 3 ประเภท คือ
• Passive – ไม่พูด ไม่แสดงออกทางความเห็นในที่ประชุม แต่ออกมาแสดงความเห็นนอกห้องประชุม หรือ แสดงออกว่าเห็นด้วยกับที่ประชุม แต่ในใจต่อต้าน
• Assertive – กล้าที่จะแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ กล้าคิดต่างจากผู้อื่นและมีความคิดว่าความต่างนี้จะทำให้สิ่งที่ทำกันอยู่ดีขึ้นได้
• Aggressive – สื่อสารแสดงออกอย่างก้าวร้าว อาจจะตรงแต่แรง ทั้งกิริยาอาการเสียงดัง โหวกเหวก โวยวาย แฝงไปด้วย emotion ล้วนๆ
 
 
 
ฉะนั้น A-Assertiveness การแสดงออกอย่างเหมาะสม ก็เหมือนกับทางสายกลางของการแสดงออกทางความเห็นที่ทุกคนควรมีนั่นแหละครับ เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กลับมามองที่มุมการทำงานในชีวิตปัจจุบันของผมที่มีน้อง ๆ ในทีมจำนวนหลายคนที่ผมเองก็เป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษาพวกเขาเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกัน ในบางครั้ง การแสดงออกทางความเห็นของคนที่เป็นพี่อย่างผมต้องระวังให้ดี นั้นคือ สื่อสารอย่างไร? ให้ผู้ฟังเข้าใจถึงเจตนาที่แท้จริงของความคิดเห็น ซึ่งไม่ได้เป็นไปในเชิงของคนที่อาบน้ำร้อนมาก่อน มีประสบการณ์มากกว่าทุกคนต้องฟังนะ หรือแม้แต่ ประเด็นของการตักเตือน ชี้ให้เห็นข้อ Concern จากประสบการณ์การทำงานที่เราผ่านมาก่อน จะสื่อสารออกไปอย่างไร? ให้ให้น้อง ๆ เข้าใจว่าจุดนี้ดีนะ จุดนี้ต้องปรับปรุงนะ เพราะอะไร? ภายใต้การมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั้นคือความต้องการที่จะทำงานครั้งนี้ให้เกิดประสิทธิภาพที่ดี ร่วมกันช่วยกันออกความเห็นเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการประชุม ผมจึงให้ความสำคัญกับการ “กล้าพูด “กล้าทำ” และ “กล้าแย้งในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย”
ท้ายนี้ อยากให้ทุกท่านนึกไว้เสมอว่า การประชุมจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากทุกคนที่ทำงานร่วมกันต้องการไอเดีย ความคิดเห็น คำแนะนำ คำติชม เพื่อร่วมกันพัฒนาสิ่งที่กำลังทำร่วมกัน การเตรียมการก่อนการประชุมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนควรปฏิบัติ ลองฝึกคิดทุกครั้งว่า Outcome ที่ต้องการของการประชุมในครั้งนี้คืออะไร? ฝึกจนเป็นนิสัยแล้วเราจะสามารถแสดงออกทางความคิดเห็นออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ
ชีวิตเราคงไม่สามารถไปตามใจทุกคนได้
แม้ว่าคนไทยจะถูกเลี้ยงดู หล่อหลอมให้เติบโตมาแบบวัฒนธรรมของไทย มีนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ขี้เกรงใจ และ ไม่กล้าแสดงความเห็น เพราะ กลัวว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความก้าวร้าวนั้น วันนี้ ลองปรับมุมมองใหม่กันดูนะครับ “ลดความเกรงใจ ใช้ความกล้าแสดงออกให้มากขึ้น” ผสมผสานวัฒนธรรมของเอเชีย และ ตะวันตก ที่ฝึกให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด กล้าแสดงออกตั้งแต่เล็ก นำมาปรับใช้ภายใต้พื้นฐานของความพอดี ความเหมาะสม เมื่อนั้นแหละครับที่ A ตัวที่ 5 A-Assertiveness การแสดงออกอย่างเหมาะสม จะกลายเป็นคุณสมบัติติดตัวเพื่อเป็นคนที่มีคุณภาพที่ใครๆก็อยากได้ไปร่วมงานและทำงานด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา