26 ต.ค. 2020 เวลา 13:35 • การศึกษา
คุณเคยจินตนาการถึงทายาท "ลำดับถัดไป" ไว้ไกลแค่ไหน เมื่อไม่มีพินัยกรรม จะแน่ใจได้อย่างไรว่าทรัพย์สินของเราที่หามาด้วยความเหนื่อยยาก จะตกทอดไปสู่ทายาทที่เราคิดไว้
คนที่เราคิดไว้ เขาจะมีสิทธิ์เป็นทายาทโดยธรรมอยู่ตลอดหรือไม่ เค้ามีโอกาสหมดสิทธิ์รับมรดกด้วยเหตุใดๆก็ตามไหม หากไม่มีทายาทแล้ว ทรัพย์มรดกของเราจะตกเป็นของแผ่นดิน กรณีเช่นนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับเราได้ไหม
บางทีคนใกล้ชิดของเรา ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ดูแลกัน อาจจะไม่ใช่ผู้รับมรดกของเรา ทรัพย์สินของเราอาจไปอยู่ในมือของคนที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้
ก่อนที่จะคุยประเด็นเหล่านี้กัน เรามาทำความเข้าใจกันเรื่องลำดับการรับมรดกของทายาทโดยธรรมกันก่อนค่ะ
กรณีที่ไม่มีพินัยกรรม มรดกของเราจะถูกจัดสรรไปให้แก่ทายาทโดยธรรม ซึ่งมี 6 ลำดับ และ คู่สมรสจะรับมรดกร่วมกับทายาทโดยธรรมแต่ละลำดับด้วย
ทายาทโดยธรรม 6 ลำดับมีดังนี้
1.ผู้สืบสันดาน คือ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรที่บิดารับรองบุตร และ บุตรบุญธรรม
2.บิดา มารดา
3.พี่ น้อง ร่วมบิดา และ มารดา
4.พี่ น้อง ร่วมบิดา หรือ มารดา
5.ปู่ ย่า ตา ยาย
6.ลุง ป้า น้า อา
การรับมรดกใช้หลักญาติสนิทตัดญาติห่าง คือ ถ้ามีทายาทลำดับไหนอยู่ ทายาทลำดับถัดไปก็จะหมดสิทธิ์รับมรดก โดยมีข้อยกเว้นว่า ทายาทลำดับ 1 ไม่ตัดลำดับ 2 หากลำดับ 2 ยังมีชีวิตอยู่สามารถรับมรดกร่วมกันได้ ในสัดส่วนเท่ากัน ไม่ตัดกัน
ข้อสังเกต คือ หลาน ไม่อยู่ในทายาทโดยธรรม 6 ลำดับ หลานจะมีสิทธิ์รับมรดกได้ในกรณีรับมรดกแทนที่ แต่ถ้าหลานไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่สามารถรับมรดกแทนที่ได้
แต่บางท่านก็รักและผูกพันเป็นห่วงหลานมากกว่าลูกเสียอีก ถ้าเขาไม่อยู่ในสิทธิ์ทายาทโดยธรรม ท่านสามารถส่งมอบมรดกด้วยการทำพินัยกรรมได้ค่ะ
ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/2ToS4dE
อีกเรื่องที่ควรทราบไว้ เพื่อวางแผน คือ การรับมรดกแทนที่ ซึ่งมีไว้สำหรับกรณีทายาทโดยธรรมเสียชีวิตไปก่อนเจ้ามรดก สามารถให้ผู้สืบสันดานเลื่อนขึ้นมารับมรดกแทนได้
"การรับมรดกแทนที่" เป็นสิทธิ์ที่มีไว้สำหรับทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1,3,4,6 (คือ ลูก พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา) หากตายก่อนเจ้ามรดกและเป็นผู้มีสิทธิ์รับมรดก ผู้สืบสันดานของเขา (บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย) จะสามารถขึ้นมารับมรดกแทนที่ได้
การรับมรดกแทนที่ จะยกเว้น ทายาทลำดับที่ 2 และ 5 คือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งถือว่าเป็นชั้นบุพการี เพื่อป้องกันการจัดลำดับทายาทที่ซ้ำซ้อนค่ะ
ดังนั้น ถ้าบุพการีจากไปก่อนเจ้ามรดก ก็ถือว่าหมดสิทธ์รับมรดกไป
การรับมรดกแทนที่ จำกัดเฉพาะผู้สืบสันดานทางสายโลหิตเท่านั้นนะคะ บุตรบุญธรรมไม่สามารถขึ้นมารับมรดกแทนที่ แทนผู้รับบุตรบุญธรรมได้ค่ะ
[ขออนุญาตอธิบายเป็นภาษาพูดคุยกันเพื่อความเข้าใจง่ายนะคะ ข้อกฎหมายที่ชัดเจน สามารถทำความเข้าใจได้ตามลิ้งค์อ้างอิงท้ายบทความค่ะ]
อ่านมาถึงตรงนี้ พอจะวาดผังครอบครัวของตัวเราได้หรือยังคะว่า ทายาทแต่ละลำดับของเรา เป็นใครกันบ้าง
วัตถุประสงค์ของบทความนี้ คือ ชวนให้ท่านคิดต่อค่ะว่า หากทายาทลำดับแรกของเราจากไปก่อนเรามรดกจะตกทอดต่อไปที่ใคร ??
🤔คงไม่ค่อยมีใครคาดคิดใช่ไหมคะว่า ลูกของเรา อาจจะจากไปก่อนเรา พี่น้องของเรา อาจจะจากไปก่อนเรา มรดกอาจจะตกทอดไปถึง ลุง ป้า น้า อา ที่เราไม่ค่อยติดต่อด้วยมานานแล้วก็ได้ หรือ อาจจะตกเป็นของลูกคุณลุง คุณป้า ที่เราไม่ค่อยสนิทก็ได้
ขอยกประเด็นที่น่าสนใจ ที่เป็นกรณีต้องยื่นคำร้องต่อศาลกันค่ะ
ขอบคุณภาพจาก https://bit.ly/2ToS4dE
☝คู่ชีวิตที่ใช้ชีวิตร่วมกัน สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยกันมา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะไม่ใช่ทายาทโดยธรรม ไม่มีสิทธิ์รับมรดกซึ่งกันและกัน ควรมีพินัยกรรมหรือจัดสรรทรัพย์กันไว้ให้ชัดเจน ระหว่างมีชีวิตอยู่
☝บิดา ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา จะไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของบุตร ถึงแม้จะรับรองบุตรแล้วก็ตาม ก็ไม่สามารถรับมรดกของบุตรได้ หากเราเป็นห่วงคุณพ่อที่เลี้ยงดูเรามา เราควรทำพินัยกรรมไว้ค่ะ
🔥กรณีเสียชีวิตพร้อมกันของเจ้ามรดกและทายาทโดยธรรม บุตรของทายาทโดยธรรมจะไม่สามารถรับมรดกแทนที่ได้ เนื่องจากทายาทโดยธรรมนั้น ไม่มีสภาพบุคคลในขณะรับมรดก
เช่น นายเขียว (บิดา) และ นายม่วง (บุตร) นั่งรถไปด้วยกันและเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตพร้อมกัน ด.ญ.แดง (หลาน) จะไม่สามารถรับมรดกแทนที่นายม่วง คือ มารับมรดกของนายเขียว (ปู่)ได้ เนื่องจากนายม่วง ไม่มีสภาพบุคคล ณ.วันที่เกิดการรับมรดก มรดกจะตกเป็นของทายาทโดยธรรมลำดับถัดไป
ถ้านายม่วงเป็นลูกคนเดียว และ ภรรยานายเขียวตายไปแล้ว ไม่มีทายาทโดยธรรมลำดับอื่นๆอีก สมบัติของนายเขียว จะตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งๆที่ความจริงและ ยังมี ด.ญ.แดง ซึ่งเป็นสายโลหิตและยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่สามารถรับมรดกของนายเขียวได้
"กรณีที่ไม่มีทายาทเลยหรือทายาทโดยธรรมหมดสิทธิ์รับมรดก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆก็ตาม และไม่มีทายาทโดยพินัยกรรม หรือไม่มีการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม มรดกของบุคคลนั้นก็ให้ตกเป็นของแผ่นดิน"
ถึงแม้โอกาสของการเสียชีวิตพร้อมกันแบบนี้จะเกิดขึ้นได้น้อย แต่มันก็เป็นไปได้ น่าคิดเอาไว้ใช่ไหมคะ
โอกาสที่จะไม่มีทายาทโดยธรรมมารับมรดก ยังมีอีกหลายประเด็น เช่น เรื่องเสียสิทธิในการรับมรดก การกำจัดมิให้รับมรดก การตัดมิให้รับมรดก การสละมรดกเป็นต้น
ทางที่ดี ควรจัดหมวดทรัพย์สินแยกเอาไว้ และทำพินัยกรรมเตรียมความพร้อมไว้ก่อนดีที่สุดค่ะ ถ้าไม่มีทายาทจริงๆ นำทรัพย์สินไปทำบุญบริจาคตามที่เราประสงค์ ก็ทำให้เราตายตาหลับไปอย่างสบายใจนะคะ 😉
พิชญาภัฐฐ์ AFPT
ข้อมูลอ้างอิง
อ่านเรื่องการทำพินัยกรรมเพิ่มเติมได้ที่
ติดตาม Smart Plan for Smart Life ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา