23 ต.ค. 2020 เวลา 14:00 • กีฬา
เมื่อ "เปเล่" เก่งเกินไป ... จนรัฐบาลบราซิลยกให้เป็น "สมบัติของชาติ" | MAIN STAND
เปเล่ คว้าแชมป์โลกกับทีมชาติบราซิลตั้งแต่อายุ 17 ปี และเป็นเจ้าของแชมป์โลก 3 สมัย ตลอดชีวิตค้าแข้งเขายิงประตูมากกว่า 1,200 ลูก จนมีคำกล่าวว่าเขาเป็น "นักเตะที่ดีที่สุดตลอดกาล"
อย่างไรก็ตามมีข้อสงสัยตั้งแง่ขึ้นมาว่า "ถ้า เปเล่ เก่งจริง ทำไมไม่มาเล่นในลีกยุโรปที่แกร่งกว่าบราซิลล่ะ ?" เพราะเขาใช้เวลาเล่นให้กับ ซานโต๊ส นานถึง 19 ปี จนหมดสภาพในวันที่ได้ย้ายออกไปเล่นต่างแดนครั้งแรก แถมยังเป็นการไปเล่นที่สหรัฐอเมริกาเสียอีก
นี่คือเบื้องหลังที่ทำให้ เปเล่ มีคำครหา ... ในวันที่เขาเก่งคับโลกและเด่นยิ่งกว่าใคร ๆ ในประเทศ รัฐบาลบราซิลจึงจัดการเชือดเขาด้วยกลยุทธ์แสนซับซ้อน กับการเปลี่ยนให้เขากลายเป็น "สมบัติของชาติ"
การเป็นสมบัติของชาติที่ว่านั้นหมายถึงอะไร ? และมันเกี่ยวอะไรกับการที่ เปเล่ ไม่ได้ย้ายมาเล่นให้กับยอดทีมอย่าง เรอัล มาดริด, อินเตอร์ หรือ ยูเวนตุส ในช่วงที่เขาพีกที่สุด ...
ติดตามได้ที่นี่
จังหวะลงตัว
เปเล่ เกิดมาก็เป็นเด็กมหัศจรรย์ของวงการฟุตบอลเลย ... จะพูดแบบนี้ก็ย่อมได้ แม้ว่าพ่อของเขาจะเป็นนักเตะอาชีพแต่ก็เป็นนักเตะที่ไม่ได้โดดเด่นไม่มีชื่อเสียงอะไร เนื่องจากก่อนจะมาถึงยุคปัจจุบันหรือในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ฟุตบอลในประเทศบราซิลไม่ใช่ทางออกที่ดีนักสำหรับใครสักคนที่อยากจะลืมตาอ้าปากและมีชีวิตที่สุขสบาย เพราะเป็นกีฬาที่ได้รับค่าจ้างค่าตอบแทนต่ำ
บ้านของ เปเล่ นั้นอยู่ในย่านยากจน ขาดแคลนทั้งน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ ดังนั้นเมื่อเขาลืมตาดูโลกพ่อของเขาจึงตั้งชื่อว่า เอ็ดสัน อรันเตส โด นาสซิเมนโต้ โดยหลักใหญ่ใจความนั้นอยู่ที่ชื่อแรกอย่าง เอ็ดสัน ที่ตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูผู้ค้นคิดหลอดไฟคนแรกของโลกอย่าง โธมัส อัลวา เอดิสัน เพียงแค่ตัดอักษร I ออกไป (ทว่าในสูติบัตรกลับมีอักษร I ทำเอาเกิดความสับสนไม่น้อย)
Photo : HistoryLocker
อย่างไรก็ตามเมื่อเติบโตขึ้นและได้รู้จักกับฟุตบอล เปเล่ กลายเป็นนักเตะที่ยิงประตูแหลกลาญตั้งแต่เล่นในรุ่นอายุ 11 ปี จนกระทั่งจุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นในปี 1956 ตอนนั้นเขามีอายุแค่ 15 ปี และมีฝีเท้าเกินอายุไปหลายปี จึงไปเข้าตา 1 ในสโมสรที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ซานโต๊ส และหลังจากนั้นตำนานความยิ่งใหญ่ก็เริ่มขึ้น
ช่วงเวลาที่ เปเล่ กำลังเริ่มจริงจังกับการเล่นฟุตบอลอาชีพ ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลบราซิลเข้าสู่ยุคเรืองรองภายใต้การนำของประธานาธิบดี จุสเซลิโน่ คูบิตส์เช็ก ที่มีนโยบายเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลัก เขาต้องการเปลี่ยนชนบทให้เป็นเมืองและมีความเจริญมากขึ้น
รัฐบาลของ คูบิตส์เช็ก ประกาศว่าจะปฎิรูปการเมืองทุกอย่างจากยุคเผด็จการก่อนหน้านี้ เริ่มด้วยโครงการทื่ชื่อว่า "50 ปีแห่งความก้าวหน้า" และภายในเวลาหลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เกิดเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นมากโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 80% เลยทีเดียว
Photo : FourFourTwo
เมื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศดี ทุกอย่างก็ดีตามไม่เว้นแม้แต่วงการฟุตบอล นักเตะบราซิเลี่ยนยุคเปเล่ถือว่าเป็นยุคที่โชคดีมาก เพราะเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับสถานการณ์บ้างเมืองที่กำลังลงตัว วงการฟุตบอลบราซิล ในยุคที่ โจฮัว ฮาเวลานจ์ เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล (ก่อนได้เป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ในเวลาต่อมา) จึงเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว หลายโครงการถูกวางไว้เพื่อความสำเร็จระยะยาวของวงการฟุบอลบราซิล
เปเล่ถูกเรียกตัวให้ไปรับใช้ชาติเป็นครั้งแรกหลังจากที่เขาเพิ่งลงเล่นให้ซานโต๊สแค่ปีเดียว นัดแรกในฐานะนักเตะทีมชาติบราซิลคือนัดที่ลงแข่งกับทีมชาติอาร์เจนติน่าในปี 1957 บราซิลเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป 1-2 แต่ถึงแม้ว่าบราซิลจะเป็นฝ่ายแพ้ แต่นัดนั้นก็มีความสำคัญสำหรับเขามาก คือนอกจากเปเล่จะได้ลงเล่นให้กับทีมชาติเป็นครั้งแรกในชีวิตแล้ว เขายังสามารถทำประตูได้เป็นครั้งแรกในฐานะนักเตะทีมชาติอีกด้วย น่าทึ่งมากสำหรับเด็กหนุ่มที่มีอายุเพียง 16 ปีและอีก 3 เดือนจะมีอายุได้ 17 ปี ที่สามารถทำผลงานได้ขนาดนี้ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ เปเล่ ติดทีมชาติต่อเนื่องนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ฮาเวลานจ์นำความเป็นมืออาชีพเข้ามาสู่วงการฟุตบอลแดนกาแฟเป็นครั้งแรก นักเตะทุกคนต้องเข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลชั้นนำใน ริโอ เดอ จาเนโร ซึ่งพบว่านักเตะหลายคนมีโรคประจำตัวและมีโภชนาการที่ไม่ดี มีพยาธิในลำไส้ บางคนก็เป็นซิฟิลิส โลหิตจาง มีฟันหลอ ... มีรายงานว่ามีฟันของนักเตะชุดนั้นรวมทั้งหมดกว่า 300 ซี่ถูกถอนออกมาจากปากนักเตะ ...
Photo : CONMEBOL
นอกเหนือจากเรื่องของร่างกายแล้ว การเตรียมสถานที่ฝึกซ้อมก็พิถีพิถันมาก มีการสำรวจสถานที่ถึง 25 แห่งในสวีเดนเพื่อทำเป็นแคมป์เก็บตัวที่ดีที่สุด ก่อนฟุตบอลโลกจะฟาดแข้ง แถมมีการขอเปลี่ยนจากพนักงานผู้หญิงในโรงแรมที่พักเป็นผู้ชายทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนมีสมาธิอย่างถึงที่สุด
ความพร้อมทุกอย่างในทุกๆ ทางทำให้ เปเล่ พาทีมชาติบราซิลเป็นแชมป์โลกครั้งแรกได้สำเร็จในปี 1958 โดยในทัวร์นาเม้นต์ดังกล่าว เปเล่ ทำลายแทบทุกสถิติทั้งสถิตินักเตะอายุน้อยที่สุดที่ลงเล่นในฟุตบอลโลก (17 ปี 249 วัน) นักเตะอายุน้อยที่สุดที่ยิงประตูได้ และนักเตะอายุน้อยที่สุดที่ยิงแฮตทริกได้หลังจากซัด 3 ลูกในเกมกับฝรั่งเศส
การฉลองและดื่มด่ำกับแชมป์โลกเกิดขึ้นได้ไม่นาน ยุคแห่งการผลัดเปลี่ยนก็กำลังจะมาถึงโดยที่เหล่านักเตะบราซิลชุดนั้นไม่ทันได้ตั้งตัว
อยู่ได้ด้วยพลังฟุตบอล
หลังจากผ่านช่วงเวลาของการฉลองแชมป์ เปเล่ กลับมาเล่นให้ ซานโต๊ส อีกครั้งและความร้อนแรงของเขายังไม่หยุดแค่นั้น ชื่อเสียงจากฟุตบอลโลกดังของเขายังดังกระฉ่อน หลายทีมในยุโรปรู้ดีว่ามีเพชรเม็ดงามซ่อนอยู่ที่บราซิล เด็กอายุไม่ถึง 20 ปี ที่มีจำนวนประตูมากกว่านัดที่ลงสนาม ...
ข่าวลือว่า เปเล่ กำลังจะย้ายทีมสะพัดไปทั่วหัวถนน วิล่า เบลมิโร่ บ้านเกิดของเขา และแฟน ๆ ของซานโต๊สไม่ถูกใจกับสิ่งนี้ พวกเขาไม่ต้องการให้นักเตะประวัติศาสตร์ย้ายออกจากสโมสร เรียกได้ว่า เปเล่ เก่งเกินไปจนแฟนบอลไม่อาจยอมรับวัฏจักรของโลกฟุตบอลได้เลยทีเดียว ... เช่นเดียวกันกับ ซานโต๊ส แม้จะมีข่าวลือว่ามีข้อเสนอจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทีมในอิตาลี ก็ไม่อาจจะง้างใจให้พวกเขาปล่อยไข่ในหินออกไปได้
การย้ายตัวของ เปเล่ ไม่ได้ยากเพราะสโมสรอย่างเดียว เพราะในปี 1960 มีการเลือกตั้งอีกครั้งในบราซิล จานิโต้ กัวดรอส ของพรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งชาติ ชนะการเลือกตั้ง ตัวของ กัวดรอส นั้นเป็นอนุรักษ์นิยมเต็มขั้น หลักจากได้ตำแหน่งเขาประกาศว่าจะกวาดล้างการทุจริตทั้งหมดของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามเขาไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เนื่องจากขั้วอำนาจเก่ายังแข็งแกร่ง จนสุดท้าย กัวดรอส ก็ยอมแพ้ประกาศลาออกไปเองเพราะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จนรัฐบาลฝ่ายซ้ายต้องคัมแบ็คกลับมาอีกครั้ง
Photo : Scroll.in
ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับที่ บราซิล ส่งทีมไปแข่งฟุตบอลโลกปี 1962 ที่ประเทศชีลี แม้จะมีปัญหาการเมืองในประเทศไม่นิ่งแต่บราซิลชุดนั้น "แกร่งเกินต้าน" พวกเขาสามารถเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2 ติดต่อกัน แม้ในทัวร์นาเมนต์คราวนั้น เปเล่จะประสบอาการบาดเจ็บจนได้ลงสนามเพียง 2 นัดแรกก็ตาม และแน่นอนเป็นธรรมเนียมของวงการฟุตบอลมาแต่ไหนแต่ไหน เมื่อฟุตบอลโลกจบลงการซื้อตัวนักเตะของสโมสรในยุโรปก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง
เปเล่ ตอนนั้นอายุ 22 ปี ก็ต้องถือว่าเป็นหนุ่มเต็มตัว มีความเป็นผู้ใหญ่ ร่างกายและจิตใจแข็งแกร่งที่พอจะไปลุยต่างแดน อินเตอร์, ยูเวนตุส เดินส่งตัวแทนมาถึง บราซิล ก่อนใคร โดยเฉพาะทางฝั่งยูเวนตุสที่ประธานสโมสรอย่าง จานนี่ อันเญลลี่ พร้อมมอบข้อเสนอยั่วใจ เปเล่ ด้วยการให้มีหุ้นในบริษัทรถยนต์ที่เป็นเจ้าของทีมอย่าง เฟียต ด้วย อย่างไรก็ตามอย่างที่ทุกคนรู้กัน เปเล่ เล่นในบราซิลถึง 19 ปี นั่นหมายความว่าเขาไม่ได้ย้ายทีมจากการติดต่อของ ยูเวนตุส และทีมอื่น ๆ แต่ว่าทำไมกันล่ะ ?
จังหวะนรก
เปเล่ อยู่กับ ซานโต๊ส มาอย่างยาวนานแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องความภักดีเสียทีเดียว เขาอาจจะให้สัมภาษณ์ว่าเหตุผลที่เขาไม่อยากย้ายทีมก็เพราะเหตุผลทางครอบครัวที่ไม่ต้องการไปอาศัยในยุโรป ทว่าความจริงแล้วมันเป็นเพราะเขาไม่สามารถย้ายทีมได้ต่างหาก
เจา กูลาร์ท ประธานาธิบดีในสมัยนั้นใช้ความเป็นฝ่ายซ้ายปกครองประเทศจนเริ่มเกิดปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และยังมีกฎหมายแปลก ๆ หลายอย่างที่ทำลายสุนทรียภาพของชีวิตสำหรับชาวบราซิลอีก อาทิการห้ามใส่ชุดบิกินี่บนชายหาดโคปา คาบาน่า เป็นต้น
สถานการณ์ทั้งหมดทำให้ เปเล่ ที่เป็นเจ้าแห่งโลกลูกหนังเกิดความไขว้เขวขึ้นบ้าง และเหนือสิ่งอื่นใดคือตอนนี้ไม่ใช่แค่ ยูเวนตุส แล้ว ทีมใหญ่ๆ อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด และ เรอัล มาดริด ก็พร้อมคว้านักเตะที่เก่งที่สุดในโลกมาอยู่กับทีมเช่นกัน โดยเฉพาะทางฝั่งมาดริดนั้นเดินเกมจริงจังแบบเต็มสูบอัดให้ทั้งค่าตัวและค่าเหนื่อย
มาดริด มั่นใจว่ามันจะคุ้มค่า ชาวสเปนและแฟนทั่วโลกอยากจะเห็น เปเล่ ลงเล่นบ่อย ๆ หากการย้ายทีมเกิดขึ้นกระแสทุกอย่างจะโหมกระหน่ำ ไม่เว้นแม้แต่แฟน ๆ ชาวบราซิลที่จะปันใจมาเชียร์มาดริดตามรอยพระเจ้าของพวกเขาด้วย
Photo : The Telegraph
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ อาร์ตูร์ ฮอร์เก้ คูรี่ ประธานสโมสร ซานโต๊ส เกิดไม่พอใจอย่างแรง เปเล่ กำลังจากไปโดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ต่อต้านเพราะฟุตบอลในยุโรปเจริญกว่าและมีเม็ดเงินหมุนเวียนมากกว่า ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไรท้ายที่สุดแล้ว เปเล่ คงเสร็จแน่และรอบนี้คงไม่พลิกล็อกแบบรอบที่ผ่าน ๆ มาแน่นอน
คูรี่ ต้องใช้เส้นสายเพื่อเข้าไปหารัฐบาลของ กูลาร์ท ให้ได้ โดยต้องใช้สะพาน 2 ต่อ ต่อแรกคือการไปบอกกับสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลที่มี ฮาเวลานจ์ เป็นประธานว่า การเสียเปเล่ให้กับทีมในยุโรปจะเป็นเรื่องเสียหายครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอลบราซิล เพราะ เปเล่ จะต้องเดินทางไกลมากในการกลับมาเล่นทีมชาติแต่ละครั้ง และมันจะส่งผลกระทบต่อร่างกายทำให้เขาเล่นไม่เต็มที่ หรือบางครั้งก็ไม่สะดวกเดินทางกลับมาช่วยชาติได้
ฝั่งสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลได้ยินดังนั้นก็หน้าตื่นตาโตเต็มพิกัด เพราะพวกเขามองว่าตัวเองเป็นเจ้าแห่งโลกลูกหนัง แชมป์โลก 2 สมัยติดต่อกันไม่ใช่เรื่องโกหก และนั่นทำให้พวกเขาต้องการให้ความยิ่งใหญ่สืบสานต่อไปเป็นประวัติศาสตร์ ... ดังนั้นการเป่าหูสหพันธ์ฟุตบอลบราซิลของ คูรี่ สำเร็จไปได้ด้วยดีอย่างน่าประหลาด มันง่ายราวกับปลอกกล้วย ทุกคนเห็นด้วยภายในการประชุมแค่ครั้งเดียว
Photo : AS
สหพันธ์ฟุตบอลบราซิลแทงเรื่องต่อไปยังรัฐบาลว่าการที่นักเตะที่ดีที่สุดในประเทศและในโลกอย่าง เปเล่ ออกไปเล่นในต่างแดนนั้นมีแต่ผลเสียและจะเป็นปัญหาระดับชาติ ดังนั้นรัฐบาลบราซิลควรจะทำอะไรบางอย่างก่อนที่ชาติในยุโรปจะขึ้นมาครองอำนาจโลกฟุตบอลแทน
รัฐบาลบราซิลเคาะประเด็นดังกล่าวอย่างง่ายดาย "เราเห็นด้วย" พวกเขาใช้ช่องโหว่ของกฎหมายโดยเปลี่ยนสถานะของ เปเล่ จากพลเมืองบราซิล กลายมาอยู่ในสถานะ "สมบัติของชาติ" และกฎของการเป็นสมบัติของชาตินั้นไม่อาจะถูกส่งไปนอกแผ่นดินบราซิลได้ นั่นเองคือจุดจบความฝันลุยยุโรปของเปเล่ ที่ทุกวันนี้ก็ยังมีคนสงสัยว่าหากเขามาเล่นในยุโรปฝีเท้าของเขาจะเป็นอย่างไร ?
กลับไม่ได้ไปไม่ถึง
การขัดขวางด้วยการเปลี่ยนสถานะให้ เปเล่ เป็นสมบัติของชาติอาจจะดูเป็นอะไรที่โหดร้ายโดยมีจุดเริ่มต้นจากต้นสังกัดของเขาเอง อย่างไรก็ตามในมุมมองของสหพันธ์ฟุตบอลบราซิล พวกเขาชอบอกชอบใจกับไอเดียของ ซานโต๊ส เป็นอย่างมากจนมอบสิทธิพิเศษให้ ซานโต๊ส ไม่ต้องลงเล่นฟุตบอลลีกแบบครบโปรแกรม เพราะมีเรื่องสำคัญมากกว่าให้ทำ
สิ่งที่ว่านั้น คือการจัดทัวร์ไปทั่วโลก จุดมุ่งหมายของทัวร์ครั้งนี้ของซานโต๊สนั้นง่ายนิดเดียว เพราะเป็นกุศโลบายของสหพันธ์ที่ต้องการให้ใช้ เปเล่ เป็นซูเปอร์สตาร์ดูดเงิน เพราะในเมื่อ เปเล่ ไม่ได้ไปเล่นในยุโรปแล้ว หากเขาเดินทางไปแข่งตามที่ต่างๆ ทั่วโลกมันย่อมน่าสนใจและมีผู้คนที่อยากจะชมฝีเท้าของเขาให้เห็นกับตาสักครั้ง และประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายที่ เปเล่ มาเยือนด้วยเช่นกัน โดยเขาลงเล่นให้ ซานโต๊ส ในแมตช์ที่ประเทศไทย ณ สนามศุภชลาศัย 2 นัด เมื่อปี 1972 พบ กรุงเทพผสม และ โคเวนทรี ... 2 นัดดังกล่าวเจ้าตัวยิงรวมกัน 3 ประตู
Photo : Avidly
เหนือสิ่งอื่นใดยิ่งกว่านั้น เงินค่าตั๋วที่ได้ก็ไม่ไปไหนเพราะรายได้ส่วนหนึ่ง ซานโต๊ส จะนำมาสมทบเป็นค่าเหนื่อยให้กับ เปเล่ เพื่อให้สูสีกับค่าเหนื่อยที่ทีมยุโรปพร้อมมอบให้กับเขา ... งานนี้เรียกได้ว่าทั้ง "ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว" และ "อัฐยายซื้อขนมยาย" ก็คงไม่ผิดนัก
การทัวร์ครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตของ เปเล่ และวงการฟุตบอลบราซิลหลายอย่าง เพราะเมื่อ ซานโต๊ส เล่นจนครบโปรแกรมแล้วพวกเขากลับมายัง บราซิล กลับพบว่าบ้านเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะรัฐบาลกูลาร์ทที่สนับสนุน ซานโต๊ส โดนกองกำลังทหารทำการปฏิวัติ
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นค่อนข้างเลวร้ายยิ่งกว่าเก่า จากการเปิดเผยของสำนักข่าว BBC พบว่าหลังจากเข้ายุคเผด็จการและรัฐประหาร มีนักเตะชาวบราซิลกว่าหนึ่งพันคนที่โดนรัฐบาลแทรกแทรงเรื่องการบัญชีและการเงิน
Photo : These Football Times
ในส่วนของ เปเล่ นั้นโดนจับตาทั้งเรื่องกิจกรรมส่วนตัวและการจัดการทางด้านการเงิน เงินของเปเล่ที่เข้าออกทุกบาททุกสตางค์ต้องผ่านสายตาของผู้ดูแลจากทางรัฐเสมอและกินเวลานานกว่า 6 ปีเลยทีเดียว เพราะช่วงนั้นรัฐบาลเผด็จการต้องระวังการโค่นล้มจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มฝ่ายซ้ายด้วย ...
เรื่องวุ่นวายทั้งหมดทำให้กว่า เปเล่ จะได้ออกไปรู้จักฟุตบอลต่างแดนก็สายไปเสียแล้ว หลังลงเล่นให้ ซานโต๊ส เป็นระยะเวลายาวนานถึง 19 ปี เปเล่ ก็กลายเป็นนักเตะสูงวัยที่เริ่มหมดสภาพจนโดนถอดจากสถานะสมบัติของชาติ และได้ย้ายไปค้าแข้งในสหรัฐอเมริกากับ นิวยอร์ค คอสมอส ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้นักเพราะ NASL หรือ นอร์ธ อเมริกัน ซอคเก้อร์ ลีก ในเวลานั้นแทบไม่ได้มีความแข็งแกร่งอะไรเลยเพราะเป็นยุคตั้งไข่เท่านั้นเอง
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา