26 ต.ค. 2020 เวลา 11:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
"ฮ่องกง" Top 3 ค่าเช่าบ้านแพงสุดในโลก ต้องลี้ภัยไป "แมคโดนัลด์"
ประมาณการเศรษฐกิจฮ่องกงปีนี้ (2563) หดตัวมากถึง 8% อัตราว่างงานสูงสุดในรอบ 15 ปี กว่า 6%
Top 3 ค่าเช่าที่พักอาศัยแพงที่สุดในโลก ฮ่องกงอันดับ 3 รองจากนิวยอร์กและอาบูดาบี
นับตั้งแต่เมษายน 2562 ถึงมีนาคม 2563 ชาวฮ่องกงต้องหลับนอนตามท้องถนนเพิ่มมากขึ้น เหตุเพราะราคาที่พักอาศัยและค่าเช่าแพงเกินเอื้อม
"ราคาบ้านเกินเอื้อมถึง" เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ที่ราคาดีดสูงขึ้นไปหลายเท่า หรือหากราคาพอเข้าถึงได้ ขนาดก็เล็กลงจนอยู่อาศัยได้เพียงไม่กี่คน ไม่งั้นก็ต้องแออัด แบ่งซอยกันอยู่ และแน่นอนว่า หนึ่งใน "ตลาดบ้าน" ที่ถูกกล่าวถึงมาอย่างยาวนาน หนีไม่พ้น "ฮ่องกง"
แม้ ณ เวลานี้ ทั่วโลกจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 (COVID-19) และภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ แต่ "ตลาดบ้านฮ่องกง" กลับราคาทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นหนึ่งในตลาดบ้านที่ราคา "เกินเอื้อมถึง" มากที่สุดในโลกไปแล้ว
บางคนอาจจะมองว่า "บ้านราคาแพงก็หาบ้านราคาถูกอยู่สิ หรือเช่าตามที่ตัวเองไหว" ซึ่งมันก็ถูก...หากมองในมุมที่มีตัวเลือกเยอะแบบบ้านเรา
แต่ในบางเมืองบางประเทศไม่ง่ายขนาดนั้น อย่างในเมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ราคาที่พักอาศัย ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม ล้วนราคาแพงเกินเอื้อมถึง คนท้องถิ่นไม่สามารถซื้อได้ สุดท้ายมีแต่คนจีนเข้ามาจับจอง พอเกิดโควิด-19 เขากลับประเทศกันหมด ที่พักอาศัยหลายแห่งกลายสภาพเป็น "ตึกร้าง"
"ฮ่องกง" เองแม้ไม่ถูกต่างชาติเข้ายึดครองที่พักอาศัย แต่ "ราคา" กลับแพงจนเกินเอื้อมถึง เป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตก
ยิ่งอยู่ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากวิกฤติโควิด-19 ประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 อาจหดตัวมากถึง -6% ถึง -8% จากเดิมที่รัฐบาลฮ่องกงคาดการณ์ว่าเลวร้ายสุดจะอยู่ที่ -4% ถึง -7% บวกกับอัตราการว่างงานที่ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม อยู่ที่ 5.9% ทำให้การเข้าถึง "ที่พักอาศัย" เป็นไปได้ยากขึ้น
รู้ไหมว่า ในเดือนสิงหาคม ชาวฮ่องกงถูกเลิกสัญญาเช่ากว่า 9.2% นับจากปีที่ผ่านมา
"ตกงาน" โดยไม่ทันตั้งตัว "ค่าเช่าบ้าน" ราคาสูง โอกาสในการเข้าถึงหรือถือครองที่พักอาศัยของชนชั้นแรงงานและคนที่ยืนอยู่ริมขอบเส้นความยากจน...เป็นไปได้ยากกว่าเดิม ทั้งราคาและจำนวน
ปัญหาที่ว่านี้...สร้างแรงกดดันให้กับคณะบริหารของผู้บริหารสูงสุด "แคร์รี แลม" อย่างมาก กับการดิ้นรนกู้คืนความเชื่อมั่นจากประชาชนนับล้าน หลังก่อนหน้านี้มีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า International Security Law ด้วยการให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชน 6,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 24,239 บาท
แต่นั่นก็แทบไม่ช่วยอะไร...
ตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ หากคุณได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 6,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (24,239 บาท) แต่ราคาอพาร์ตเมนต์นอกเมือง 1 ห้องนอน ที่ต้องจ่ายสูงเกือบ 13,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (52,518 บาท) หรืออพาร์ตเมนต์ใจกลางเมือง 1 ห้องนอน ก็มีราคาสูงถึง 18,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (72,717 บาท)
แต่ในความเป็นจริงแล้ว...การจะอยู่อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน ไม่ว่าจะเป็นใจกลางเมืองหรือนอกเมือง ก็เป็นเรื่องยากทั้งนั้นสำหรับชาวฮ่องกงตอนนี้
ภาพที่เกิดขึ้นคือ ชาวฮ่องกงหลายๆ คนที่อยู่ในสถานะ "ตกงาน" ต้องต่อคิวรอแบ่งห้องในโฮสเทล จ่ายเงิน 5,000 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน (20,199 บาท) แลกกับที่พักอาศัยขนาด 60 ตารางฟุต ห้องพักที่เล็กเทียบเท่าครึ่งหนึ่งของลานจอดรถ แถมหน้าต่างยังต้องปิดแทบตลอดเวลา เพื่อหลบหนีจากหนูที่วิ่งไปมาและกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง
นอกจากเงินช่วยเหลือแล้ว รัฐบาลฮ่องกงให้อะไรอีกบ้าง?
ในถ้อยแถลงของตัวแทนรัฐบาลฮ่องกง ระบุว่า รัฐบาลจะทำอย่างดีที่สุดในการให้การช่วยเหลือผู้ที่ต้องไปอาศัยหลับนอนบนถนน ผ่านองค์กรต่างๆ ที่ไม่ใช่รัฐบาล ทั้งการจัดหาห้องพักในโฮสเทลและเสบียงอาหาร รวมถึงสิ่งจำเป็นอื่นๆ เช่น การตัดผม, มื้ออาหาร และการอาบน้ำ โดยทางกรมประชาสงเคราะห์มีการเพิ่มมาตรการขยายการช่วยเหลือกรณีการว่างงานและถูกเลิกจ้างในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ด้วย
แต่จากผลการสำรวจ ชาวฮ่องกงกลับมองว่า สิ่งที่รัฐบาลทำยังไม่เพียงพอ และรู้สึกว่า... "พวกเขากำลังถูกทอดทิ้ง"
"ค่าเช่า" ที่เพิ่มขึ้น เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง พวกเขาอาจไม่สามารถเอื้อมถึง และคงต้องมองหาที่อยู่ใหม่เรื่อยๆ จนกระทั่ง...หมดหนทาง และเลือกไปอยู่บนท้องถนน
:: ฮ่องกง Top 3 ค่าเช่าที่พักอาศัยแพงสุดในโลก
ถึงแม้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฮ่องกงจะลดลง และธุรกรรมที่อยู่อาศัยจะลดลง 3% ในปี 2562 ก็ตาม แต่จากผลการศึกษาครึ่งปีแรก 2563 ของ CBRE Group บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่า "ฮ่องกง" ยังคงเป็นเมืองที่การซื้ออสังหาริมทรัพย์มีราคาแพงที่สุดในโลก เพิ่มขึ้นเกือบ 5% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ล้านบาท ส่วนค่าเช่ารายเดือนก็เฉลี่ยอยู่ที่ 84,000 บาท ลดลงจากปีที่แล้ว 1.7% แต่ก็ยังสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากนิวยอร์ก 90,000 บาทต่อเดือน และอาบูดาบี 89,000 บาทต่อเดือน
คิดภาพการใช้ชีวิตของ "ชาวฮ่องกง" ผ่านตัวเลขที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน ฮ่องกงมีประชากร 7,524,100 คน หากพวกเขาจะ "ซื้อบ้าน" ต้องเตรียมเงินเกือบ 50 ล้านบาท เพราะราคาบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ล้านบาท อัตราเติบโต 4.7% หากจะ "เช่าบ้าน" ก็ต้องเตรียมเงินเกือบแสน เพราะค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 84,000 บาท (ลดลง 1.7%) ในขณะที่ พวกเขาที่ทำงานเต็มเวลามีเงินเดือนเฉลี่ย 1,900,000 บาท หากแยกย่อยที่พวกเขาต้องจ่ายอื่นๆ อีก เช่น มื้ออาหารสำหรับ 2 คน 1,600 บาท, ค่าสมาชิกฟิตเนส 2,300 บาท, ค่าโรงเรียนประถม 574,000 บาท และค่ากาแฟ 145 บาท
1
เมื่อพวกเขาสู้ค่าเช่าไม่ไหว...เราจึงเห็น "คนนอนบนถนน" มากขึ้น
:: Homeless ภาพสะท้อนฮ่องกง
นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 จนถึงเดือนมีนาคม 2563 ตัวเลขของ "คนที่นอนบนถนน" ในฮ่องกง เพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,423 คน จากเดิม 1,297 คนในปีที่ผ่านมา ซึ่งหากจะมองว่านี่คือ "ภาพสะท้อนที่แท้จริง" ก็คงไม่ใช่ เพราะโฆษกกรมประชาสังเคราะห์ยอมรับว่า ไม่สามารถนับได้ว่า "คนไร้บ้านในฮ่องกงทั้งหมดมีกี่รายกันแน่"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ "โฮมเลส" (Homeless) หรือ "คนไร้บ้าน" ในฮ่องกงเลวร้ายลง ซึ่งจากการสำรวจขององค์กรสังคมเพื่อการสื่อสาร พบว่า 36.5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยอมรับว่า พวกเขาเริ่มเป็น "โฮมเลส" ในปีนี้
จากการลงพื้นที่สำรวจของ ImpactHK องค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐบาล (NGO) พบว่า ตามหลังคา, อุโมงค์ หรือสะพานลอย มักจะพบเห็นกลุ่มประชาชนอายุน้อยรวมตัวกัน เพราะพวกเขาไม่มีที่อยู่อาศัย โดยผู้ก่อตั้ง ImpactHK มองว่า รัฐบาลฮ่องกงไม่ได้ช่วยเหลือหรือคุ้มครองผู้เช่าเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่น การที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ยุติการฟ้องขับไล่ผู้เช่าชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือการที่นายกเทศมนตรีลอนดอนออกคำสั่งแช่แข็งค่าเช่าในเมืองหลวงเป็นระยะเวลา 2 ปี
นอกจากการนอนบนถนนแล้ว ยังมี "โฮมเลส" ที่เรียกกันว่า McRefugees
MeRefugees เป็นคำผสมมาจากคำว่า Mc ที่มาจาก McDonald และ Refugee ที่แปลว่า ผู้ลี้ภัย ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนไร้บ้านที่ไปอาศัยหลับนอนในร้านแมคโดนัลด์นั่นเอง
ทำไมพวกเขาถึงเลือก "แมคโดนัลด์" (McDonald)
1
McRefugees ในย่านซัมซุยโป หนึ่งในย่านที่แออัดมากที่สุดของฮ่องกง ให้เหตุผลกับองค์กรสังคมเพื่อการสื่อสารสั้นๆ ว่าเพราะแมคโดนัลด์เปิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่นับตั้งแต่มีการบังคับใช้ข้อบังคับเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในการจำกัดชั่วโมงของร้านอาหาร เมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แมคโดนัลด์ก็เป็นเพียงร้านเดียวที่ทานอาหารภายในร้านได้จนถึงเที่ยงคืน
หลังจากนั้นพวกเขาไปอยู่ไหน?
McRefugees บอกว่าที่หลับนอนพวกเขาเปลี่ยนเป็น "ม้านั่ง" ใกล้ๆ โรงพยาบาล เพราะมีห้องอาบน้ำที่สะอาดและการระบายอากาศที่ดี หรือหากเต็ม...ก็ต้องไปนอนบนถนนแทน
จาก McRefugees พวกเขากลายเป็น "โฮมเลส" ที่อาศัยหลับนอนบนถนน และนับวันๆ ก็ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จบสิ้นปีอาจมีอีกหลายรายที่ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยเหล่านั้นได้
ภาพของ "ฮ่องกง" นับจากนี้ อาจไม่เป็นเหมือนที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป...
การใช้ชีวิตที่ยากลำบาก หากไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านเอง งานต่างๆ ก็ล้วนได้ยากมากขึ้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และการเผชิญกับค่าเช่าที่แสนแพงเพื่อแลกกับห้องรูหนู...
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Varanya Phae-araya
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา