27 ต.ค. 2020 เวลา 05:09 • ประวัติศาสตร์
*** 10 ทางจบของการประท้วงในประวัติศาสตร์ ***
ในสถานการณ์การประท้วงที่กำลังเดือดระอุอยู่ ณ ตอนนี้ (ต.ค. 63) เรามาศึกษาว่ามันสามารถจบลงในทางใดได้บ้างโดยการศึกษาประวัติศาสตร์ของการประท้วงที่ผ่านมา บทความนี้จะพูดถึงทางจบที่ดีที่สุด (ทางที่ 1) ไล่ไปจนถึงทางจบที่แย่ที่สุด (ทางที่ 8 ) และการคลี่คลายแม้หลังจากเกิดเหตุการณ์แย่ที่สุด (ข้อ 9 และ 10)
การประท้วงเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในประวัติศาสตร์มนุษย์ เกิดขึ้นเมื่อผู้คนเห็นว่าปัญหาที่มีในสังคมนั้นไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย บ่อยครั้งเหตุการณ์นี้คือจุดสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลกไปเป็นอันมาก
ปัญหาใหญ่ในสังคมนั้นมีไม่กี่แบบ มักมาจากการที่คนรู้สึกว่าผู้ปกครองนั้นทำไม่ถูกใจบางอย่าง หลักๆ ก็จะเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจไม่พอ, การกดขี่ขูดรีดให้คนบางกลุ่มเหนือคนบางกลุ่ม, หรือการใช้อำนาจกลั่นแกล้งคนอย่างไม่เป็นธรรม
ประเด็นคือ “ผู้ปกครอง” นั่นมักไม่ใช่บุคคลคนใดคนหนึ่ง แต่เป็น “กลุ่มชนชั้น” เรียกว่ากลุ่มอีลิท (elite) ซึ่งกระจายไปปกครองแต่ละส่วนของประเทศ และมีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน การเปลี่ยนแปลงสำคัญมักจะทำให้กลุ่มอีลิทเก่าเสียประโยชน์ มันจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดขึ้น
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาจากปัจจัยหลักๆ คือการต่อสู้ทางชนชั้น หนังสือนิยายเรื่อง “1984”ของจอร์จ ออร์เวล แสดงภาพให้เราเห็นว่าในสังคมมักมีคนอยู่สามกลุ่ม คือชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง
ชนชั้นสูง (หรือกลุ่มอีลิท) มักเลี้ยงชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ให้โง่ๆ เชื่องๆ เอาไว้ใช้งาน ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องการกลุ่มคนที่ฉลาดระดับนึงไว้ช่วยการปกครอง จึงจำต้องมีชนชั้นกลางไว้เป็นมือเท้า และจะตอบแทนโดยให้ผลประโยชน์มากกว่าชนชั้นล่างบ้าง (แต่ย่อมห่างไกลจากผลประโยชน์ที่ชนชั้นสูงรักษาไว้แก่พวกตน)
ความเปลี่ยนแปลงในสังคมแต่ละครั้ง มักมาจากชนชั้นกลางที่ฉลาดพอๆ กับชนชั้นสูง อยากได้ผลประโยชน์เท่าชนชั้นสูง จึงยุชนชั้นล่างให้รวมกันมาโค่นล้มชนชั้นสูง เพื่อเปลี่ยนพวกตนเป็นกลุ่มอีลิทแทน
อีกด้านหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมมักมาจาก “เทรนใหญ่ของโลก” เทรนใหญ่ตอนนี้ได้แก่การที่เทคโนโลยีการสื่อสารของมนุษย์นั้นดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น นั่นทำให้ชนชั้นล่างเปลี่ยนตัวเป็นชนชั้นกลางได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ สังคมที่มีชนชั้นกลางมากย่อมต้องการการกระจายอำนาจ ในที่สุดจะนำไปสู่การกระจายอำนาจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เห็นจากกราฟนี้ที่ประเทศที่ปกครองด้วยประชาธิปไตยเพิ่มแซงประเทศที่ปกครองด้วยเผด็จการหลังปี 2000
...สิ่งนี้เป็นเทรนใหญ่ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงได้...
นั่นนำเรามาถึงโจทย์ที่ว่า จุดจบของการประท้วงแต่ละครั้งนั้น สามารถเป็นอย่างไรได้บ้าง
ทางจบที่ 1 “การปฏิรูป” คือการที่ผู้ปกครองยอมประนีประนอมเปลี่ยนแปลงตนเอง ตัวอย่างเช่นวงศ์กษัตริย์อังกฤษมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการต่อสู้ชิงอำนาจกับรัฐสภา แม้มีการแตกหักสังหารกันหลายครั้ง เช่นในยุคสงครามกลางเมือง (1642-1651) แต่โดยรวมแล้วกษัตริย์ค่อยๆ สละอำนาจลงเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี
ในที่สุดกษัตริย์อังกฤษก็สามารถหาทางลงที่ดีโดยเปลี่ยนตัวเองเป็นสัญลักษณ์อย่างสมบูรณ์ มีความสำคัญในการธำรงวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ทำให้อังกฤษพัฒนาเป็นประชาธิปไตยได้โดยไม่สูญเสียรากเหง้า นี่จึงเป็นทางจบที่ดีที่สุดทางหนึ่ง
ทางจบที่ 2 “การยอมลงชั่วคราว” ในระบบประชาธิปไตยของกรีกโบราณนั้นมีระบบเรียกว่า ออสตราซิซึม (ostracism) คือการโหวตให้ผู้มีอำนาจที่คนไม่นิยมต้องถูกเนรเทศออกจากเมืองเป็นเวลาสิบปี
รูปแนบ: กระเบื้องสำหรับโหวตชื่อคนออกของชาวกรีกโบราณ
ผู้ถูกเนรเทศไม่ถือว่ามีความผิด หลังจากสิบปีก็กลับมาอยู่เมืองเก่าได้ตามปกติ แต่ที่ต้องออกจากเมืองนั้นเป็นการเสียสละเพื่อยุติความขัดแย้งทางอำนาจ เปิดทางให้การบริหารประเทศดำเนินต่อได้
สิ่งนี้อาจเปรียบกับการยอมลงของฝ่ายหนึ่ง เปิดทางให้มีผู้นำใหม่หรือกลุ่มอีลิทใหม่เข้ามาทำงาน (ปกติกลุ่มอีลิทเดิมจะไม่หายไปทีเดียว จะผสมกันกับกลุ่มใหม่) นี่จึงเป็นทางออกที่ไม่บอบช้ำเกินไปนัก
ทางจบที่ 3 “การเปลี่ยนหน้า” กล่าวคือกลุ่มอีลิทต้องการลดความโกรธแค้นของปวงชนโดยไม่ต้องการเสียอำนาจ จึงเลือกคนของพวกตนอีกคนหนึ่งมาทำการรัฐประหารคนเก่า ให้ผู้ประท้วงรู้สึกว่าได้ชัยชนะบ้างแล้วก็ยอมลดกระแสการประท้วงลง ในการนี้กลุ่มอีลิทจึงสามารถปกครองต่อไปโดยผลประโยชน์ยังอยู่ภายในกลุ่มดังเดิม
ด้วยเหตุผลบางประการสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยใช้บ่อย และผมมีลางสังหรณ์ว่าครั้งนี้ก็อาจจะจบประมาณนี้ก็ได้... แต่การจบแบบนี้ไม่จบจริง เพราะปัญหาหลักยังอยู่ มันก็จะเรื้อรังต่อไป
รูปแนบ: จอมพลถนอม ผู้นำไทยในยุคที่มีการรัฐประหารกันบ่อยๆ ทั้งคนอื่นมารัฐประหาร และรัฐประหารตนเอง
ทางจบที่ 4 “การประหารผู้นำ” เกิดเมื่อการต่อสู้มาถึงจุดที่ผู้ประท้วงใช้กำลังกวาดล้างกลุ่มอีลิทเก่าอย่างรุนแรง ขับไล่ ฆ่าล้างให้บรรดาผู้มีอำนาจเดิมนั้นสูญสลายไปจากโลก การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างที่ดีของทางจบประเภทนี้
ทางจบนี้เจ็บปวดโหดร้าย มีคนบริสุทธิ์ต้องตายมากมาย มักจะมีผลตามหลังมาไม่ดี ต้องต่อสู้กันอีกนานกว่าสถานการณ์ถึงจะนิ่ง แต่ก็สามารถเกิดขึ้นเมื่อความเกลียดชังในสังคมพัฒนาถึงขีดสุด
ทางจบที่ 5 “เทียนอันเหมิน” คือการที่กลุ่มอีลิทใช้กำลังปราบผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ฆ่าล้างทำลายจนไม่มีใครกล้าหือ เป็นการกลับข้างกับทางที่สี่ ตัวอย่างที่ดีของสถานการณ์นี้ก็ตามชื่อ คือเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ปี 1989 ซึ่งรัฐบาลจีนกำจัดผู้ประท้วงที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเด็ดขาด
ไทยก็มีเหตุประมาณนี้หลายครั้ง เช่นเหตุ 6 ตุลา 1976 มีการที่กลุ่มอีลิทผลักดันฝ่ายตรงข้ามไปเป็นคอมมิวนิสต์แบบเหมารวม แล้วกำจัดอย่างโหดเหี้ยม สิ่งนี้ชั่วร้ายมาก จะเป็นตราบาปแก่คนทำไปชั่วกาลปาวสาน ...แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ตอนจบที่เลวร้ายที่สุด
การปราบปรามเทียนอันเหมิน
เมื่อการประท้วงมาถึงทางตัน ไม่หาวิธีอาจประนีประนอมได้ก็จะเกิดการต่อสู้ระหว่างกลุ่มอีลิทเก่าและผู้ประท้วง ซึ่งบ่อยครั้งการต่อสู้นั้นพัฒนาไปมากกว่าแค่การสังหารหมู่ ดังจะบรรยายในทางจบต่อๆ ไป...
ทางจบที่ 6 “สงครามกลางเมือง” ในที่นี้หมายถึงการที่ประเทศแตกเป็นหลายส่วน ผู้คนต่อสู้เข่นฆ่ากันในสงครามเต็มรูปแบบ การต่อสู้อาจยืดเยื้อไปหลายปี สังหารคนบริสุทธิ์ไม่นับได้ พาประเทศหยุดชะงัก เศรษฐกิจพังทลาย แม้สุดท้ายมีฝ่ายหนึ่งชนะสามารถรวมแผ่นดินได้ แต่ทั้งสองฝ่ายย่อมต้องบอบช้ำมาก
ไทยเองก็เคยเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายครั้ง ครั้งที่รุนแรงแต่คนไม่ค่อยพูดถึงคือสงครามปราบพระองค์เจ้าบวรเดชที่ตั้งคณะกู้บ้านกู้เมืองขึ้นมาสู้กับคณะราษฎร ตอนนั้นประเทศไทยแตกเป็นสองฝ่ายตามแผนที่แนบ สีแดงคือจังหวัดที่มีกองทหารของพระองค์เจ้าบวรเดช สีน้ำเงินคือจังหวัดที่มีกองทหารของคณะราษฎร (แผนที่นี้น่าจะไม่ตรงทีเดียว แต่เอามาลงให้เห็นอารมณ์) ครั้งนั้นฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชประสบความพ่ายแพ้ คณะราษฎรจึงปกครองต่อมา
อนึ่งสงครามกลางเมืองนอกจากจะสร้างความเสียหายมากมายแล้วยังอาจนำสู่ผลที่เลวร้ายกว่าตัวสงครามเอง นำสู่ข้อข้างหน้า
นั่นคือทางจบที่ 7 “ถูกคนนอกแทรกแซง” คำโบราณจีนบอกว่า ถ้าคนในบ้านสามัคคี คนนอกจะไม่กล้าเข้ามาทำอันตราย แต่เมื่อคนในบ้านทะเลาะกัน คนนอกย่อมฉวยโอกาสเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ...ว่าตามประวัติศาสตร์ “คนในบ้าน” เองนี่แหละก็มักเป็นผู้เรียกคนนอกมาสนับสนุนเพื่อช่วยให้ตนชนะการต่อสู้ภายใน
ภาพแนบนี้คือทัพเวียดนามบุกยึดเขมรภายใต้ความวุ่นวายหลังสงครามกลางเมืองเขมร
การที่บ้านเมืองตกอยู่ใต้อิทธิพลคนนอกนั้นไม่ใช่เรื่องดี คนนอกย่อมเข้ามาฉกฉวยแย่งชิง เอารัดเอาเปรียบอย่างสะดวกใจเพราะมิได้เห็นว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติ อย่างไรก็ดีมีคนจำนวนมากพร้อมขายผลประโยชน์ของชาติตนเองเพื่อแลกความเป็นใหญ่
ในกรณีเลวร้าย มี “คนนอก” หลายฝ่ายเข้ามาแย่งชิง บ้านเมืองนั้นจะเดือดร้อนวุ่นวาย คนในต้องต่อสู้กันเองเพื่อผลประโยชน์ของคนนอกที่เข้ามาปล้นชาติ ตัวอย่างที่ดีคือสงครามซีเรีย ซึ่งจริงๆ แล้วมีห้าสงครามเกิดขึ้นในที่เดียวกัน คือ
1. สงครามระหว่างรัฐบาลเดิมกับผู้ต้องการเปลี่ยนแปลง
2. สงครามระหว่างอเมริกากับรัสเซีย
3. สงครามระหว่างอิหร่านกับซาอุดิอาระเบีย
4. สงครามระหว่างตุรกีกับชาวเคิร์ด
5. สงครามระหว่างอัลเคดากับ ISIS
(ผมเคยเขียนรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “ประวัติย่อก่อการร้าย” หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไปหรือมีขายในเพจนะครับ)
ทางจบที่ 8 “ยุคขุนศึก” หมายถึงการที่สงครามกลางเมืองดำเนินไปเรื่อยๆ แต่ละฝ่ายผลัดกันรุกรับ ไม่สามารถเอาชนะเด็ดขาด นานปีเข้าศึกสงครามก็กลายเป็น new normal เกิดยุคที่ใครมีกำลังก็ตั้งตัวเป็นขุนศึกชิงความเป็นใหญ่
ภาพแนบ: หยวนซือไข่ ขุนศึกคนสำคัญของจีนหลังยุคราชวงศ์ชิง
ในยุคแบบนั้นบ้านเมืองจะตกสู่ความป่าเถื่อน กฎหมายไม่มีจริง ความมั่นคงไม่มีจริง สิทธิมนุษยชนมักถูกกดจนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทุกอย่างขึ้นกับขุนศึกในพื้นที่นั้นกำหนด และมันจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามผลการรบของพวกเขา
ยุคขุนศึกที่มีชื่อเสียงเช่นยุคชุนชิวจั้นกว๋อของจีน หรือยุคเซนโกคุของญี่ปุ่นซึ่งล้วนยาวนานนับร้อยปี ยุคขุนศึกอาจมีผลถึงการแบ่งประเทศหนึ่งเป็นหลายๆ ประเทศ ไม่อาจต่อคืนติดอีกเลยก็เป็นได้ ...แล้วยุคขุนศึกมักจบลงอย่างไร? เรามีคำตอบในลำดับถัดไป
ภาพแนบ: ทหารจีนยุคขุนศึก
ทางจบที่ 9 “เกิดผู้มีบุญ” ในยามที่บ้านเมืองวุ่นวายนั้น หากไม่ถึงกับล่มสลายลงเสียก่อนก็มักเกิด “ผู้มีบุญ” ขึ้นมาปราบยุค หมายถึงการที่ผู้นำซึ่งมีความสามารถและมีไพร่พลมากที่สุดสามารถรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นหนึ่ง สร้างยุคใหม่ที่บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยเป็นปึกแผ่น ตัวอย่างที่ดีเช่นพระเจ้าตากสินผู้รวบรวมก๊กชาวไทยต่างๆ ที่แตกแยกหลังกรุงศรีอยุธยาถูกทำลาย
การเกิด “ผู้มีบุญ” นี้เป็นทางที่คนชอบและใฝ่ฝันกันมาก จนหลายวัฒนธรรมมักแต่งตำนานว่าจะมียอดกษัตริย์มากู้ชาติในอนาคต เช่นตำนานพระเจ้าอาเธอร์
สังคมไทยเองก็ชอบผู้มีบุญ เพราะมีรากฐานความเชื่อว่า แต่ละคนมีบุญญาธิการไม่เท่ากัน ควรได้รับผลประโยชน์ตามปริมาณบุญนั้น และผู้มีบุญมากกว่าควรมีสิทธิปกครองผู้มีบุญน้อยกว่าด้วยธรรมะ และด้วยความรักใคร่แบบลูกหลาน
อย่างไรก็ตามแม้ “ผู้มีบุญ” จะเป็นวีรบุรุษยิ่งใหญ่ แต่ก็มีอันตราย เพราะเขานั้นยังเป็นมนุษย์ที่ย่อมทำตามผลประโยชน์ของตนเอง สามารถให้ประโยชน์พวกพ้อง หรือกำจัดศัตรูอย่างโหดเหี้ยมก็ได้
ผู้มีบุญอาจสามารถแก้ปัญหาความแตกแยกที่เรื้อรังมานาน แต่ก็สามารถสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาเช่นกัน เช่นจิ๋นซีฮ่องเต้ แม้สามารถรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่ง แต่ก็ทำร้ายกดขี่ราษฎร ใช้งานสร้างสิ่งของใหญ่ๆ เพื่อสนองอีโก้
นอกจากนั้นแม้ผู้มีบุญจะเป็นคนเก่งคนดี แต่ก็ไม่ได้แปลว่าลูกหลานหรือผู้สืบทอดของผู้มีบุญจะเป็นคนเก่งคนดีด้วย
นั่นนำสู่ ทางจบที่ 10 “โตเป็นผู้ใหญ่” ...การหวังพึ่งผู้มีบุญแม้ช่วยคลี่คลายปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่ทางอื่นทำไม่ได้ แต่มันก็ทำให้คนมีนิสัยเป็นเด็กทางการเมือง คาดหวังให้ต้องมีคนมาช่วยอยู่ตลอด เมื่อมีคนที่พอถูกใจมาก็ยอมรับเขาเป็นผู้มีบุญ แม้ถูกกดขี่บ้างก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นชีวิตที่ง่าย
การเติบโตเป็นผู้ใหญ่หมายถึงการเรียนรู้ที่จะเคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น เป็นผู้นำในการกำหนดชะตาของตนเอง แม้ตัดสินใจผิดพลาดก็ยอมรับเรียนรู้แก้ไข
ในสังคมที่เจริญแล้วมักมีการวางกลไกที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าสังคมสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโชคลาภ หรือการรวมอำนาจของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง
ประเทศที่เป็นตัวอย่างของเรื่องนี้คือประเทศที่มีการพัฒนาระบบประชาธิปไตยและคุณภาพประชากรดีเช่นประเทศทางยุโรป พวกนี้จะมีอัตราการประท้วงถึงขั้นเปลี่ยนรัฐบาลและอัตราการรัฐประหารต่ำ
...ซึ่งกว่าจะมีกลไกดังกล่าวก็ย่อมต้องผ่านพ้นเลือดและน้ำตามากมาย...
การประท้วงนั้น ทางหนึ่งสามารถมองว่าเป็นการแสดงความไม่พอใจในสังคม อีกทางก็มองได้ว่าเป็นขั้นตอนของการเติบโตขั้นหนึ่งของสังคมเช่นกัน
ประวัติศาสตร์เป็นเหมือนกระจกที่ช่วยให้เราได้ส่องเพื่อพิจารณาตนเอง ในทางจบของการประท้วงทั้งสิบทางที่ผมเสนอมานี้ ท่านอยากให้การประท้วงของเราจบลงในแนวทางใด?
:: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat
กรุ๊ปประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ https://www.facebook.com/groups/thewildchronicles/
กรุ๊ปท่องเที่ยว เที่ยวโหดเหมือนโกรธบ้าน https://www.facebook.com/groups/wildchroniclestravel/

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา