31 ต.ค. 2020 เวลา 02:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ
มีทองคำเหลืออยู่ในโลกนี้เท่าไหร่
คงจะจำกันได้ว่าช่วงประมาณเดือนส.ค ราคาทองคำทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พุ่งขึ้นเหนือ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากการเข้ามาเก็งกำไรของเหล่านักเทรดทอง ทำให้มีคำถามที่ว่าอุปทานทองคำเพียงพอหรือไม่ และในที่สุดทองคำจะหมดไปจากโลกนี้หรือไม่
ทองเป็นที่ต้องการอย่างมากในด้านการลงทุน สัญลักษณ์แห่งความมีฐานะ และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิด
แต่ทองคำก็เป็นทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัด (Infinite Resource) และในที่สุดก็จะต้องถึงเวลาที่ไม่มีทองคำในโลกที่จะถูกขุดได้อีก
Peak gold
ผู้เชี่ยวชาญด้านทองคำมีการพูดถึงคำว่า "Peak Gold" ซึ่งหมายถึง "จุดสูงสุดของทองคำ” คือเมื่อมีการขุดแร่ทองได้มากที่สุดในแต่ละปี บางคนเชื่อว่าเราได้มาถึงจุดนั้นแล้ว
ข้อมูลจากสภาทองคำโลก (World Gold Council) ระบุว่า ในปี 2562 มีการขุดทองได้ทั้งหมด 3,531 ตัน ลดลง 1% จากปี 2561 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่การผลิตลดลงลงรายปีนับตั้งแต่ปี 2551
ฮานาห์ แบรนด์สแตทเตอร์ โฆษกสภาทองคำโลก กล่าวว่า ขณะที่เห็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงของอุปทานจากการขุดทองคำในปีต่อๆไป ทางฝั่งทองคำสำรองเองก็เริ่มลดลง และการค้นพบแหล่งทองคำหลักเริ่มหายากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเหล่านี้อาจจะเป็นการด่วนสรุปว่าการผลิตทองคำได้เข้าสู่จุดสูงสุดแล้ว
แม้ว่าจะเกิดภาวะจุดสูงสุดของทองคำแล้วก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อีกหลายปี หลังจากที่เกิดภาวะดังกล่าว จึงจะมีการลดลงอย่างรุนแรงของการผลิต ทั้งนี้ จะเห็นการลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการผลิตในช่วงมากกว่า 2 ถึง 3 ทศวรรษ
Ross Norman จาก MetalsDaily.com ได้เสริมว่า การผลิตทองคำอยู่ในภาวะนิ่ง และมีแนวโน้มที่จะลดลง แต่ไม่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว
แล้วทองคำเหลือเท่าไหร่
บริษัททำเหมืองทองคำหลายแห่งได้ประเมินปริมาณทองคำที่ยังคงมีอยู่ในพื้นพิภพจากสองแหล่ง:
แหล่งสำรอง (Reserves) คือ ทองคำที่คุ้มทุนที่จะขุดขึ้นมา ณ ราคาทองคำในปัจจุบัน
แหล่งทรัพยากร (Resources) คือ ทองคำที่มีแนวโน้มที่จะคุ้มทุนสำหรับทำเหมืองหลังจากที่มีการสำรวจเพิ่มเติม หรือหลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้
การคำนวณปริมาณทองคำสำรองสามารถคำนวณได้แม่นยำกว่าทองคำจากแหล่งทรัพยากร แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม
ทองคำสำรองใต้พื้นดินนี้ ปัจจุบันมีการประเมินจาก สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US Geological Survey) ระบุว่า มีจำนวนราวๆ 50,000 ตัน และที่ผ่านมา มีการประเมินว่า ทองคำได้ถูกขุดขึ้นมาแล้วทั้งหมดราวๆ 190,000 ตัน
จากข้อมูลตัวเลขคร่าวๆนี้ ยังเหลือทองคำที่จะสามารถขุดได้อีกประมาณ 20% แต่ตัวเลขนี้ยังไม่นิ่ง
เทคโนโลยีใหม่ๆอาจจะทำให้สามารถสกัดแหล่งทองคำสำรองที่มีอยู่ที่มองว่าไม่คุ้มทุนที่จะทำเหมืองได้
นวัตกรรมใหม่ล่าสุด ได้รวมถึง Big Data, AI, และข้อมูลการทำเหมืองอัจฉะริยะ ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่กระบวนการ ทำเหมืองทองคำและลดค่าใช้จ่ายได้
ได้มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในเหมืองบางแห่งแล้ว และคาดว่าจะมีการเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์และจะกลายเป็นมาตรฐานการสำรวจเหมืองแร่ในที่สุด
แหล่งทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ แอ่งที่ราบวิตวอเตอร์สแรนด์ (Witwatersrand Basin) ซึ่งอยู่ในแอฟริกาใต้ โดยแหล่งดังกล่าวผลิตทองคำคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของทองคำทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีแหล่งทองคำหลักอื่นๆ อย่าง เหมืองมะโปเน็ง (Mponeng) ในแอฟริกาใต้ เหมืองซุปเปอร์ พิต และ เหมืองนิวมอนต์ บอดดิงตัน ในออสเตรเลีย เหมืองกราสเบิร์ก ในอินโดนีเซีย และเหมืองต่างๆใน รัฐเนวาดา สหรัฐฯ
ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่ทำเหมืองทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่แคนาดา รัสเซียและเปรู ก็เป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่
โดยในแง่บริษัทนั้น Barrick Gold ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเหมือง Nevada Gold Mines เป็นโครงการเหมืองแร่ทองคำเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลิตทองคำได้ประมาณปีละ 3.5 ล้านออนซ์
ผู้เชี่ยวชาญต่างกล่าวว่า แม้ว่าจะมีการค้นพบเหมืองทองคำใหม่ๆ แต่การค้นพบเหมืองที่มีทองคำจำนวนมากเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ
ผลก็คือ การผลิตทองในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่มาจากเหมืองเก่าที่มีการขุดทองคำมานานหลายสิบปี
การทำเหมืองขนาดใหญ่นั้นใช้ทุนอย่างมหาศาล ใช้เครื่องจักรเป็นจำนวนมาก และต้องมีความเชี่ยวชาญในการขุดเหมืองในพื้นที่กว้างทั้งบนดินและใต้ดิน
ปัจจุบัน ประมาณ 60% ของการดำเนินการขุดเหมืองในโลก เป็นการทำเหมืองบริเวณพื้นผิว ในขณะที่ทองคำที่ยังไม่ได้ขุดนั้น อยู่ใต้ดิน
MetalsDaily.com กล่าวว่า การทำเหมืองในปัจจุบันเริ่มยากขึ้นในแง่ที่ว่าหลายเหมืองที่มีขนาดใหญ่ ใช้ต้นทุนต่ำ และเป็นเหมืองเก่าหลายแห่ง อย่างในแอฟริกาใต้ เริ่มจะไม่มีทองคำให้ขุด ส่วนเหมืองทองคำของชาวจีนนั้น ก็มีขนาดเล็กกว่ามาก และมีต้นทุนที่สูงกว่า
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ยังไม่มีการสำรวจสำหรับทำเหมืองทองคำเหลือน้อย เพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองมากที่สุดในโลก อย่างแอฟริกาตะวันตก ที่น่าจะมีทองคำอยู่
แม้ว่าราคาทองคำจะพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือน ส.ค. ในปีนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้กิจกรรมการขุดเหมืองทองคำเพิ่มขึ้น
ในความเป็นจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงในการขุดเหมืองทองคำมักจะไม่ส่งผลต่อราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ เพราะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแผนการขุดทองคำ เพื่อให้สอดรับกับปัจจัยภายนอก อย่างราคาทองคำ ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงเวลาที่ราคาทองคำพุ่งขึ้น ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับการทำเหมือง เพราะเหมืองปิดทำการ หรือปิดทำการบางส่วน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส
การที่ราคาปรับสูงขึ้น ก็เป็นผลมาจากการเพร่ระบาดของไวรัส โดยนักลงทุนมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่ไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ยังไม่สามารถประเมินปริมาณทองคำใต้พิภพได้ชัดเจน แต่ก็ไม่ใช่แหล่งเดียวที่มีทองคำ ยังมีทองคำบนดวงจันทร์
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแล้ว ทั้งต้นทุนในการทำเหมืองทองคำ และขนส่งกลับมายังโลกนั้น สูงกว่ามูลค่าทองคำมาก แม้ว่าจะมีทองคำบนดวงจันทร์ แต่ก็ไม่คุ้มค่าที่จะไปทำเหมืองทองคำ น่าจะเสียมากกว่าคุ้ม
กรณีคล้ายๆกัน ยังมีแหล่งทองคำในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งก็ไม่คุ้มที่จะไปทำเหมืองแร่ที่นั่น เนื่องจากทวีปดังกล่าวมีสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง นอกจากนี้ ทองคำยังกระจัดกระจายในพื้นมหาสมุทร ซึ่งก็ไม่คุ้มที่จะไปทำเหมืองแร่เช่นเดียวกัน
ข้อดีอย่างหนึ่งของทองคำ คือ สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ซึ่งต่างจากทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (Non-Renewable Resources) อย่าง น้ำมัน แม้ว่าจะไม่มีทองให้ขุดทำเหมืองอีกก็ตาม โดยที่มีการใช้ทองคำเป็นจำนวนมากในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมองว่าเป็นของที่ใช้แล้วทิ้ง ทั้งนี้ จำนวนทองคำในโทรศัพท์โดยเฉลี่ย ยังมีน้อย เพราะฉะนั้น อาจจะต้องใช้ความพยายามที่จะรีไซเคิลทองคำที่นำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้อีกสักพักเลยค่ะ
ที่มา:
ภาพ:
โฆษณา