28 ต.ค. 2020 เวลา 15:59
#เรื่องเล่าก่อนเข้าจันทร์เจ้าขา,
#กบฏเงี้ยว
สวัสดีครับ เพื่อนๆ
วันนี้มีประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทและงานเลี้ยงนึง..
เลยโพสต์ช้ามาก..ขอโทษด้วยนะครับ 🙏💚
เพื่ออรรถรสในการอ่านจันทร์เจ้าขา คืนนี้เลยขออนุญาตเล่าถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ของกบฏเงี้ยว ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในหลายๆเหตุการณ์ต่อจากนี้นะครับ
สุขสันต์วันพุธนะครับ ❤️
#เงี้ยวไม่ใช่เกี๊ยวไม่ใช่น้ำเงี้ยวแล้วเงี้ยวคือใคร..
ถ้าตอบง่ายๆ ตามชาวบ้านล้านนาทั่วไปเข้าใจกัน ..
เงี้ยว ก็คือ ชาวพม่า หรือกลุ่มคนที่มาจากฝั่งพม่า ครับ..ในอดีตชาวพม่ากับชาวล้านนา ก็ติดต่อค้าขาย เดินทางไปมาหาสู่กัน และบางส่วน ก็ได้มาลงหลักปักฐานอยู่ในล้านนา ดังนั้น จึงมีวัด มีชุมชนของชาวพม่าอยู่ทั่วไปในล้านนา ซึ่งชาวล้านนามักเรียกวัดพม่าว่า วัดเงี้ยว เพราะสร้างโดยชาวพม่า..
แต่ถ้าตอบตามลักษณะพื้นที่ ..
“เงี้ยว” หมายถึง กลุ่มไทใหญ่ เป็นกลุ่มชนชาติไต เผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งในรัฐฉานก็มีคนไตอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน..
พวกพื้นราบ คือ พวกไต ที่อาศัยอยู่ตามที่ราบภูเขาและหุบเขา ซึ่งจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมและลักษณะความเป็นชนชาติ ได้แก่ พวกไตโหลง หรือ ไตหลวง ไตขึน หรือ ไทเขิน ไตเหนอหรือไทเหนือ ไตลื้อ, ไตยอง , ไตหย่า เป็นต้น
พวกชาวดอย คือ พวกไตที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่สูงบนภูเขา จะมีลักษณะทางสังคมเป็นชนเผ่า ซึ่งจะเป็นพวกชาวเขามีมากกว่า 30 ชนเผ่า เช่น ไตกะฉิ่น , ไตกะหล่อง , ไตกะเร่ง (กะเหรี่ยง) เป็นต้น
คำว่า “ไตโหลง” เป็นภาษาไต เมื่อเขียนเป็นภาษาไทยตามสำเนียงชาวสยามก็คือ “ไทหลวง” แต่ชาวสยามกลับนิยมเรียกว่า “ไทใหญ่” ซึ่งมีความหมายเดียวกันและใช้เรียกกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ดังเคยปรากฏหลักฐานอยู่ในพระราชกำหนดเก่าปีพุทธศักราช 2042 ในกฎหมายตราสามดวง โดยทั่วไปแล้ว ชาวสยามมักจะเรียกพวกไต ที่อยู่ในรัฐฉานทั้งหมดว่าเป็นไทใหญ่ ซึ่งไม่ได้แยกกลุ่มเหมือนปัจจุบัน
ส่วนชาวล้านนากลับเรียกพวกไทใหญ่ว่า “เงี้ยว” ในความหมายของชาวล้านนา “เงี้ยว” หมายถึง พวกชาวป่าชาวดอยที่มาจากรัฐฉานฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า มีนิสัยดุร้าย
ตามหลักฐานเก่าพบว่า “เงี้ยว” เป็นคำเก่าโบราณเคยปรากฏอยู่ในวรรณคดีของภาษาตระกูลไท – ลาว
เรื่องโองการแช่งน้ำพระพัทธ์ ซึ่งแต่งในสมัยอยุธยาตอนกลางมีความอยู่ตอนหนึ่งว่า  “งูเงี้ยวพิษทั้งหลายลุ่มฟ้า ตายต่ำหน้ายังดิน...
จากสำนวนดังกล่าวจะเห็นว่า “เงี้ยว” เป็นสำนวนที่แปลและให้ความหมายในเชิงลบและเข้าใจว่า ชาวล้านนาใช้เป็นคำเปรียบเปรย เพื่อแสดงทัศนคติต่อชาวไทใหญ่ตามอุปนิสัย
อย่างไรก็ตาม ชาวไทใหญ่เองไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น “เงี้ยว” แต่จะเรียกว่าเป็น “คนไต”.. และถือคำว่า “เงี้ยว” เป็นคำดูถูกดูแคลนอย่างหนึ่ง..
#กบฏเงี้ยว
เหตุการณ์กบฏเงี้ยวที่เกิดขึ้นใน พ.ศ.2445 และได้สังหารพระยาราชฤทธานนท์ ซึ่งในรายละเอียดจะปรากฏในจันทร์เจ้าขาในตอนต่อๆไปนะครับ..
แต่โพสต์นี้ขอสะท้อนในมุมมองไปยังแต่ละกลุ่มที่จะมาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่อจากนี้นะครับ ..
..
..
สำหรับพวกเงี้ยวนั้นไม่พอใจการปฏิรูปของสยามเฉกเช่นเดียวกับชาวล้านนาที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ..
แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าพวกเงี้ยวน่าจะได้รับการสนับสนุนให้ก่อกบฏอย่างแน่นอน ซึ่งสามารถตั้งข้อสันนิษฐานผู้สนับสนุนโดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่หนึ่ง คือ เจ้านายฝ่ายเหนือ เพราะเป็นกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์มหาศาลจากการปฏิรูปการปกครองและเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเจ้านายเมืองแพร่ ที่ได้ให้การสนับสนุนกับพวกเงี้ยว แต่ไม่มีหลักฐานว่าเจ้านายเมืองเหนือเมืองอื่น ๆ ให้การสนับสนุนพวกเงี้ยว ..
กลุ่มที่สอง คือ อังกฤษ เพราะอังกฤษอาจเข้ามาแทรกแซงจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้น โดยอาจอ้างถึงความปลอดภัยในทรัพย์สินและคนในบังคับของอังกฤษ ซึ่งเงี้ยวบางคนก็เป็นคนในบังคับของอังกฤษด้วย หรืออาจหาข้ออ้างเรียกร้องค่าชดเชยได้ว่าพวกเงี้ยวในบังคับของอังกฤษที่ถูกจับไปนั้นทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานในบริษัทค้าไม้ของอังกฤษ จึงเรียกร้องเงินชดเชยจากรัฐบาลสยาม
กลุ่มที่สาม คือ สยาม เพราะต้องการลดอำนาจของเจ้านายเมืองเหนือลง เพื่อจะได้เข้ามาจัดการผลประโยชน์และควบคุมล้านนาได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยอาจทำการสนับสนุนให้เงี้ยวก่อการกบฏ หรือกดดัน บีบบังคับ หรือยุยงให้พวกเงี้ยวก่อการณ์นี้ขึ้นมาก็ได้ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้สยามเข้ามาปฏิรูปในล้านนามากขึ้น ปราบปรามอำนาจเจ้านายเมืองเหนือ และสามารถผนวกล้านนาได้ในที่สุด
กลุ่มที่สี่ คือ ฝรั่งเศส เพราะต้องการเข้ามามีอิทธิพลเหนือล้านนาแข่งกับอังกฤษและสยาม เนื่องจากหมายปองดินแดนล้านนาที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาล..
และในสี่กลุ่มนี้เองครับ ที่จะเป็นตัวละครที่มาเชื่อมโยงต่อกันใน ตอนต่อๆจากนี้นะครับ..
สวัสดี และขอจบเพียงเท่านี้
ขอบคุณครับ
ร้อยเรียงข้อมูล
(T.Mon)
27/10/2020
ข้อมูลสนับสนุนส่วนหนึ่ง:
พระธรรมวิมลโมลี.  (2545).  100 ปี เหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2445.  พะเยา: นครนิวส์การพิมพ์.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา