Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mr. Roger Green
•
ติดตาม
31 ต.ค. 2020 เวลา 03:29 • ไลฟ์สไตล์
บันทึกความทรงจำแห่งมิตรภาพ ลาว-ไทย (The Memory of Lao-Thai's Friendship)
ตอนที่ 2
Mr.Roger Green กับ เมืองปากช่อง (ตำนานก่อนการเกิดแหล่งท่องเที่ยวบ้านหนองหลวง)
ผู้เขียน (Mr.Roger Green )
เมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังทำงานที่ปรึกษาฯ ที่ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ในยุคที่เข้าลาวช่วงแรกๆ (1989) มีโอกาสได้สัมผัสกับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ ได้ท่องเที่ยวตามป่าเขาลำเนาไพร โดยเฉพาะบนภูเพียงดงบอละเวน เขตเมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก เมืองเหล่างาม แขวงสาละวัน และเมืองท่าแตง แขวงเซกอง ที่อยู่ติดต่อกับเมืองปากช่อง ได้สัมผัสกับธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ สวยงาม และมีมนต์เสน่ห์ยิ่งนัก
ผู้เขียนมักจะหาโอกาสบุกป่าฝ่าดงเข้าไปศึกษาและเสพซับความสุข ได้ดื่มด่ำความสุนทรีย์แห่งธรรมชาติอยู่เสมอ โดยจะเสาะแสวงหา (ล่า) น้ำตก ลำธาร แก่ง เป็นหลัก ยิ่งในช่วงที่ทำธุรกิจเล็กๆ และมีครอบครัวที่เมืองปากช่อง (ที่เล่ามาแล้วในตอนที่ 1) หากได้ยินหรือมีข้อมูลว่าที่ไหนมีน้ำตก หรือตาดใหญ่ๆ ที่สวยงาม ก็จะหาโอกาสบุกไปสำรวจ เพื่อพิสูจน์ด้วยตาตนเองอยู่เสมอ
บางครั้งเคยบุกไปเพียงคนเดียวก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเลือกไปในพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการสำรวจ หรือยังไม่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วไปรู้จัก หรือยังไม่นิยมไปท่องเที่ยวกัน
ภาพ : ภูเพียงดงบอละเวน https://matthewtoro.com
เมืองปากช่อง แขวงจำปาสัก มีพื้นที่เกือบทั้งหมดตั้งอยู่บนที่ราบสูงบอละเวน ( Boloven Plateau) ที่มีชนเผ่าลาวเทิง เชื้อสายละเวน อันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบเชื้อสายมาจากเขมรและมอญ ที่เข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่ยุคขอมโบราณ ต่อมามีการผสมผสานกับชนเผ่าในท้องถิ่นเดิม และแตกเชื้อสายไปเป็นหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ละแว ตะโอ่ย ขะมุ ยาเหิน เป็นต้น
ชนเผ่าละเวนเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่บนภูเพียงแห่งนี้มากที่สุด จึงเรียกว่า “ดงบอละเวน” อันหมายถึงถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าละเวนนั่นเอง ต่อมา เมื่อแบ่งพื้นที่การปกครองเป็นแขวงต่างๆ ชนเผ่าละเวนจึงกระจายอยู่ตามแขวงอื่นๆ ด้วย เช่น แขวงอัตตะปื แขวงเซกอง และแขวงสาละวัน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าลงไปโดยรอบพื้นที่ที่ราบสูงแห่งนี้ (ภาพบน)
ภาพแสดงระดับชั้นบรรยากาศ : National Geographic
เมืองปากช่องมีฉายาว่า“ปากช่องแดนหนาว”
(The Land of Cool) เพราะอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 1,000 เมตร จุดสูงที่สุดของตัวเมืองอยู่ที่ยอดเขาภูเทวดา ราว 1,200 เมตร ส่วนจุดสูงสุดของดงบอละเวนจะอยู่ที่ยอดเขาภูดินแดง บ้านหนองหลวง ราว 1,450 เมตร ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของลาวตอนใต้ อันเป็นระดับความสูงชั้น Nimbostratus ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 2 กม. (ภาพบน) ซึ่งเป็นชั้นที่อยู่ในระดับเมฆหลายแบบ ทั้งยังอยู่ในแนวมรสุมที่พัดมาจากทะเลชายฝั่งประเทศเวียดนามเข้ามาปะทะกับแนวเทือกเขาอันนัม ( Annamite Range) ที่กั้นเขตแดนระหว่างลาว-เวียดนาม ตลอดแนวเหนือจรดใต้ จึงอ่อนกำลังลงเป็นดีเพรสชั่น ทำให้มีปริมาณความชื้นสูง ทำให้มีฝนตกชุกมากกว่าปีละ 2,500 มิลลิเมตรและบรรยากาศเย็นสบายถึงหนาวเกือบตลอดทั้งปี อันเป็นที่มาของฉายาข้างต้น
ภาพ : รถจี้บรัสเซีย (กะเตี๋ยน) : http://www.oknation.net/blog
ครั้งแรกที่ขึ้นไปเมืองปากช่อง ราวเดือน ธค. 1990 โดยรถจี้บรัสเซียยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ลาวเรียกว่ารถกะเตี๋ยน/ລົດກະຕ໋ຽນ(ภาพบน) การเดินทางจากเมืองปากเซสู่เมืองปากช่อง ใช้ถนนหมายเลข 16 E (ต่อมาคืออาเซี่ยนไฮเวย์ 11/AH132) ระยะทาง 50 กม. ถนนสายนี้จะเชื่อมต่อไปยังแขวงเซกองอีก ราว 40 กม.เศษต่อไปแขวงอัดตะปื อีก 70 กม.เศษ (รวม160 กม.เศษ) ผ่านด่านภูเกลือทางฝั่งลาว ผ่านด่านเบออี แขวงกอนตูม เข้าสู่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ขณะนั้นถนนหนทางยังทุรกันดาร พื้นถนนเละเทะ เพราะมีฝนตกมาตลอดฤดูฝน (มิย. -ตค.) ช่วงที่ไปครั้งแรกนั้น แม้จะปลายฝนเข้าสู่ต้นฤดูหนาวแล้ว แต่ก็ยังมีหมอกลงจัด มีฝนฝอยๆพรำๆ เกือบตลอดวัน บนถนนมีรถบรรทุกไม้ซุงขนาดใหญ่วิ่งกันทั้งวันทั้งคืน พื้นถนนจึงเป็นร่องลึกเป็นหลุมบ่อตลอดทาง มีรถลากไม้ซุงจอดติดหล่มกันเป็นช่วงๆ ถนนเส้นนี้เคยเป็นถนนลาดยางในยุคฝรั่งเศส แต่ขณะนั้นไม่เหลือสภาพเดิมให้เห็นเลย
เมืองปากช่อง มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นทั้งปี แม้ช่วงเดือนเมษายนที่อากาศเมืองไทย หรือแม้กระทั่งตัวเมืองปากเซที่อยู่ห่างกันเพียง 50 กม. บรรยากาศก็ต่างกันราวฟ้ากับเหว ที่เมืองนี้ตอนกลางวันอุณหภูมิสูงสุดไม่ถึง 30 องศาเซ็นเซียส กลางคืนต่ำกว่า 20 องศา ยิ่งในฤดูหนาวระหว่างธันวาคมถึงมกราคม ถ้าปีที่หนาวจัดๆ เคยลดต่ำถึงระดับใกล้ 0 องศา
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ตลอดระยะทาง 50 กม.บนเส้นทางสายนี้ จากตัวเมืองปากเซถึงเมืองปากช่อง มีสะพานเหล็กข้ามห้วยเพียงสะพานเดียว ทั้งๆ ที่ตลอดเส้นทางมีลำธาร ลำห้วยมากมาย คนโบราณเล่าว่าที่เป็นเช่นนั้น เพราะในสมัยก่อนใช้เป็นเส้นทางต้อนวัวควายจากเมืองปากช่องลงไปขายที่เมืองปากเซ ซึ่งวัวควายเหล่านั้น มันจะเลือกเดินลัดเลาะไปตามพื้นที่ที่มันไม่ต้องข้ามลำห้วย นั่นเอง
ภาพ : ถนนหมายเลข 16E ในปัจจุบัน
จำได้ว่าในวันที่ไปครั้งแรกนั้น ได้ขึ้นไปพักที่เรือนพักรับรองของรัฐบนพูเตี้ยๆ เรียกว่าภูครูบาเด (ຄູບາເດ) ที่ชื่อภูครูบาเดก็เพราะสมัยก่อนเคยเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ (ครูบา) นามว่า"ครูบาเด"
ภูนี้อยู่ใกล้ๆตัวเมืองปากช่อง มีอาคารชั้นเดียว 3 หลังๆ ใหญ่มี 20 ห้อง ลักษณะเรียงสองแถวหันหน้าเข้าหากันฝั่งละ 10 ห้อง มีช่องทางเดินตรงกลาง อีกหลังหนึ่งเป็นเรือนแถวเดียวยกพื้นสูงเล็กน้อยมีราว 15 ห้อง ด้านหน้าเป็นทางเดินและระเบียงกว้างราว 1 เมตร และมีอาคารบ้านเดี่ยวอีก 1 หลัง อาคารทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เบื้องหน้าคือภูเทวดา ภายในห้องมีเฟอร์นิเจอร์ โต้ะ ตู้ เตียง พร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้า มี Heater ไฟฟ้าทุกห้อง (มีเครื่องปั่นไฟฟ้าขนาดเล็กใช้พลังงานน้ำตกจากห้วยจำปีที่อยู่ห่างจากอาคารนี้ราว 1 กม.)
เพื่อนชาวลาวเล่าว่าอาคารเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฉลองชัยชนะในการร่วมรบของลาวและเวียดนาม ช่วยกันขับไล่จักรวรรดินิยมอเมริกา ในสงครามปลดปล่อยประเทศชาติสู่อิสรภาพ ปี 1975 ใช้เวลาก่อสร้างอย่างเร่งด่วนเพียง 45 วัน
อาคารหลังใหญ่อยู่บนจุดสูงสุดตรงหัวภูด้านหน้า สำหรับนายทหารชั้นสัญญาบัตร หรือพลเรือนขั้นผู้นำ หลังที่สองอยู่ถัดเข้าไปด้านใน สำหรับทหารชั้นประทวนและพลเรือนระดับรองลงมา ด้านหน้าอาคารห่างออกไปราว 20 เมตรเศษ มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ มีบ้านเดี่ยวอีกหลังเป็นบ้านพักของผู้ดูแล อยู่ด้านหลังของเรือนแถวนี้
ถัดจากภูคูบาเดไปด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทางซ้าย) คือภูเขาทอง ที่เรียกว่าภูเขาทอง เพราะช่วงปลายฝนต้นหนาว ต้นดอกตะวัน (ตะเว็น)หรือบัวตองบ้านเรา จะบานเหลืองอร่ามราวกับสีทองเต็มภู
จำได้ว่าคืนนั้นพวกเราก่อกองไฟสังสรรกันที่บริเวณกลางแจ้งด้านหน้าอาคารหลังใหญ่ (ไม่มีไฟฟ้าเพราะทิ้งร้างมานาน) จนดึกดื่น ท่ามกลางความหนาวเย็นยะเยือกและชื้นมาก เพราะมีเมฆหมอกปกคลุมหนาทึบทั้งคืน
พอรุ่งเช้าพบว่าน้ำในตุ่มกลายเป็นแผ่นน้ำแข็งบางๆ ลอยอยู่ผิวน้ำ อุณหภูมิคืนนั้นน่าจะต่ำใกล้จุดเยือกแข็ง
ภาพ : ภูครูบาเด : ที่ตั้งโรงแรมภูเทวดา
ปัจจุบันอาคารแห่งนี้ถูกรื้อทิ้งทั้งหมด เพื่อก่อสร้างเป็น “โรงแรมภูเทวดา” ในปัจจุบัน โดยการร่วมลงทุน(Joint Venter) ระหว่างชาวลาวเชื้อสายจีนกับชาว สป.จีน แผ่นดินใหญ่
คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าภูเขาที่ตั้งโรงแรมแห่งนี้ชื่อภูเทวดา แต่จริงๆแล้ว “ภูเทวดา” จะอยู่ห่างเมืองปากช่องออกไปทางตะวันออกราว 2-3 กม. อยู่ทางตะวันออกของเส้นทางไปเมืองท่าแตง แขวงเซกอง ซึ่งยอดภูเทวดาเป็นจุดสูงสุดของตัวเมือกปากช่องดังที่เล่ามาแล้ว
ภูเทวดาลูกนี้ในอดีตเป็นภูเขาไฟที่สงบหลายพันปีแล้ว แต่ยังปรากฏปากปล่องรูปร่างคล้ายชามหรือสนามกีฬาขนาดใหญ่ (Super Bowl) พื้นด้านล่างตรงกลางพื่นที่ราบราวยี่สิบไร่เห็นจะได้ ในฤดูฝนมีน้ำท่วมขังคล้ายบึงขนาดใหญ่ แต่น้ำไม่ขังอยู่นานนักเพราะดินภูเขาไฟจะมีรูพรุนจึงเก็บน้ำไม่อยู่ ในหน้าแล้ง (ฤดูหนาว-ฤดูร้อน) กลายเป็นทุ่งหญ้าที่ชาวบ้านจะต้อนฝูงวัวความขึ้นไปกินหญ้า
ภาพเจดีย์คู่ : http://tatui.prohosts.org
ตรงพื้นที่ติดถนนใกล้ทางเข้าอาคาร มีการก่อสร้างเจดีย์คู่ (ภาพบน) องค์ด้านตะวันออก (ซ้าย) เป็นของลาว ส่วนองค์ทางขวาเป็นของเวียดนาม สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน เพราะพื้นที่เมืองปากช่องเคยเป็นฐานทัพใหญ่ของกองกำลังลาวอิสระ ที่อยู่ฝ่ายพรรคประชาชนปฏิวัติลาว มี “ท่านสีทน องแก้วกมมะดำ“ คนชนเผ่าละเวน เป็นผู้บัญชากองกำลังที่มีบทบาทสำคัญในการรบจนได้รับชัยชนะ ถือว่าเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งในสงครามปลดปล่อยชาติ 1975 ปัจจุบันรัฐบาลลาวได้ก่อสร้างอนุสาวรีย์องกมมะดำ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ตั้งอยู่ไม่ไกลจากภูครูบาเดนี้ (ภาพล่าง)
ภาพ : อนุสาวรีย์ ท่านสีทน กมมะดำ (ທ່ານສີທົນ ຫຼື ອົງແກ້ວ ກົມມະດຳ) เมืองปากช่อง
ดงบอละเวน นับเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารหลายสาย ส่วนใหญ่เป็นลำห้วยสาขาที่ไหลจากด้านบนลงสู่เบื้องล่างและไหลลงสู่แม่น้ำโขง เขตเมืองปากเซ เมืองบาเจียง และเมืองปะทุมพอน แขวงจำปาสัก เช่น ห้วยจำปี ห้วยบางเลียง ห้วยน้ำพาก ห้วยกะตาน ห้วยตวย และสายเล็กสายน้อยอีกหลายสาย
บนพื้นที่ดงบอละเวนจึงอุดมไปด้วยตาด (น้ำตกจากภูเชา) ทั้งยังเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟสำคัญที่สุดของ สปป.ลาว (Coffee Land of Lao) ตอนที่ผู้เขียนอยู่ทางอีสานเมืองไทยก็ไม่เคยเห็นต้นกาแฟจริงๆ มาก่อน แต่ทราบว่ากาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกแถบอเมริกาใต้ ลาตินอเมริกา และแอฟริกา
ส่วนในเอเชียที่เคยทราบมาจะมีปลูกมากที่สุดที่ประเทศอินโดนีเซีย ทั้งยังเป็นเขตที่ปลูกพืช ผัก ดอกไม้ และผลไม้เมืองหนาวได้หลายชนิด จึงรู้สึกชอบเมืองนี้นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ไปสัมผัส และตั้งใจว่าวันหนึ่งจะต้องหาโอกาสมาอยู่ที่เมืองนี้ยาวๆ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากมีบ้านพักตากอากาศ หรือตั้งหลักปักฐานที่เมืองนี้ จึงหาโอกาสมาเยี่ยมเมืองนี้บ่อยครั้ง ซึ่งในที่สุดก็ได้อยู่ที่เมืองนี้สมใจ ตามที่เคยเล่าแล้ว (ตอนที่ 1)
ภาพ : บนด่านสินไช บ้านหลัก 38
ในยุคนั้น การเข้าไปถึงตัวน้ำตกต่างๆ ยังไม่มีถนนหนทางเข้าไปได้ง่ายๆ เลย ต้องบุกป่าฝ่าดงเดินตามร่องรอยที่นายพรานออกไปหาล่าสัตว์ มีที่พอเข้าไปง่ายหน่อยก็แค่ตาดฟานที่ทางเข้าอยู่ใกล้ กม.ที่ กม.38 เส้นทางสาย 16 E ขึ้นอยู่กับบ้านหลัก 38 ที่ทางเข้าอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับทางเข้าไปห้วยจำปี ตาดจำปี และ ทางขึ้น“ด่านสินไช” (ภาพบน)
ด่านสินชัยเป็นภูเขาที่บนยอดเขามีลานสน ทุ่งหญ้า ลานหิน และหินดึกดำบรรพ์รูปร่างประหลาดๆ หรือเราเรียกว่าภูเขาตัด ที่ลาวเรียกว่า “ด่าน” เป็นที่รู้จักกันดีมาแต่โบราณ ที่อาจเคยได้ยินตำนานหรือนิทานเรื่อง “สังสินไซ” หรือในเพลงลาวหลายเพลงก็เคยกล่าวถึงด่านสินไชแห่งนี้
ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดด่านสินไซ มีหลวงปู่ศักดิ์สิทธิ์ ศิริปัณโย (ຫຼວງປູ່ສັກສິດ ສິລິປັນໂຍ) เป็นเจ้าอาวาส (ภาพล่าง)
ภาพ : วัดด่านสินไช บ้านหลัก 38
ตาดฟานเป็นน้ำตกแฝดเกิดจากลำห้วย 2 สาย ไหลตกหน้าผาใกล้ๆ กัน ความสูงจากหน้าผาถึงพื้นก้นเหวกว่า 200 เมตรเศษ จุดชมวิวจะอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับหน้าผาน้ำตก ระยะห่างระหว่างหน้าผาทั้งสองด้านน่าจะมากกว่า 500 เมตร มีศาลาชมวิวอยู่ 1 หลัง ตั้งอยู่ใกล้หน้าผา
ส่วนสาเหตุที่ชื่อตาดฟาน (กระจง) เนื่องจาก มีตำนานเล่าถึงที่มาของชื่อ “ตาดฟาน” เนื่องจากป่าแถบนั้นมีฟานหรือกระจงชุกชุม วิถีชีวิตของชาวบ้านสมัยนั้นยังเข้าป่าหาของป่าและล่าสัตว์เป็นอาหาร มีเรื่องเล่าว่ามีนายพรานไปล่าสัตว์แล้วได้ยิงฟาน (เก้ง) ฟานตัวนั้นได้วิ่งหนีตายโดดข้ามลำห้วยใกล้ผาน้ำตกแต่พลาดไหลไปตามน้ำจนตกลงกน้าผาตาย นั่นเอง
ภาพ : ตาดฟานรีสอร์ท บ้านหลัก 38
ในสมัยฝรั่งเศสปกครอง มีทางแคบๆ พอรถจิ้บวิ่งได้ เข้าไปยังศาลาชมวิวใกล้หน้าผา อยู่ตรงกันข้ามกับผาน้ำตกที่อยู่ฟากเหวอีกฝั่ง เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ขนาดราว 5x5 เมตร ไม่มีฝาผนัง มีเพียงราวระเบียงรอบทิศ หลังคาทรงจั่ว มุงสังกะสีหรือกระเบื้องไม่แน่ใจ กึ่งกลางจั่วหลังคาด้านบนมีแกนไม้ยอดแหลมปลายกลมมน ตัวอาคารยกพื้นสูงราว 1.5 เมตร ถ้าจำไม่ผิดคือทาสีฟ้า
แต่ในช่วงที่ผู้เขียนเข้าไปเห็นตอนนั้นมันเป็นฟ้าหม่นๆ แล้ว ผู้เขียนเข้าไปชมตาดและเห็นศาลาหลังนี้หลายครั้ง เคยถ่ายภาพไว้ด้วย เสียดายที่สูญหายไปหมด (แต่ยังพอจดจำภาพได้)
อาคารหลังนี้ไม่ได้ใช้งานไม่มีการบูรณะซ่อมแซมมาหลายสิบปี จึงผุพังจนใช้การไม่ได้แล้ว เนื่องจากตากฝน โดนละอองน้ำจากเมฆหมอกและจากละอองน้ำตกที่พัดเข้ามาปะทะตลอดเวลา แทบไม่ได้เจอแดดเลย เพราะป่าไม้ปกคลุมหนาทึบ จนไม้ผุเปื่อย หลังคาโหว่ พื้นเป็นร่อง ระเบียงรอบๆ รวมทั้งบันไดก็พังลงเกือบหมด เสาก็โย้เอียง เป็นที่เกิดและเติบโตของตะไคร่น้ำ มอส และไลเค่น เห็นอยู่ทั่วอาคาร
ภาพ : ตาดฟานรีสอร์ท บ้านหลัก 38
ราวปี 1993 ได้มีโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณตาดฟาน แรกๆก็รื้ออาคารชมวิวของฝรั่งเศสทิ้ง และสร้างอาคารร้านอาหารขึ้นมาแทนที่ แต่ไม่ได้เปิดบริการจริงจังนัก
จนกระทั่งราวปี 1995 รัฐบาลได้อนุญาตโครงการร่วมลงทุนระหว่างเอกชนลาว ถ้าจำไม่ผิดคือ พ่อเฒ่าคูมะนี อดีตเจ้าแขวงจำปาสักคนก่อนท่านอ่อนเนื้อ พมมะจัน กับนักลงทุนต่างประเทศ ที่ดูเหมือนจะเป็นญาติชาวฝรั่งเศสของพ่อเฒ่าเอง มีการสร้างร้านอาหารตรงศาลาชมวิวเดิม ตัวอาคารเป็นอาคาร 2 ชั้น ขยับเข้าไกล้หน้าผาเพื่อให้เห็นวิวน้ำตกได้ชัดเจนขึ้น พร้อมทั้งสร้างบ้านพัก 3-4 หลัง
ต่อมาน่าจะมีการร่วมทุนหรือเปลี่ยนมือเป็นเจ้าของรายใหม่ ซึ่งปัจจุบัน นอกจากจะปรับปรุงร้านอาหาร สร้างที่พักแล้ว ยังเปิดเป็นตลาดขายผลิตภัณฑ์ชุมชน (Otop) ด้านหน้าก่อนเข้าถึงตัวรีสอร์ทด้วย
นอกจากนั้น หลังจากการเปิดแหล่งท่องเที่ยวบ้านหนองหลวง ในปี 2004 ที่มีผู้ลงทุนทำรีสอร์ท บ้านต้นไม้ (Top Tree House) และสายสะลิงลอยฟ้า (Zipline) ข้ามผาน้ำตกตาดขะมึด และตาดเสือไหลลงมาบรรจบกัน (เล่าเรื่องทวิบรรจบแล้ว ตอนที่ 1) ปรากฏว่าได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศพอสมควร ต่อมาจึงมีการสร้าง Zipline ข้ามจากฝั่งตาดฟานรีสอร์ทไปถึงผาน้ำตก ราวปี 2017-2018) โดยมีทีมงานช่างบ้านหนองหลวงที่มีประสบการณ์และชำนาญงานการก่อสร้าง การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ รวมทั้งการบริการ Zip line คล้ายกับที่บ้านหนองหลวงมาช่วยก่อสร้างและร่วมงานด้วย
หมายเหตุ เรื่องราวเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวบ้านหนองหลวงได้เกริ่นไว้ในบทความเรื่อง "ทวิบรรจบ"
https://www.blockdit.com/articles/5f80358cfbcf7231ce31c6d8
และเรื่องความสัมพันธ์อันดีงาม ลาว-ไทย ตอนที่ 1
https://www.blockdit.com/articles/5f8e50f40e01730cc9189236
ภาพ : Zipline ณ ตาดฟานรีสอร์ท
ส่วนบรรดาตาดอื่นๆ ที่อยู่ในเขตเมืองปากช่องที่รู้จักกันแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น ตาดขะมึด ตาดน้ำพาก ตาดสักการะ (บ้านหนองหลวง) ตาดเยือง (บ้านหลัก 40) ตาดจำปี (บ้านหลัก 38) ตาดอีตู้ (บ้านหลัก 35) ตาดตายิกเสือ (บ้านตายิกเสือ) ที่ในยุคนั้นเป็นที่รู้จักกันเฉพาะในหมู่คนลาวในท้องถิ่นเท่านั้น ...
Mr.Roger Green
31ตค.63
ติดตามต่อ #ตอนที่ 3 บันทึกความทรงจำแห่งมิตรภาพบ้านหนองหลวง ....
ปล.ภาพส่วนใหญ่ที่นำมาเผยแพร่ในบทความนี้ มีทั้งภาพที่ผู้เขียนบันทึกไว้เอง ที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ หลายภาพที่มีผู้นำไปเผยแพร่ แต่อาจมีบ้างที่นำมาจากอินเตอร์เน็ต ที่ไม่ทราบเจ้าของภาพแน่ชัด แต่เชื่อว่าเจ้าของภาพจะยินดีให้เผยแพร่ได้เช่นกัน เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย อีกทั้งมิได้มุ่งหวังประโยชน์ทางการค้าหากำไร จึงขออภัยและขอบคุณเจ้าของภาพมา ณ ที่นี้
1 บันทึก
1
9
1
1
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย