9 พ.ย. 2020 เวลา 08:19 • การเมือง
อดีตรองอธิการบดีมธ. ยกกรณีศึกษา นศ.ด่าหยาบบริษัทยักษ์ยกเลิกฝึกงาน สอนคนรุ่นใหม่ อย่าประจานตัวเอง ระวังอนาคตพังวูบ
สืบเนื่องจากกรณีที่โลกออนไลน์แห่แชร์ข้อความของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่ว่า "อยากประจาน คิงพาวเวอร์ น้องโดนยกเลิกฝึกงานจากคิงพาวเวอร์เพียงแค่ แสดงความเห็นทางการเมือง และเพื่อนๆ น้องโดนไปด้วย คุณไม่เห็นแก่ตัวไปหน่อยหรอ ที่เอาอำนาจมาใช้กับเด็กที่ไม่มีทางสู้แบบนี้ ไม่คิดถึงอนาคตเด็ก อยากประจานความ xxx นี้สัxๆ เป็นองค์กรที่อุบาตและทุเรศมาก"
ล่าสุด รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "โพสต์ด้านล่างนี้ มีคนเอาไปแชร์ และวิพากษ์ วิจารณ์กันเยอะแล้ว แต่เมื่อเห็นก็อดไม่ได้ที่จะเอามากล่าวถึง เพราะอยากจะให้เห็นว่า ผู้โพสต์ข้อความแบบนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้ ได้สะท้อน ทัศนคติ mind set และ paradigm ที่สรุปรวมกันได้ดังนี้
1. เป็นคนที่ มองประโยชน์ของตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ได้พยายามมองสถานการณ์ในสายตาของฝ่ายตรงข้ามเลย
2. เป็นคนที่ เล่าเรื่องแบบตัดตอน เพื่อทำให้ตัวเองดูดี น่าสงสาร แต่ทำให้ฝ่ายที่ตัวเองโจมตี ดูไม่ดีในสายตาของผู้อ่าน เช่น บอกว่า “เพียงแค่แสดงความเห็นทางการเมือง...” แต่ไม่บอกว่าแสดงอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องอะไร
3. เป็นคนที่ กล่าวหาผู้อื่นแบบเข้าข้างตัวเอง ผู้ที่ถูกกล่าวหา เพียงแต่ยกเลิกไม่รับเข้าฝึกงาน ก็กล่าวหาว่าเห็นแก่ตัว และเอาอำนาจมาใช้กับเด็กที่ไม่มีทางสู้
4. เป็นคนที่ เมื่อไม่พอใจ สามารถใช้คำหยาบโจมตีฝ่ายตรงข้ามได้อย่างไม่ลังเล
อยากจะขอเล่าถึงนโยบายการคัดเลือกคนเข้าทำงาน ของบริษัท Southwest Airlines เพื่อจะได้เข้าใจว่า องค์กรธุรกิจระดับโลก เขามีนโยบายการคัดเลือกคนเพื่อรับเข้าเป็นพนักงานอย่างไร
Herb Kelleher ผู้ก่อตั้ง Southwest Airlines สายการบินต้นแบบของสายการบิน low cost ที่มีผู้ทำตามอย่างไปทั่วโลก นโยบายการคัดเลือกคนเข้าทำงานของ Southwest Airlines ให้น้ำหนักที่ทัศนคติ เป็นอันดับแรก หากทัศนคติไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กร ของ Southwest Airlines คุณสมบัติอื่นๆก็ไม่ต้องพูดถึง เช่น ทัศนคติของพนักงานต้อนรับบนเครื่อง ต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน มีมนุษยสัมพันธ์ดี ไม่โกรธง่าย เป็นต้น
ทำไมทัศนคติจึงสำคัญ ก็เพราะ ความรู้และทักษะต่างๆ สามารถสร้างได้ แต่ทัศนคติ เปลี่ยนแปลงยากมาก หากรับคนที่มีทัศนคติไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กร หรือไม่เหมาะกับตำแหน่งหน้าที่ ก็รังแต่จะสร้างปัญหากับลูกค้า กับนายจ้าง และกับเพื่อนร่วมงาน นั่นเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจพึงหลีกเลี่ยงที่สุด
ดังนั้นหาก King Power ยกเลิกไม่รับคนเข้าฝึกงาน เมื่อเห็นว่าทัศคติไม่ตรงอย่างที่ต้องการ ย่อมเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่เขาจะทำได้ การรับคนเข้าฝึกงาน จริงๆแล้วเป็นการช่วยเหลือนิสิต นักศึกษา ให้มีประสบการณ์ทำงาน บริษัทจะได้ประโยชน์ประการเดียวคือ ได้มีโอกาสรับนิสิต นักศึกษา ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้โดดเด่น เข้าทำงาน เมื่อจบการศึกษาแล้ว โดยไม่ต้องไปเสาะหาจากตลาดแรงงาน การที่ไม่รับคนเข้าฝึกงาน เพราะมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม เป็นการกระทำที่ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะไม่ใช่ไม่รับเพราะ ความแตกต่างทางเพศ หรือทางชาติพันธุ์ ซึ่งสองประการหลังนี่แหละคือการเลือกปฏิบัติ
1
ดังนั้น การออกมาโวยวายด้วยความไม่เข้าใจ และใช้คำหยาบ เช่นนี้ จึงกลายเป็นการประจานตัวเองไปอย่างช่วยไม่ได้ ในอนาคต ไปสมัครงานที่ไหน หากนายจ้างเขาเกิดเคยเห็นโพสต์นี้ แล้วจำได้ ก็ยากที่เขาจะรับเข้าทำงาน เพราะเขาคงไม่ต้องการรับคนที่อาจสร้างปัญหาให้องค์กร เข้ามาทำงาน หากคนรุ่นใหม่มี ทัศนคติ มี mind set และ paradigm แบบนี้กันหมด สังคมที่ดีกว่าเดิม ที่หวังให้เกิดขึ้นในอนาคต ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะสังคมที่ดีขึ้นต้องเริ่มที่ตัวเราเอง ไม่ใช่คนอื่น
โฆษณา