12 พ.ย. 2020 เวลา 13:02 • ยานยนต์
รถยนต์น้ำมันกำลังจะหมดไปภายใน 10 ปี
เป็นเวลา 134 ปีมาแล้วที่รถยนต์คันแรกถูกคิดค้นขึ้นมา
2
รถยนต์ได้เข้ามาปฏิวัติรูปแบบยานพาหนะให้มีความสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถร่นระยะเวลาเดินทางได้อย่างมหาศาล และน้ำมันคือแหล่งพลังงานหลักที่รถยนต์ใช้มาตั้งแต่มันถือกำเนิดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
1
แต่อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมารถยนต์พลังงานน้ำมันเริ่มที่จะสูญเสียแรงสนับสนุนในการพัฒนาต่อยอด เนื่องมาจากปัญหาโลกร้อนและฝุ่นควันมลพิษที่สะสมมานานหลายร้อยปี โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปที่ถึงออกกฏหมายแบนรถยนต์พลังงานน้ำมัน และกำหนดเลยว่าภายหลังจากปีใดเป็นต้นไปที่จะห้ามมีรถพลังงานน้ำมันวิ่งบนนถนนในประเทศ
แล้วตอนนี้เรามีรถยนต์พลังงานทางเลือกอะไรบ้างละ?
หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า(EV)คือรถยนต์พลังงานทางเลือกเพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วมันยังมีรถยนต์พลังงานทางเลือกประเภทอื่นอีกหลายชนิด เช่น
.
1.รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์
4
ถึงแม้ว่ารถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์อาจจะไม่ได้พึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อน แต่เป็นการนำแสงอาทิตย์มาใช้เพื่อชาร์จพลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้า มันก็ยังนับว่าเป็นทางเลือกในการใช้พลังงานสะอาดที่มีราคาถูกและปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม
3
แม้จะถูกมองว่าไม่คุ้มค่าแต่บริษัทด้านอุตสาหกรรมยานยนต์อย่าง โตโยต้า, ฮุนได, หรือบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ก็ต่างเริ่มหันมาพัฒนารถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์จนเริ่มมีผลงานให้เราเห็นกันบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์รุ่น Sion จากบริษัท Sono Motors ที่ได้ทำการเปิดพรีออร์เดอร์ในทวีปยุโรปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังจะดำเนินการผลิตในปี 2022 โดยรถยนต์รุ่นดังกล่าวสามารถขับได้ไกลถึง 155 miles (ประมาณ 250 กิโลเมตร) มีพลังงานขับเคลื่อน 107 แรงม้า มาพร้อมราคา 25,500 ยูโร (ประมาณ 942,005 บาท ไม่รวมภาษี)
.
2.รถยนต์เชื้อเพลิงชีวภาพอื่น ๆ (Biofuel)
4
หลายคนคงจะคุ้นเคยกับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซชีวภาพอย่าง ก๊าซ LPG หรือ NGV หรือการใช้ไบโอดีเซลเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันซึ่งแพร่หลายในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว อาจจะยังไม่ทราบว่าในขณะนี้ได้มีการพยายามพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพใหม่ ๆ ที่มาจากพืชเศรษฐกิจอย่างฟาง ข้าวโพด หรืออ้อย โดยการนำมันมาหมัก แล้วจึงกลั่นและขจัดน้ำออกไปเพื่อให้ได้เชื้อเพลิง “เอทานอล(ethanol)” ที่ถึงแม้จะยังติดปัญหาในด้านปริมาณพื้นที่เพาะปลูกและต้นทุนที่สูงในการผลิต รวมถึงความลำบากในการนำมาปรับใช้จริง
5
แต่ก็มีบางประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำเชื้อเพลิงชีวภาพมาใช้เป็นพลังงานทางเลือก เช่น ประเทศสวีเดนที่มีปริมาณการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพภายในประเทศสูงถึงอันดับที่ 5 จากปริมาณการใช้เชื้อเพลิงขนส่งทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเพิ่มเติมในด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อให้สามารถผลิตเชื้อเพลิงออกมาได้มากขึ้น จึงยิ่งทำให้เชื้อเพลิงชีวภาพเหล่านี้มีแนวโน้มสูงมากที่จะถูกนำมาใช้จริงในอนาคต
.
3. รถยนต์พลังงานไฟฟ้า
5
ในตอนนี้คงไม่มีเทรนด์ใดในตลาดรถยนต์ที่จะมาแรงเท่ารถยนต์ไฟฟ้าอีกแล้ว เห็นได้จากการที่บริษัทน้อยใหญ่ต่างหันมาพัฒนาและปล่อยผลิตภัณฑ์ออกท้องตลาดให้เราได้เริ่มใช้กันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งมีทั้ง
1
รถยนต์ไฟฟ้าระบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle (HEV))
เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์หลักที่ใช้เชื้อเพลิงและมอเตอร์ไฟฟ้ากับแบตเตอรี่ที่เป็นระบบรอง โดยมันจะคอยช่วยซัพพอร์ตในช่วงแรกของการออกตัว ก่อนที่จะกลับไปใช้เชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ในกรณีที่เชื้อเพลิงหมด พลังงานจากแบตเตอรี่ไฟฟ้าจะพอช่วยให้รถยังสามารถเคลื่อนที่ไปได้อีกประมาณ 12 - 15 กิโลเมตร
1
รถยนต์ไฟฟ้าระบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด(Plug-in Hybrid (PHEV))
คือ รถยนต์ไฮบริดที่เราสามารถชาร์จไฟฟ้าโดยการเสียบชาร์จที่สถานีชาร์จไฟฟ้าหรือปลั๊กไฟในบ้านได้ตามชื่อเรียก “ปลั๊ก-อิน” เนื่องจากเป็นรถที่สามารถนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนหลักได้ไกลถึง 50 กิโลเมตร และยังสามารถเปลี่ยนกลับมาใช้ระบบไฮบริดที่ทำงานร่วมกับอีกเชื้อเพลิงหนึ่ง เช่น เบนซิน หรือดีเซลได้ด้วย
3
รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)
1
เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ลิเธี่ยม-ไอออนทั้งหมด โดยมันทำงานด้วยการใช้มอเตอร์เหนี่ยวนำร่วมกับตัวแปลงเพื่อดึงพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไปใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ ทำให้ไม่มีการสันดาปภายในซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเสียง แม้จะใช้เวลาในการชาร์จพลังงานนานขึ้น แต่ก็แลกกับการที่สามารถขับเคลื่อนได้ไกลถึง 300 กิโลเมตรเลยทีเดียว ถือเป็นรถพลังงานไฟฟ้าที่กำลังมาแรงและเริ่มมีการใช้จริงเป็นจำนวนมากทั้งในไทยและต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์จากค่าย TESLA หรือ รถยนต์รุ่น MG ZS EV จากค่าย MG
.
4.รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (FCEV)
5
อีกหนึ่งรูปแบบของรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นการนำไฮโดรเจนมาผสมกับออกซิเจนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หลังจากนั้นจะมันถูกนำมาเก็บไว้ในเซลล์พลังงาน(Fuel cell) เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ต่อไป แม้ว่าไอเดียของการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นแหล่งพลังงานจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ดูจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้นทุนในด้านเทคโนโลยีการผลิตและต้นทุนด้านความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูง
8
แต่ก็ได้มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าและเชลล์จับมือร่วมกันจนสามารถพัฒนารถยนต์ รุ่น Toyota Mirai ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนจนสำเร็จ มันเป็นเพราะว่าพวกเขามองเห็นถึงความเป็นไปได้ในการผลิตรถยนต์ที่ใช้เวลาในเติมพลังงานน้อยกว่า(ใช้เวลาเติมไฮโดรเจนเท่ากับการเติมน้ำมันทั่วไป), ให้ระยะทางได้มากกว่ารถใช้ไฟฟ้าทั่วไป (มากกว่า 300 ไมล์ หรือราว ๆ 483 กิโลเมตร) และเป็นแหล่งพลังงานที่แทบจะไม่มีวันหมดไป ทำให้มันถูกมองว่าเป็นคู่แข่งคนสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าเลยทีเดียว
.
ทำไมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ถึงมาแรงกว่ารถยนต์ชนิดอื่น?
หากเรามาดูปริมาณการใช้พาหนะที่ใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2012 - 2019 จากเว็บไซต์ Statista จะเห็นถึงอัตราการเติบโตจาก 7.2 แสนคันไปสู่ 4.79 ล้านคันภายในเวลาเพียงแค่ 4 ปี ซึ่งสอดคล้องกับยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าที่มาแรงที่สุดอย่าง TESLA ที่มีปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นถึง 300,000 คันต่อปีตั้งแต่เริ่มเปิดตัว เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่ารถยนต์ไฟฟ้าอาจเป็นก้าวสำคัญต่อไปของอุตสาหกรรมยานยนต์
.
เหตุผลของการเติบโตแบบก้าวกระโดดของรถยนต์ EV นี้เกิดจากปัจจัยหลัก ๆ สามปัจจัย
.
1.ประสิทธิภาพของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ดีกว่าเครื่องยนต์สันดาป
8
ประสิทธิภาพที่กล่าวถึงก็คือประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานจากแหล่งพลังงานหลัก(เชื้อเพลิง, แบตเตอรี่ไฟฟ้า) มาใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์ ซึ่งมอเตอร์ไฟฟ้านั้นมีประสิทธิภาพที่ว่าสูงถึง 95% ในขณะที่เครื่องยนต์สันดาปทำได้เพียงแค่ 45% เท่านั้น
5
2.รถ EV อย่าง TESLA นั้นเหมือนคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ มันสามารถอัปเกรดซอฟต์แวร์ตัวเองได้เรื่อย ๆ
1
Elon Musk เจ้าของบริษัท TESLA ยืนยันว่าทางบริษัทจะทำการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ถูกติดตั้งภายในรถอย่างต่อเนื่อง โดยจะทำการปล่อยอัปเดตออกมาเป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นการปรับปรุงประสบการณ์การขับขี่ของผู้ใช้งานให้ดีขึ้น นอกจากนี้ เจ้าของรถสามารถอัปเดตซอฟต์แวร์เองได้ง่าย ๆ เพียงแค่เชื่อมต่อรถเข้ากับสัญญาณ Wi-Fi เท่านั้น (Over-the-air update) แต่มีข้อแม้ว่าในระหว่างการอัปเดตจะไม่สามารถใช้งานรถได้ เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย
3
3.ราคาที่สูสีกับรถยนต์น้ำมันแต่ค่าบำรุงรักษาถูกกว่ามาก
1
ค่าบำรุงรักษาหลักของรถไฟฟ้ามีเพียงแค่การเปลี่ยนแบตเตอรี่เมื่อหมดอายุการใช้งานเท่านั้น เปรียบเทียบกับการบำรุงรถยนต์ทั่วไปที่มีทั้งค่าน้ำมันหล่อลื่น, ค่าเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง, ค่าเติมน้ำกลั่น, ฯลฯ แล้วจึงนับว่าช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้เยอะกว่ามาก
3
อย่างไรก็ตามรถ EV ในปัจจุบันก็ยังมีข้อจำกัดด้านระยะทางและจำนวนสถานีชาร์จไฟที่มีให้บริการ แต่ก็ยังพอทดแทนได้ด้วยบริการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟที่บ้านจากทางผู้จำหน่าย
เหตุผลที่แท้จริงที่จะทำให้รถยนต์น้ำมันหมดไป?
.
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวันหนึ่งน้ำมันรวมถึงเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ อาจไม่มีให้เราใช้อีกต่อไป อ้างอิงจากสถิติการใช้พลังงานของกระทรวงพลังงานแสดงให้เห็นถึงปริมาณการใช้พลังงานเพื่อการขนส่ง ระหว่างปี 2538 - 2561 ซึ่งในช่วง 7 ปีหลังเราจะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าพลังงานที่มีอยู่อาจเหลือให้เราใช้น้อยลงทุกที แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลหลักที่จะทำรถยนต์น้ำมันหมดไป
.
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์พลังงานทางเลือก ไม่ใช่เทรนด์การรักษาสิ่งแวดล้อมหรือความกังวัลที่ว่าวันนึงน้ำมันจะหมดโลก แต่จริง ๆ แล้วมันคือการมาแทนที่ของเทคโนโลยีที่เหนือกว่า ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น EV มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่เหนือกว่ารถยนต์น้ำมัน ทั้งยังมีค่าบำรุงรักษาที่ถูกกว่าและอัปเกรดตัวเองได้ตลอดเวลา ปัญหาเรื่องแบตเตอรี่เองก็มีเริ่มได้รับการแก้ไขและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น นั่นหมายความว่ารถยนต์ EV จะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องระยะทางวิ่งอีกต่อไป
7
เมื่อมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าในราคาที่ใกล้เคียงกับของเดิม ก็เป็นธรรมดาที่ผู้บริโภคย่อมจะเปิดใจยอมรับตัวเลือกใหม่อย่างรวดเร็วเหมือนกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ผ่านมาในอดีต
โฆษณา