12 พ.ย. 2020 เวลา 13:25 • ข่าว
ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์
ปีหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ คาดว่าจะมีผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคนในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มเฉพาะที่มีความเปราะบาง และความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ
คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าการเกิดที่ลดลงส่งผลต่อโครงสร้างครอบครัว รวมถึงการย้ายถิ่นของลูกหลาน และความสัมพันธ์ทางสังคมที่ครอบครัวหย่าร้างมากขึ้น ไม่ได้แต่งงาน ส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยเพียงลำพังคนเดียวของผู้สูงอายุในปั้นปลายชีวิต
จากข้อมูลพบว่ามีผู้สูงอายุอยู่เพียงลำพังร้อยละ 10.8 และอาศัยอยู่กับคู่สมรสเพียงลำพัง ร้อยละ 23.3 ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่เป็นห่วงคือผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองไม่ได้ หรือไม่มีคนดูแล หากเกิดเจ็บป่วย หรือถูกมิจฉาชีพหลอกจะทำอย่างไร
ขณะเดียวกันระบบการดูแลผู้สูงอายุในชนบทกับในชุมชนเขตเมือง ก็มีบริบทที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะคนจนเมือง ที่จะต้องมีการปฏิรูประบบเข้ามา ช่วยเหลือดูแลจากคนในชมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยและสถาบันวิจัยสังคมและประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าในปี 2560 ไทยมีผู้สูงอายุ ประมาณ 11.3 ล้านคน แบ่งเป็น
เพศชายร้อยละ 44.9
เพศหญิงร้อยละ 55.1
โดยผู้สูงอายุร้อยละ 96.9 สามารถดูแลตัวเองได้
ร้อยละ 2 ต้องพึ่งพาผู้อื่นบ้างในบางกิจกรรม
ร้อยละ 1.1 พึ่งพาผู้อื่นในทุก ๆ กิจกรรม ส่วนใหญ่จะอายุ 80 ปีขึ้นไป
ขณะที่ผลสำรวจสุขภาวะผู้สูงอายุไทย ปี 2556 ด้านเศรษฐกิจ พบว่า
ร้อยละ 34.3 ผู้สูงอายุมีฐานะยากจน
ร้อยละ 35.1 ยังคงทำงานอยู่ โดยสาเหตุที่ต้องทำงานอยู่ร้อยละ 43.4 เพราะต้องหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว
ด้านสุขภาพ พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 95 มีปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่าง ๆ แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวัน และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ แต่การมีโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุที่มีภาวะลุกลาม แทรกซ้อนอาจทำให้สมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวันลดลง : ข่าวค่ำมิติใหม่ทั่วไทย
โฆษณา