13 พ.ย. 2020 เวลา 16:18 • ความคิดเห็น
-- การประท้วง ความโกรธ ความผิดหวัง จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง? --
ถ้าคุยกับนักวิชาการหลายๆ คน ไม่ว่าในไทย หรือต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต่างเห็นตรงกันคือ การประท้วงทางการเมืองครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งในอดีต
ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ การสื่อสาร และข้อเรียกร้องที่ดูโดยเนื้อแท้แล้วนั้นไม่ใช่เรื่องการเมืองเลย
กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักวิชาการด้านสื่อ 62 ได้ร่วมกันแถลงการณ์ ขอให้รัฐจัดพื้นที่การสื่อสาร เปิดโอกาสให้ตัวแทนจากทุกฝ่ายได้สื่อสาร รับฟัง และพูดคุยหาทางออกร่วมกัน “อย่างมีสติ”
4
เช่นเดียวกับรองศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ของนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ Thai PBS World ว่า พวกผู้ประท้วงไม่ได้สนใจว่ารัฐบาลทำอะไรถูกบ้าง แต่เขาสนใจว่าทำอะไรผิดบ้าง บางทีรัฐบาลก็ควรจะนั่งฟังพวกเขามากขึ้น และพยายามอธิบาย พยายามให้พวกเขาได้มีส่วนร่วม พยายามโน้มน้าว และในบางสถานการณ์ พยามปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะกับข้อเรียกร้อง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างคำสัมภาษณ์ของ รองศาสตราจารย์ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คนหนุ่มสาวมากมายออกมาร่วมชุมนุมครั้งนี้เพราะพวกเขามองไม่เห็นอนาคตทางเศรษฐกิจ “พวกเขามีความคับข้องใจอย่างแท้จริง” ว่าประเทศนี้กำลังดำเนินไปด้วยนโยบายยุคสงครามเย็นที่ให้อำนาจทหาร สถาบัน และตุลาการ มากกว่าคนที่พวกเขาเลือกตั้งเข้าไปทำงาน “ถ้าคุณถามว่าใครหนุนหลังพวกเขา ความคับข้องใจกำลังหนุนหลังพวกเขา”
น้ำเสียงที่รุนแรง น้ำเสียงที่สุดโต่ง อาจทำให้หลายๆ คนไม่อยากจะฟังอะไรไปมากกว่านั้น ไม่อยากรับรู้เหตุผล แต่คำรุนแรงนั้นก็เหมือนการตะโกน มันดังกว่า มันเด่นชัดกว่า มันทำให้คนหันกลับมามอง
ดร. ปณิธาน กล่าวว่า คนรุ่นใหม่พูดสิ่งที่คิด ผู้ใหญ่ก็ควรจะรับฟัง เพราะอย่างไรเสีย พวกเขาจะเป็นผู้นำของประเทศในอนาคต ของคนรุ่นต่อไป แต่ว่าภาษาที่ใช้และน้ำเสียงที่ใช้นั้นไม่ปกติ เป็นน้ำเสียงที่โกรธ เสียงที่น่าตกใจ เสียงแห่งความผิดหวัง จากหลายสิ่งในชีวิต เพราะฉะนั้น ตอนนี้ ผู้ประท้วงกำลังพยายามที่จะบอกเราผ่านการสื่อสารที่รุนแรง และคนรุ่นแก่กว่าบางคนก็ไม่อยากได้ยินอะไรแบบนั้น หรือไม่อยากที่จะทนฟังน้ำเสียงแบบนั้น “ผมคิดว่านี่เป็นเวลาที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง”
ดร. ปณิธานกล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงที่คนแต่ละรุ่นรับรู้นั้นอาจไม่เหมือนกัน ดังนั้นถึงเวลาที่จะนั่งคุยกันและแลกเปลี่ยนความคิด
ศาสตราจารย์กิตติคุณ เควิน ฮิวิสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทย มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาของสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลอาจจะคิดว่าถ้าจับผู้ประท้วงไปอยู่ในเรือนจำสัก 2-3 คน มีคนบาดเจ็บบ้าง นั่นก็น่าจะเพียงพอ “แต่กลุ่มนี้ไม่ใช่แบบนั้น” เควินกว่าวว่าเขาเห็นเด็กนักเรียนหญิงอายุ 15 ใส่เครื่องแบบโรงเรียน ปีนที่กั้นเพื่อจะยืนเผชิญหน้ากับตำรวจ นั่นเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นในประเทศไทยมาก่อน
อย่างที่ ดร. ปณิธานกล่าวถึงปัจจัยที่บีบคั้นให้เด็กๆ รู้สึกกังวล รู้สึกโกรธ รู้สึกต้องการความเปลี่ยนแปลง เพราะมีปัญหามากมายที่ไม่รู้เลยว่าจะต้องเดินไปทางไหน “ถ้าคุณเป็นเยาวชนวันนี้ คุณน่าจะกังวลมากว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ในไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปีข้างหน้าอย่างไร เส้นทางอาชีพจะเป็นอย่างไร คุณไม่รู้เลยกับสถานการณ์ตอนนี้”
“ทุกการสู้รบ จะจบได้ก็ต้องมาสู่โต๊ะเจรจา” ดร. ปณิธานกล่าว
ถึงแม้ว่า 10 ปีที่ผ่านมา 3 รัฐบาลของประเทศไทยจะมีการตั้งคณะกรรมการ คณะกรรมาธิการ และอะไรอีกมากมายที่ระบุว่าเพื่อหาทางออก เพื่อหาทางปรองดอง แต่จนถึงตอนนี้ เราก็ยังไม่เคยได้เห็นผลจากการตั้งคณะกรรมการเหล่านี้เลย และบางชุดได้มีข้อเสนอให้กับรัฐบาล และบางครั้ง รัฐบาลไม่หยิบขึ้นมาถกด้วยซ้ำ
แต่ ดร. ปณิธานกล่าวว่า เราต้องหวังว่ามันจะแก้ปัญหาได้ “คุณต้องไม่ละทิ้งความหวัง...เราสามารถมาพบกันตรงกลางได้” เขากล่าวว่าท้ายที่สุด หวังว่า จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ หรือเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลใหม่ และควรมีแผนกลยุทธ์ มีพิมพ์เขียวใหม่สำหรับประเทศ ต้องปรับระบบเก่า คุณต้องก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ หลังโควิด-19 ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าคนหนุ่มสาวถึงได้กังวลมาก เพราะความท้าทายแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน
เครดิตภาพ: Springnews
โฆษณา