14 พ.ย. 2020 เวลา 03:19 • ปรัชญา
วินัยวินิจฉัยเรื่อง *การโกนขนคิ้ว* ของพระภิกษุสามเณร: ขอแนะนำคำว่า ‘สัลเลขปฏิปทา’:
พระภิกษุสามเณรที่มาร่วมชุมนุมนั้น มีคนกระซิบบอกว่าหลายรูปเป็นนักศึกษาที่วิทยาลัยศาสนศึกษาของมหิดล โดยปรกติ หลักสูตรปริญญาตรีของวิทยาลัยศาสนศึกษาจะเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้ศาสนาหลายศาสนา กล่าวคือพระพุทธศาสนา ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไม่ได้เน้นให้ผู้ศึกษาเจาะลึกในคัมภีร์ภาษาบาลี ของพระพุทธศาสนาในแนวลึกเหมือนพระภิกษุสามเณรที่เรียนสายเปรียญธรรมทั่วไป การวิพากษ์วิจารณ์พระวินัยของสงฆ์จึงมักกระทำไปโดยไม่ได้มองบริบทอย่างรอบด้าน
1
ตอนนี้ มหาเถรสมาคมได้ออกคำสั่ง แจ้งออกมาอย่างเป็นทางการว่าห้ามมิให้เล่นการเมือง ถ้าสามเณรเหล่านี้ยังกระด้างกระเดื่อง ต่อไป ชาวพุทธที่ห่วงใยพระศาสนาสามารถตั้งทีมเก็บรวบรวมข้อมูลนำเสนอสำนักงานมหาเถรสมาคมผ่านพระพุทธศาสนาแห่งชาติและเจ้าคณะใหญ่หนกลางที่ปกครองดูแล จะได้แจ้งให้วัดที่สามเณรเหล่านี้อยู่จัดการเสียตามพระวินัยและกฎหมาย แล้วก็ติดตาม ถ้าผู้รับผิดชอบไม่ทำ ก็ฟ้องด้วยมาตรา ๑๕๗ ข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่
สามเณรเหล่านี้ถือเป็น *ลูกค้า* สำคัญของวิทยาลัยศาสนศึกษา เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับพระราชทานชื่อมาจากพระบรมราชานุญาตของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย
1
ผมคิดว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลควรหารือกันเพื่อวางระเบียบให้ภิกษุสามเณรที่เรียนอยู่ในคณะต่างๆ ได้พากันอยู่ในกรอบของสมณะตามหลักพระวินัยและกรอบที่มหาเถรสมาคมกำหนดด้วย หาไม่ต่อไป หากมหาเถรสมาคมเห็นว่ายิ่งพระภิกษุสามเณรมาเรียนที่มหิดลก็ยิ่งกระด้างกระเดื่องต่อคำสั่งมหาเถรสมาคมก็อาจจะห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรในวัดของตนมาเรียนมหิดลได้
1
เรื่องที่เรียกร้องคิ้วนั้น แสดงให้เห็นว่าสามเณรเหล่านี้ยังไม่ได้ศึกษาบริบทรอบด้าน ผมจะอธิบายสั้นๆ ให้สาธุชนมองเห็นภาพรวมนะครับ
๑.เรื่องการโกนผมและหนวด พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้อย่างชัดเจนในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๓ (ม.ม.๑๓/๔๘๙/๔๔๓) ว่าทรงปลงผมและหนวดเมื่อเสด็จออกผนวชและสมัยต่อมา พระสงฆ์สาวกของพระองค์จึงโกนผมและหนวดกันถ้วนหน้า
‘โส โข อหํ ราชกุมาร อปเรน สมเยน ทหโรว สมาโน สุสุกาฬเกโส ภเทฺรน โยพฺพเนน สมนฺนาคโต ปฐเมน วยสา อกามกานํ มาตาปิตูนํ อสฺสุมุขานํ โรทนฺตานํ เกสมสฺสุ ํ โอหาเรตฺวา กาสายานิ วตฺถานิ อจฺฉาเทตฺวา อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชึฯ’
‘ดูกรราชกุมาร ต่อมา ขณะที่เรายังเป็นหนุ่ม มีสีผมดำสนิท กำลังเจริญเติบโตอยู่ระดับวัยแรกรุ่นอยู่แท้ๆ ก็ได้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ทิ้งเรือนออกบวชเป็นบรรพชิตทั้งๆ ที่มารดาบิดาไม่ได้อนุญาตและพากันร้องไห้น้ำตานองหน้า ไม่อยากให้เราออกบวชอยู่เลย’
1
สาเหตุที่ทรงปลงผมและหนวดเพราะผมและหนวดเมื่อมีแล้วก็ตกแต่งให้ดูสวยงามตามฐานะตามวิสัยมนุษย์ปุถุชนทั่วไปในอินเดียสมัยนั้น เช่น อาจต้องใช้น้ำมันทาหรือตกแต่งผม หาแปรงมาหวีผม แต่งหนวดเครา ไม่เพียงแต่พระพุทธเจ้าจะทรงโกนผมและหนวด พระองค์ยังบัญญัติให้พระภิกษุสามเณรตัดเล็บ ห้ามไว้เล็บยาว ผัดหน้าทาหน้าแต่งเครื่องประดับ ห้ามใช้กระจกเพื่อตกแต่งความงาม
๒.เรื่องการโกนคิ้ว ไม่มีบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก แต่ถ้าดูจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจดหมายลาลูแบร์ คณะสงฆ์ในประเทศไทยได้พากันโกนคิ้วมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเป็นอย่างน้อย
แต่การที่พระสงฆ์ในประเทศใกล้เคียงเช่น ลาว ก็โกนคิ้วด้วยก็เป็นไปได้ว่าพระภิกษุสามเณรในไทยและลาวอาจจะได้รับมรดกการโกนคิ้วกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยหรือสมัยล้านนาหรือก่อนหน้านั้นเหมือนกัน
4
หรือลาวอาจได้มรดกโกนคิ้วไปจากไทย เพียงแต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน นักวิชาการในวงการพุทธศาสนศึกษาอาจจะต้องใช้เวลาศึกษาคัมภีร์ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของท้องถิ่นทั้งในประเทศไทยและลาวให้ละเอียดว่าการโกนคิ้วนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้นหรือไม่
๓.ฝ่ายที่ประท้วงได้พากันยกคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ว่า น ภิกฺขเว นิลฺโลมภมุก ปพฺพาเชตพฺโพ มาเป็นข้ออ้าง ซึ่งแม้จะเป็นบาลีไม่สมบูรณ์แต่แปลความได้ว่า 'ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระอุปัชฌาย์ไม่พึงบรรพชาให้แก่คนไม่มีคิ้ว'
มาเป็นข้ออ้าง เพื่อจะบอกว่าแท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้ามิได้ทรงให้พระภิกษุสามเณรโกนคิ้ว จึงจำเป็นต้องทวงคิ้วกลับมา รายละเอียดดูได้ที่
บริบทนี้ คัมภีร์สมันตปาสาทิกา กำลังอธิบายคำจำกัดความของผู้ที่ไม่ควรให้บวชซึ่งมีหลายประเภทที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก โดยทรงใช้คำว่า ปุริสทูสโก
ตามเนื้อความในพระวินัยปิฎกภาษาบาลี เล่ม ๔ ว่า น ปริสทูสโก ปพฺพาเชตพฺโพ (วิ.มหา.๔/๑๓๕/๑๘๔) ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘ไม่ควรบวชให้ผู้ประทุษร้ายบริษัท’
3
พระพุทธเจ้าตรัสไว้แค่ว่า น ปริสทูสโก ปพฺพาเชตพฺโพ (ไม่ควรบวชให้ผู้ประทุษร้ายบริษัท) แต่คัมภีร์อัฏฐกถาสมันตปาสาทิกา เล่ม ๓ หน้า ๑๐๔ ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยอธิบายมีอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่าคำว่า ปริสทูสโก (ผู้ประทุษร้ายบริษัท) มีหลายประเภท เช่น
สีสโลเมหิ สทฺธึ เอกาพทฺธภมุกโลโม วา ชาลพทฺเธน วา วิย นลาเฏน สมนฺนาคโต สมฺพทฺธภมุโก วา นิลฺโลมภมุโก วา มกฺกฏภมุโก วา อติมหนฺตกฺขิ วา อติขุทฺทกกฺขิ วา มหีสจมฺเม วาสิโกเณน ปหริตฺวา กตฉิทฺทสทิเสหิ อกฺขีหิ สมนฺนาคโตฯ (สมนฺตปาสาทิกา นาม วินยฏฺฐกถา, ตติโย ภาโค, มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๕๘, หน้า ๑๐๔)
‘คนมี ๑.ขนคิ้วยาวติดกับผมที่อยู่บนศรีษะ ๒.มีหน้าผากคล้ายหุ้มด้วยแห ๓.มีขนคิ้วติดกันทั้ง ๒ ข้าง ๔.มีคิ้วเลี่ยนหรือเกิดมาก็ไม่มีขนคิ้วเลย ๕.มีคิ้วบางเป็นสันแหลมเหมือนคิ้วลิง ๖.ตาใหญ่เกินไป ๗.ตาเล็กเกินไป ๘.มีนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างเป็นรูในหนังควายเหมือนถูกปลายมีดปลายแหลมเจาะ’ คนที่มีลักษณะเหล่านี้ จัดอยู่ในจำพวก ปริสทูสโก คือ *ผู้ประทุษร้ายบริษัท*
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าคนอินเดียสมัยนั้นมองว่าคนมีลักษณะจำพวกเหล่านี้เป็นจำพวกคนมีอวัยวะไม่สมประกอบหรือแปลกไปจากมนุษย์ทั่วไป ถือเป็นอัปปมงคลและเป็นที่ครหา ถ้าให้คนเหล่านี้บวชอาจก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมสงฆ์ซึ่งเป็นส่วนรวมในอนาคตได้ พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตให้บรรพชาอุปสมบท
ข้อสำคัญก็คือ
ก.ไม่มีข้อความใดๆ ในพระไตรปิฎกและอัฏฐกถาที่อ้างบ่งบอกว่าพระพุทธเจ้าทรงให้พระภิกษุสามเณรไว้คิ้วเลย และ
ข. ทั้งคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ไม่มีประโยคบาลีที่อ้างกันว่า น ภิกฺขเว นิลฺโลมภมุก ปพฺพาเชตพฺโพ แต่อย่างใด
แสดงว่าพระภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่งอาจแต่งประโยคขึ้นมาเองเลียนแบบพุทธวจนะในพระวินัยปิฎกที่ว่า น ปริสทูสโก ปพฺพาเชตพฺโพ เพื่อเอามารณรงค์ในม็อบที่กำลังดำเนินอยู่นี้โดยเฉพาะ
๔.ข้อมูลทั้งพระไตรปิฎกและอัฏฐกถาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยบัญญัติให้พระภิกษุสามเณรต้องไว้คิ้ว และทั้งไม่ได้หมายความว่าคณะสงฆ์ในปัจจุบันจะโกนคิ้วไม่ได้
2
ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า เหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีให้สาวกของพระองค์โกนผมและโกนหนวดก็เพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุสามเณรรักสวยรักงาม ใช้น้ำมันหรือแปรงตกแต่งทรงผมและหนวดตนเองให้ดูมีเสน่ห์ตามวิสัยชาวบ้าน พระองค์จึงทรงบัญญัติประเพณีขึ้นมาเพื่อให้พระภิกษุสามเณรทำเป็นประจำก็คือโกนผมและโกนหนวดออกเสีย
โดยตรรกะเดียวกันนี้ หากคณะสงฆ์ในประเทศไทยจะจัดประชุมกันและมีมติเป็นเอกฉันท์ให้โกนคิ้วด้วยเพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุสามเณรตกแต่งให้เกิดความสวยงามก็สามารถทำได้เพราะแต่ไหนแต่ไรมา มนุษย์เราในทุกๆ สังคมก็มักจะตกแต่งคิ้วตนเองให้สวยงามเพื่อให้คนอื่นชื่นชม ไม่ต่างอะไรจากผมหรือหนวดเลย
1
๕.การที่คณะสงฆ์ไทยในอดีต ใช้วิธีการโกนคิ้วทิ้งเพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุสามเณรรักสวยรักงามเหมือนกับที่ทรงให้โกนผมและหนวด จึงเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะไม่ได้ระบุเอาไว้ แต่ถ้าทำไปเพื่อให้พระภิกษุสามเณรอยู่ในกรอบของสมณะมากยิ่งขึ้น และไม่ขัดกับพระวินัยบัญญัติที่เป็นศีล ๒๒๗ ข้อด้วย
การทำเช่นนี้ ภาษาพระเรียกว่า *สัลเลขปฏิปทา* (แนวทางปฏิบัติเพื่อการขัดเกลา) หมายถึงการสร้างกฎเกณฑ์หรือกติกาใหม่ๆ ให้พระภิกษุสามเณรได้ปฏิบัติเคร่งครัดตามหลักพระธรรมวินัยเพื่อลด ละและเลิกกิเลสสมกับเจตนารมณ์ที่ตั้งใจเข้ามาบวช
ไม่เพียงจะไม่ขัดแย้งกับพุทธบัญญัติที่มี ยังเข้ากันได้กับหลักมหาปเทส และสอดคล้องกับวิถีสมณะหรือบรรพชิตที่ละทางโลกแล้วด้วย
กรณีอื่นๆ เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ การดูโทรทัศน์ การเล่น FB การเล่นไลน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่มีในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าจึงมิได้บัญญัติพระวินัยเพื่อห้ามเอาไว้ แต่ถ้าวัดใดวัดหนึ่งจะยึด *สัลเลขปฏิปทา* เป็นหลักการแล้วห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรในวัดของตนใช้ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรมีเวลาอยู่กับการเจริญจิตภาวนาอย่างเต็มที่ก็ย่อมสามารถทำได้เช่นเดียวกัน พระภิกษุสามเณรหรืออุบาสกอุบาสิกากลุ่มไหนไม่ชอบวัดประเภทนี้ก็สามารถไปหาวัดอื่นๆ ที่ตนพึงใจได้
เหตุพระสงฆ์ในประเทศพม่ายังมีไว้คิ้ว เพราะคณะสงฆ์ในพม่ามิได้นำเอาหลัก *สัลเลขปฏิปทา* ไปใช้พิจารณาและเป็นนานาสังวาสกับพระสงฆ์เถรวาทไทย แม้จะเป็นพระสงฆ์เถรวาทถือพระวินัยหลักๆ คล้ายกันแต่ประเด็นปลีกย่อยทั้งหลาย คณะสงฆ์ในแต่ละประเทศสามารถวางกฎเกณฑ์เพื่อการปฏิบัติที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมจำเพาะในประเทศของตนได้
๖.ไม่พึงเอาการโกนคิ้วของพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในประเทศไทยไปเทียบเคียงกับพระสงฆ์มหายานในจีนและวัชรยานในอินเดียหรือทิเบตเพื่อให้มหาเถรสมาคมไทยเอาตามพระต่างนิกายซึ่งเป็นนานาสังวาสเหล่านี้ เพราะถ้าดูในข้อพระวินัยคือศีลทั้ง ๒๒๗ ข้อในรายละเอียดแล้ว แม้พระสงฆ์มหายานและวัชรยานจะไม่โกนคิ้ว
แต่พระสงฆ์นิกายเหล่านี้ต่างมีพระวินัยหลายข้อที่ย่อหย่อนกว่าเถรวาทแบบไทยไปมาก จะมีประโยชน์อะไรถ้าพระภิกษุสามเณรจะไว้คิ้วแล้วต้องลดทอนสิกขาบทอื่นๆ ในจำนวนสิกขาบท ๒๒๗ ข้อไป?
หรือถ้าสามเณรที่ออกมาประท้วงเหล่านี้สนใจอยากไว้คิ้วเหมือนพระเณรพม่าหรือพระสงฆ์ฝ่ายมหายาน ก็สามารถสึกไปบวชเป็นพระในเถรวาทแบบพม่าแล้วค่อยมาอยู่ประเทศไทยก็ได้
1
๕.นิกายเถรวาทบาลีแบบไทยนั้นเคารพครูอาจารย์กันมาก เพราะครูอาจารย์เหล่านี้สอนธรรมเพื่อให้หลุดพ้นจากทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์จริงๆ ท่านมักจะสร้างกฎเกณฑ์หรือกติกาเพิ่มขึ้นใหม่เพื่อการขัดเกลากิเลสตามแนวทางของสัลเลขปฏิปทาเอาไว้ให้ตนเอง
เมื่อพระภิกษุสามเณรมีศรัทธาในครูอาจารย์ท่านใด ก็มักจะปฏิบัติตามปฏิทาครูบาอาจารย์ท่านนั้น ยึดอาจริยปฏิปทาหรือแนวทางปฏิบัติของครูบาอาจารย์ท่านนั้นเป็นต้นแบบ
ผมยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าตอนนี้ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ยังมีชีวิตอยู่ ผมมีความเลื่อมใสท่าน เห็นว่าท่านมีความรู้และประสบการณ์ตรงในการปฏิบัติจิตภาวนา อยากเป็นลูกศิษย์ของท่าน
เมื่อผมไปกราบท่านและเป็นลูกศิษย์ท่านและได้สังเกตดูการใช้ชีวิตของท่านแล้ว พบว่าท่านฉันมื้อเดียว ท่านไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ ท่านไม่ต้อนรับแขกที่มาหาในเวลากลางค่ำกลางคืน ท่านไม่จับเงินจับทอง ท่านไม่รับเงินรับทอง ท่านไม่มีรถใช้ ท่านไม่มีโทรทัศน์เพื่อดูข่าว ฯลฯ
เมื่อผมไปกราบท่านเป็นอาจารย์ด้วยหวังว่าจะบรรลุธรรมเหมือนท่าน ผมก็ต้องยินดีที่จะปฏิบัติตามอาจาริยปฏิปทาของท่านเหล่านี้ทั้งหมด แม้ว่าหลายเรื่องจะเป็นสิ่งที่ท่านบัญญัติขึ้นใหม่เพื่อให้การปฏิบัติในหลักพระวินัยเป็นไปเคร่งครัดยิ่งขึ้น
3
*สัลเลขปฏิปทา* คือหลักปฏิบัติเพื่อการขัดเกลากิเลส สมัยพุทธกาลก็มีธุดงควัตรที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้สาวกส่วนหนึ่งปฏิบัติเพิ่มเพื่อเกลากิเลส ทุกวันนี้ โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะความเจริญทางวัตถุได้ทำให้พระภิกษุสามเณรปฏิบัติย่อหย่อนลง เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก อาศัยหลักสัลเลขปฏิปทานี้ คณะสงฆ์สามารถจะออกพระราชบัญญัติ คำสั่งหรือพ่อแม่ครูอาจารย์สามารถจะสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพิ่มขึ้นจากหลักพระวินัยเพื่อให้พระภิกษุสามเณรอยู่ในกรอบของหลักพระวินัยมากขึ้นได้
ด้วยหลักเกณฑ์นี้ วัดหลายวัดจึงสามารถออกข้อห้ามต่างๆ อย่างชัดเจนเช่น ห้ามพระภิกษุสามเณรเล่นไลน์ ห้ามเล่นเฟสบุ๊ค ห้ามถีบจักรยานหรือขับมอเตอร์ไซค์ในวัด ห้ามขับรถ ห้ามเที่ยวห้าง ห้ามเที่ยวสวนสนุก ห้ามใช้กล้องถ่ายรูปคนอื่นๆ ในที่สาธารณะ ให้เป็นที่ครหา ห้ามชุมนุมทางการเมือง ฯลฯ ได้
ถ้าพระเณรรุ่นใหม่ไม่ชอบกฎเกณฑ์เหล่านี้ก็พากันไปบวชอยู่กับพระรูปอื่น วัดอื่นหรือนิกายอื่นที่สบายใจตนมากกว่าก็สิ้นเรื่อง
แต่ควรจะทราบเอาไว้นะครับ พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ (พระตถาคตตรัสสรรเสริญการเลือกให้ทาน) พระสงฆ์ที่ปฏิบัติพระวินัยย่อหย่อน ผู้คนก็มักไม่ศรัทธา เมื่อเขาไม่ศรัทธาก็มักจะ ไม่ถวายอาหารบิณฑบาตให้ฉัน
1
ขอให้ระวังว่าพุทธมามกะซึ่งเป็นสาธุชนทั่วไปอาจจะคว่ำบาตรไม่ใส่บาตรพระสงฆ์ในวัดที่ชอบเข้าไปประท้วงการเมืองด้วยก็แล้วกันครับ
@ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์
ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
โฆษณา