14 พ.ย. 2020 เวลา 13:04 • การเมือง
'ลากเส้นต่อจุด' รำลึกสลายชุมนุม 53
.
กลุ่ม AUTonomia จัดกิจกรรมลากเส้นต่อจุด รำลึกสลายชุมนุมปี 53 พูดถึงผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของ ศอฉ. ช่วง เม.ย.-พ.ค.2553 ที่หลายคนที่มีอำนาจทางการทหารในยุคนั้นก็ยังคงอยู่ในอำนาจในฐานะ คสช. ลักษณะกิจกรรมเป็นการชวนผู้สนใจลากใบหน้า 99 จุด ที่จะแสดงเป็นใบหน้าของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อรำลึก
สำหรับกลุ่ม AUTOnomia กชพร อานันทนะ ตัวแทนกลุ่มอธิบายว่า กลุ่มเกิดจากคนที่เรียนศิลปะ ใช้งานศิลปะมาขับเคลื่อนสังคมและการเมือง กลุ่มเป้าหมายที่มาระบายสีส่วนใหญเป็นเด็กเยาวชน เริ่มด้วยการนับ 1 ถึง 99 เหมือนสมุดวาดภาพ โดยยกตัวอย่างทั้งหมด 4 คน คือ สยาม วัฒนนุกูล จรูญ ฉายแม้น เกรียงไกร คำน้อย และฮิโรยูกิ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น
กชพร ย้ำว่าสิ่งที่ทำเพื่อให้เห็นว่ามีผู้เสียชีวิตจากกระสุนของทหารจริงๆ เป็นความรู้สึกที่เศร้าใจ คาดหวังว่างานที่พวกตนทำจะสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คน
"รำลึกถึงเขาจริงๆ ได้เรียนรู้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์มันเกิดขึ้นตรงนี้มีความสูญเสียเกิดขึ้น เหตุการณ์ที่ทุกคนเล่าลือมันมีจริงๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องกุขึ้นเพื่อแต่งให้เกลียดชังกัน" ตัวแทนกลุ่ม AUTOnomia กล่าว
เขาจะได้รำลึกถึงผู้เสียชีวิต และประชาธิปไตยไม่ได้มาได้ง่ายดายแต่มันต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยหลายๆ อย่างที่ผ่านมาในอดีต
"หากกฎหมายศักดิ์สิทธิพอคนไม่ว่ามีอำนาจขนาดไหนก็ควรได้รับบทลงโทษที่เหมือนๆ เท่าๆ กันกับประชาชนทุกชั้นฐานะ จะรากหญ้าหรือสูงส่งแค่ไหนก็ควรมีสิทธิได้รับบทลงโทษแบบเดียวกัน" กชพร กล่าว
.
สำหรับ เกรียงไกร คำน้อย ถือเป็นคนแรกที่เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมช่วงบ่ายวันที 10 เม.ย.53 เขาถูกยิงช่วงบ่ายวันดังกล่าวบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ด้วยกระสุนที่มีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฎิบัติหน้าที่
ขณะที่สยามกับจรูญ ถูกยิงเสียชีวิตหน้า ร.ร.สตรีวิทยา ถ.ดินสอ วันเดียวกัน วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
ส่วนฮิโรยูกิ ถูกยิงช่วงเวลาและสถานที่เดียวกับสยามกับจรูญ วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
.
อย่างไรก็ตามผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าวปัจจุบันแม้เวลาผ่านไปกว่ า 10 ปีแล้ว ยังไม่มีใครถูกลงโทษจากการกระทำดังกล่าว
โฆษณา