9 ธ.ค. 2020 เวลา 10:12 • ความคิดเห็น
" ผมขอโทษ ผมขอโทษจริงๆ"
3
“…ไม่เป็นไร ฉันให้อภัย ฉันให้อภัย…”
บ่ายแก่ๆวันหนึ่ง
ผมบังเอิญไปเห็นรูปๆหนึ่งเข้า...
เด็กน้อยที่กำลังหลับในอ้อมกอดแม่
ผิวหนังอันอ่อนนุ่มของเธอ ถูกโอบกอดไว้โดยผิวหนังที่เกิดเป็นรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ของผู้เป็นแม่
คิม ฟุก (kim phuc) คือชื่อของเธอ
ผม copy และ paste ใน google ดู
อ่อ...เธอคือคนเดียวกันกับเด็กผู้หญิงที่กำลังวิ่งและร้องไห้ในรูปนี้
ยอมรับเลยครับว่า...
รูปนี้ผมเคยเห็นในหลายๆวาระแล้ว
รู้ว่าเป็นภาพจากสงครามเวียดนาม
รู้ถึงความโหดร้ายของสงคราม
รู้ว่าภาพนี้เคยได้รางวัล
แต่ก็ยังมีเรื่องราวจากภาพนี้อีกมาก
ที่ผมไม่รู้...
...วันนี้ผมจะลองลงดีเทลดู
ภาพนี้รู้จักกันในชื่อ
"นาปาล์ม เกิร์ล" (napalm girl)
เป็นฝีมือของช่างภาพชาวเวียดนาม
จากสำนักข่าวเอพี
นามว่า นิก อุ๊ต ( nick ut)
ภาพนี้ได้รับรางวัล
พูลิตเซอร์ในปี 1972 (2515)
และ เวิร์ลด์เพรส โฟโต้ ออฟ เดอะ เยียร์ ในปี 1973 (2516)
มันเป็นภาพที่สะท้อน
ความเป็นสงครามที่ดีที่สุด
...ภาพหนึ่งในโลก
การทำลายล้าง
ความหวาดกลัว
ความเป็น
กับ...ความตาย
เป็นภาพถ่ายไร้เสียง
...แต่ทำให้ทุกคนที่ได้เห็น
สามารถได้ยินเสียงกรีดร้องของเธอ
วันที่ 8 มิถุนายน 2515
มีข่าวว่าทหารเวียดกง
(เวียดนามเหนือ) จำนวนหนึ่ง
หลบหนีเข้ามาพักในหมู่บ้าน
เจิ่ง บ่าง (Trang Bang)
เวียดนามใต้(ที่ถูกหนุนโดยอเมริกา)
จึงส่งเครื่องบิน Skyraider จำนวน 4 ลำ
บินลดระดับเพื่อทิ้งระเบิดทำลายหมู่บ้าน
หมายจะสังหารให้สิ้นซาก
เมื่อทราบเรื่อง
นักข่าวสงครามทั้งหลายสำนัก
ก็แห่กันไปเพื่อเก็บภาพ
และ "นิก อุ๊ต" คือหนึ่งในนั้น
โดยทั้งหมดอยู่ในจุด
เฝ้าสังเกตการณ์บนเนินถนน
ที่สามารถมองเห็นการโจมตีทิ้งระเบิดหมู่บ้านอย่างชัดเจน
และภาพที่ปรากฏก็คือ...
ไฟบรรลัยกัลป์ จากระเบิดนาปาล์ม จำนวน 8 ลูก
หลังจากกลุ่มควันจากการระเบิด
"คิม ฟุก" เด็กหญิงวัย 9 ขวบ
วิ่งกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด
เธอและเด็กคนอื่น ๆ
วิ่งหนีระเบิดอย่างสุดกำลัง
ระเบิดนาปาล์มทำให้เกิดความร้อน
ได้ตั้งแต่800-1,200°C (ในยุคนั้น)
เมื่อถูกทิ้งลงพื้น
ผลจากฤทธิ์ของระเบิด
ทำให้แขนและตามร่างกายของเธอ
ถูกไฟไหม้เสียส่วนใหญ่
"นิก อุ๊ต" ลั่นชัตเตอร์รัวๆเสร็จ
เขาก็ปรี่เข้าหาไปหาเธอ
นำเธอขึ้นรถตู้ของสำนักข่าวเอพี
ไปส่งที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในไซ่ง่อน
ซึ่งแพทย์ก็สามารถช่วยชีวิตไว้ได้
1
ขอคัดลอกข้อมูลบางช่วงบางตอน
จากบทสัมภาษณ์ของ "นิก อุ๊ต"
กับ BBC World Service
"อีกห้านาทีต่อมา ผมเห็นชาวบ้านวิ่งหนีตายกันจ้าละหวั่น ทันทีที่สภาพของ คิม ฟุก ซึ่งร้องว่า “ร้อน...ร้อนเหลือเกิน” ผมคิดว่าเธอคงไม่รอดแน่ๆ จึงรีบถ่ายรูปนี้ไว้เป็นหลักฐานของสงครามและรีบช่วยเหลือเธอ โชคดีที่มีผู้คนซึ่งอยู่ ณ ที่นั้นรีบช่วยเอาน้ำราดผิวที่ติดไฟของเธอ
ในตอนนั้นคิม ฟุก กระหายน้ำมาก ผมจึงหาน้ำให้ดื่ม บอกเธอว่าจะช่วยชีวิตเธอเอง แต่เธอกลับสลบไปเสียก่อน จึงรีบพาเธอขึ้นรถขับไปเกือบ 10 ไมล์ ระหว่างทางเธอตื่นขึ้นมาด้วยความเจ็บปวด สลับกับอาการมึนงงร้องโหยหวนและหลับไปวนเวียนอยู่อย่างนี้ไปจนถึงโรงพยาบาลกู๋จี ซึ่งผมก็โล่งใจไปเปลาะหนึ่ง ว่า เธอน่าจะได้รับการรักษาอย่างทันที
...แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ที่โรงพยาบาล มีแต่ทหารเวียดนามที่ได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวอยู่ ไม่มีใครใยดีกับเด็กตัวน้อยๆ ผมโกรธจัด จึงร้องขึ้นว่า “ผมเป็นผู้สื่อข่าว โปรดช่วยเธอด้วยเถอะ ผมไม่อยากให้เธอตาย” แล้วพูดอีกว่า "วันพรุ่งนี้ภาพของเธอจะเป็นข่าวทั่วโลก เตรียมคำอธิบายดีๆไว้แล้วกันว่า เพราะอะไรโรงพยาบาลแห่งนี้จึงปฏิเสธที่จะช่วยเหลือเธอ" เมื่อได้ยินดังนั้นพวกเขาก็รีบกุลีกุจอมาช่วย!
หลังจากนั้นเกือบ 1 ปี นิก อุ๊ต ไปเยี่ยม คิม ฟุก ในขณะยังรักษาที่โรงพยาบาลในไซ่ง่อน และที่หมู่บ้านเจิ่ง บ่าง อยู่หลายครั้ง (ในช่วงที่เขายังประจำอยู่ในเวียดนาม)
เด็กหญิง คิม ฟุก
ต้องใช้เวลาในการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลกว่า 14 เดือน
ผ่านการผ่าตัดกว่า 17 ครั้ง
1
และเมื่อภาพของ"นาปาล์มเกิร์ล"
ไปปรากฏในหน้า 1 ที่วอชิงตัน
ก็สร้างกระแสตีกลับให้รัฐบาลอเมริกา
มีการเดินขบวน เรียกร้องครั้งใหญ่
ให้รัฐบาลถอนทหารออกจากเวียดนาม
เพื่อนำลูกหลานทหารอเมริกันกลับบ้าน
สงครามเวียดนามปิดฉากลง
เมื่อ 30 เมษายน พ.ศ.2518
อเมริกาพ่ายแพ้และถอดทหาร
ออกจากเวียดนาม
โฮจิมินห์ขึ้นเป็นผู้นำของเวียดนาม
รวมเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้
เข้าด้วยกัน และปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ตั้งแต่นั้นมา
เมื่อรักษาตัวหายแล้ว
"คิม ฟุก"ได้กลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง
แต่ถูกรัฐควบคุมและส่งเจ้าหน้าที่ติดตามเธอตลอดเวลา (เนื่องจากความโด่งดังของภาพ "นาปาล์ม เกิร์ล" และการต้องการนำเธอไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง)
ผลการเรียนเธออยู่ในระดับดีมาก
ในที่สุดเธอเข้าเรียนแพทย์
ในปี พ.ศ.2529
เธอขออนุญาตรัฐบาลไปเรียนต่อที่คิวบา
เธอเปลี่ยนศาสนาไปนับถือคริสต์
และที่นั่นเธอพบว่าที่สามีของเธอ
บุย ฮุย ตว่าน (Bui Huy Toan)
นักศึกษาชาวเวียดนาม
และแต่งงานกันในปี พ.ศ.2535
1
ทั้งสองแต่งงานกันในปี พ.ศ. 2535 โดยทั้งคู่ทำเรื่องขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปฮันนีมูน ระหว่างที่เครื่องบินเติมน้ำมันที่แคนาดา ทั้งสองก็หลบหนีออกจากเครื่องบิน และขอลี้ภัยทางการเมือง ต่อมารัฐบาลแคนาดารับดูแล คิม ฟุก และสามี โดยให้พักอาศัยอย่างในเมืองโตรอนโต ทั้งสองโอนสัญชาติเป็นชาวแคนาดาจวบจนปัจจุบัน
ส่วน "นิก อุ๊ต" หลังจากสงครามจบ
สำนักข่าวเอพีก็นำเขากลับเข้าทำงานอีกครั้ง ให้ไปประจำสำนักงานกรุงโตเกียว ที่ซึ่งเขาได้พบกับภรรยาคือ "ห่อม" (Hong) ชาวเวียดนามเช่นกัน
ทั้งคู่ย้ายไปยังลอสแอนเจลีสปี 1977
ซึ่งเป็นปีที่นิกเริ่มบทบาทใหม่
กับการเป็นช่างภาพสายฮอลลีวู้ด
จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า
เขาถ่ายภาพมาแล้วทุกอย่าง
ตั้งแต่..."นรกจนถึงฮอลลีวู้ด"
ทุกวันนี้ "นิก อุ๊ต" เกษียณแล้ว
แต่ยังไม่เลิกถ่ายภาพ
นิก อุ๊ต และ คิม ฟุก
หลังจากที่เธอขอลี้ภัยทางการเมือง
และโอนสัญชาติเป็นชาวแคนาดา
ในปี พ.ศ.2539 (1996)
เธอได้ถูกเชื้อเชิญให้ไปกล่าวสุนทรพจน์
ที่อนุสรณ์สถานทหารผ่านศึกเวียดนามในกรุงวอชิงตัน ดี. ซี.
การต้องมาเผชิญหน้ากับกลุ่มคน
ที่ครั้งหนึ่งได้เคยทำลายบ้านเกิดเมือง
นอนของเธอ ทำให้ญาติพี่น้องของเธอต้องตาย และเกือบที่จะฆ่าเธอ
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะทำได้
วันนั้นเธอเล่าถึงประสบการณ์
อันเจ็บปวดของเธอในทุกคนได้ฟัง
เธอก็ได้เผยความในใจว่า...
มีเรื่องหนึ่งที่เธออยากจะบอกต่อหน้านักบินที่ทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านของเธอ
เธอกล่าวว่า...ในเมื่อเราเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ เราจึงไม่ควรปักใจอยู่กับอดีต แต่เราสามารถเรียนรู้จากอดีต เพื่อทำปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้นได้
หลังกล่าวสุนทรพจน์เสร็จ
ทหารผ่านศึกคนหนึ่ง
ชื่อ จอห์น พลัมเมอร์ ขอพบเธอ
เขาสารภาพว่าเป็นคนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง
กับการทิ้งระเบิดในวันนั้น
...เขาขอให้เธอยกโทษให้เขา
เธอเข้าไปโอบกอดเขา
แล้วตอบว่า...
"ไม่เป็นไร ฉันให้อภัย ฉันให้อภัย"
ในการไปพูดตามที่ต่างๆ
เธอมักพูดเสมอว่า...
การให้อภัยรุนแรงกว่าระเบิดนาปาล์ม
การให้อภัยทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่าอาวุธสงครามใดๆ
ฉันพบว่าการบ่มเพาะ
ความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้
จึงพยายามสวดมนต์ และแผ่เมตตาให้ผู้คนที่ก่อความทุกข์ให้กับฉัน
มันคือสิ่งบริสุทธิ์ ที่ทำให้พบว่าหัวใจ
ของฉันอ่อนโยนมากขึ้นเรื่อยๆ
จนสามารถเรียนรู้ได้ถึงหลักของการให้อภัยโดยสามารถทิ้งความเกลียดออกไปได้
2
ขอให้เราเรียนรู้ที่จะให้อภัยซึ่งกันและกัน
ผมรวมข้อมูลต่างๆจนถึงตรงนี้
ก็มีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า...
เรามีบทเรียนจากสงคราม
ให้ได้ศึกษามากมาย
แต่ยังมันก็ไม่พอ(?)
ที่จะทำให้เราหยุดและ
ไม่เกิดการรบราฆ่าฟันกันได้
มนุษย์ยังก่อสงคราม
เพื่อผลประโยชน์กันในทุกๆวัน
บทเรียนจากสงคราม
ก็ถูกฉีกทิ้งไปทีละหน้าเรื่อยๆ
เหมือนเราทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ไม่เหมือน "คิม ฟุก"
เธอเลือกที่จะให้อภัย
เพื่อไม่ให้โดนไฟเผาไหม้
ซ้ำอีกเป็นครั้งที่สอง
Napalm (2004-5) Banksy street art
ขอบพระคุณทุกการติดตาม
เจ้าพระยา
ปล.ขออนุญาตแชร์บทความดีๆ
ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ขอรับ
ติดตามบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา