17 พ.ย. 2020 เวลา 14:51 • ไลฟ์สไตล์
ตอนที่ 1 สู่ลมหายใจสุดท้ายที่สมบูรณ์
ซี่รีย์สู่ลมหายใจสุดท้ายที่สมบูรณ์ ประสบการณ์ดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยโรคหัวใจ
วันนี้ฉันอยากแบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์ของการจากลาของฉันกับคุณพ่อที่จบลงด้วยความสุขและความงดงามของคุณพ่อ ด้วยความหวังว่าเรื่องราวของคุณพ่อจะเป็นแนวทางสำหรับการดูแลประคับประคองบุคคลอันเป็นที่รักเพื่อพาท่านไปสู่ลมหายใจสุดท้ายที่สมบูรณ์ เพราะฉันคิดว่าผู้อ่านหลายท่านอาจจะกำลังพบกับเรื่องราวนี้อยู่ หรือบางท่านอาจจะสนใจที่จะอ่านเรื่องราวนี้เพื่อเตรียมตัวออกแบบการตายให้กับคนที่เรารักหรือแม้กระทั่งตัวเราเอง
รูปงานศพของคุณพ่อ เราเลือกใช้ต้นไม้แทนการใช้ดอกไม้
ฉันคือหนึ่งในลูกทั้งสามคนของพ่อค่ะ ฉ้นจบปริญญาเอกด้านพระพุทธศาสนาและทำดุษฏีนิพนธ์เรื่องภูมิคุ้มกันเพื่อการเผชิญวิกฤตในพระพุทธศาสนา (Resilience) เพราะคิดว่าชีวิตของทุกคนจะต้องพบกับวิกฤตในชีวิตแน่นอน อาจต้องเจอโรคร้าย และอาจต้องมีวันที่ฉันจะต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของฉัน ฉันจะทำอย่างไรให้ผ่านพ้นวิกฤตที่แทบทุกคนต้องเจอ และในที่สุดฉันก็ได้ใช้ความรู้นั้นในวันที่ฉันรู้ว่าพ่อเป็นโรคหัวใจและต้องจากฉันไปอีกไม่นาน
9 เดือนกับการเตรียมงานศพครั้งแรกของพ่อ
การเตรียมงานศพของพ่อวัย 84 ปีของฉัน เริ่มต้นในวันที่เราได้ทราบว่าคุณพ่อเป็นโรคหัวใจที่ไม่สามารถทำบอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจได้ ในเวลานั้นคุณหมอบอกว่ามีวิธีการรักษาอย่างเดียวคือการผ่าตัดบายพาส คุณพ่อไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด ครอบครัวของเราเห็นว่าการเข้าสู่กระบวนการการผ่าตัดสำหรับคนวัย 84 ปีมีความเสี่ยงในหลายๆด้าน และพวกเราเห็นว่าในช่วงเวลาที่คุณพ่อพักฟื้นบนเตียงอีกหลายวันหลังจากการผ่าตัด พ่ออาจจะไม่ได้เดินเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่คุณพ่อจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงซึ่งไม่น่าสนุกเลย
แม้หมอจะบอกว่าหากไม่ผ่าจะมีโอกาสที่คุณพ่อจะจากไปกะทันหันหรือแม้แต่ในขณะที่นอนหลับ พวกเราคิดว่าไม่ว่าจะผ่าหรือไม่ผ่า ไม่ว่าจะเป็นโรคหรือไม่เป็น ไม่ว่าช้าหรือเร็วคุณพ่อก็ต้องเสียชีวิต ทุกคนในบ้านเลือกที่จะเคารพการตัดสินใจของพ่อในการไม่ผ่า เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่า "ชีวิตที่มีความสุขสำคัญกว่าชีวิตที่ยืนยาว“ พวกเราจะทำเวลาทุกวันที่เหลือของพ่อขอให้เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด เมื่อมองย้อนกลับไปฉันภูมิใจที่พวกเราทำตามความตั้งใจได้สำเร็จและยังมีรางวัลทำสำคัญกว่านั้นซึ่งฉันจะเล่าให้ทุกท่านฟังในช่วงเวลาต่อไป
นับเป็นความโชคดีของพวกเราที่เราได้รับการส่งต่อไปสู่ทีมประคับประคองระยะท้าย โชคดีมากมายที่ได้พบคุณหมอที่ใจดีมากมาย รับฟังและเข้าใจ คุณหมอให้ไลน์ส่วนตัว พร้อมกับอนุญาตให้โทรหาหมอได้ตลอดเวลา พวกเราแจ้งความดันและอาการทางไลน์เพื่อให้คุณหมอปรับยาเช้า-เย็นทุกวัน และสามารถสอบถามได้ตลอดเวลาที่มีอาการที่เราไม่สามารถจัดการได้เช่น เจ็บหน้าอก ท้องผูก เส้นเลือดสมองอุดตัน หมอให้ยืมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยและตอบคำถามพวกเราด้วยหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากพวกเรา นอกจากของขวัญเล็กๆ น้อยที่เรามอบให้เพื่อแสดงความขอบคุณในน้ำใจที่คุณหมอมอบให้ โอ้! หมอที่ดีขนาดนี้ในโลกด้วยเหรอนี่
เข้าสู่กระบวนการรักษาแบบประคับประคองระยะท้าย (Palliative care)
ฉันเคยได้ยินเรื่องราวของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและการเตรียมตัวตายจากพระในวัด แต่ไม่เคยนึกว่าจะได้สัมผัสด้วยตนเองในโรงพยาบาล และที่มากกว่านั้นคือจากการใช้ชีวิตในโรงพยาบาล ฉันเห็นคนป่วยมากมายที่ฉันเชื่อมั่นว่าการดูแลแบบประคับประคองจะช่วยให้เขามีชีวิตช่วงสุดท้ายได้อย่างมีคุณภาพ แต่น่าเสียดายที่พวกเขาไม่รู้จักกระบวนการนี้ และหมอที่ดูแลก็ไม่ได้คิดถึง ทำให้พวกเข้าต้องเข้าออกโรงพยาบาล หรือใช้ชีวิตในห้องฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อเจอกับตัวถึงรู้ว่าการต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลนั้นไม่สนุกเลย
ฉันจำวันที่ฉันเดินอยู่ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ได้ยินเสียงญาติคนไข้สักคนพูดถึงคนไข้ทางโทรศัพท์ด้วยเสียงเศร้าว่า “เขาอยากตายแล้ว” ฉันรับรู้ได้ว่าเขาไม่มีทางออกอย่างอื่นนอกจากต้องให้คนที่รักใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายด้วยการรอความตายในห้องฉุกเฉิน ภายใต้เสียงเตือนตี๊ดๆ ที่น่ารำคาญของสัญญาณเครื่องมือแพทย์ เสียงคนเดินขวักไขว่ เสียงร้องโอดโอย ห้องฉุกเฉินไม่เหมาะที่จะเป็นที่ตายของใครเลยสักคนเดียว ฉันอยากย้อนเวลากลับไปและบอกกับญาติคนไข้คนนั้นว่ามีทางเลือกสำหรับคนไข้ใช้ช่วงสุดท้ายที่มีคุณภาพมากกว่าที่เรียกว่า การดูแลแบบประคับประคองระยะท้าย (Palliative care)
1
หลังจากคุณหมอที่ดูแลคุณพ่อบอกว่าจะส่งต่อเคสให้กับทีมดูแลแบบประคับประคองระยะท้าย ทำให้นึกถึงเรื่องราวที่ได้เคยฟัง ฉันรีบกลับมาค้นคว้าความหมายของคำนี้ในอินเตอร์เนต ฉันได้พบว่าการดูแลแบบประคับประคองระยะท้าย คือ “การดูแลที่มีมุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เป็นการดูแลควบคู่กับการรักษาหลักที่มุ่งหวังกำจัดตัวโรค การดูแลแบบประคับประคองจะคำนึงถึงความต้องการและความปรารถนาของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมด้วยเสมอ”
ฉันรู้สึกแปลกใจที่มีรูปแบบการรักษาที่ไม่ได้ดูแลเพียงจิตใจของผู้ป่วย แต่รวมไปถึงการดูแลจิตใจของพวกเราด้วย โอ! ฉันเห็นด้วยกับแนวทางนี้อย่างยิ่ง จิตใจของผู้ที่กำลังจะสูญเสียก็ต้องการคนชี้ทางและให้กำลังใจไม่ต่างจากคนไข้ที่นอนบนเตียงเหมือนกัน นอกจากนี้กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่ลดความทุกข์ทางกายของคนไข้เท่านั้น แต่ยังกลับมารักษาจิตใจคนไข้ซึ่งบางครั้งอาจจะป่วยยิ่งกว่ากายเสียอีก ฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งกับหลักการนี้ ฉันใช้เวลาถึงสองสามวันตามหาคุณหมอทั้งในและนอกโรงพยาบาล แต่ผลที่ได้เรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเกินคุ้ม
ตอนหน้า จะมาเล่าให้ฟังว่าการประคับประคองผู้ป่วยระยะท้าย (palliative care) เมื่อต้องมาใช้กับผู้ป่วยแล้วเป็นอย่างไร เผื่อเป็นทางเลือกให้ใครก็ตามที่กำลังมองหาแนวทางในการดูแลบุคคลอันเป็นที่รักให้มีความสุขในช่วงท้ายของชีวิต
ติดตามอ่านซีรีย์สู่ลมหายใจสุดท้ายที่สมบูรณ์ย้อนหลังได้ที่นี่ค่ะ
ตอนที่ 1 สู่ลมหายใจสุดท้ายที่สมบูรณ์
ตอนที่ 2 ประสบการณ์ประคับประคองผู้ป่วยระยะท้ายโรคหัวใจ
ตอนที่ 3 ให้ธรรมชาติเยียวยาร่างกายและจิตใจ
ตอนที่ 4 เมื่อเตรียมตัวตายแล้วต้องเตรียมใจตายด้วย
ตอนที่ 5 โรคหัวใจที่ว่าร้ายยังพ่ายโรคหลอดเลือดสมองตีบ
ตอนที่ 6 ลมหายใจสุดท้ายที่เต็มไปด้วยสติ
ตอนที่ 7 งานศพรักษ์โลก (ตอนจบ)
1
ขอบคุณภาพงานศพจากเพจ Replanet.me

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา