18 พ.ย. 2020 เวลา 08:36 • ไลฟ์สไตล์
ตอนที่ 2 เข้าสู่การดูแลแบบประคับประคองระยะท้าย ( Palliative care)
คราวที่แล้วได้เล่าให้ฟังถึงทางเลือกการรักษาของผู้ป่วยระยะท้ายที่ไม่เพียงแต่ดูแลร่างกายคนไข้ แต่ได้ดูแลจิตใจของคนไข้และญาติที่เรียกกว่า การดูแลแบบประคับประคองระยะท้าย วันนี้จะเล่าให้ฟังว่าเขาทำกันอย่างไรกับคนไข้โรคหัวใจ ขอสปอยนิดนึงว่าหลังจากที่เข้าสู่โปรแกรมนี้แล้ว พ่อไม่ต้องนอนโรงพยาบาลอีกเลย
ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่การดูแลแบบประคับประคอง
ก่อนหน้าที่เราจะเข้ากระบวนการนี้ พวกเราเหมือนกับนอนอยู่กับระเบิดเวลา ทุกครั้งที่พ่อเจ็บหน้าอก (จะรู้สึกหนักเหมือนมีรถทับ) เราจะต้องพาพ่อมานอนโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่าห้าวันเพื่อหยอดยาละลายลิ่มเลือด (Heparin) ต้องใช้ยานี้เนื่องจากไตของพ่อไม่ค่อยจะดี พ่อจะต้องถูกเจาะเลือดทุกวันละไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้ง หลังจากวันที่สามเราจะอยู่ด้วยความหวังที่คุณหมอให้ว่า “พรุ่งนี้จะได้กลับบ้าน” และได้รับคำตอบเดียวกันในวันถัดไป คือไม่ได้กลับซักที
พ่อไม่ชอบนอนห้องCCU (ก็คือ ICU สำหรับคนเป็นโรคหัวใจ) เพราะจะได้พบลูกแค่วันละสองครั้ง ครั้งละประมาณหนึ่งชั่วโมงกว่า การนอนโรงพยาบาลแต่ละครั้งคือการนอนบนเตียงและติดเครื่องมือตรวจวัดสัญญาณชีพ ทำให้พ่อไม่สามารถลุกขึ้นเดินได้เลย อย่าว่าแต่ผู้สูงอายุเลย ถ้าหากให้เราซึ่งแข็งแรงต้องนอนและไม่ลุกเป็นเวลาห้าวันก็น่าจะมึนเหนื่อยและไม่มีแรงเหมือนกัน
ดังนั้นทุกครั้งที่พ่อกลับจากโรงพยาบาล พ่อจะเหนื่อยมากและใช้เวลาพักฟื้นหลายวันกว่าร่างกายจะกลับมาสู่สภาพเดิม เพียงเพื่อที่จะกลับไปนอนโรงพยาบาลในไม่กี่วันต่อมา หรือเรียกได้ว่าพ่อเข้านอนโรงพยายาลเกือบทุกสัปดาห์ ดังนั้นการที่เราไม่ต้องนอนโรงพยาบาลและสามารถดูแลพ่อได้ด้วยตัวเองนอกจากทำให้สภาพจิตพ่อดีแล้ว ยังไม่ทำให้พ่อช้ำจากการนอนโรงพยาบาลอีกด้วย
หมอให้ผ่าตัด.. แต่เราไม่อยากผ่า
เมื่อคุณพ่อตั้งใจที่จะไม่ผ่าตัด และทางครอบครัวก็เห็นด้วย และอยากดูแลคุณพ่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่เหลือ เราพยายามคุยกับแพทย์แนวทางหลักว่าจะดูแลยังไง ก็มักได้คำตอบว่า
"ต้องผ่าตัดนะเส้นเลือดตีบแล้ว รีบตัดสินใจก่อนจะสายเกินไป"
เราเข้าใจว่าในโรงเรียนแพทย์หมอจะถูกสอนว่าเมื่อเส้นเลือดหัวใจตีบและทำบอลลูนไม่ได้ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด ดังนั้นดูเหมือนกับหมอจะไม่ชำนาญกับวิธีดูแลที่จะไม่ผ่าตัด แต่เราเชื่อลึกๆว่ามันต้องมีวิธีดูแลสำหรับคนที่ที่จะเลือกไม่ผ่าตัด
จนวันนึงพวกเราโชคดีมากที่ได้พบกับคุณหมอกระแสหลักที่แนะนำพวกเราว่า
"ถ้าอย่างนั้นต้องเข้าสู้กระบวนการประคับประคองระยะท้าย โรคพยาบาลที่หมอเคยอยู่มีหน่วยงานนี้ ขอหมอไปค้นหาก่อน"
ทีมดูแลประคับประคองระยะท้ายเป็นทีมที่เล็กมากในโรงพยาบาล เท่าที่ทราบมีหมอแค่ 1 คน กับพยาบาลอีกจำนวนหนึ่ง หมอของเราจึงใช้เวลาพอสมควรในการค้นหาหน่วยงานนี้ ซึ่งพวกเราก็ค้นหาไปด้วย เพราะในโรงพยาบาลของพ่อนั้นหน่วยงานนี้แทบไม่มีใครรู้จัก เราต้องโทรไปอีกโรงพยาบาลเพื่อถามว่าเขารู้จักหน่วยงานนี้ในโรงพยาบาลที่พ่ออยู่หรือไม่
เข้าสู่กระบวนการรักษาแบบประคับประคองระยะท้าย
หลังจากตามหาอยู่สามวัน ในที่สุดหมอที่ชำนาญด้านการประคับประคองระยะท้ายก็ได้เข้ามาพบกับพ่อเราที่เตียง CCU
เริ่มต้นด้วยการที่หมอจะมาเยี่ยมคนไข้เพื่อทำความเข้าใจถึงความปรารถนาของคนไข้ จากนั้นจะประชุมกับคนในครอบครัวเพื่อทำความเข้าใจความต้องการเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าวันนั้นฉันได้ร้องไห้ต่อหน้าหมอและพยาบาลที่ไม่เคยรู้จัก แต่เป็นความสุขเหลือเกินที่เราได้พบหมอที่เข้าใจและรับฟังความต้องการของพวกเรา
คุณหมอให้คำแนะนำให้เราดูแลคุณพ่อด้วยตัวเองเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น
หมอจะแนะนำให้อมยาอมใต้ลิ้นเพื่อขยายหลอดเลือด ให้นอนพักดมออกซิเจน ทานมอฟีน พยาบาลบอกว่าถ้าพ่อหายได้ก็จะหาย ถ้าไม่หายก็จะจากพวกเราไป
ครั้งแรกๆ ที่พ่อเจ็บหน้าอกพวกเราตกใจและกังวลกันมาก ไหนจะกังวลว่าพ่อจะเสียชีวิตและยังไม่คุ้นเคยกับกระบวนการรักษาด้วยตนเอง โชคดีที่คุณหมอให้คำปรึกษาทางไลน์และโทรศัพท์ รู้สึกอุ่นใจมาก แต่หลังจากครั้งแรกแล้วพวกเราเปลี่ยนท่าทีให้เป็นเรื่องธรรมดา บางทีก็เฮฮาไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าทุกครั้งที่พ่อเจ็บหน้าอกมีโอกาสเป็นไปได้ที่พ่อจะจากไป แต่เราก็ทำใจมองให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันนึง
พอพ่อเข้าสู่กระบวนการนี้เราก็คุยกับหมอว่าเราไม่อยากให้พ่อนอนโรงพยาบาลอีกต่อไปแล้ว พ่อก็แน่วแน่พอที่จะยอมรับหากความตายจะมาเยือน ถ้าอย่างนั้นพบหมอเฉยๆ ตามนัด (OPD) ก็พอ
จำได้ว่าครั้งแรกที่เข้าพบหมอพ่อต้องนั่งรถเข็นเพราะเดินในโรงพยาบาลไม่ไหว หมอใช้เวลาพอสมควรในการทำความรู้จักครอบครัวเรา ความรู้สึกของพ่อ และอาการที่พ่อเป็น หมอจะให้ยาเพื่อลดอาการเหล่านั้น เช่น อาการคันที่เกิดจากไตไม่ดี ไอ ยาช่วยนอนหลับถ้านอนไม่หลับ และอื่นๆ ถ้าหากมีอาการใหม่ๆ เราจะไลน์ถามหมอ แล้วหมอจะให้ยาเพื่อเราไปซื้อที่ร้านขายยาได้ จะได้ไม่ต้องเข้าไปพบเพื่อรับยา ทำให้สะดวกมาก
ครั้งที่สองที่เข้าพบหมอ น่าจะเป็นเพราะไม่ต้องนอนโรงพยาบาลให้ช้ำทำให้พ่อสามารถเดินเข้าไปพบหมอก็ได้ พ่อเดินได้ไม่เร็ว เราจึงให้พ่อนั่งพักและเดินเข้าไปบอกหมอก่อนว่าพ่อจะเดินมาเอง หมอแปลกใจที่พ่อฟื้นเร็วและรีบเดินมาดูการเดินของพ่อกันหน้าห้องแพทย์ด้วยความประหลาดใจและดีใจ ในการพบหมอครั้งนั้น หมอบอกกับพวกเราว่า
"ส่งไลน์ความดันของคุณลุงให้หมอดู เช้า-เย็นนะคะ เดี๋ยวหมอจะปรับยาให้"
เรารู้สึกเกรงใจและแปลกใจมากที่มีหมอที่เมตตาจะเสียเวลาอ่านไลน์ของพวกเราเช้าเย็นจริงๆ หรอ ที่ให้เบอร์มือถือและไลน์ส่วนตัวมาก็เป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้รับจากหมอคนไหนเลย
ตัวอย่างไลน์กลุ่มครัวครัวที่คุยกับหมอเป็นเวลา 7 เดือน
เรามาเข้าใจตอนหลังว่าความดันพ่อแต่ละวันไม่เท่ากัน ดังนั้นยาที่ให้ก็ไม่ควรเท่ากัน จึงต้องวัดความดัน ดูการบวมของเท้า และการเต้นของหัวใจเพื่อปรับปริมาณยาลดความดัน ยาขับปัสสาวะ และยาโรคหัวใจ๖ที่ช่วยลดความดันและปรับการเต้นของหัวใจ)ให้เหมาะสม เราจึงเข้าใจว่าการรักษากระแสหลักที่ให้ยาลดความดันในปริมาณที่เท่าๆกันทุกวันนั้น ก็อาจจะไม่เหมาะกับคนไข้ ซึ่งมีพ่อของเพื่อนที่ความดันแกว่งไม่คงที่ ส่วนหนึ่งก็น่าจะเกิดจากการให้ปริมาณยาความดันที่คงที่กับร่างกายที่มีความดันไม่คงที่
หลังพบแพทย์ พยาบาลที่ดูแลเคสนั่งคุยกับพ่อหน้าห้องแพทย์อยู่นาน เพราะจะช่วยมองหาความปรารถนาที่พ่อต้องการ สิ่งที่พ่อยังห่วง และก็ได้คำตอบเหมือนเดิมว่า
"ไม่มีอะไรห่วงหรอก ลูกๆ โต ดูแลตัวเองกันได้แล้ว"
หลังจากการพบหมอครั้งที่สอง พ่อก็ยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่เรื่อยๆ แต่เป็นเพราะพวกเราพยายามทำความเข้าใจเรื่องอาการของพ่อกับยาที่พ่อได้ เรียนรู้ที่จะดูแลพ่อด้วยตัวเองโดยที่มีหมอคอยสนับสนุน ทุกครั้งที่พ่อเจ็บหน้าอกจะใช้เวลาพักฟื้นหนึ่งวันแล้วก็เป็นปรกติ ซึ่งเรามองว่าฟื้นเร็วกว่าการนอนโรงพยาบาลมาก ภายหลังเราได้ฟังหมอคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีงานวิจัยว่า "ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ตัดสินใจผ่าตัดและไม่ผ่าตัดจะมีอายุยืนยาวไม่แตกต่างกัน"
พ่อแข็งแรงมากจนสามารถไปเดินพักผ่อนในสวนสาธารณะได้ทุกเย็น และพวกเราก็จัดโครงการ "ฝากพ่อไว้กับหมอนวด" แล้วหนีเที่ยวได้สัปดาห์ละสองครั้ง ทุกคนแฮปปี้กับสิ่งนี้
เราพบว่าการรักษาแบบประคับประคองนี้เหมาะกับผู้ป่วยหลายคนแต่เสียดายที่หลายคนไม่ได้รับโอกาสนี้ การรักษาแบบนี้ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ประหยัดงบประมาณของทางราชการ ช่วยให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุข ในต่างประเทศแนวทางนี้มีการใช้อย่างแพร่หลาย เราอย่างให้การรักษาแนวทางนี้ขยายออกไปให้คนไข้มีสิทธิ์เลือกในสิ่งที่เขาต้องการ
พ่อเข้าไปพบหมอแค่เพียงสองครั้งแล้วก็ไม่เคยพบหมออีกเลย เราสั่งยาจากร้านขายยา มีแต่มอฟีนเท่านั้นที่ต้องเข้าไปรับจากหมอ(ซึ่งลูกๆไปรับกันเองได้) หมอให้ยืมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ เช่น เครื่องทำออกซิเจน พวกเราจัดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมด้วยตัวเอง เท่านี้บ้านก็เป็นเหมือนโรงพยาบาลแล้ว โดยที่มีลูกๆ ทำหน้าที่เป็นหมอ พยาบาล นักโภชนาการ เภสัชกร นักจิตวิทยา หมอนวด เป็นทุกๆอย่างที่ทำให้พ่อมีความสุข
หลังจากพ่ออาการดีขึ้นพวกเราก็คิดการใหญ่ที่จะพาพ่อไปทะเล ตอนแรกตั้งใจจะไปค้างสองคืนแต่สุดท้ายก็อยู่ถึงสามเดือน ตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟังค่ะว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร และพวกเราอยู่กันได้อย่างไร
ก่อนจากกันอยากเล่าเพิ่มเติมว่า โรคหัวใจเป็นหาเหตุการตายอันดับหนึ่งทั่วโลก พบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือไขมันในเลือดสูง และการสูบบุหรี่ ทุกครั้งที่ไปหาหมอใหม่จะถามว่าพ่อสูบบุหรี่ไหม โรคเบาหวานเป็นโรคสำคัญที่นำมาสู่การเสื่อมของหลอดเลือด ทำให้เกิดความดันสูง ทำให้พ่อมีปัญหาทั้งเรื่องต้อหิน โรคไต และความดัน เราเคยเข้าใจว่าน้ำตาลเกินเกณฑ์นิดหน่อยไม่เป็นไร แต่พอสะสมแล้วทำให้เกิดปัญหาได้ทั่วร่าง อยากให้รักษาสุขภาพกันค่ะ
ติดตามอ่านซีรีย์สู่ลมหายใจสุดท้ายที่สมบูรณ์ย้อนหลังได้ที่นี่ค่ะ
ตอนที่ 1 สู่ลมหายใจสุดท้ายที่สมบูรณ์
ตอนที่ 2 ประสบการณ์ประคับประคองผู้ป่วยระยะท้ายโรคหัวใจ
ตอนที่ 3 ให้ธรรมชาติเยียวยาร่างกายและจิตใจ
ตอนที่ 4 เมื่อเตรียมตัวตายแล้วต้องเตรียมใจตายด้วย
ตอนที่ 5 โรคหัวใจที่ว่าร้ายยังพ่ายโรคหลอดเลือดสมองตีบ
ตอนที่ 6 ลมหายใจสุดท้ายที่เต็มไปด้วยสติ
ตอนที่ 7 งานศพรักษ์โลก (ตอนจบ)
ในบทความแรกมีคนอ่านคนแชร์ คนกดถูกใจ แม้จะจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นกำลังที่สำคัญให้เขียนต่อไปค่ะ อยากฟังความคิดเห็นทุกท่านในช่องความคิดเห็นจะเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนอย่างยิ่งค่ะ ขอบคุณค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา