20 พ.ย. 2020 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์
ตอนที่ 3 ให้ธรรมชาติเยียวยาร่างกายและจิตใจ
ในตอนที่แล้วได้เล่าถึงกระบวนการดูแลแบบประคับประคองที่ทำให้พ่อได้ใช้ชีวิตที่บ้านกับลูกๆ สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้นมาก แม้จะเหนื่อยแต่พ่อไม่ใช่ป่วยอีกต่อไป
หลังจากที่พวกเรามีความแข็งแกร่งในการรับมือการเจ็บหน้าอกของพ่อ เราจึงไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาโรงพยาบาลอีกต่อไป มีแค่ไลน์ติดต่อหมอได้พวกเราก็อุ่นใจแล้ว พวกเราจึงคิดการณ์ใหญ่ที่จะพาคุณพ่อไปเที่ยวทะเลที่พ่อชอบ ในการพบหมอครั้งที่สองเราบอกกับหมอว่าอยากพาพ่อไปทะเล หมอหันมาถามพ่อว่า
"คุณลุงชอบทะเลหรอคะ?"
"ชอบครับ"
"คุณลุงจะไปทะเลมั้ย?"
"ยังไปไม่ได้หรอกหมอ ยังเหนื่อยเกินไป เอาไว้ให้หายเหนื่อยก่อน"
ใช่พ่อพูดถูกพ่อยังเหนื่อยเกินไป แต่พวกเราก็เริ่มวางแผนที่จะพาพ่อไปรอเพียงเวลาที่เหมาะสม ในใจก็กลัวพ่อจากไปก่อนจะได้ไปทะเล พยาบาลแนะนำพวกเราว่า
"ลองชั่งน้ำหนักดู เพราะการออกไปนอกสถานก็มีความเสี่ยง ถ้าคิดว่ามันสำคัญกับคุณลุงก็ไปค่ะ เลือกสถานที่ที่ใกล้โรงพยาบาลเผื่อมีเหตุฉุกเฉินจะได้เข้าโรงพยาบาลได้ทัน เตรียมอุปกรณ์ให้ครบถ้วน โดยเฉพาะออกซิเจนต้องเตรียมไว้ค่ะ"
หลังจากพ่อเริ่มฟื้นตัวและนั่งรถได้ไกล เราก็เดินทางไปทะเลกันตั้งใจว่าจะไปสักคืนสองคืน
ที่พักที่เราได้บรรยากาศดีมากสามารถทำอาหารให้พ่อทานได้เอง (เพราะถ้าพ่อกินอาหารที่มีผงชูรสหรือรสเค็มที่คนทั่วไปทานกันจะเท้าบวมขึ้นทันที เนื่องจากไตต้องทำงานหนัก) จำได้ว่าวันที่พ่อไปพ่อต้องนั่งรถเข็นเวลาที่เราออกไปทะเลกัน แต่หลังจากนั้นพ่อก็สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง เราจะไปนอนริมทะเลกันช่วงเย็นถึงค่ำ หากพ่อมีแรงก็จะเดินออกกำลังกายก่อนกลับบ้าน พ่อดูจะมีความสุขกับทะเล พ่อมักบอกว่า
"นอนรับลมที่ทะเล 10 นาทีดีกว่านอนที่บ้าน 2 ชั่วโมง"
เมื่อพ่ออยู่ที่นี่แล้วสบายเราก็อยู่ไปเรื่อยๆก่อนแล้วกัน โชคดีที่เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงโควิดที่เราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ที่พักก็ไม่ค่อยมีแขก เราจึงสามารถอยู่ต่อได้ พวกเราได้อยู่ดูแลพ่ออย่างใกล้ชิด และทำให้ช่วงชีวิตสุดท้ายของพ่อเป็นชีวิตที่งดงามและมีความสุข
ภาพวิวที่คุ้นตาจากที่มุมที่เราชอบมานอนเล่นกัน
เกือบทุกวัน เมื่อพ่อตื่นและลุกขึ้นมา พวกเราจะไปกอดด้วยความรัก ทำอาหารเช้าให้ทาน ส่งความดันให้คุณหมอเพื่อปรับยา ช่วงเวลาที่คุณพ่อพักผ่อนหลังอาหารเช้า ฉันจะไปผ่อนคลายที่ฟิตเนตและซาวน่าในตึก จากนั้นจะกลับมาทำอาหารทานกัน แล้วพาพ่อไปนอนและเดินออกกำลังกายยามเย็นที่ชายหาด พอกลับมาทำอาหารมื้อค่ำทานกัน ยืดเส้น (Stretching) ให้คุณพ่อ แล้วพาทำสมาธิจนหลับไป
ฉันเองรู้สึกขอบคุณยูทูปมากๆ ที่ให้ไอเดียการทำอาหารแปลกๆใหม่ๆให้คุณพ่อทาน คุณแม่มักจะทำอาหารฝากมาให้จนเต็มตู้เย็น เมื่อนึกย้อนกลับไปฉันไม่อยากเชื่อว่าจะเป็นแม่บ้านเต็มเวลา พวกเราเป็นหมอหนวด เป็นพยาบาล เป็นหมอ เป็นคนขับรถ เป็นทุกอย่างที่จะทำให้คุณพ่อมีความสุข พวกเราทำงานกันเป็นทีมทั้งนี้เพื่อเป้าประสงค์เดียวที่ได้ตั้งไว้คือให้คุณพ่อมีความสุขที่สุด ทุกวันนี้หลังจากคุณพ่อจากไป ช่วงเวลาแห่งความสุขนั้น เรื่องราวต่างๆ ตลอดจนคำพูดที่พ่อพูดจนติดปากก็ยังอยู่กับพวกเรา เป็นตัวแทนของคุณพ่อให้ได้คิดถึงอยู่เสมอ
ร่างกายพ่ออาจจะไม่ได้แข็งแรงแบบคนทั่วไป บางครั้งแค่ออกมาจากห้องอาบน้ำก็ต้องให้ออกซิเจนเพราะเหนื่อยมาก พ่อจะเกรงใจลูกบางครั้งก็ไม่เล่าอาการให้ฟัง บางครั้งเหนื่อยก็ไม่เรียกหาออกซิเจน แถมบางครั้งจะรำคาญสายด้วยซ้ำต้องขอร้องกัน พวกเราต้องคอยสังเกตอาการของพ่อ ถ้าเหนื่อยต้องเอาออกซิเจนให้ดม ถ้าไอเสียงดังมีแนวโน้มว่าจะเจ็บหน้าอกจะต้องรีบถาม พ่อมักจะเจ็บหน้าออกช่วงค่ำ หรือบางทีทุกคนก็หลับไปแล้วพ่อก็จะไม่บอก แล้วมาบอกตอนเช้า พ่อบอกว่านึกว่าจะหายเอง แต่ความจริงแล้วอาการของโรคจะหนักและรักษายากขึ้น ทุกครั้งที่พ่อเจ็บหน้าอกพ่อต้องใช้อย่างน้อย 1 วันในการฟื้นตัว แต่โชคดีที่พ่อสุขภาพจิตดีพยายามทำตัวไม่เหมือนคนป่วย ก็มีบางครั้งที่พ่อบอกว่า
"ทำไมไม่ตายซะทีเนอะ เพื่อนก็ตายไปเกือบหมดแล้ว"
พวกเราจะปลอบพ่อว่า "อยู่เล่นกันก่อน ไม่ต้องรีบ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น"
โชคดีอีกอย่างที่เรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคที่การสื่อสารใกล้กันเหมือนแค่เอื้อม หากพ่อมีอาการที่พวกเราไม่เข้าใจ เราสามารถถ่ายภาพหรือคลิปส่งให้คุณหมอได้ หากมากกว่านั้นสามารถเป็นวีดีโอคอลสื่อสารเหมือนใกล้กัน บางครั้งที่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์เราจะไปที่คลีนิคหรือโรงพยาบาลเอกชนใกล้ๆ ให้คุณหมอประจำตัวพ่อได้คุยกับหมอที่โรงพยาบาล เช่นอาจจะต้องตรวจเลือด เอ๊กซเรย์ปอด ทำ MRI เสร็จแล้วเราก็ถ่ายผลส่งไลน์ให้คุณหมอได้เลย เมื่อหมอที่โรงพยายาลทราบว่าเราอยู่ในกระบวนการดูแลแบบประคับประคองจะเลือกการรักษาที่ไม่รุกรานเพื่อให้คนไข้สะดวกสบายให้เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด
แน่นอนว่าเราจะต้องศึกษาทั้งเรื่องยา เรื่องอาการของโรค และการดูแลให้พ่อสุขสบายด้วยตัวเอง คิดวิเคราะห์ว่าควรจะทำอะไรเพราะเราคือด่านหน้าที่อยู่หน้างาน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปเพราะมีคุณหมอคอยเป็นพี่เลี้ยงและเป็นกำลังใจให้เสมอ
จริงๆ อาจมองได้ว่าการออกมาอยู่ต่างจังหวัดเป็นเรื่องเสี่ยงที่ไม่สามารถกลับเข้าไปที่โรงพยาบาลประจำเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน แต่เมื่อเราตัดสินใจที่จะไม่ติดกับโรงพยาบาล ไม่กลัวตาย ทุกอย่างก็เบา ทำให้ดีที่สุด ยอมรับทุกผลที่เกิดขึ้น ฉันคิดว่าการใช้ชีวิตที่ทะเลในช่วงสุดท้ายเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดแล้ว
ติดตามอ่านซีรีย์สู่ลมหายใจสุดท้ายที่สมบูรณ์ย้อนหลังได้ที่นี่ค่ะ
ตอนที่ 1 สู่ลมหายใจสุดท้ายที่สมบูรณ์
ตอนที่ 2 ประสบการณ์ประคับประคองผู้ป่วยระยะท้ายโรคหัวใจ
ตอนที่ 3 ให้ธรรมชาติเยียวยาร่างกายและจิตใจ
ตอนที่ 4 เมื่อเตรียมตัวตายแล้วต้องเตรียมใจตายด้วย
ตอนที่ 5 โรคหัวใจที่ว่าร้ายยังพ่ายโรคหลอดเลือดสมองตีบ
ตอนที่ 6 ลมหายใจสุดท้ายที่เต็มไปด้วยสติ
ตอนที่ 7 งานศพรักษ์โลก (ตอนจบ)
ตอนหน้าจะมาเล่าเรื่องการดูแลจิตใจของพ่อ พวกเราเลือกใช้ธรรมะมาปรับให้เป็นธรรมชาติแบบเนียนๆกับผู้ป่วยที่นับถือศาสนาเพียงแค่ในบัตรประชาชนอย่างไร จะสำเร็จหรือไม่ มาติดตามกันตอนหน้าค่ะ
ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ และขอบคุณสำหรับการกดถูกใจ และโพสต์ความเห็นในโพสต์ก่อนหน้าค่ะ หากทุกท่านมีประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยใกล้ตัว มาแบ่งกันกันใต้โพสต์นี้ค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา