21 พ.ย. 2020 เวลา 09:37 • ธุรกิจ
เมื่อวันก่อนมีข่าวที่ว่าเวียดนามเป็นประเทศที่เติบโตดีสุดในเอเชียตะวันออก แถมยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไวกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายๆประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ด้วย เลยทำให้มีการแตกประเด็นเกี่ยวกับเวียดนามออกมาจำนวนมาก
และหนึ่งในประเด็นที่ถูกคนไทยนำมากล่าวถึงโดยหวังสื่อสารทางการเมืองก็คือ Claim ที่ว่า "เวียดนามไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ทั่วโลกก็ยังอยากคบค้าสมาคมกับเวียดนามอยู่" คล้ายๆกับที่สมัยก่อนคนไทยชอบอ้างกันว่า "จีนไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ร่ำรวย มีแต่คนอยากค้าขายด้วย" นั่นแหละ
1
ผมอยากจะบอกว่ามันค่อนข้าง Misleading ถ้าเราตั้งข้อสังเกตแบบนี้ มันอาจจะดูมีเหตุมีผลโดยประจักษ์ในตัวของมันเอง ว่าไม่มีประชาธิปไตยก็อยู่ได้ มีคนมาค้าขายด้วยตลอดเรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้นครับ ถ้าเราพิจารณาจากมุมของโลกตะวันตก มันมีชุดของเหตุผลอีกแบบหนึ่งที่คนละเรื่องกับที่เรามองเลย
คือในแวดวงของนักนโยบายระหว่างประเทศ หรือนักการทูตของสหรัฐอเมริกา และพรรคพวกในยุโรปเนี่ย เวลาไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเป้าหมาย ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานี้ เขาจะมีธงในใจอยู่ประการหนึ่ง คือ เขาเชื่อใน Concept เรื่อง 'Democratic peace'
1
คุณสามารถเดินเข้าไปถามทูตตามสถานเอกอัครราชทูตอเมริกา อังกฤษ หรือออสเตรเลีย ที่อยู่ตามถนนวิทยุ หรือตามสาธรได้เลยว่า สมัยสักประมาณ 20-30 ปีก่อนคำว่า Democratic peace มันมีอิทธิพลทางความคิดกับการพัฒนาสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกมากแค่ไหน
2
** Democratic peace คือความเชื่อหนึ่งที่ว่าประเทศที่มีระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยไตยหรือเสรีนิยมเหมือนกันจะมีแนวโน้มในการขัดแย้ง ทำสงครามใส่กันน้อยลง
หลังจากสงครามเย็นยุติลง โซเวียตล่มสลาย หลายประเทศในช่วงนั้นจึงต้องปรับตัวเข้าสู่ประชาธิปไตย หรืออย่างน้อยๆก็พยายามทำตัวเองให้มีความเป็นประชาธิปไตย เพื่อที่จะเอนเข้าหาการค้าขายกับโลกเสรีนิยมของตะวันตกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวละครหลักบนเวที
1
แต่ก็มีจีนนี่แหละครับ ที่สหรัฐอเมริกายอมอลุ่มอล่วยผ่อนปรนให้ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตย แถมยังคอยไปโน้มน้าวให้ประเทศพันธมิตรของตนเองในยุโรปยอมรับประเทศจีน ให้จีนเข้ามาอยู่ร่วมค้าขายในโลกเสรี และมาใช้สิทธิพิเศษทางการค้าจากองค์การการค้าโลก (WTO) อีกด้วย
1
เหตุผลหลักๆไม่ใช่เพราะจีนมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และมีโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงพอที่จะให้โลกตะวันตก หรือสหรัฐอเมริกาหาข้ออ้างเข้าไปกอบโกยแต่เพียงอย่างเดียว อันนี้มันแค่เหตุผลส่วนหนึ่ง ส่วนเดียวเท่านั้น แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่นักการทูต และนักยุทธศาสตร์สมัยนั้นเขาลงความเห็นกันไว้ตรงกันคือ
1
พวกเขาเชื่อว่าการนำเอาปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้าไปเป็นตัวแปรในการพัฒนาประเทศให้แก่จีน จะช่วยให้คนจีนจำนวนมากสามารถลืมตาอ้าปากได้ มีเงินใช้มากขึ้น จะทำให้ประเทศจีนมีแนวโน้มจะเปลี่ยนระบอบการปกครองของตนเองจากเผด็จการมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมได้ครับ
ทำไมเขาเชื่อแบบนั้นรู้ไหมครับ? ที่เขาเชื่อกันแบบนั้น เพราะตามหลักการในตำราของพวกเขาแล้ว การนำเงิน นำนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเข้าไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาส่วนใหญ่จนทำให้คนในประเทศเหล่านั้นมีรายได้มากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็มีคนในประเทศเหล่านั้นพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตยเองแบบ Bottom-up
ในจีนก็เหมือนกัน ฝรั่งเขาคิดกันแบบนี้ และเพราะฝรั่งเขาคิดกันแบบนี้ เขาจึงพยายามดึงจีนเข้ามาในเวทีโลก ดึงจีนเข้ามาใน WTO ดึงจีนให้เข้ามาค้าขายในห่วงโซ่อุปทานหรือ Global supply chain อย่างเต็มตัว แถมยังให้โอกาสนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนปริญญาที่อเมริกาทุกปีตลอดในช่วงกว่า 40 ปีมานี้
ตอนปี 1978 ที่ปรึกษาของ Deng Xiaoping ต่อสายตรงโทรไปหาประธานาธิบดี Jimmy Carter ว่า "ขอส่งนักศึกษาจากจีนไปเรียนที่อเมริกาบ้างสักปีละ 5,000 คนได้ไหม?" ตอนนั้น Carter ตอบกลับไปอย่างรวดเร็วว่า "ส่งมาเลย จะมาสัก 100,000 คนก็ได้ยินดีรับ..."
เขาหวังเพื่อที่จะให้จีนรวยขึ้น ตามทัศนคติของโลกตะวันตกคือ ยิ่งรวย ก็ยิ่งมีการศึกษา ยิ่งเดินทางออกมาเปิดหูเปิดตา ก็ยิ่งเห็นโลกมากขึ้น เมื่อจีนมีชนชั้นกลางมากขึ้น ก็จะทำให้จีนเปลี่ยนเข้ามาเป็นประชาธิปไตยเองโดยอัตโนมัติ (ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นแนวทางที่ผิด เพราะคอมมิวนิสต์ของจีนรู้ทันเลยพยายามปรับตัวตามโลก จีนเลยไม่ได้เปลี่ยนระบอบ)
1
ความผิดพลาดนี้เป็นสิ่งที่นักยุทธศาสตร์ และนักการทูตในประเทศแถบสหรัฐอเมริกา และยุโรปบ่นกันระงมมากขึ้นในช่วง 10 กว่าปีมานี้ เพราะการประเมินคาดเดาแนวโน้มในช่วง 20-30 ปีก่อนมันเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นจริง คำว่า China's Peaceful Rise เป็นเรื่องโกหก ทุกวันนี้จีนเติบโตมาแต่ไม่ยอม Fit in ไม่ยอมปรับตัวเข้าหาโลกตะวันตก และในทางตรงกันข้ามก็พยายามจะเปลี่ยนโลกตะวันตกให้เข้าหาจีนเองด้วยนโยบาย Belt and Road Initiative (จึงนำมาสู่นโยบายสงครามการค้าของ Donald Trump และนโยบายปิดล้อมจีนด้วยดีล TPP ของ Barack Obama นั่นแหละครับ)
แต่ก็ใช่ว่าแนวคิดแบบเดิมที่หวังจะให้จีนปรับตัวเข้าสู่โลกประชาธิปไตยนั้นหายไปนะครับ สมัยนี้ก็ยังมีคนคิดแบบนั้นอยู่ อย่าง Sir Henry Kissinger อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ในวัย 97 ปีเองก็ยังเชื่อเรื่องการสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างโลกตะวันตก กับประเทศจีนอยู่
กรณีข้อยกเว้นที่จีนไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีคนมาค้าขายด้วยนี้ก็คล้ายๆกับเวียดนามครับ ทุกวันนี้โลกตะวันตกพยายามจะเข้าหาเวียดนาม ค้าขายกับเวียดนาม มาเซ็นข้อตกลง FTA กับเวียดนาม ส่วนหนึ่งก็เพราะหลายๆคนในรัฐบาลฝั่งตะวันตกเขายังเชื่อในแนวคิดลักษณะ Globalism และเสรีนิยมทำนองนี้อยู่ โดยหวังว่าเมื่อใดก็ตามที่เวียดนามพัฒนาทางเศรษฐกิจขึ้นมาทัดเทียมกับมหาอำนาจระดับกลางแห่งอื่นๆในเวทีโลก จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายในเวียดนาม
** ซึ่งก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่าในช่วงอีก 20 ปี เวียดนาม และพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามจะสามารถปรับตัวต้านกระแสโลกด้วยวิธีใด จะใช้วิธีเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนเมื่อช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ไหม
โดยสรุปผมไม่เถียงนะว่า โลกตะวันตกและสหรัฐอเมริกาเขามองจีนกับเวียดนามในกรอบของผลประโยชน์เป็นหลัก ระบอบการปกครองของ 2 ประเทศนี้อาจจะเป็นรอง แต่ถ้าเราพิจารณาจากมุมมองของ Policy practitioners หรือ Foreign policy elite ภายในรัฐบาล มันมีเหตุผลอีกชุดหนึ่งที่รองรับการกระทำลักษณะนี้อยู่ ไม่ใช่แค่ว่าพวกเขาเข้าหาโดยยึดผลประโยชน์ในทางการเงินอย่างเดียว แต่เขายังมองพวก Long-term strategic goals ที่เป็นเป้าในระยะยาวพร้อมไปด้วย (ส่วนจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่เกิดขึ้นจริงนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
ย้อนกลับมาประเด็น Democratic peace อีกนิดนึง ถ้าถามว่าสมัยนี้คนภายในรัฐบาลของโลกตะวันตกยังรับอิทธิพลทางความคิดจาก concept นี้กันอยู่หรือไม่ ก็บอกตามตรงว่ามีอยู่แล้วครับ มีเยอะเลยด้วย ดังจะเห็นได้ว่า มันมี movement กันอยู่ตลอดจากทางฝั่ง EU และสหรัฐอเมริกาที่จะออกมากดดันประเทศอื่นๆเรื่องประชาธิปไตยทุกปี ใครทำอะไรไม่เป็นประชาธิปไตยเขาก็จะออกมาเรียกร้อง ประณามอยู่ตลอดนั่นแหละ ถ้าพูดให้เห็นตัวอย่างชัดกว่านั้นก็ เรื่องการกู้เงิน IMF อะไรพวกนี้นั่นแหละครับ ตัวแทนอย่างดีของความคิด Democratic peace
แต่ทุกวันนี้ที่เราไม่ค่อยสัมผัสหรือได้ยินเรื่องกติกา IMF กันเท่าไร เพราะหลายปีมานี้ IMF กำลังถูก disrupt ด้วยยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative ของจีน ที่ดันเอาธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ขึ้นมาคาน (อิทธิพลของ concept เรื่อง Democratic peace ทุกวันนี้มันเลยดูเจือจางลง เพราะมันต้องไปขับเคี่ยวอยู่กับการ disrupt จากวิถีคิดแบบจีนๆน่ะครับ) ใครไม่อยากทำตามข้อบังคับของ IMF ก็หนีไปกู้ AIIB แทนได้
โฆษณา