22 พ.ย. 2020 เวลา 09:43 • สุขภาพ
Episode 2: Chapter 2 ตามหาสาเหตุ และต้นตอของความรู้สึกเคว้งคว้างว่างเปล่าในจิตใจของตัวเอง
เราจะมาต่อกันเรื่องสาเหตุที่เหลือของภาวะว่างเปล่า สาเหตุของความรู้สึกที่ขาดหาย ใครตรงกับข้อไหน มาช่วยแชร์ประสบการณ์ให้เพื่อนๆ ไว้เป็นกรณีศึกษาจะยิ่งดีเลยค่า
Photo credit: Unknowned
เราสามารถสร้างกลุ่มเพื่อนที่คอยช่วยเหลือกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากเพื่อนๆ ที่พบเจอปัญหาที่คล้ายคลึงกัน หรือจากเพื่อนๆ ที่เคยได้รับคำปรึกษาจากจิตแพทย์มาแล้ว กลุ่มเพื่อนที่คอยช่วยเหลือกันนี้เราจะเรียกว่า support groups ที่มีให้เห็นในกิจกรรมการบำบัดกับเพื่อนเป็นกลุ่มนั่นเอง
โดย Support groups สามารถสร้างในพื้นที่ออนไลน์ได้ เพื่อเอาไว้เป็นแนวทางให้เเพื่อนๆ ที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือให้เข้าถึงข้อมูลเบื้องต้น เพื่อที่จะได้เกิดองค์ความรู้ ตระหนักในปัญหาของตัวเอง และตัดสินใจขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแก้ปัญหาส่วนตัวของแต่ละคนได้อย่างตรงจุดต่อไป
6. ติดเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ใช้ยาเกินขนาด
เป็นที่รู้กันว่าความรู้สึกว่างเปล่าเรื้อรัง เป็นสาเหตุที่ทำให้คนหันมาพึ่งเหล้า บุหรี่ หรือยาเสพติด แต่บางครั้งในทางกลับกัน สาเหตุของอาการก็มาจากการเสพสิ่งเหล่านี้ด้วย คุณอาจจะมีปัญหาการพึ่งยา ยาเสพติด หรือสุราให้รู้สึกดีขึ้น หรือการพยายามเบี่ยงเบนความรู้สึกอันว่างเปล่า ไปที่สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีชั่วคราว
(ยาในที่นี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นยาเสพติดอย่างเดียวนะคะ ยาในที่นี้หมายถึง ยาทุกชนิดที่ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยาพารา ยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ ยานอนหลับ หรือยาที่จิตแพทย์เคยจ่ายให้เพื่อช่วยให้เราคลายเครียดเป็นต้น การใช้ยาทุกชนิดเกินขนาดเพื่อทดแทนความรู้สึกแย่ๆ ยังไงก็เป็นผลเสียต่อสุขภาพค่ะ)
บางคนอาจจะเกิดความรู้สึกว่างเปล่าเป็นครั้งคราว เลยอยากเติมเต็มด้วยสิ่งเหล่านี้ หรือบางคนที่กลัวการเข้าสังคมจนต้องใช้เหล้าเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่การใช้อย่างไม่ระวังจนมีอาการเสพติด ในทางกลับกันจะทำให้เรารู้สึกไม่พอ เลยต้องดื่ม หรือใช้ยาในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง และเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
ถ้าใครประสบปัญหานี้อยู่หรืออยู่ในวังวนของการเสพติด ให้รีบขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญนะคะ และอย่าลืมปรึกษาจิตแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ หรือปมของตัวเอง เพื่อที่จะแก้ไขได้ตรงจุดด้วยค่า
เหล้า บุหรี่ หรือยาชนิดต่างๆ ไม่ได้มีไว้เติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหาย ทางที่ดีเราควรจะเติมเต็มด้วยกิจกรรมที่สร้างสรรค์เหมือนที่เค้ารณรงค์กัน เช่น การเล่นกีฬา หรือการทำงานอดิเรก กิจกรรมเหล่านี้สามารถช่วยเติมสารความสุขให้สมองได้ไม่ต้องจากการใช้ของมึนเมาค่า
7. เกิดจากภาวะความผิดปกติทางบุคลิกภาพชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder: BPD)
ความผิดปกติทางบุคลิกภาพนี้เกิดจาก ภาวะที่เราไม่สามารถควบคุม หรือปรับอารมณ์ได้ หนึ่งในความรู้สึกนี้คือความรู้สึกเคว้งคว้าง ว่างเปล่า ที่ไม่สามารถกำจัดออกไปได้ หรือควบคุมได้เหมือนคนทั่วไป ซึ่งภาวะนี้จะส่งผลต่อมุมมองการมองโลกของเรา ที่จะทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้ดูไม่สดใส ไม่น่าอยู่ เต็มไปด้วยปัญหา
***ภาวะนี้ส่งผลต่ออาการซึมเศร้า และการทำร้ายตัวเอง ประมาณสิบเปอเซ็นต์ของคนที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพชนิดนี้ฆ่าตัวตาย รายละเอียดมีเยอะกว่านี้มาก ภาวะว่างเปล่าคือหนึ่งในอาการของความผิดปกติ เราอยากให้เพื่อนๆ ที่มีอาการซึมเศร้าลองศึกษาเพิ่มเติมดูนะคะ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะจัดการกับสาเหตุของอาการซึมเศร้าของตัวเองได้อย่างตรงจุดค่ะ
8. คนที่เรารักเสียชีวิต
ความเศร้าโศกขณะไว้ทุกข์สามารถทำให้เกิดความรู้สึกกลวง หรือขาดหายในจิตใจได้อย่างที่เคยเกริ่นไว้ ซึ่งเป็นภาวะปกติของคนที่สูญเสีย บางคนเกิดความรู้สึกว่าชีวิตไร้ความหมาย การไว้ทุกข์ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ เป็นสิ่งที่ดีต่อใจ ที่ช่วยให้เราจัดการกับความรู้สึกได้ แต่การคร่ำครวญเสียใจจนกลืนกินตัวเอง หรือส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรที่จะรีบขอความช่วยเหลือ
9. ความรู้สึกว่าเราใช้ชีวิตไปวันๆ โดยไร้เป้าหมาย
อีกสาเหตุหนึ่งของความรู้สึกว่างเปล่า ขาดหาย คือการขาดเป้าหมายในการใช้ชีวิต คุณอาจจะรู้สึกว่ากำลังจมอยู่กับงานที่ไม่มีวันก้าวหน้า หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ทำให้อึดอัด ไม่มีความสุข ความรู้สึกแย่ๆ เหล่านี้เราควรที่จะรีบแก้ไข ไม่ควรปล่อยไว้จนเรื้อรัง จนเกินเยียวยา
ในโลกนี้แต่ละคนก็มีวิธีการใช้ชีวิตในรูปแบบของตัวเอง แตกต่างกันไปตามจริตของตัวเอง บางคนให้ความหมายกับครอบครัว การอยู่เพื่อช่วยเหลือลูกหลาน และทำงานที่ตนเองรัก บางคนชอบชีวิตสันโดษ อยากเข้าปฏิบัติธรรม
อย่างไรก็ตาม ในจักวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล การจะหาความหมายของชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การปรึกษาผู้รู้ หรือศึกษาหาความรู้เรื่องปรัชญาของชีวิต อาจจะช่วยไขข้อข้องใจเหล่านี้ได้ระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ทั้งหมด เหมือนกับการพยายามหา ฺBrief Answers to the Big Questions (คำตอบย่อของคำถามใหญ่) แต่อย่างน้องก็ช่วยให้เรารู้สึกสบายใจ หรือค้นพบความหมายในชีวิตที่เข้ากับตัวเองได้ไม่มากก็น้อย
10. โรคที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ (Eating disorder: ED)
บางครั้งการไม่พอใจในรูปร่างของตัวเอง สามารถทำให้เกิดภาวะที่รู้สึกว่าเราไม่เติมเต็มในจิตใจได้ โดยพฤติกรรมนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง หรือที่เรียกว่า Body Dysmorphic Disorder คือความรู้สึกที่ไม่พึงพอใจในรูปร่างและหน้าตาของตนเองเกินปกติ จัดอยู่ในกลุ่มโรคย้ำคิดย้ำทำ คือมีอาการคิดซ้ำ ๆ ไม่พอใจ เปรียบเทียบกับผู้อื่น มีความรู้สึกที่ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ไม่รู้สึกว่ารูปร่างตัวเองดีพอ และ มีพฤติกรรมทำซ้ำ เช่น ส่องกระจกบ่อย ๆ ถามผู้อื่นซ้ำ ๆ ด้วยความวิตกกังวล เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน โรคนี้ถูกจัดเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง ที่ต้องเข้ารับการบำบัด
11. มีความขัดแย้งกับเพื่อนฝูง แฟน หรือครอบครัว
บางครั้งความรู้สึกว่างเปล่า ขาดหาย จะเกี่ยวข้องกับความคัดแย้งกับบุคคลใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน แฟน หรือคนในครอบครัว คนที่เราให้ความใส่ใจ หรือแคร์ ความรู้สึกนี้อาจเกิดจากคนในครอบครัวเพิกเฉย ไม่ยอมพูดด้วย อาการหมดรักแฟน ไม่รู้สึกรักแฟนเท่าเมื่อก่อน แต่ยังเป็นห่วง และมีเยื่อใยต่อกัน หรือการที่เพื่อนสนิทตีตัวออกห่าง เนื่องจากความขัดแย้งต่างๆ
บางครั้งเราก็กลัวการเปิดใจที่จะพูดกับคู่กรณีไปตรงๆ แต่การไม่พูด และปล่อยผ่าน ก็จะมีแต่ทำให้สถานการณ์แย่ลง
แต่อย่าลืมว่าเรายังมีผู้ช่วยชาญที่ให้คำปรึกษาปัญหาในครอบครัว และปัญหาในคู่สมรส เช่นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ครอบครัวบำบัด และคู่สมรสบำบัด ที่คอยให้คำปรึกษา ช่วยแก้ไขปัญหาที่เราคาดไม่ถึง และยังช่วยเชื่อมต่อความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปให้กลับมาได้อย่างยั่งยืน
12. มีปัญหาเรื่องโรคประจำตัว หรือสุขภาพจิต
ในผู้ป่วยบางราย อาการเหล่านี้เกิดจากผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น ในผู้ป่วยบางรายที่เข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า มีอาการเบลอ หรือมึน ไร้ความรู้สึก ซึ่งอาการนี้อาจเป็นผลข้างเคียงของยาต้านซึมเศร้า จากงานวิจัยพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านซึมเศร้ามีอาการนี้
จากปัญหาทั้งหมด 12 ข้อ มีใครเข้าข่ายปัญหาไหนกันบ้างคะ สำหรับบทหน้า เราจะมาพูดถึง วิธีที่จะจัดการกับอาการเหล่านี้ค่า อย่าลืมกดติดตามน้า
แหล่งอ้างอิง
เพื่อนๆ มีข้อคิดเห็นอะไรกับหัวข้อนี้บ้างคะ? บทความของเราจะแปล และอ้างอิงจากบทความจากนักจิตบำบัด บทความทางวิชาการ และงานวิจัยทางจิตวิทยาต่างๆ เราจะพยายามแปลด้วยภาษาง่ายๆ เป็นกันเอง ให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน เราเองก็ไม่ได้แปลเก่ง ไม่ใช่นักเขียน และไม่ใช่นักจิตวิทยา แต่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมีประสบการณ์พบเจอ และร่วมงานกับผู้คนนานาชาติ เราสนใจอ่านงานวิจัย และบทความทางด้านนี้จากทั่วโลก เลยอยากแชร์ความรู้ที่เราอ่านเจอให้กับทุกคนๆ ช่วยติชมอย่างสร้างสรรค์เพื่อการปรับปรุงจะยินดีเป็นอย่างยิ่งค่า หากมีข้อผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยด้วยนะค้า
“ ข้อมูลในบทความของเราไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อทดแทนการวินิจฉัยโรค หรือใช้อ้างอิงว่าเป็นคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนๆ ไม่ควรดำเนินการ หรือหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ที่ไม่ได้รับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ “
โฆษณา