11 ธ.ค. 2020 เวลา 10:44 • กีฬา
เส้นชัยของสองคน
เรื่อง : TERI2497
ภาพ : Wangkhanai Supermini-Half Marathon 2016 (ภาพแรก)
1
อีก 10 กว่ากิโลเมตรจะถึงเส้นชัย
ภัทรา กรังพานิชย์ หรือเมย์ พุ่งทะยานนำไกด์รันเนอร์ไปหลายช่วงตัว
หลังประสบอุบัติเหตุถูกรถพ่วงแล่นทับขา ดูเหมือนเมย์จะฟื้นตัวเร็วกว่าที่ใครคิด
ทุกวันนี้เธอมีฉายาว่า “เมย์ฆ่าไกด์”
มนุษย์ล้ออย่างเธอปราดเปรียวเสียจนใครต่อใครไม่อยากจะจับคู่ !
1
2
นายแพทย์วิฑูรย์ จันทรโรทัย หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลชลบุรี ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยรับหน้าที่เป็นไกด์รันเนอร์ (Guide runner) หรือคู่วิ่งให้เมย์ อธิบายว่าโดยทั่วไปแล้วคนพิการสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องเลือกชนิดกีฬาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
“คนหูหนวกออกกำลังกายได้เพียงแค่ต้องระวังเรื่องรถราที่แล่นเข้ามา สภาพร่างกายของคนตาบอดก็ไม่มีปัญหา เพียงแค่ต้องการเพื่อนหรือคนนำทางไม่ให้วิ่งไปชนสิ่งกีดขวางหรือผู้คน
“สำหรับกลุ่มคนพิการทางสติปัญญา คนพิการทางออทิสติก และคนพิการทางการเรียนรู้ กลุ่มนี้มักจะมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวช้า ถ้าให้วิ่งก็มักจะวิ่งไม่ตรงทาง”
1
หมอวิฑูรย์แนะนำว่ากลุ่มคนพิการกลุ่มนี้น่าจะเหมาะกับไกด์รันเนอร์ที่ชอบวิ่งออกกำลังกายแบบช้าๆ เบาๆ ถ้าให้วิ่งก็วิ่งไม่เร็วนัก
นอกเหนือจากคนพิการกลุ่มข้างต้นแล้วยังมีคนพิการทางทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้รถเข็นวีลแชร์
ฉัตรชัย อภิบาลพูลผล ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิ่งด้วยกัน ซึ่งนัดวิ่งจับคู่กันระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการเป็นประจำที่ลานตะวันยิ้ม สวนลุมพินี และสวนตำหนักน้ำ จังหวัดชลบุรี เล่าเสริมประเด็นนี้ว่า
“มนุษย์ล้อหรือคนที่นั่งวีลแชร์ถ้าได้รับการฝึกฝน แขนจะแข็งแรงมาก ดีไม่ดี ปั่นไปเร็วกว่าไกด์รันเนอร์ด้วยซ้ำไป”
เขายกตัวอย่างเมื่อตอนจัดงานวิ่งด้วยกันใหม่ๆ เคยกังวลว่าไกด์รันเนอร์จะไม่ดูแลคนพิการ
“ทุกครั้งที่เป็นพิธีกรผมจะประกาศว่าไกด์รันเนอร์อย่าทิ้งผู้พิการนะครับ เราต้องวิ่งด้วยกัน เข้าสู่เส้นชัยด้วยกัน แต่ต่อมาภายหลังผมพบว่ามีคนพิการทิ้งไกด์รันเนอร์ !”
3
เมืองไทยมาราธอน บนเส้นทางสะพานพระราม 8 เชื่อมต่อสะพานยกระดับบรมราชชนนี
ภัทรา กรังพานิชย์ จับคู่กับ ปิยวรรณ องค์สุวรรณ หรือโบว์ นักวิ่งฝีเท้าจัดจ้านผู้เคยผ่านฟูลมาราธอน ระยะทาง 42.195 กิโลเมตรมาแล้วหลายครั้ง ทั้งสองคนตกลงกันว่าจะวิ่งตามหลัง “เพสเซอร์ 4.3”
เพสเซอร์ (pacer) หรือ เพสเมกเกอร์ (pace maker) หมายถึง กลุ่มนักวิ่งที่อาสาเป็นนักวิ่งนำเวลา ให้นักวิ่งคนอื่นๆ วิ่งตาม เพสเซอร์จะใช้ลูกโป่งที่มีตัวเลขแสดงเวลาผูกติดกับตัว
ถ้านักวิ่งอยากเข้าเส้นชัยมาราธอนในเวลา 4 ชั่วโมงก็ต้องวิ่งตามหลัง pacer ที่มีลูกโป่งเขียนเลข 4.0 ถ้าอยากเข้าเส้นชัยก่อน 5 ชั่วโมง ก็ต้องพยายามวิ่งนำหน้า pacer กลุ่ม 5.0 ให้ได้
สำหรับเพสเซอร์ 4.3 ที่เมย์กับโบว์ตัดสินใจวิ่งตาม ก็หมายความว่าทั้งสองคนปรารถนาจะเข้าสู่เส้นชัยภายในเวลา 4 ชั่วโมง 30 นาที
ตามปกติแล้วเมย์เป็นคนที่ทำเวลาได้ดีจนเพื่อนนักวิ่งพากันเรียกว่า ‘เมย์ฆ่าไกด์’ ฉายาที่สื่อความหมายว่าไม่มีใครตามเธอทัน
โบว์ที่เป็นรุ่นพี่ให้ความเห็นประเด็นนี้ว่า “น้องเขาเป็นนักกีฬา เวลาวิ่งกับเขาเราแทบไม่ต้องช่วยเหลืออะไร จะช่วยเข็นบ้างก็ตอนวิ่งขึ้นเนินเท่านั้น คนที่จะมาวิ่งกับเมย์ได้ต้องแข็งแรงจริงๆ ต้องวิ่งเร็วมากถึงจะตามเขาทัน ตอนนี้เห็นว่านักวิ่งหลายคนพยายามพัฒนาฝีเท้าเพื่อจะมาเป็นไกด์รันเนอร์กับเมย์”
1
ช่วงต้นของการแข่งขันผ่านพ้นไปด้วยดี แต่แล้วล้อรถวีลแชร์ของเมย์ก็เกิดมีปัญหา ลูกปืนภายในแตกทำให้ล้อรถฝืดและหนืดจนไกด์รันเนอร์ต้องช่วยเข็น
ทั้งสองคนฝืนวิ่งเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร จนในที่สุดก็จำเป็นต้องหยุด ประสานให้เจ้าหน้าที่เร่งซ่อมรถ
ระหว่างนั้นเพสเซอร์กลุ่ม 4.3 วิ่งผ่านเธอทั้งสองคนไป อีกไม่นานเพสเซอร์ 5.0 ก็มาถึง และวิ่งหายไปลับตา
หลังซ่อมรถเสร็จ ทั้งคู่เร่งสปีดเข้าขั้น “ใส่ตีนหมา” ทักษะการวิ่งและปั่นวีลแชร์ถูกระเบิดออกมาในระดับสูงสุด
4
โลกภายนอกการแข่งขัน คนพิการจำนวนไม่น้อยถูกจำกัดสิทธิด้านการเดินทาง มนุษย์ล้อที่ต้องใช้วีลแชร์เดินทางไม่สะดวกนักเพราะติดขัดเรื่องทางเท้า ขั้นบันได จะขึ้นรถประจำทางก็ไม่สามารถเข็นวีลแชร์ผ่านบานประตูเล็กแคบได้ แต่เมื่ออยู่ในสนามทั้งเขาและเธอต่างเป็น “เจ้าถิ่น”
ตรงตามคำบอกเล่าว่าคนพิการไม่มีอยู่จริง จะมีก็แต่เพียงสภาพแวดล้อมที่พิการ
หลังซ่อมรถเสร็จ หวนคืนสู่สนาม เมย์ ภัทราเร่งความเร็วไล่กวดเพสเซอร์ 4.3 เต็มกำลัง ร่างกายเธอโน้มต่ำ โถมกำลังแขนทั้งหมดเท่าที่มีลงไปที่ล้อ
เส้นชัยร่นใกล้เข้ามาทุกขณะ
แต่เมื่อเธอเหลียวหลัง กลับพบว่าโบว์ ปิยวรรณ ไกด์รันเนอร์จอมพลังอยู่ห่างจากเธอขึ้นทุกที
นักวิ่งคนเก่งยอมรับว่าแข้งขาเริ่มร้องอุทธรณ์ว่าไม่ไหว เธอวิเคราะห์ว่าช่วง 10 นาทีที่เสียไปกับการซ่อมรถทั้งที่วิ่งมาเต็มฝีเท้า มันไม่ต่างจากการดับเครื่องยนต์กะทันหัน จะให้เร่งเครื่องขึ้นมาอีกครั้งก็ยาก
เวลานั้นทั้งสองวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 30 กว่า
ไกด์รันเนอร์สาวตัดสินใจบอกคู่หูของเธอว่า
“ฟูลแรกมีแค่ครั้งเดียวในชีวิต”
เธอขอร้องให้ภัทรามุ่งหน้าต่อไป เพราะรู้ดีว่าความทรงจำของการพิชิตฟูลมาราธอน ระยะทาง 42.195กิโลเมตรครั้งแรก จะประทับแน่นอยู่ในใจของนักวิ่งไปตลอดกาล
10 กิโลเมตรสุดท้าย ทั้งคู่ทำหน้าที่ของตนอย่างสุดความสามารถ
เมย์หมุนปั่นวงล้อด้วยกำลังแขนอันมหาศาล ไม่มีใครรู้หรอกว่าก่อนนี้เธอซ้อมหนักมากแค่ไหน
ด้านโบว์ก็ไม่ได้ทิ้งคู่หูของเธอไป พยายามไล่กวดเกาะติดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เส้นชัยใกล้เข้ามา
เมย์ทะยานเข้าเส้นชัยมาราธอนแรกในชีวิตด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 23 นาที
ขณะที่ปิยวรรณตามมาห่างๆ ด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 47 นาที
แม้เวลาที่ใช้ในการวิ่งครั้งนี้จะเทียบไม่ได้กับสถิติที่เธอเคยทำ
แต่เธอมีภัทรารออยู่ที่เส้นชัย
เส้นชัยที่อยู่ใกล้ เมื่อเราออกมาวิ่งด้วยกัน
#Guiderunner #runner #วิ่ง #คนพิการ#เล่นเป็นเรื่อง #PlayNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand 🇹🇭
ฝากติดตาม https://www.youtube.com/c/KhelNowThailand

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา