28 พ.ย. 2020 เวลา 11:00 • กีฬา
ตำนานนักสู้สองพ่อลูกแห่งทีมฮอยต์
โดย TERI2947
1
1
หากจะยกรางวัล “คุณพ่อแห่งศตวรรษ” ให้กับนักกีฬาสักคน เรื่องราวต่อจากนี้อาจทำให้คุณมีคำตอบ
​จุดเริ่มต้นของตำนานนักสู้สองพ่อลูกแห่งทีมฮอยต์ (Team Hoyt) สหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1977 ริชาร์ด ยูจีน ฮอยต์ (Richard Eugene Hoyt) หรือ ดิ๊ก ลงแข่งวิ่งระยะไกลในงานการกุศลร่วมกับ ริชาร์ด ยูจีน ฮอยต์ จูเนียร์ (Richard Eugene Hoyt Jr.) หรือ ริก ลูกชายของเขา
​หลังผ่านความยากลำบากระยะทาง 5 ไมล์หรือประมาณ 8 กิโลเมตร ทั้งสองคนก็ทะยานเข้าสู่เส้นชัยพร้อมกัน
​ทว่าการวิ่งครั้งนั้น ริกไม่ได้วิ่งด้วยขาของตัวเองแม้สักก้าวเดียว
​ริกเป็นคนพิการ ดิ๊กจึงวิ่งเข็นรถที่มีลูกกึ่งนั่งกึ่งนอนมาตลอดทางเข้าสู่เส้นชัย
2
ริกไม่สามารถขยับเขยื้อน ควบคุมร่างกายหรือพูดคุยได้เหมือนคนปกติ สาเหตุเกิดจากขณะคลอดสายสะดือพันรอบคอจนทำให้สมองบางส่วนตาย
​แม้ตระหนักว่าลูกชายอาจต้องนอนติดเตียงไปตลอดชีวิต แต่สองพ่อแม่ตระกูลฮอยต์ก็ตัดสินใจพาลูกกลับบ้าน ทั้งสองคนตั้งปณิธานว่าจะเลี้ยงดูเด็กน้อยคนนี้ให้ดีที่สุด
​พ่อและแม่พาริกไปทดสอบพัฒนาการทางสมองเพื่อหาวิธีช่วยให้ลูกสื่อสารกับคนอื่นได้ แม้ช่วงแรกจะได้รับคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญว่า ไม่...เป็นไปไม่ได้ แต่ทั้งคู่ก็ไม่ละความพยายาม ทั้งคู่รู้ดีว่าริกเข้าใจสถานการณ์ เหตุการณ์ต่างๆ รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว ที่สำคัญคือมีสติปัญญาไม่แตกต่างจากคนทั่วไป
​ริกรู้ว่าตัวเองคือใคร พ่อและแม่ทำอะไรอยู่ที่ไหน จนเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องมือสะกดคำด้วยการใช้ศีรษะกดปุ่ม ข้อความจะปรากฏขึ้นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ริกจึงสามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้เป็นครั้งแรก
​แต่น่าแปลก ประโยคแรกที่ริกใช้หัวพิมพ์สื่อสาร กลับไม่ใช่คำว่า “สวัสดีครับ” หรือคำทักทายทั่วไป หากแต่เป็นคำว่า “บรูอินส์ สู้ สู้ !”
​แม้พ่อและแม่จะรู้ว่าริกชอบดูกีฬา แต่ก็ไม่คิดว่าจะคลั่งไคล้ทีมฮอกกี้ประจำเมืองบอสตันมากมายขนาดนี้
3
วันหนึ่งขณะริกอายุ 15 ปี หลังกลับจากโรงเรียนเขาบอกพ่อว่าอยากมีส่วนร่วมในการวิ่งการกุศลเพื่อหาเงินมาช่วยเพื่อนนักกีฬาลาครอสของโรงเรียนที่ประสบอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาตจากการแข่งขัน พ่อซึ่งขณะนั้นอายุ 36 ปีตอบรับลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ถึงแม้ว่าตัวเองจะไม่เคยวิ่งระยะไกล
​ดิ๊กตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันโดยตัดสินใจให้ริกนั่งบนรถเข็น และตนเองเป็นคนเข็นไปตลอดทาง
​เขาเริ่มซ้อมวิ่งอย่างจริงจังเพื่อลูกชายตั้งแต่นั้น
​เมื่อถึงวันแข่งขัน ทั้งคู่ทำสำเร็จ หลังเข้าสู่เส้นชัย ริกพิมพ์ข้อความบอกดิ๊กว่า “พ่อครับ เวลาวิ่ง ผมรู้สึกเหมือนไม่ได้พิการ”
​ขณะที่ดิ๊กยอมรับในเวลาต่อมาว่า เขาเองต่างหากที่รู้สึกเหมือนกับพิการ เพราะเจ็บไปทั้งเนื้อทั้งตัวนานถึง 2 สัปดาห์หลังลงแข่งครั้งแรก
​เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการวิ่ง 8 กิโลเมตรด้วยกันอีกถึง 162 ครั้ง และทั้งคู่เริ่มซ้อมและลงแข่งวิ่งมาราธอน ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร สมัครวิ่งติดต่อกันทุกปีต่อเนื่อง 32 ปี จนกลายเป็นขาประจำของบอสตันมาราธอน เพิ่งจะยุติการวิ่งบอสตันมาราธอนเมื่อปี 2557 เมื่อมีอายุมากขึ้น
​นอกจากมาราธอนแล้วสองพ่อลูกยังวิ่งและขี่จักรยานไปทั่วสหรัฐอเมริกา พวกเขาวิ่งและขี่จักรยานข้ามประเทศระยะทาง 3,735 ไมล์ หรือประมาณ 6,010 กิโลเมตร และลงแข่งไตรกีฬาที่มีทั้งว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง
​เวลาว่ายน้ำ คุณพ่อดิ๊กจะใช้เชือกคล้ายสายไฟมัดติดไว้กับเสื้อกั๊ก โยงเข้ากับเรือยางที่มีริกนั่งอยู่ ดิ๊กจะออกแรงว่ายน้ำลากเรือยางไป
​เวลาขี่จักรยาน ดิ๊กจะอุ้มริกขึ้นจากเรือยางมานั่งบนจักรยานที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ
.
​เวลาวิ่ง คุณพ่อก็วิ่งเข็นริกที่กึ่งนั่งกึ่งนอนอยู่ในรถเข็นด้านหน้า เหมือนกับที่เคยทำสม่ำเสมอ
​ระหว่างอยู่ในสนาม ริกรับรู้และมีอารมณ์ร่วมไปตลอดทาง เมื่อเข้าสู่เส้นชัยริกจะพยายามชูไม้ชูมือขึ้นฟ้าและส่งยิ้มให้กองเชียร์
​มีบันทึกว่าทั้งคู่ลงแข่งไตรกีฬาด้วยกันมากกว่า 257 ครั้ง เอาชนะกีฬากลางแจ้งร่วมกันมากกว่า 1,000 รายการ เรื่องราวของสองพ่อลูกกลายเป็นตำนานเล่าขานของนักสู้ผู้มีหัวใจไม่ยอมแพ้
4
​ริกเรียนจบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน และทำงานในมหาวิทยาลัยเป็นผู้พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยเหลือคนพิการ
​ครั้งหนึ่งเมื่อมีผู้ตั้งคำถามกับริกว่าถ้าสามารถมอบอะไรคุณพ่อได้สักอย่างหนึ่ง เขาจะมอบอะไร
​ริกกลั่นคำตอบจากหัวใจลงไปบนแป้นพิมพ์
​“สิ่งที่ผมอยากจะทำ คือให้พ่อนั่งเก้าอี้ แล้วผมจะขอเป็นคนเข็นบ้าง”
​ริกเคยให้สัมภาษณ์ว่าคุณพ่อของเขาเป็นคุณพ่อแห่งศตวรรษ ความมุ่งมั่นของท่านหาใครเทียบได้ยาก ยกตัวอย่างเมื่อครั้งลงแข่งไตรกีฬา แม้ต้องทำงานแต่พ่อก็ยังหาเวลาออกกำลังกายมากถึงวันละ 5 ชั่วโมง
​ขณะที่พ่อบอกว่า สิ่งที่เขาทำได้คือให้ลูกยืมแขนและขา เพื่อออกไปแข่งขันร่วมกับคนอื่นๆ ถ้าไม่มีลูก เขาก็คงไม่มีพลังใจ
​ทุกวันนี้ ใกล้จุดปล่อยตัวบอสตันมาราธอนในรัฐแมสซาชูเซตส์ มีการติดตั้งประติมากรรมสำริดรูปดิ๊กเข็นรถเข็นที่มีริกนั่งอยู่เพื่อแสดงความเคารพและเป็นเกียรติแก่ทั้งคู่ในฐานะที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนทั่วโลก
​สองพ่อลูกนักวิ่งระยะไกลซึ่งขณะนี้มีอายุใกล้แปดสิบและหกสิบปียืนยันผ่านเว็บไซต์ว่าการแข่งขันของพวกเขายังไม่ถึงคราวสิ้นสุด
.
.
ที่มาของภาพ www.teamhoyt.com
#TeamHoyt #RichardEugeneHoyt #ทีมฮอยต์ #เล่นเป็นเรื่อง #PlayNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand 🇹🇭
ฝากติดตาม https://www.youtube.com/c/KhelNowThailand

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา