23 ธ.ค. 2020 เวลา 03:38 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ดู-มา-เล่า 03
Little Women
4 ดรุณี (2019)
.
นี่เป็นครั้งแรกของการแนะนำภาพยนตร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกได้รับชมในอนาคต แน่นอนว่าพ่อไม่นิยมการบังคับยัดเยียด แต่เพื่อเพิ่มโอกาสการตัดสินใจดังที่พ่อคาดหวัง จึงจะขอร่ายสรรพคุณอันดีงามของหนังเรื่องนี้อย่างคร่าวเพื่อประกอบการพิจารณา และสัญญาว่าจะไม่สปอยล์
ภาพจาก The Momentum พ่อนำมาคัดเส้นและปรับปรุงใหม่
-
4 ดรุณี (Little Women) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากบทประพันธ์ของ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) ความโด่งดังและความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ถูกยืนยันด้วยจำนวน 7 ครั้งของการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดง โดยในเวอร์ชั่นล่าสุด (2019) จะเป็นฉบับที่พ่อนำมาเล่า แม้ว่าเวอร์ชั่นเมื่อปี 1994 พ่อยังพอจำได้ลาง ๆ ว่าการแสดงของ Winona Ryder นั้นช่างน่าดึงดูดเสียเหลือเกิน แต่ในฉบับที่พ่อดูทาง Netflix ไม่นานมานี้ เป็นอะไรที่งดงาม เรียบง่าย โดยเฉพาะการแสดงของ Saoirse Ronan ก็น่าประทับใจเสียยิ่งกว่า การันตีได้จาก 6 สาขาที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ ที่ถึงจะคว้ามาได้เพียง 1 รางวัล แต่การเข้าชิงทั้งสาขานักแสดงนำหญิง และนักแสดงสมทบหญิง เป็นการยืนยันความยอดเยี่ยมของบทบาทตัวละครในจอ แม้จะไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด แต่นั่นก็ช่วยเสริมให้เห็นความดีงามของ Little Women ที่พ่อเลือก ดูมาเล่าให้ลูกฟัง.
ตั้งแต่ที่ได้เป็นพ่อที่มี “ลูกสาว” ความสนใจในการเสพสิ่งบันเทิงของพ่อก็จะเอนเอียงเล็กน้อยไปทาง “Feminism” หรือที่ภาษาไทยแปลว่า สตรีนิยม ไม่แน่ใจว่าด้วยความสนใจส่วนตัว หรือความต้องการเข้าใจในเพศหญิงให้มากขึ้นกันแน่ แต่ในตอนที่ดู 4 ดรุณี (2019) พ่อแปะป้ายเอาเองจากความเห็นส่วนตัวว่า “นี่คือหนัง Feminist” แม้ว่าแท้จริงแล้วการจำกัดความหรือคำอธิบาย “Feminism” ภายใต้เพดานความรู้ของพ่อยังคงเรียกได้ว่า ซับซ้อน ลึกล้ำ กว้างไกล และเข้าใจได้ยาก มากเสียยิ่งกว่าคำว่า “ประชาธิปไตย” เสียอีก เพราะด้วยตัวละครที่ดำเนินเรื่องทั้งหมดล้วนเป็น หญิง ความยากเข็ญที่พวกเธอประสบก็ล้วนเป็นประสบการณ์ร่วมที่ผู้หญิงชาวตะวันตกในยุคเดียวกัน (หรือแม้แต่เอเชีย) ก็ต้องเคยผ่านพบ มันจึงไม่น่าจะผิดอะไรนักหากจัดหมวดหมู่ให้หนังเรื่องนี้อยู่ในกลุ่มของ สตรีนิยม.
••
ครอบครัว March มีลูก 4 คน ทั้งหมดเป็นหญิงสาววัยไล่เลี่ยกัน พ่อที่เป็นผู้นำครอบครัวต้องห่างไกลบ้านเพื่อไปรบในสงคราม ทำให้ แม่ และลูกสาว กับคุณป้าแม่บ้าน ต้องอยู่กันให้ได้โดยไม่มีบุรุษ ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะทั้งหมดสามารถดำเนินชีวิตกันได้แม้จะไม่ถึงกับราบรื่น แต่ก็ผ่านเหตุการณ์ในแต่ละวันไปได้ โดยมีกิจกรรมการเล่นละครบทบาทสมมติที่เป็นดั่งพิธีกรรมประจำครอบครัว เรื่องที่นำมาเล่นนั้น เป็นฝีมือการประพันธ์โดย Jo March พี่สาวคนรอง Meg March คือพี่สาวคนโตที่เข้าใจธรรมเนียมประเพณีของหญิงสาวในยุคนั้นเป็นอย่างดี Amy March น้องคนที่ 3 ผู้ชื่นชอบการวาดภาพจิตรกรรม และ Beth March น้องคนสุดท้องที่ทั้งแสนนุ่มนวล อ่อนหวาน และเป็นนักเล่นเปียโน โดยมี Marmee March คุณแม่ผู้เป็นดั่งเสาหลักประจำบ้านคอยดูแล พร้อมด้วยป้า Hannah ที่ช่วยเติมเต็มให้บ้านนี้ครบถ้วนและอบอุ่นขึ้นพอประมาณ
•••
ด้วยความที่ดำเนินเรื่องใน เมืองแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) สหรัฐอเมริกา ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ยังเป็นยุคที่ผู้หญิงยังถูกกำหนดบทบาทหน้าที่ทางสังคมให้เป็นเพียงแม่บ้าน การได้แต่งงานกับผู้ชายที่ดี มีหน้ามีตาและฐานะสูง ถือเป็นเป้าหมายอันสูงสุดในชีวิต อย่างน้อยก็ในความเห็นของ ป้า March การที่ผู้หญิงจะหาเงินให้ได้เยอะ ๆ ด้วยตัวเอง ในสายตาของป้าซึ่งเป็นพี่สาวของพ่อของทั้ง 4 ดรุณีนั้น มีหนทางน้อยมาก ไม่เป็นแม่เล้า (Cathouse) ก็เต้นกินรำกิน (go on the stage) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นทัศนะที่ Jo ไม่เห็นด้วยสักเท่าไหร่ แม้ป้า March จะส่งท้ายบทสนทนาระหว่างกันที่สามารถตีความได้ว่า ผู้หญิงควรจะแต่งงานกับผู้ชายฐานะดี หากต้องการมีอนาคตที่สดใส การอยู่เป็นโสดและหาเลี้ยงตัวเองดูเหมือนจะไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้องนัก อย่างไรก็ตามข้อเสนอให้คอยดูแล หรืออาจใช้คำว่าปรนนิบัติเธอ (ป้าMarch) ให้ดี เพราะทรัพย์สมบัติที่เธอมีอาจตกเป็นของ Jo นั้นก็ดูไม่เลวนัก ถึงแม้การยืนบนลำแข้งของตัวเอง และประสบความสำเร็จในอาชีพที่รักจะเป็นเรื่องที่เธอใฝ่ฝัน
••••
ใขณะที่ Meg พี่คนโตผู้ดูเหมือนจะรับเอาความเป็นแม่มามากกว่าใคร ยังคงปรารถนาเส้นทางชีวิตหญิงสาวตามขนบธรรมเนียม การได้แต่งงานกับคนที่เธอรัก ได้เป็นแม่บ้านคอยดูแลครอบครัว และมีชีวิตที่สงบสุข น่าจะเป็นทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีทั่วไปของคนร่วมยุคสมัย แต่ความปกติสุขดูเหมือนไม่มีจริง ความต้องการพื้นฐานที่หญิงสาวทั่วไปมี การได้ออกงานสังคม เป็นที่จับจ้องของใคร ๆ การมีเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับที่สวยงามราคาแพง คงเป็นภาระปัญหาของครอบครัวที่ไม่ได้มั่งมีนัก และส่งผลถึงความสัมพันธ์ แต่มันจะเป็นความผิดของเธอหรือ? ในสิ่งที่ใคร ๆ ต่างก็ต้องการ เพราะมันก็เป็นความฝันของหญิงสาวปกติธรรมดาทั่วไปในสังคมที่ตีกรอบเอาไว้ให้ดำเนินตาม
•••••
เมื่อครอบครัวต้องอยู่ในภาวะการเงินที่ไม่ค่อยสู้ดี Jo เดินทางมาอาศัยอยู่ที่ นิวยอร์ก (New York City) เพื่อรับจ้างเป็นครูให้กับเด็กน้อยในครอบครัวหนึ่ง พร้อมเขียนนิยายส่งสำนักพิมพ์เพื่อเป็นรายได้จุนเจือครอบครัวอีกทาง แม้นิยายของเธอจะได้รับการปรับแต่งโดยบรรณาธิการ เพื่อให้สอดคล้องกับสมัยนิยม แต่การถูกลดทอนผลงานที่เธอสร้างสรรค์ลงไปนั้น ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องกังวลมากนักหากเทียบกับค่าตอบแทนที่เธอต้องการในเวลาเช่นนี้ จนเมื่อได้ยินคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาของศาสตราจารย์หนุ่มที่ดูเหมือนจะชอบพอเธออยู่ ความผิดหวังปะปนจนกลายเป็นโมโหโกรธา ประกอบกับข่าวคราวของน้องจากที่บ้าน สู่การเดินทางกลับบ้านเพื่อไปพบกับความผิดหวังอีกครั้งจากคนที่เธอรอคอย พร้อมด้วยคำขอร้องและกำลังใจจากน้องสาวที่กำลังป่วย ส่งผลให้เธอตัดสินใจผลิตงานเขียนใหม่ที่เป็นตัวของตัวเองและไม่ยึดตามค่านิยมของตลาดที่ บก.สำนักพิมพ์กำหนดให้
••••••
หลังจากความเจ็บป่วยของน้องคนสุดท้อง Amy ก็ได้รับการผลักดันโดยป้า March ให้ออกเดินทางสู่ยุโรป ด้วยหวังว่าจะหาเลี้ยงครอบครัวได้ จากการพบเจอและแต่งงานกับว่าที่เจ้าบ่าวที่มีนิสัยร่ำรวย ทางหนึ่งเธอก็ได้เข้าคอร์สเรียน ฝึกฝนทักษะการวาดภาพอย่างที่เธอเคยใฝ่ฝันว่าจะเป็นศิลปินหญิงที่มีชื่อเสียง อีกทางหนึ่งเธอก็ยอมรับในชะตากรรมของหญิงสาวอย่างเธอว่า ทางเดินสู่ชีวิตที่เพียบพร้อมสุขสบายก็ไม่ได้มีมากนัก นอกเสียจากการเลือกไปสู่สูตรแก้จน นั่นคือหาชายร่ำรวยเพื่อได้เป็นเจ้าสาวของเขา ดูเหมือนว่าในทั้งหมด 4 พี่น้อง ชีวิตของ Amy มีความตรงไปตรงมาได้คิดได้พูดได้ทำอย่างที่ใจคิด อีกทั้งดูจะเป็นไปตามขนบธรรมเนียมและเหมือนจะมีความยากลำบากน้อยกว่าใครอื่น แต่ก็แน่นอนว่ามันไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด และอาจจะซับซ้อนกว่าใครในบางแง่มุม
•••••••
Beth น้องสุดท้องที่มีจิตใจงดงามกว่าใคร ความอ่อนโยนและจิตใจที่ยิ่งใหญ่ของเธอ เป็นดั่งแสงแดดอันอบอุ่นในยามเช้าของฤดูหนาว เธอไม่มีความต้องการอย่างพี่ ๆ ทั้งสามคน เพียงแค่เปียโนหลังใหม่และการได้ทำเพื่อคนอื่น ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ทำให้เธอพึงพอใจในชีวิตที่แสนเรียบง่ายของเธอ อย่างไรก็ตามแม้เรื่องราวทั้งหมดจะไม่ได้จบลงอย่าง Happy Ending อย่างที่ทุกตัวละครต้องการจะเป็นและใคร ๆ คาดหวังไว้ และอีกอย่างเพราะในเวอร์ชั่นนี้มีการปรับบทตอนจบให้ต่างออกไปจากเดิม ซึ่งเอาจริง ๆ ในมุมมองของพ่อ คิดว่าก็เหมาะสมดีแล้วสำหรับยุคสมัยปัจจุบัน
••••••••
ไม่ว่าจะเป็น ‘สตรีนิยม’ หรือไม่นั้น 4 ดรุณี ฉบับนี้เล่าเรื่องราวของหญิงสาวในยุคที่สังคมขีดเส้นตีกรอบให้ผู้หญิงไว้แบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามมันย่อมแตกต่างจากยุคของลูกอย่างแน่นอน แต่เรื่องของดรุณีทั้ง 4 หรือแม้แต่แม่ของพวกเธอ อาจเป็นดั่งตัวแทนของชีวิตผู้หญิงที่ย่อมมีให้เห็นในสังคมทั่วไป ทั้งงดงาม สดใส เรียบร้อย อ่อนหวาน ฝันถึงชีวิตสมรสที่สวยงามมั่นคง เป็นที่รักใคร่ของผู้คน มีบ้านหลังใหญ่ ได้สวมใส่เสื้อผ้าเครื่องประดับที่หรูหราราคาแพง หรือแม้แต่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันและประสบความสำเร็จ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนเป็นมาตรฐานของสังคมไม่ว่ายุคสมัยไหน ซึ่งอันที่จริงไม่ว่าจะหญิงหรือชายต่างก็ปรารถนาด้วยกันทั้งนั้น ในความเห็นของพ่อสิ่งที่สะท้อนให้เห็นจากตัวละครหญิงสาวในเรื่อง มันคือเสรีภาพในการเลือกทางเดินของชีวิต ซึ่งพ่อคิดว่านั่นเป็นเรื่องสากลไม่มีการแบ่งแยกเพศ มันเป็นเสรีภาพของทางเดินชีวิตของแต่ละคนที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พวกเธอเหล่านั้นก็ย่อมต้องแลกกับอะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งอะไรบางอย่างที่พวกเธอคาดหวังเอาไว้ในท้ายที่สุด
•••••••••
ลูกอาจจะได้แรงบันดาลใจจาก Meg ในความเป็นพี่คนโต หรืออาจจะได้พลังในการยืนหยัดเพื่อตัวเองจาก Jo หรือความตรงไปตรงมาที่น่าภาคภูมิจาก Amy หรือความอ่อนโยนและเปี่ยมไปด้วยความโอบอ้อมอารีจาก Beth ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ลูกจะได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ พ่อหวังเพียงให้ลูกเข้าใจว่าสิทธิและเสรีภาพในการเลือกทางเดินชีวิตนั้นเป็นของลูกเอง ไม่ว่าลูกจะเป็นเพศใดก็ตาม เส้นทางนั้นย่อมไม่ถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดไป ลูกจะต้องพบประสบการณ์อันหลากหลาย ซึ่งทั้งหมดนั้นลูกมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการกำหนดเองและยอมรับผลของมัน และหวังว่าสักวันหนึ่งเมื่อลูกได้ดู 4 ดรุณีฉบับที่พ่อแนะนำนี้แล้ว เราจะได้มีโอกาสพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน.
แหล่งอ้างอิง :
‘Little Women (2019 film)’ From Wikipedia, the free encyclopedia ,22 ธันวาคม 2020 (แก้ไขล่าสุด) , https://en.wikipedia.org/wiki/Little_Women_(2019_film)
#jingjingkhue #จริงจริงคืออยากเล่าให้ลูกฟัง #ดูมาเล่า #ดูมาเล่าจริงจริง #สี่ดรุณี #littlewomen

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา