29 ธ.ค. 2020 เวลา 05:08 • ครอบครัว & เด็ก
“❣️กินนมแม่ได้ถึงกี่ขวบ?”❣️
💥ประเด็นร้อนดารา ดราม่าเรื่องให้ลูกอายุ 6 ปี กินนมแม่เหมาะสมหรือไม่?💥
Jamie Lynne Grumet ให้ลูกอายุ 3 ปี ดูดนมแม่ขึ้นปก TIME MAGAZINE เมื่อ May 21 2012. ภาพจาก https://time.com/3450144/behind-the-cover-are-you-mom-enough/
🌟ประเด็นร้อนนี้คงอยู่ในใจแม่ที่ให้นมแม่หลายๆคนเช่นกันค่ะ ที่เมื่อให้นมแม่กันมาถึงจุดหนึ่ง เช่น 9 เดือน หรือ 1ปี 🌟
จะเริ่มมีคำถามจาก เพื่อนในชีวิตจริงบ้าง เพื่อนเสมือนจริงในโซเชียลมีเดียบ้าง คุณป้าคุณน้า คุณยายข้างบ้านบ้าง
ทุกคนล้วนแต่เป็นผู้ประสงค์ดี แต่อาจจะไม่เข้าใจเรื่องนมแม่ จึงเอาความคิดเห็น และประสบการณ์ส่วนตัวมาตัดสินพฤติกรรมของผู้อื่นค่ะ
แม่ๆเจอคำถามบ่อยๆเข้า ก็เกิดความกดดัน และทำให้ท้อใจเหมือนกันนะคะ หลายๆครั้งคำถามนั้นมาจากแพทย์ที่พาลูกไปหาค่ะ ถามว่า
“ทำไมยังให้นมลูกอยู่อีกหรือ นมแม่หลัง 1ปี ไม่มีประโยชน์แล้ว “
ไม่น่าจะมีแพทย์ที่ไม่ได้ติดตามความก้าวหน้า และการวิจัยเรื่องน้ำนมแม่ มาถามคำถามนี้ให้คุณแม่ลังเลอีกแล้วนะคะ
เรามาดูคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟดีกว่าค่ะ. เขาแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดังนี้
☀️ควรให้นมแม่ทันทีในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
☀️ควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
☀️ควรให้นมแม่ต่อเนื่อง ควบคู่กับอาหารเสริมที่ปลอดภัย มีคุณค่าและเหมาะกับอายุ ตั้งแต่เดือนที่ 6 ไปจนถึงลูกอายุ 2 ขวบ หรือนานกว่า
☀️ความจริงคือ “น้ำนมแม่ยังอุดมด้วยสารอาหารไม่ว่าจะให้นมแม่ไปนานเท่าใดก็ตาม”☀️
 
ลองคิดดูนะคะว่าน้ำนมแม่ที่ผลิตมาจากสองเต้าของแม่นี้ อยู่ๆพอลูกมีอายุถึง 6 เดือน หรือ 1ปี ทันใดนั้นน้ำนมแม่ฉับพลันก็กลายเป็นน้ำสีขาวที่ไม่มีสารอาหารไปได้อย่างไร
สารอาหารต่างๆ โปรตีน ไขมัน แลคโต๊ส สารภูมิต้านทาน ที่เคยเป็นส่วนประกอบของนมแม่อย่างไร ก็ยังคงอยู่อย่างเดิม ไม่ได้หายไปไหน เพราะเต้าก็เต้าเดิม แม่กินอาหารก็เหมือนเดิม นมแม่ที่ออกมาจึงไม่มีทางที่จะสิ้นคุณค่า
ถ้ามีคนแย้งว่า
“ก็เต้านมแม่ผลิตน้ำนมมาตั้งปีหนึ่งแล้ว นมจะไม่เสื่อมถอยคุณภาพบ้างหรือ “
ถ้าอย่างนั้นขอให้ไปถามที่ฟาร์มโคนมดูสิคะ ว่าแม่วัวแต่ละตัวผลิตนมวัวมานานตัวละกี่ปีกันแล้ว เราก็ยังเอานมวัวมาทำ เป็นผงให้ลูกคนกินได้เลย
ทำไมไม่มีใครเคยสงสัยบ้างล่ะว่า
“นมจากแม่วัวที่ให้นมมาแล้ว 1 ปีจะมีประโยชน์หรือ ?”
“🌺สารอาหารในนมแม่เหมาะสมกับลูกของแม่มากกว่านมของแม่วัวในทุกช่วงอายุ”🌺
☀️การให้นมแม่ช่วยพัฒนาสมองลูก☀️
การสัมผัสโอบกอดลูกช่วยกระตุ้นเส้นใยประสาท ทำให้มีการแตกแขนงของโยงใยประสาทในสมองมากขึ้น อีกทั้งการพูดคุยกับลูก มีการสื่อสารทางสายตาระหว่างแม่-ลูก และสารอาหาร เช่น DHA ในนมแม่ล้วนส่งผลต่อระดับเชาน์ปัญญาในเด็กที่กินนมแม่
ดังจะเห็นได้จากผลการวิจัยของ Lucas A และคณะ ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด พบว่าปริมาณนมแม่ที่ให้กับทารกมีผลโดยตรงต่อคะแนนเชาน์ปัญญา โดยเฉพาะค่าคะแนนทางด้านการพูด (verbal scale) สูงกว่าทารกที่ไม่ได้รับนมแม่ถึง 9 จุด
นั่นคือ ยิ่งให้น้ำนมแม่เป็นระยะเวลานานมากขึ้นเท่าใด ก็จะมีผลให้สมองพัฒนามากขึ้นตามไปด้วยค่ะ
วันนี้เด็กไทยเราจะแข่งขันได้ในโลกอนาคต ต้องแข่งกันที่สมองซีกขวา ซึ่งเป็นโหมดของความคิดสร้างสรรค์ค่ะ
☀️การให้นมแม่นี่แหละ ที่จะช่วยพัฒนาสมองทั้งซีกซ้าย และซีกขวาของลูก☀️
สมองของทารกแรกเกิดเริ่มพัฒนาจากสมองซีกขวาค่ะ ธรรมชาติจึงทำให้แม่ในช่วงหลัง
คลอดใหม่ๆ มีสมองซีกขวาที่เด่นขึ้นเป็นการชั่วคราว เพื่อจะได้สื่อสารกับลูกรู้เรื่อง
1
ธรรมชาติได้ให้นมแม่มาด้วยค่ะ เพื่อพัฒนาสมองทั้งสองซีกของลูก เรามาช่วยกันให้เด็กไทยมีสมองที่พัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ ด้วยนมแม่กันเถอะค่ะ
🌟การให้นมแม่ช่วยพัฒนาสมองได้อย่างไร
สมองของทารกแรกเกิดมีขนาดเพียง ¼ ของสมองผู้ใหญ่เท่านั้น ทารกต้องการการเลี้ยงดูและสารอาหารที่เหมาะสมในช่วงอายุ 3 ปีแรก เพื่อให้สมองมีการเจริญพัฒนาเต็มที่ตามศักยภาพของแต่ละคน
โครงสร้างสมองแบ่งเป็นส่วนๆตามการทำหน้าที่ สมองชั้นนอก สมองส่วนหน้า สมองส่วนหลัง สมองชั้นในและก้านสมอง เซลล์ประสาทในสมองจำนวนนับล้านล้านเซลล์มีการติดต่อสื่อสารส่งสัญญาณกัน ผ่านเส้นใยประสาท เกิดเป็นวงจรในสมองมากมาย
นมแม่มีส่วนช่วยพัฒนาสมองลูก เพราะ
1.☀️การอุ้มลูกขึ้นมาดูดนมแม่ทำให้ประสาทสัมผัสทุกส่วนของทารกได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่กินนมแม่
2. ☀️เมื่อแม่อุ้มลูกขึ้นดูดนนมแม่ มีการส่งสัญญาณประสาทที่ผิวหนัง ที่ดวงตา ที่หู ลิ้น. ทุกส่วนล้วนสัมพันธ์กัน ทำให้ทารกมีปฏิกริยาสนองตอบ เกิดวงจรประสาทใหม่ๆขึ้นตลอดเวลา
3. ☀️สารอาหารในน้ำนมแม่มีส่วนช่วยสร้างเส้นใยประสาท เปรียบเทียบเส้นใยประสาทกับสายไฟฟ้า. สายไฟฟ้า จะมีฉนวนหุ้มอยู่ข้างนอกเพื่อให้ส่งไฟฟ้าได้ดี เส้นใยประสาทก็เช่นกันมีแผ่นไขมันหุ้มอยู่โดยรอบ เพื่อให้การส่งสัญญาณประสาทมีประสิทธิภาพ
สารอาหารในน้ำนมแม่นี่แหละที่ช่วยการสร้างแผ่นไขมันนี้ : Cholesterol. DHA และไขมันอื่นๆช่วยกันสร้างแผ่นไขมัน (myelin sheath) Sialic acid ในรูปของganglioside พบสูงมากที่บริเวณเชื่อมต่อของปลายประสาท น้ำนมแม่มีกรดSialic สูงถึง 0.3-1.5mg/ml Taurine. เป็นกรดอะมิโนอิสระที่พบมากที่สุดในน้ำนมแม่ ช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์ประสาท ช่วยฟื้นฟูจอประสาทตา
สารอาหารที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ยังมีสารประกอบอีกมากมายในน้ำนมแม่ ที่ประสานการทำงาน และรวมพลังกัน ไม่ได้มีตัวใดตัวหนึ่งเป็นพระเอก
ดังนั้น การที่นมผงกล่าวว่า ได้เติมสารนั้นนี้ตามที่มีในน้ำนมแม่ ก็ไม่ได้แปลว่า สารเหล่านั้นจะทำงานได้เหมือนในน้ำนมแม่ เพราะ ขาดส่วนประกอบอื่นอีกมากมายที่จะมาทำงานด้วยกัน
🌺เรื่องนมแม่ ไม่มีใครเป็นฮีโร่เพียงคนเดียวค่ะ เราช่วยเหลือ ร่วมกันทำงาน จึงเกิดเป็นพลังขึ้นมาได้  สารอาหาร และส่วนประกอบในน้ำนมแม่ ต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกันจนเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับลูกของเราค่ะ🌺
🌟ภูมิคุ้มกันจากนมแม่🌟
 
สารอาหาร และ ภูมิคุ้มกันประเภทเซลล์ และ immunoglobulin ยังคงมีอยู่ในนมแม่เสมอแม้จะเข้าขวบปีที่สอง มีหลักฐานยืนยันว่าทารกที่กินนมแม่เป็นระยะเวลานานจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การติดเชื้อ Hemophilus influenza type B ซึ่งมีแนวโน้มพบในทารกที่กินนมผสมมากกว่า มีหลักฐานพบว่าการให้นมแม่เป็นเวลานานช่วยป้องกันเด็กเล็กจากโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง
❣️ทีนี้ก็มาตอบคำถาม ว่า กินนมแม่ได้ถึงกี่ขวบ?❣️
คำตอบของแม่ลูกแต่ละคู่จะแตกต่างกันค่ะ แต่ไม่ว่าจะกินนานเท่าไร ขอให้ลูกได้อาหารตามวัยร่วมด้วยอย่างเหมาะสม เช่น อายุ 1ปีขึ้นไปต้องกินอาหารหลัก 3 มื้อให้ได้สารอาหารครบถ้วน และน้ำนมแม่เป็นส่วนเสริม:
☀️เสริมภูมิต้านทาน
☀️เสริมความผูกพันแม่ลูก
☀️เสริมสร้างการพัฒนาสมอง อารมณ์ และ สังคม
ขอให้ทั้งคู่แม่ลูกเป็นผู้ตัดสินใจร่วมกันว่า จะให้นานจนถึงกี่เดือนกี่ปี
❤️ไม่ว่าจะให้นมแม่นานมากน้อยเท่าไร เราที่อยู่รอบๆในสังคม คอยเป็นกองเชียร์ ให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้แม่ลูกบรรลุเป้าหมายเริ่มต้น และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขค่ะ❤️
พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์
เอกสารอ้างอิง
โฆษณา