29 ธ.ค. 2020 เวลา 11:21 • ปรัชญา
ชีวิตทุกชีวิต เริ่มต้นและลงท้ายเหมือนๆกัน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของเศรษฐีหรือยาจก  ชีวิตของมหาราชา หรือ ของคนต่ำต้อย คือเริ่มต้นลงท้ายด้วยเสียงคร่ำครวญ และเมื่อลืมตาขึ้นดูโลกเป็นครั้งแรก ก็ร้องไห้ และเมื่อจะหลับตาลาโลกอีกครั้ง เขาก็ไห้อีก หรืออย่างน้อยก็เป็นสาเหตุให้คนอื่นร้องไห้เพราะเขา
เด็กร้องไห้ พร้อมด้วยกำมือแน่นเป็นสัญลักษณ์ว่า เขาเกิดมาพร้อมกับความหน่วงเหนี่ยวยึดถือ แต่เมื่อจะหลับตาลาโลกนั้นทุกคนก็แบมือออก เหมือนเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังสำนึกและเป็นพยานว่า เขาเอาอะไรไปไม่ได้เลย
1
เหตุการณ์ในชีวิตเป็นครูที่ดีที่สุด เท่าที่มนุษย์จะหาได้ เป็นบทเรียนที่จดจำได้โดยไม่ต้องท่องเลย บทเรียนจากตำราจะต้องอ่านต้องท่อง จึงจะจำได้ แต่เมื่อจำได้แล้วก็ต้องหมั่นทบทวนเพื่อไม่ให้ลืม แต่ว่าบทเรียนจากชีวิตเป็นเรื่องที่เราจำได้โดยไม่ต้องท่อง แม้บางเรื่องจะพยายามเพื่อให้ลืมซะ ก็น้อยนักที่จะลืมมันลงได้... โดยเฉพาะความทุกข์ที่เกิดขึ้นของแต่ละคน
มีคำกล่าวว่า...
“คนเราเวลามีความสุข มักจะสุขคล้ายๆกัน” “แต่เวลามีทุกข์ จะเป็นรายละเอียดเฉพาะของตนเองเพราะเวลามีทุกข์ ทุกข์ของแต่ละคนจะไม่ซ้ำกัน”: ตอลสตอย (Leo Tolstoy)
เรื่องทุกข์ของมนุษย์ที่มีรายละเอียดเฉพาะที่ไม่ซ้ำกัน คนเราเวลาที่สุข ความสุขนั้นคล้ายๆกัน สุขเพราะถูกหวย สุขเพราะได้ของที่อยากจะได้ สุขเพราะเรียนจบ สุขเพราะฝ่าฟันอะไรบางอย่างมาสำเร็จ เสร็จแล้วความรู้สึกที่ได้มาจากสิ่งเหล่านี้ เราเรียกว่าความสุข (Happyness) มันจะคล้ายๆกันความสุขจึงเป็น “สิ่งที่ตื้น” ความทุกข์เป็น "สิ่งที่ลึก"และมีรายละเอียดซับซ้อน...
1
แม้แต่เจ้าไวรัสโควิด19 นักแสดงนำของปี2563นั้นถึงแม้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่
ไวรัสเข้าสู่ร่างกายไม่ใช่ว่ามันเข้ามากิน เหมือนกับการที่หนอนกินซากศพที่ตายแล้ว มันเพียงฝังตัวอยู่เพื่อทำกิจกรรมของการแพร่พันธุ์
ไม่มีนาฬิกาเรือนใด ไม่มีมือถือรุ่นไหนออกลูกหลานหรือแบ่งตัวให้กำเนิดนาฬิกาเรือนใหม่ๆ มือถือเครื่องใหม่ออกมา แต่ไวรัสสามารถทำอย่างนั้น จะว่าไปแล้วการก๊อปปี้ตัวเองก็คือกิจกรรมหลักของไวรัส
เมื่อมันแตกหน่อก่อพันธุ์ขึ้นมาในร่างที่มันอยู่อาศัย ก็ส่งผลให้ระบบที่มันอยู่อาศัยนั้นสูญเสียคุณสมบัติที่จำเป็นพื้นฐานบางอย่าง เช่น ปอดของผู้ติดเชื้อโควิดที่ว่านี้ จะไม่สามารถคงรูปเดิมหรือทำงานได้ตามปกติ จนกระทั่งเสียหายขั้นรุนแรง
ทำไมไวรัสต้องทำอย่างนั้นล่ะ มันลอยอยู่ตามสายลมเฉยๆไม่ได้เหรอ คำตอบก็คงไม่ต่างจากพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต
แต่พฤติกรรมของมันที่ดิ้นรนเพื่อให้เผ่าพันธ์ของตนอยู่รอดนั้น ส่อว่ามันกำลังจะกลายสภาพจากการเป็นสิ่งไม่มีชีวิตมาเป็นสิ่งมีชีวิต แต่กระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นยังไม่สมบูรณ์ มันจึงมีพฤติกรรมบางอย่างเหมือนวัตถุปราศจากชีวิต เช่นไม่ต้องกินอาหาร แต่ก็มีพฤติกรรมบางอย่างเหมือนสิ่งมีชีวิต เช่นการแพร่พันธุ์ตนเอง เพื่อให้สายพันธุ์ตนอยู่รอดต่อไป แม้ว่าตนจะตายไปแล้วก็ตาม...
 
สังเกตุมั้ยว่า พวกที่ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนและเผ่าพันธุ์นั้น จะถูกบังคับโดยธรรมชาติให้จำเป็นต้องเบียดเบียนผู้อื่น ไม่อย่างนั้นเราก็อยู่ไม่ได้ เช่นคนเราต้องกินอาหาร และอาหารที่เรากินได้ก็ต้องเป็นชีวิตของผู้อื่นไม่ว่าพืชหรือสัตว์
ถามว่าทำไมคนเราต้องกินข้าว คำตอบคือถ้าพวกเราไม่กินพวกเราก็ตาย
ทำไมเราถึงไม่อยากตาย คำตอบก็คือเราถูกสร้างมาให้มีสัญชาติญาณที่จะปกป้องตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย
พ่อแม่ บรรพบุรุษ ของเราไม่ได้สร้างตัวเราขึ้นมา เพียงแต่เป็นผู้ให้กำเนิดเรามาจากสิ่งที่ออกแบบไว้แล้ว ส่วนว่าจะเป็นอะไร หรือใคร เราไม่อาจล่วงรู้ข้อเท็จจริง
ทำได้แต่เพียงการเสนอแนวคิดเดาๆกันไปเท่านั้น
ที่รู้คือ เรากินลมไม่ได้ กินก้อนดินก้อนหินก็ไม่ได้ เราจำเป็นต้อง “ฆ่า”ผู้อื่นแล้วกิน เราจึงจะอยู่ได้ ซึ่งไวรัสมันก็ต้องทำอย่างนั้น
หมายความว่าทำไมสิ่งไม่มีชีวิตจึงมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสิ่งที่มีชีวิตในอนาคต และเมื่อมีชีวิตแล้ว แต่ละชีวิตก็พยายามอย่างเต็มเหนี่ยวที่จะรักษาตนเอาไว้ให้รอด ซึ่งดูเหมือนว่ากฎเพื่อความอยู่รอดที่ผู้สร้างสรรพสิ่งเขามอบให้พวกเรามีเพียงสั้นๆว่า
“ถ้าหากอยากอยู่รอดก็จงทำร้ายและเอาเปรียบผู้อื่น”
จะเห็นว่าใครก็ตามที่สลดใจ ในสภาพของตนและเพื่อนร่วมโลกที่ถูกสร้างมาให้ "ฆ่า"กันและกันเพื่อความอยู่รอด แล้วตัดสินใจเป็น "ขบถ" เดินหนีจากสภาพที่ออกแบบมาให้นั้น ซึ่งคนเช่นนี้มีเป็นส่วนน้อย และก็จะมีวิถีชีวิตที่ไม่สะดวกมากกว่าผู้ที่ยอมรับกติกาที่เขาออกแบบให้
สรุปว่า "ใครทำตัวเป็นเด็กดี" ก็จะอยู่รอด แต่ถ้า"ใครทำตัวเป็นเด็กมีปัญหา" ก็จะถูกขจัดออกไปจากระบบ...
ในโลกของธรรมชาตินั้นเราจะเห็นพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่า “จิตใต้สำนึกทางศีลธรรม” ในโลกของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันตามพัฒนาการของแต่ละสิ่งเช่นในโลกเรานี้ มนุษย์น่าจะเป็นตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตที่มีพัฒนาการสูงสุดกว่าสิ่งอื่น
บางสิ่งที่เราเห็นว่า "ชั่วร้าย" แต่จากมุมมองเฉพาะของใครบางคนอาจเป็น "สิ่งดี" ในมุมมองที่กว้างกว่านั้น เราอาจสงสัยว่าทำไมพระเจ้าหรือว่าธรรมชาติจะต้องสร้างความตายมาไว้คู่โลกด้วยนะ
ความสงสัยนี้มาจากมุมมองเฉพาะของเราซึ่งกำลังทุกข์ใจเนื่องจากสิ่งที่รักได้พลัดพรากหรือได้ตายจากไป แต่ถ้าคิดขยายกว้างไปกว่านั้น เราจะเข้าใจว่าหากไม่มีความตายเลย โลกก็คงไม่มีพื้นที่ให้คนหรือสัตว์เลี้ยงที่เรารักนั้นเกิดมา
ในแง่เรื่องความตายก็จำเป็นสำหรับโลก เราต้องขอบคุณความตาย(ของผู้อื่น) ที่ได้ให้พื้นที่แก่เราและสิ่งที่เรารักได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อเราหรือสิ่งที่เรารักจะต้องตายไปบ้าง เราก็ควรจะทำใจได้ว่า...
"ตอนนี้ถึงคราวเราที่จะต้องทำประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้าง"
เราเรียกตนเองว่ามนุษย์ เราเชื่อว่าเราเป็นสิ่งที่สูงส่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน อย่างหมาแมว ช้างม้าวัวควาย สัตว์ปีก สัตว์น้ำ แมลงทั้งหลาย
ก็คงไม่ผิดหากจะมองอย่างนั้นเพราะเราน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวบนโลกนี้ที่สมองพัฒนามามากจนกระทั่งมี ความคิดอ่านที่ลึกซึ้งถึงขั้นเข้าใจตนเอง เข้าใจการที่ตนถูกสร้างมาพร้อมสัญชาตญาณบางอย่าง และเข้าใจว่าตนไม่ต้องทำตามสัญชาตญาณนั้นเสมอไปก็ได้ในกรณีที่เห็นว่า
"การไม่ทำบางอย่างนั้นประเสริฐกว่า"
พระพุทธศาสนาสอนเรื่องไม่ฆ่าสัตว์ทั้งที่รู้ว่ามนุษย์เราดูเหมือนจะถูกสร้างมาเพื่อให้กินเนื้อสัตว์ นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของความเป็นสัตว์ที่ประเสริฐของมนุษย์ เราประเสริฐเพราะเราสามารถเลือกที่จะไม่ทำตามกลไกของสัญชาตญาณที่ถูกติดตั้งเอาไว้ให้พร้อมกับการเกิดของเรา...
แต่ที่สุดเราก็เป็นสิ่งเล็กน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราไม่รู้ในฐานะสิ่งที่ผลักดันให้พวกเราเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่ามนุษย์ปรากฏขึ้นในโลกใบนี้
เช่นเดียวกัน วันหนึ่งเราก็ต้องจากโลกนี้ไป กลับไปหาสภาพที่เคยเป็นอยู่ก่อนคือไม่มีตัวตนอยู่ ในโลกใบนี้
"เราทุกคนคือปรากฎการณ์ชั่วคราว"
แม้การอุบัติขึ้นของมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างพระพุทธเจ้าก็เข้าใจว่าเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเช่นกัน
แน่นอนว่าวันหนึ่งดวงอาทิตย์ดวงที่กำลังส่องแสงสุกสกาวมายังโลกของเราดวงนี้จะค่อยๆหมองลงๆ และดับไปในที่สุด
คิดไปคิดมา จักรวาลนี้ก็เหมือนโรงละคร เป็นโรงละครที่มีฉากอยู่ฉากเดียวคือความมืด แสงสว่างนั้นมาที่หลังความมืด เมื่อดวงอาทิตย์และดาวที่มีแสงในตัวทุกดวงค่อยๆแก่และตายลงทีละดวงๆ โรงละครนี้ก็จะกลับไปสู่สภาพเดิมของมัน คือสภาพก่อนที่การแสดงจะเริ่มต้นขึ้น
ถ้าโรงละครแห่งชีวิตคือความมืด แต่ละชีวิตก็เหมือนแสงหิ่งห้อยที่ปรากฎขึ้น ดำรงอยู่ชั่วขณะแล้วก็ลับหายไป เวลานี้เราทุกคนกำลังบินไปมาท่ามกลางความมืดแห่งโรงละครของชีวิต มีทุกข์มีสุข คละเคล้าปะปน สลับกันแสดงบทบาท
ได้หัวเราะได้ร้องไห้ ซึ่งทั้งหมดนั้นควรมองว่าเป็นประสบการณ์ของชีวิตที่มีค่าหมด หากวันหนึ่งเราแก่ชราลง ป่วยด้วยโรคมะเร็ง เป็น อัลไซเมอร์ หรืออาจประสบอุบัติเหตุอะไรกระทันหันซักอย่าง เราควรจะเสียใจกับอุบัติเหตุของชีวิตนี้หรือไม่ ก็ยังตอบไม่ได้เพราะยังไม่เกิดขึ้นจริง
ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดกับเราแบบวันต่อวันให้ดีที่สุด
แท้จริงแล้วสิ่งประเสริฐในพระพุทธศาสนา คือสอนให้เราถามคำถามลึกๆกับชีวิต และคำตอบที่ให้ในนามของพระพุทธศาสนาก็คล้อยตามคำถามนั้นคือ ความจริงเป็นอย่างไรเราก็ต้องรับตามนั้น ไม่หลอกตนเองไม่ละเมอเพ้อพก ไม่หวังในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลรองรับว่าเราจะพึงหวังได้
สังสารวัฏฏ์อาจมองได้อีกรูปหนึ่งว่าคือ Biospheres ขนาดมหึมาภายในสังสารวัฏฏ์ในความหมายนี้ ไม่มีใครที่เราสมควรมองว่าเป็นศัตรู...
เพราะทุกชีวิตล้วนแล้วแต่มีทุกข์ที่ต้องแบกรับเสมอเหมือนกันคือดิ้นรนเพื่อให้ตนอยู่รอด!
ก่อนจะตบยุงที่กำลังเกาะอยู่ที่แขน มือที่เงื้อขึ้นจะตบนั้นอาจชะงักแล้วถูกวางลงก็ได้หากเราจะฉุกคิดว่า เจ้าสัตว์ตัวกระจ้อยที่กำลังดื่มเลือดเราอยู่นั้นเพิ่งพ้นจากอ้อมอกของพ่อแม่มันมาเมื่อสักชั่วโมงที่แล้วนี่เอง มันกำลังจะดิ้นรนเพื่อให้ตนอยู่รอดด้วยตัวมันเอง หากมันถูกตบตายตรงนั้น ทุกอย่างในชีวิตมันจะเป็นอันยุติ
เราไม่รู้ว่าหากเราเป็นพ่อแม่ยุง เราจะรู้สึกอย่างไรที่ลูกน้อยของเราซึ่งเพิ่งจะฟื้น ตื่น และจากเราไปกลับต้องจบชีวิตลงอย่างง่ายดายเช่นนั้น
อีกไม่กี่อึดใจ ก็จะข้ามพ้นปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่ ตามมติที่มนุษย์เราทั่วโลกได้สมมุติขึ้น ปีแล้วปีเล่า
เพราะในเมื่อชีวิตยังไม่สิ้นก็คงต้องดิ้นรนขนขวายกันต่อไป แต่เราก็ควรใช้ชีวิตที่มีนี้ให้คุ้มค่าและไม่ประมาท...
"We could not step twice into the same river."
"เราไม่สามารถก้าวเข้าไปในกระแสน้ำเดียวกันได้ถึงสองครั้ง" : เฮราครีตุส (Heraclitus)
เพราะกระแสน้ำไหลไปเรื่อยๆไม่หยุดหย่อน กระแสน้ำที่เราข้ามไปแล้วครั้งแรกย่อมไหลไปในทันทีไม่มีหยุดกระแสน้ำที่ข้ามครั้งที่สอง จึงเป็นกระแสน้ำใหม่เข้ามาแทน...
เพราะงั้นทุกๆสิ้นปีก่อนที่จะฉลองปีใหม่กัน อยากจะให้เราได้หยุดไตร่ตรอง ถึงปีที่ผ่านมา เพื่อจดจำทั้งความสำเร็จ และเรื่องผิดพลาด... ช่วงเวลาที่เราเปิดใจ รับประสบการณ์ใหม่ๆ หรือ ปิดกั้นตัวเองจากอคติ ความเจ็บปวดทั้งกายใจ ที่ขมขื่น ให้ต้องเข็ดหลาบ
เพราะนั่นคือความหมายของปีใหม่ ที่จะทำให้เราได้มีโอกาสอีกครั้ง โอกาสที่จะให้อภัย เพื่อทำให้ดีขึ้น ทำให้มากขึ้น ให้ให้มากขึ้น รักให้มากขึ้น
เมื่อมันผ่านคืนที่31 หรือคืนแห่งปีเก่านี้ไป เราควรจำไว้ว่า เราควรทำดีต่อกันและกัน เมตตาต่อกัน และไม่เพียงแค่วันนี้ แต่ต้องตลอดทั้งปี และปีถัดๆไป....
สวัสดีปีใหม่ 2564
-วิรุฬหก-
โฆษณา