31 ธ.ค. 2020 เวลา 03:06 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ECONOMY : 10 อย่างที่ COVID-19 ได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลกไปตลอดกาล
ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างเช่นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2020 นี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่หาได้ยากและเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในทุก ๆ 2-3 ชั่วอายุคน แต่จะเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิด "การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรและกว้างขวาง"
เมื่อวัดจากผลผลิตในปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในระหว่างการฟื้นตัวจากการตกต่ำอย่างที่ผู้คน 7.7 พันล้านคนแทบจะไม่เคยได้เห็นมาก่อนในช่วงชีวิตของพวกเขา และแม้ว่าวัคซีนควรจะเป็นปัจจัยเร่งการฟื้นตัวในปี 2021 แต่ผลกระทบในแง่อื่น ๆ ของ COVID-19 จะกลายเป็นตัวกำหนดทิศทางการเติบโตทั่วโลกในอีกหลายปีข้างหน้า
1
บางคนอาจเริ่มมองเห็นเรื่องนี้แล้ว ว่าจะมีการเข้าครอบครองโรงงานและงานบริการของหุ่นยนต์และเทคโนโลยี A.I. ซึ่งจะก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่คนงานปกขาว (white-collar workers หรือก็คือพนักงานระดับมืออาชีพ/พนักงานระดับสูง) ต้องทำงานจากที่บ้านมากขึ้น และแน่นอนว่า "จะมีความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น" ทั้งภายในและระหว่างประเทศ "รัฐบาลจะมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตของประชาชน" ขณะที่การใช้จ่ายและการเป็นหนี้เงินจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
2
สิ่งต่อไปนี้คือภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกเรา
1
(1.) การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ / การลดลงของความเป็นตลาดเสรี
รัฐบาลทั่วโลกจะเข้ามามีบทบาททางสังคมมากขึ้นกับวิถีชีวิตของผู้คน และกลายเป็นเรื่องปกติที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะติดตามว่าผู้คนไปที่ไหนและพบใครบ้าง รวมถึงการจ่ายค่าจ้างหากนายจ้างไม่สามารถจัดการได้ โดยแม้แต่ในประเทศที่มีแนวคิดของการตลาดแบบเสรีครองแผ่นดินมานานหลายทศวรรษ ก็ยังต้องมีการติดตั้งโครงข่ายความปลอดภัยทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลจะมีอำนาจควบคุมเศรษฐกิจมากขึ้น
1
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐมีอำนาจมากขึ้นนี้ ในขณะเดียวกันก็หมายถึงภาระที่มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายและการขาดดุลที่คาดว่าจะยังดำเนินต่อไปอีกสักระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย
ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการแทรกแซงเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลทั่วโลกเกิดการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 11 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ แม้จะมีการถกเถียงกันอยู่แล้วว่าการใช้จ่ายดังกล่าวจะสามารถดำเนินต่อไปได้นานเพียงใด และเมื่อใดที่ผู้เสียภาษีจะต้องเริ่มชำระหนี้ของพวกเขา? อย่างน้อยที่สุดในประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและตลาดการเงินที่ไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตในระยะใกล้
World Maker's Comment : ช่วงเวลาแห่งการชำระหนี้จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ๆ เราอาจเห็นการล้มละลายครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกเมื่อถึงช่วงเวลานั้น จับตาดูเอาไว้ให้ดีครับ
2
ในระยะยาว การแปลงโฉมทางเศรษฐกิจจะค่อย ๆ เปลี่ยนมุมมองของผู้คนเกี่ยวกับหนี้สาธารณะ (หรือหนี้ของภาครัฐ) ไปเรื่อย ๆ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า "รัฐบาลจะมีพื้นที่มากขึ้นในการใช้จ่าย" ในโลกที่มี "เงินเฟ้อต่ำ" และควรใช้นโยบายทางการคลังในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
2
ผู้สนับสนุนทฤษฎีการเงินสมัยใหม่กล่าวว่าพวกเขาจะเป็นแกนนำในความเคยชินของหนี้เหล่านั้นและสังคมในกระแสหลักก็จะต้องยอมรับเมื่อเวลาผ่านไป
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม : ผู้สนับสนุนทฤษฎีการเงินสมัยใหม่ หมายถึง กลุ่มคนที่มีแนวคิดว่า "รัฐบาลควรเข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตได้ตราบเท่าที่จำเป็น" โดยใช้อำนาจทางการคลังที่พวกเขามี เนื่องจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงกว่าการเพิกเผยอย่างเช่นแนวคิดของตลาดเสรีที่กล่าวว่า "รัฐบาลไม่ควรเข้ามาแทรกแซงใด ๆ ต่อกลไลตลาดตามธรรมชาติ"
(2.) การเงินจะเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น
ธนาคารกลางได้ใช้อำนาจทางการเงินของพวกเขาเพื่อพิมพ์เงินจำนวนมหาศาลยิ่งกว่าในปี 2008 เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกและปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และปัจจุบันพวกเขายังคงให้คำมั่นว่าจะใช้ทุกเครื่องมือที่จำเป็นเพื่อประครองเศรษฐกิจเอาไว้ ซึ่งรวมถึงการซื้อหนี้ขององค์กรเอกชนและรัฐบาล
2
การแทรกแซงทางการเงินทั้งหมดนี้ ได้สร้างเงื่อนไขทางการเงินที่ผ่อนคลายที่สุดในประวัติศาสตร์โลกครั้งหนึ่ง และทำให้เกิดการลงทุนแบบเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากกังวลเกี่ยวกับ "อันตรายทางศีลธรรม" ที่อยู่ข้างหน้า แต่นโยบายของธนาคารกลางนั้นยากที่จะย้อนกลับไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากตลาดแรงงานยังคงเปราะบางเช่นนี้ และบริษัทต่าง ๆ ยังคงดำเนินกิจการด้วยความประหยัด
1
อนึ่งแล้วนั้น สถาบันที่มีความสามารถในการลดความเสี่ยงของวิกฤตตราสารหนี้ของรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ได้ดีที่สุดก็คงหนี้ไม่พ้นธนาคารกลางเหล่านี้
(3.) วิกฤตหนี้และบริษัทซอมบี้
รัฐบาลได้เสนอการปล่อยสินเชื่อหรือ Credit จำนวนมาก ซึ่งถือเป็นการต่อชีวิตธุรกิจจำนวนมากท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 และธุรกิจเหล่านั้นก็จำเป็นต้องคว้ามันไว้ ซึ่งก็เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ขององค์กรทั่วโลก แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements) คำนวณว่าบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีการกู้ยืมเงินสุทธิถึง 3.36 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020
1
แต่กลับกัน รายได้ของบริษัทเหล่านั้นลดลงอย่างพรวดพราดในหลายอุตสาหกรรมเนื่องจากการ lockdowns และความกังวลของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีความสูญเสียจาก Burn Rate ที่กินเงินสดในงบดุลของบริษัทเหล่านั้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งหมายความว่าบริษัทเหล่านั้นไม่สามารถทำกำไรอยากสินเชื่อที่รัฐบาลมอบให้ จึงสรุปได้ว่านี่คือ "เงื่อนไข" ที่อยู่ในสถานการณ์ของ "วิกฤตล้มละลายที่สำคัญครั้งหนึ่ง" เมื่อถึงช่วงเวลาของ "การชำระหนี้" โดยทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับการแทรกแซงของธนาคารกลางและรัฐบาลว่าจะเต็มใจแบกรับภาระหนี้ได้มากแค่ไหน หรือจะปล่อยให้บริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวได้ล้มละลาย เมื่อเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ยุคใหม่
1
บางคนยังมองว่าเป็นเรื่องอันตรายในการที่จะให้การสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ มากเกินไปแต่มีการเลือกปฏิบัติที่แคบเกินไปว่าใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์เหล่านั้น และพวกเขาบอกว่านั่นเป็นสูตรสำเร็จในการสร้าง "บริษัทซอมบี้ *" ที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในกฏการแข่งขันของตลาดเสรี และมีเพียงความช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้นที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีประสิทธิผลน้อยลงเนื่องจากบริษัทเหล่านี้
* บริษัทซอมบี้ หมายถึงบริษัทที่ไม่สามรถทำกำไรได้จากการดำเนินกิจการ แต่ก็ไม่ล้มละลาย และยิ่งถ้าเป็นบริษัทที่มีภาระหนี้สูงจะถือว่าถ่วง GDP โดยรวมอีกด้วย ซึ่งแต่อีกแง่หนึ่งบริษัทซอมบี้บางแห่งก็ถือเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจโลกขาดไม่ได้ หรือกล่าวก็คือ แม้จะไม่สามารถทำกำไรได้ แต่ก็จำเป็นต้องมีอยู่เพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หรืออาจจะเป็นบริษัทที่มีความสำคัญต่อ Supply Chains มาก ๆ ยกตัวอย่างเช่นบริษัททางด้านสินค้าอุปโภคบริโภค
1
(4.) การแบ่งแยกหรือความไม่เท่าเทียมกันในระดับมหภาค
ในขณะที่เราเห็นการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งประวัติการณ์ในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ประเทศยากจนกำลังขาดทรัพยากรในการปกป้องงานและธุรกิจ หรือแม้แต่การลงทุนในวัคซีนซึ่งเป็นวิธีที่ประเทศร่ำรวยใช้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และพวกเขาจะต้องดิ้นรนต่อไปท่ามกลางความเสี่ยงต่อวิกฤตค่าเงินและเงินทุนของประเทศ
1
World Bank เตือนว่าการแพร่ระบาดจะส่งผลให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากอยู่ในความยากจนและความวุ่นวายของหนี้สิน ขณะที่ IMF กล่าวว่าประเทศกำลังพัฒนาจะมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถูกย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่แล้ว
แม้ว่ารัฐบาลเจ้าหนี้ในประเทศ G-20 ได้ดำเนินการบางอย่างเพื่อบรรเทาชะตากรรมของประเทศที่ยากจน แต่พวกเขาก็ต้องคิดหนักที่จะเสนอแผนบรรเทาหนี้เพิ่มเติม เนื่องจากประเทศที่ยากจนเหล่านั้นยังไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ประเทศได้มากพอ
(5.) การฟื้นตัวรูปตัว K
งานบริการซึ่งมีการติดต่อพบปะกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดมีแนวโน้มที่จะลดลงตราบใดที่ไวรัสยังไม่สามารถควบคุมได้ แต่ตลาดการเงินซึ่งคนรวยส่วนใหญ่เป็นผู้ถือครองกลับฟื้นตัวได้เร็วกว่าตลาดแรงงานอย่างมาก โดย "การฟื้นตัวรูปตัว K " นั้นมาจากการที่ COVID-19 ได้ขยายช่องว่างทางด้านรายได้หรือความมั่งคั่งระหว่างคนรวยและคนจนให้กว้างขึ้น และความมั่งคั่งเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกที่ชัดขึ้นระหว่างชนชั้น เชื้อชาติ และเพศ
1
ผู้หญิงได้รับผลกระทบอย่างหนักอย่างไม่เป็นสมดุล ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเธอมีแนวโน้มที่จะทำงานในอุตสาหกรรมที่ต้องดิ้นรนมากกว่าจากผลกระทบของ COVID-19 และส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพวกเธอต้องแบกรับภาระการดูแลเด็กเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อโรงเรียนปิด โดยในประเทศแคนาดาพบว่าการมีส่วนร่วมของสตรีในกำลังแรงงานได้ลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980
(6.) การเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์
COVID-19 ทำให้เกิดความกังวลใหม่ ๆ เกี่ยวกับการติดต่อพบปะกับผู้คนทางกายภาพในอุตสาหกรรมที่ความห่างเหินทางสังคมเป็นเรื่องยากเช่น การค้าปลีก การต้อนรับ หรือภาคคลังสินค้า และหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคือการใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์
การวิจัยชี้ให้เห็นว่าระบบอัตโนมัติมักได้รับประโยชน์มากขึ้นในช่วงที่โลกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือในภาวะที่มีการระบาดใหญ่ โดยปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ แม้แต่ภาคบริการก็ได้เพิ่มการทำงานโดยใช้หุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งพวกมันถูกพัฒนามาจนสามารถตรวจสอบแขกที่จะ Check-in เข้าพักในโรงแรมได้ ตัด/สับผักในเมนูสลัดที่ร้านอาหารได้ หรือแม้แต่เก็บค่าธรรมเนียมที่ด่านเก็บเงินก็ใช้หุ่นยนต์ ขณะที่การช้อปปิ้งก็เริ่มขยับไปทำทางออนไลน์มากขึ้น
2
แน่นอนว่านวัตกรรมเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจมีประสิทธิผลมากขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งก็หมายความว่ากว่าผู้คนจะสามารถกลับไปทำงานได้อย่างปลอดภัย งานบางอย่างก็จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์อย่างถาวรไปแล้ว และยิ่งคนว่างงานนานเท่าไหร่ ทักษะของพวกเขาก็จะฝ่อลงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "hysteresis"
(7.) Work From Where (ทำงานจากที่ใดก็ได้)
สำหรับคนงานระดับมืออาชีพที่มีรายได้สูงในปัจจุบัน การทำงานจากที่บ้านกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในทันที โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าถึง 66.67% หรือ 2 ใน 3 ของ GDP ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2020 เกิดจากคนที่ทำงานจากที่บ้าน และหลายบริษัทยังคงสั่งให้พนักงานของพวกเขาอยู่ห่างจากสำนักงานในปี 2021 ขณะที่บริษัทบางแห่งส่งสัญญาณว่าพวกเขาจะสามารถทำงานนอกออฟฟิศได้อย่างถาวร
1
การทำงานจากที่บ้านส่วนใหญ่ ได้รับการพิสูจน์แล้วในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี และทำให้นายจ้างรวมถึงพนักงานมีทางเลือกใหม่ ๆ ในการทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ "โครงสร้างพื้นฐานและวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ" รวมถึงการยึดติดแต่การทำงานในสำนักงาน เรื่องนี้จะส่งผลกระทบนับตั้งแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ไปจนถึงบริษัทอาหารและการขนส่ง แต่จะเป็นประโยชน์สำหรับบริษัทที่สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างเช่นหุ้นของบริษัท Platform ทางการประชุมผ่านวิดีโอชื่อ Zoom ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 600% ในปีนี้
นอกจากนี้ ตัวเลือกในการทำงานจากระยะไกล พร้อมกับความกลัวไวรัส และรายได้ที่ลดลงของคนยากจน ยังทำให้เกิดการอพยพออกจากเขตเมืองไปยังชานเมืองหรือชนบท ทำให้ในบางประเทศราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ชนบทพุ่งสูงขึ้น
World Maker's ViewPoint : หากจะมองให้ลึกกว่านั้นแล้ว ผู้เขียนอยากให้ลองตระหนักดูว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการกระจายความเจริญเข้าสู่ภาคท้องถิ่นอย่างแท้จริง
2
(8.) การเดินทางระหว่างประเทศอาจยังคงอยู่ในระดับต่ำ
การท่องเที่ยวทั่วโลกลดลง 72% ในปีนี้จนถึงเดือนตุลาคม ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า 1 ใน 4 ของการเดินทางเพื่อธุรกิจอาจหายไปตลอดกาลเมื่อวัฒนธรรมการประชุมเริ่มดำเนินผ่านทางวิดีโอออนไลน์
กิจกรรมขนาดใหญ่อย่างเช่น งานเทศกาลและคอนเสิร์ต คาดว่าจะถูกกำจัดปริมาณต่อไป ขณะที่กระแสความนิยมในหมู่ผู้บริโภคได้หยุดชะงักลงเช่นกัน และเมื่อกลับมาดำเนินกิจกรรมต่อ หลาย ๆ อย่างก็อาจไม่เหมือนเดิม ขณะที่ผู้เดินทางอาจต้องพกใบรับรองสุขภาพและผ่านระบบการรักษาความปลอดภัยรูปแบบใหม่ที่เข้มงวดขึ้น
1
(9.) โลกาภิวัตน์ย้อนกลับ
เมื่อโรงงานของจีนปิดตัวลงในช่วงต้นของการแพร่ระบาด มันได้ส่งคลื่นความสั่นสะเทือนผ่าน Supply Chains ไปทั่วทุกแห่งบนโลก และทำให้ธุรกิจรวมถึงรัฐบาลหันกลับมาคำนึงถึงการพึ่งพาจีนที่ได้รับฉายาว่าเป็นโรงไฟฟ้าและการผลิตของโลก
หลายบริษัทตัดสินใจย้ายการผลิตบางส่วนออกจากจีนไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเอเชีย และโดยรวมแล้วทุกประเทศทั่วโลกเริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจที่มีการพึ่งพาตนเองมากขึ้น
การกระทำเหล่านั้นคือตัวอย่างของโลกาภิวัตน์ย้อนกลับ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดอาจกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มโต้แย้งว่ามีความเสี่ยงที่จะพึ่งพาการนำเข้าสินค้าที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติจากต่างประเทศเป็นหลัก
1
World Maker's ViewPoint : การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ย่อมหมายถึงประเทศใดที่มีความสามารถในการพึ่งพาหรือหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศได้ดีกว่า ก็จะมีความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นสำหรับตลาดในโลกอนาคต
(10.) เข้าสู่โลกสีเขียว
ก่อนการระบาดใหญ่ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่กำลังรณรงค์อย่างหนักในแนวคิดของโลกสีเขียว โดยเฉพาะการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และความคิดที่ว่าการเพิ่มขึ้นของ "ยานพาหนะไฟฟ้า" จะสามารถทำลายความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษมากที่สุดของโลกได้อย่างถาวร
และตลอดปีนี้ เราก็ได้เห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงานออกมารณรงค์เรื่องโลกสีเขียวกันอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมชัดเจน นอกจากนี้ การ Lockdown ยังแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมามนุษย์ทำลายธรรมชาติจากการดำเนินชีวิตไปมากแค่ไหน โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติหรือสัตว์น้ำในแหล่งท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจนอุดมสมบูรณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน
รัฐบาลจากแคลิฟอร์เนียไปยังสหราชอาณาจักรประกาศแผนการที่จะห้ามขายรถยนต์ที่บริโภคเบนซินและดีเซลภายในปี 2035 และ Joe Biden ก็ได้ให้คำมั่นว่าสัญญาว่าสหรัฐฯ จะเข้าร่วมข้อตกลงปารีส * อีกครั้ง
* ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาของสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2020 เป็นไปต้นไป
โฆษณา