7 ม.ค. 2021 เวลา 07:32 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เทคโนโลยีที่จะครอบงำชีวิตในปี 2564
แน่นอน ปีนี้ก็คงเป็นอีกปีที่บริการด้านอินเทอร์เน็ตยังคงอยู่กับชีวิตของพวกเราในหลายๆมิติ
และปีนี้ ในเรื่องของเทคโนโลยีที่เราจะได้ยินกันส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้เกี่ยวกับพวกอุปกรณ์อลังการ อย่างสมาร์ทโฟน หรือทีวีจอขนาดใหญ่ แต่จะเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้เห็นกัน อย่างพวก Workhorse Software และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ที่กำลังมาแรง
ก่อนที่ไวรัสโคโรน่าจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา บรรดารายชื่อของเทคโนโลยีที่ต้องจับตาในแต่ละปีมักจะเป็นพวก ลำโพงเจ๋งๆ หรือทีวีจอโค้งแบน แต่การแพร่ระบาดของไวรัสได้ผลักดันให้เราต้องรับเทคโนโลยีที่มีประโยชน์เข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่เทคโนโลยีนี้ถูกมองข้าม พวกแอปพลิเคชั่นธรรมดา หรือที่มีกิมมิคแปลกๆบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน หรือแทบเบล็ต ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญทันที
ยกตัวอย่าง จริงๆแล้ว แอปพลิเคชั่นกระเป๋าสตางค์ หรือ Wallet Apps อย่าง Apple Pay และ Square ซึ่งก็มีมาหลายปีแล้วนะคะ แต่เรายังติดอยู่กับบัตรเครดิต และเงินสด หลังจากที่มีเรื่องไวรัสเข้ามา ก็สร้างความกังวลเรื่องการสัมผัส และหาวิธีการชำระเงินที่ไม่มีการสัมผัสผ่านโทรศัพท์ แทนที่จะรูดบัตรเครดิต
ยังมี AR หรือ Augmented Reality ซึ่งเทคโนโลยีนี้ ทำให้เราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุที่เป็นดิจิทัลที่มาซ้อนทับโลกแห่งความเป็นจริงได้ ซึ่งเจ้า AR นี้ ก็อยู่กับเรามามากกว่าทศวรรษแล้วค่ะ หลายปีที่ผ่านมาAR นี้ดูจะเป็นเรื่องในอนาคตมากๆ และดูไม่ค่อยมีประโยชน์ แต่ตอนนี้ เราไม่สามารถไปร้านค้าต่างๆแล้วลองสินค้าได้ เพียงแค่ถ่ายรูปเซลฟี่ แล้วก็ให้ระบบดิจิทัลปรับให้มีเครื่องสำอางบนใบหน้า ก็จะได้ไอเดียว่าถ้าลองแล้วเป็นอย่างไร
นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีผู้บริโภคจาก Creative Strategies กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ทำให้เราเห็นความจำเป็นของสิ่งเหล่านั้น อย่างเรื่องของการโทรด้วยวีดิโอ ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลับมาเป็นที่นิยมแพร่หลาย และทำให้เกิดความแตกต่างที่แท้จริง
เพราะฉะนั้น เราจะมาดูเทรนด์ของเทคโนโลยีสี่ประเภทที่จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราในปีนี้ ซึ่งทาง The New York Times ได้มีการรวบรวมงานวิจัยจากหลายแห่ง และสรุปมาไว้ดังนี้ค่ะ
1. เทคโนโลยีที่มาแทนห้างร้าน
เราอาจจะไม่ได้สังเกตในเรื่องการช้อป เพราะเราช้อปออนไลน์กัน แต่ประสบการณ์การช้อปกำลังเปลี่ยนไป การไปห้างร้าน ดูจะไม่ค่อยสะดวกสบายในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้การช้อปออนไลน์เป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าควรมีการส่งข้อความพูดคุยหรือใช้เสียงจะดีกว่าในการให้บริการลูกค้า ซึ่งจริงๆแล้วก็มีหลายรูปแบบ
หลายบริษัท หันมาใช้ AR ที่จะช่วยให้ลูกค้าในการช้อปออนไลน์ อย่างเช่น หากต้องการซื้อแว่นตา ลูกค้าก็สามารถถ่ายรูปหน้าของตนเอง และลองแว่นตาแบบเสมือนได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อแว่นตา ทั้งนี้ Snap ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Snapchat ได้ร่วมมือกับแบรนด์หรู อย่าง Gucci และ Dior นำเสนอการลองสินค้าแบบเสมือน
ปีนี้ เป็นปีที่ AR ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะมีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นไปเรื่อยๆ อีกทั้งสมาร์ทโฟนไฮเอนด์รุ่นใหม่ๆ ก็มีเซนเซอร์ที่ตรวจจับความลึก ซึ่งทำให้ง่ายต่อแอปที่เป็น AR เพื่อวางวัตถุเสมือนบนพื้นที่โลกแห่งความเป็นจริง เช่นวางเฟอร์นิเจอร์เสมือน บนที่ว่างจริงๆ
งานวิจัยจาก eMarketer คาดว่าน่าจะเห็นโฆษณาใหม่ๆที่ใช้ประโยชน์จาก AR ในไม่ช้า โดยในปีนี้ คาดการณ์ว่า บริษัทโฆษณาจะใช้เม็ดเงินราวๆ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับการโฆษณาที่ใช้ AR หรือคิดเป็น 71% เพิ่มขึ้นจากงบ 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว (https://www.emarketer.com/content/iphone-12-will-supercharge-mobile-ar-2021?ecid=NL1009)
2. Wi-Fi จะมีความฉลาดมากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่มีปัญหาเป็นอย่างมากเมื่อต้องทำงานจากที่บ้านคือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร เมื่อปีที่แล้วเมื่อผู้คนต่างต้องอยู่ที่บ้านจากการแพร่ระบาดของไวรัส แต่ความเร็วของอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยทั่วโลก กลับช้า ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมีการจราจรที่หนาแน่นมาก ผู้คนแห่กันใช้อินเทอร์เน็ตจากที่บ้าน ช่องสัญญาณไม่เพียงพอ
โชคดีที่ เทคโนโลยี Wi-Fi ดีขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้ เราจะได้เห็นเราเตอร์ใหม่ มี Wi-Fi 6 ซึ่งเป็นมาตรฐานโครงข่ายใหม่ ต่างจากการอัพเกรดระบบไร้สายในอดีต คือ Wi-Fi 6 จะไม่เน้นที่เรื่องความเร็วแต่จะเน้นที่เรื่องประสิทธิภาพด้วยการแชร์แบนด์วิธไปยังอุปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่าหากบ้านหนึ่ง มีอุปกรณ์หลายเครื่อง ทั้งคอมพิวเตอร์ แลปท้อป เครื่องเล่นเกมคอนโซล ในเวลาเดียวกัน มีการใช้ส่งผ่านข้อมูลจำนวนมากเพื่อสตรีมวีดิโอ Wi-Fi 6 ก็จะมาช่วยในการให้แบนด์วิธให้กับทุกอุปกรณ์ในเวลาเดียวกัน แทนที่จะกระจุกตัวที่อุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง
จากงานวิจัยของ Cisco ประสิทธิภาพมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าปัจจุบันนี้มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาไปจนถึงทีวี ไปยังเครื่องชั่งนน.ในห้องน้ำ โดยเฉลี่ย จำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตต่อหนึ่งคน คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 4 เครื่องภายในปี 2566 จากแค่จำนวน 2 เครื่องเมื่อปี 2561 (https://www.cisco.com/c/en/us/solutions/executive-perspectives/annual-internet-report/air-highlights.html)
3. เทคโนโลยี ที่ทำให้เราไม่ต้องไปหยิบจับอย่างอื่น
เมื่อปีที่แล้ว ถือว่าเป็นปีจุดเปลี่ยนของการมาใช้วิธีการชำระเงินด้วยโทรศัพท์ แน่นอน จากประเด็นเรื่องความปลอดภัย แม้แต่กลุ่มคนที่ใช้เงินสดชำระมาโดยตลอด อย่างชาวนา พ่อค้าแม่ค้าในตลาด รถขายอาหาร ก็เริ่มรับวิธีการชำระเงินแบบนี้
จากการสำรวจโดย Forrester (https://nrf.com/media-center/press-releases/coronavirus-leads-more-use-contactless-credit-cards-and-mobile-payments) 67% ของผู้ค้าปลีกชาวอเมริกันรับวิธีการชำระเงินแบบไร้การสัมผัส เพิ่มขึ้นจาก 40% ในปี 2562 และจากการสำรวจนี้ 19% กล่าวว่า พวกเขารับชำระเงินแบบดิจิทังครั้งแรกในร้านเมื่อเดือนพ.ค.
Forrester เปิดเผยว่า เทคโนโลยีที่ไม่ต้องใช้มือ ไม่ได้มีเพียงแค่ Mobile Wallet แต่ยังมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Ultra-Wide Band ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคลื่นวิทยุใหม่ ที่จะมาแรงในปีนี้ เทคโนโลยีนี้ จะใช้คลื่นวิทยุเพื่อตรวจหาวัตถุด้วยความแม่นยำสูงมาก และเทคโนโลยีนี้ไม่ค่อยมีการใช้ตั้งแต่มีสมาร์ทโฟนออกมาเมื่อสองปีก่อน แต่ด้วยความจำเป็นที่จะต้องให้มีการไร้สัมผัส ทุกอย่างจึงเปลี่ยนไป
แล้วจะใช้เจ้า Ultra-Wide Band อย่างไร สมมติว่าเรามีสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่อง และร้านกาแฟมีแทบเบล็ต ทั้งสองเครื่องมีเทคโนโลยีคลื่นวิทยุนี้ หากยืนอยู่ใกล้แทบเบล็ต เครื่องแทบเบล็ตก็จะสามารถรับสัญญาณจากโทรศัพท์ของเราและรับชำระเงินจากเราได้ (และไม่รับชำระเงินจากคนที่ต่อคิวข้างหลังเรานะคะ) เทคโนโลยีนี้สามารถใช้เพื่อให้พนักงานเข้าออกในอาคารได้ หรือสตาร์ทรถได้โดยไม่ต้องใช้กุญแจจริงๆ
4. เทคโนโลยีที่ทำให้การทำงานการและดูแลสุขภาพตนเองอยู่ในรูปแบบเสมือน
อาจจะยังนึกภาพไม่ออกนะคะ คือการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสทำให้ประสบการณ์แบบเสมือนมีความชัดเจนมากขึ้น อย่างการประชุมผ่านวีดิโอ การเรียนโยคะผ่าน Zoom สามารถเข้ามาทดแทนการพบปะจริงๆได้ ไม่ว่าเราจะรับมันเข้ามาหรือต้องทนกับมัน ในปี2564 นี้ คาดว่าจะมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่จะนำเสนอวิธีการทำงานที่มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น และยังมีสุขภาพดีได้
ยกตัวอย่าง บริษัทเทคโนโลยีบางบริษัทกำลังทดลองสร้างห้องประชุมของที่ทำงานด้วย การจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง หรือ Virtual Reality
ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาสถานที่ออกกำลังกายต้องปิด ทำให้เราหันมาให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องสุขภาพมากขึ้น
เมื่อปีที่แล้ว Amazon ได้นำเสนออุปกรณ์สวมใส่ตัวแรกสำหรับการติดตามความฟิตของร่างกาย ซึ่งได้มีการนำซอฟท์แวร์ที่สามารถสแกนไขมันในร่างกายเข้าไปด้วย Apple ก็ได้นำเสนอ Fitness+ ซึ่งลอกเลียนแบบมากจาก Peloton บริษัทที่ทำเกี่ยวกับ Streaming Fitness หรือการให้บริการฟิตเนสทางไกล สามารถออกกำลังกายได้จากที่บ้าน Forester กล่าวว่า เทรนด์นี้จะมีการขยายไปยังรูปแบบอื่นๆในด้านการดูแลสุขภาพ อย่างการดูแลตนเอง และสุขภาพจิต ซึ่งมีแอปพลิเคชั่นที่เป็นวีดิโอให้คำแนะนำเรื่องการนั่งสมาธิ หรือการบำบัด
Forester กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคก็จะกลับมาหาสิ่งที่มอบความสะดวกสบายให้พวกเขา ซึ่งก็หมายความว่า ท้ายที่สุดก็อาจจะเหลือแค่ระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลเพราะช่วยประหยัดเวลา แต่หากเราสามารถกลับไปใช้บริการสถานที่ออกกำลังกายได้ การเสียตังค์กับแอปพลิเคชั่นออกกำลังกาย อาจจะทำให้ผู้ซื้อผิดหวังได้
ที่มาและภาพ:
โฆษณา