7 ม.ค. 2021 เวลา 13:21 • สุขภาพ
… สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดระลอก 2 เกิดขึ้นแล้ว แม้ช่วงแรกรัฐบาลพยายามขอให้หลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่าระบาดระลอก 2 แต่สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ ยอมรับแต่โดยดี นี่เข้าการระบาดระลอกสองแล้ว
ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งปรี๊ด ภายในช่วงเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ จากอยู่กันชิลๆ ล่าสุด 28 จังหวัดคุมเข้ม กลายเป็นจังหวัดสีแดง เดินทางไปไหนมาไหนลำบาก หลายจังหวัดออกคำสั่ง ใครมาจาก 28 จังหวัดสีแดงต้องกักตัว 14 วัน หนักกว่านั้นคือ คำสั่งยกระดับ 5 จังหวัดสีแดง ให้เป็นจังหวัดควบคุมเข้มข้นสูงสุด มีการออกคำสั่ง ใครจะเดินทางออกนอกพื้นที่ต้องชี้แจงเหตุผล มีหนังสือรับรองการเดินทาง เหมือน ล็อกดาวน์ชัดๆ แต่ก็ยังไม่ให้เรียกล็อกดาวน์
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ติดตามข่าวการเมืองจะเกิดอาการมึนงงกันไม่น้อย เพราะจะสังเกตเห็นอาการ “กลับลำ ” ของภาครัฐในหลายๆเรื่อง
ความหมายที่ราชบัณฑิตยสถาน ในหนังสือ “พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน”. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ธนาเพรส, 2553. หน้า 6. ให้ความหมายไว้คือ “กลับลำ” (ภาษาปาก, สำนวน) หมายถึง เปลี่ยนความคิด ตัวอย่างประโยค
“เมื่อวานเขาให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ยอมให้มีวันหยุดชดเชย วันนี้กลับลำอนุญาตให้มีตามเดิมแล้ว”
1
เรารวม 5 อาการกลับลำ ของภาครัฐ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สร้างความมึนงงให้คนไทย
1. “กลับลำ” กทม. (เลิกทุ่มนึง-เลิก 3 ทุ่ม)
กรณีนี้เกิดจาก เมื่อวันที่ 4 ม.ค. หลังมีประกาศยกระดับควบคุม 28 จังหวัดมีผลบังคับใช้ กทม.รับลูกทันที ที่ประชุมโควิด กทม. มีมติให้ร้านอาหารรับลูกค้าเฉพาะบริการกลับบ้านในเวลา 19.00 – 06.00 น. ส่วนนอกเวลานั้น สามารถรับประทานอาหารที่ร้านอาหารได้ แต่ต้องมีมาตรการเข้มข้น โดยจะดีเดย์วันรุ่งขึ้นเป็นต้นไป สร้างความตื่นตกใจให้กับผู้ค้าและผู้ประกอบการจำนวนมาก การแถลงของกทม.เกิดขึ้นในช่วงเช้า มีการพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู แต่เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ศบค.ว่า กรณี กทม.ให้รับประทานอาหารในร้านได้จาก 19.00 น. ถึง 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ให้ยกเลิกออกไปก่อน โดยให้เปิดได้ถึง 21.00 น. อ้างว่าได้รับเสียงร้องเรียนจากสมาคมภัตตาคาร ถือเป็นอาการ “กลับลำ” แรกของภาครัฐ ตอนเช้าว่าอย่าง ตอนเย็นอีกอย่าง ทำเอาประชาชนผู้อ่านข่าว งงไปตามๆกัน
1
2. ขสมก. “กลับลำ” (ลดการเดินรถ-ไม่ลด)
อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นการกลับลำของภาครัฐที่ทำเอาประชาชนงงไม่น้อย ก็คือการออกมาประกาศนโยบายขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา ว่าจะมีการลดจำนวนการเดินรถลดลงเหลือร้อยละ 60 เป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้บริการที่ลดลง ทว่าหลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างเรื่องการลดจำนวนรถที่จะทำให้ผู้ใช้บริการรอรถนาน และต้องโดยสารเบียดเสียดกันเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ขสมก. กลับลำ ตัดสินใจยกเลิกนโยบายดังกล่าวแล้ว โดยจะเดินรถในจำนวนและเที่ยววิ่งตามปกติเช่นเดิม
1
3. “บ่อนพนัน” กลับลำ (มีบ่อน-ไม่มีบ่อน)
โควิดรอบใหม่ นอกจากปม “แรงงานต่างด้าว” เชื้อปะทุทำโควิดลามว่าเรื่องใหญ่แล้ว พอเป็นคลัสเตอร์จาก “บ่อนการพนัน” ทำคนในสังคมไทยลืมต้นตอการระบาดจากเรื่องแรกไปเลย คลัสเตอร์ใหญ่ๆก็ที่จังหวัดระยอง เมื่อคนระดับผู้การระยอง ทำเสียงแข็ง แค่โกดังไม่ใช่บ่อน ทำคนในสังคมฮือฮา รัฐเรียกร้องประชาชนอย่าการ์ดตก แต่พอเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทำบอกปัดแบบนี้ ร้อนถึงรองนายกฯ ฝ่ายมั่นคง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่สุดท้ายก็อีหรอบเดียวกัน “ไม่มี๊ ไม่มีบ่อน” แต่พอสิ้นเสียงท่านรอง นั่งอ่านไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็ยังติดมาจากบ่อนแทบทั่วเมือง เรื่องนี้หลอกเด็กยังยาก พนันกับสังคมไทยมันเป็นของคู่กัน ขับรถบนถนนยังมีโต๊ะบาคาร่าร่วงกลางเมือง หลักฐานชัด “บิ๊กป้อม” จนมุม สื่อแถบจะพร้อมใจพาดหัว “กลับลำ” แก้เกี้ยว เรื่องบ่อน “ผมไม่ได้หมายความว่าไม่มี เรื่องบ่อนเราก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามี แต่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องทำให้บ่อนไม่มี” ทำสังคมวิจารณ์ขรม
4. กลับลำ “ล็อกดาวน์” (ล็อกดาวน์ – ควบคุมสูงสุด)
สับสนกันอีกไม่น้อย เมื่อ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 4 มกราคม ระบุว่า นายกรัฐมนตรี และที่ประชุม ศบค. มีมติอนุมัติให้ “ล็อกดาวน์” 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และ ตราด พร้อมกับวลีเด็ด “เจ็บสั้นๆ ดีกว่า ปวดนานๆ”
1
ทำเอาเกิดความตระหนกตกใจในหมู่ประชาชนทั้ง 5 จังหวัด เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดทั้งมาตรการที่จะดำเนินการ และกรอบเวลาใดๆเปิดเผยออกมา สุดท้ายประชาชนก็ได้ข้อสรุปว่าเป็นการประกาศ “ล็อกดาวน์” ที่ไม่ใช่ “ล็อกดาวน์” เมื่อ ศบค. ออกมาระบุว่าในพื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าวเป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” แทน
5.กลับลำ “หมอชนะ” (มีโทษ-ไม่มีโทษ)
ความตื่นตระหนกตกใจ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลัง มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อกำหนดเพิ่มเติม ยกระดับเข้มข้นสูงสุด 5 จังหวัด ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สมุทรสาคร จะไปนอกพื้นที่ต้องมีใบรับรอง ทำเอาคนแห่ไปต่อคิวหน้าอำเภอ และยังกำหนดโทษไว้สูงปรี๊ด ทำเอาผู้คนยิ่งกังวล ต่อมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.แถลงข่าวเปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากประกาศคำสั่งดังกล่าว หากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีการติดตั้งแอพพ์หมอชนะ ก็จะถือว่าละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยิ่งสร้างความกังวลกับประชาชน หลายคนวิจารณ์ศบค.ใช้วิธีการขู่อีกแล้ว แล้วคนโหลดไม่ได้ ไม่มีสมาร์ทโฟนทำไง? นักวิชาการยังข้องใจ ใช้อำนาจเกินเลยหรือไม่ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ ถึงกับออกมาเตือนว่ามันอาจขัดรธน.มาตรา 26 เพราะเป็นการออกกฎหมายที่สร้างภาระเกินความจำเป็นแก่ประชาชน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล แห่งนิติศาสตร์ มช. ถึงกับประกาศไม่โหลดแอพพ์นี้ ให้รู้กันไปเลย รัฐเหลวแหลก ประชาชนต้องแบกรับขนาดไหน ขณะโซเชียลดาหน้าถล่มหนัก ไม่นานจากนั้น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯออกมาโพสต์ข้อความ ว่าไปบอกนายกฯแล้ว นายกฯรับทราบ รู้ปัญหาคนไม่มีสมาร์ทโฟน ให้เปลี่ยนเป็นเอกสารแทน ยืนยันไม่โหลดหมอชนะ ก็ไม่ผิด กลับลำกันซะอย่างนั้น
โฆษณา