8 ม.ค. 2021 เวลา 07:55 • การศึกษา
มีเจ้าหนี้รายอื่นมายึดทรัพย์ลูกหนี้ก่อน ถ้าเราเป็นเจ้าหนี้จะทำยังไงดี ..😥😥😥
สวัสดีท่านผู้อ่านที่รักและเคารพทุกท่านครับ การเป็นเจ้าหนี้ บางครั้งคงจะดีแต่ชื่อ ..สู้ลูกหนี้ไม่ได้ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เจ้าหนี้น้ำตาตกมาหลายคน ส่วนลูกหนี้ก็นั่งยิ้ม บางที่เจ้าหนี้ รู้ว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินก็หลงดีใจ 555 ข้า ..จะยึดทรัพย์เอ็งให้หมด ..แต่พอไปยึดกับมีเจ้าหนี้รายอื่นยึดไปซะแล้ว ..และลูกหนี้ก็ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีกแล้ว ...เอาละซิ..น้ำตาตกอีกแล้ว ..แบบนี้จะทำยังไงในขั้นตอนกฎหมาย
ผมมีเกร็ดกฎหมาย มาเล่าสู่กันฟัง เหตุดังกล่าวข้างต้นถ้าเกิดขึ้นกับเราในฐานะเจ้าหนี้ จะทำอย่างไร พูดง่าย ๆ ลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายรายครับ ..ลองมาเบิ่งกันจักหน่อย....
ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 326 ก็มีหลักเบื้องต้นไว้ว่า เมื่อมีการยึดอายัด ทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายใดแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่น ยึดหรืออายัดทรัพย์สินรายเดียวกันนั้นซ้ำอีก ..
อันนี้เป็นหลักเบื้องต้นครับ แม้เราจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม ดันมีเจ้าหนี้รายอื่นมาซิวไปซะก่อนแล้ว เราก็จะไปยึดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีกไม่ได้..
1
pixabay
แบบนี้เราจะทำอย่างไร กฎหมายดังกล่าวมีทางออกไว้ให้แก่เจ้าหนี้รายอื่นที่ไม่ได้เป็นผู้ยึดทรัพย์สินนั้นไว้ด้วยนะครับ
เราเรียกวีธีนี้ว่า การร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ หลักก็จะอยู่ในมาตรา 326 ผมจะสรุปให้เราๆ ท่าน ๆ ได้ดูแบบเข้าใจง่าย ๆ กันครับ
จำกันง่าย ๆ ครับ ว่า ยึดหรืออายัด ทรัพย์สินแล้ว จะไปยึดหรืออายัดซ้ำอีกไม่ได้
ต้องไปยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์ ในคดีที่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่ถูกเจ้าหนี้รายอื่นยึดหรืออายัดไว้
วิธีการคือ เราซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำร้อง ต่อศาลเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์ ที่สำคัญคือ เราต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ในคดีที่ถูกยึดหรืออายัด และ นอกจากการเป็นเจ้าหนี้ดังกล่าวแล้ว ต้องปรากฎข้อเท็จจริงว่า ไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของลูกหนี้ได้อีก หรือมี แต่ไม่สามารถนำมาชำระหนี้ให้แก่เราเจ้าหนี้โดยสิ้นเชิงเต็มจำนวนหนี้ (ฎีกาที่ 4675/2557)
เห็นไหมครับ หลักเกณฑ์ไม่ยากเลย เพียงบรรยายในคำร้อง ให้เห็นว่า เราเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่สามารถยึดหรืออายัดได้แล้ว เนื่องจากเจ้าหนี้รายอื่นยึดหรืออายัดไว้ก่อน และลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่จะยึดนำมาชำระหนี้ได้ เท่านี้ก็เข้าเงื่อนไขแล้วครับ หลังจากยื่นแล้วศาลก็จะนัดไต่สวน
เมื่อศาลไต่สวนแล้วครบถ้วนตามหลัการเบื้องต้น ก็จะมีคำสั่งอนุญาตให้เราเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้
การเฉลี่ยก็จะเป็นเรื่องของเจ้าพนักงานบังคับคดี ก็จะเฉลี่ยตามสัดส่วนแห่งจำนวนหนี้ ถ้าเป็นบ้านผม ถ้าขายทอดตลาดได้เท่าไหร่ก็เฉลี่ยคนละครึ่ง ครับ..
สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือ ระยะเวลาครับ คือต้องยื่นก่อนสิ้นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือขายทรัพย์ทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดในครั้งนั้น ๆ เช่นกำหนดการขายทอดตลาดไว้ 4 ครั้ง ขายได้ครั้งที่ 2 ก็ต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วันนับแต่วันขายครั้งที่ 2 ครับ
หรือในกรณีที่ยึดเงิน ยื่นก่อนสิ้นเวลา 15 วันนับแต่วันยึด
หลักเกณฑ์ง่าย ๆ ครับ บางครั้งเจ้าก็หนี้ก็ไม่รู้ เห็นว่ายึดซ้ำไม่ได้ ก็ไม่รู้จะไปยังไงต่อ บทความนี้ก็จะเป็นประโยชน์อยู่บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ แต่ถ้าเห็นว่ายุ่งยากก็ปรึกษาผู้รู้ ทนายความ หรือนิติกรกรมบังคับคดีในจังหวัดก็ได้ครับ
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ หรือลูกหนี้ ต่างคนก็มีภาระกันทั้งคู่แหละครับ เพียงแต่สถานะแตกต่างกัน ลูกหนี้มีหนี้ก็ควรจะใช้ บางที่เจ้าหนี้ก็ลำบากกว่าลูกหนี้ก็เยอะนะครับ ..
กฎหมายวางแนวและหลักการไว้อย่างไร ก็ปฎิบัติตามนั้น ก็จะไม่เสียประโยชน์ไม่เสียหายนะครับ
เชื่อไหมครับ ในโลกนี้มีสองอย่างที่ทำยาก คือ
1. การเอาความคิดของตน ไปใส่สมองของคนอื่น
2. การเอาเงินของผู้อื่น มาใส่กระเป๋าของตนเอง
อย่างแรก ถ้าทำได้เขาเรียกว่า "อาจารย์ " ครับ อย่างที่สอง ถ้าทำได้เขาเรียกว่า
" เถ้าแก่ " แต่เชื่อไหมครับ มีคนทำได้ในเวลาเดียวกัน ....
2
เราเรียก คนเหล่านั้นว่า " ภริยา " ชัดเจนครับ 😜😜😜
😃😃 บุญรักษาทุก ๆ ท่านครับ พบกันใหม่บทความหน้า คร้าบผม 🙏🙏🙏
โฆษณา