8 ม.ค. 2021 เวลา 19:09 • การตลาด
"บ่อนระยอง" หรือจะสู้ "บ่อนไก่" วิถีชีวิตไทยดั้งเดิม ของแท้
หลังจากโควิท สามารถสืบค้นบ่อนระยองได้ ตามด้วยกระแสข่าว ผู้ติดเชื้อในบ่อนไก่ ที่พบมากขึ้นรายวัน จนดูเหมือนว่า สังคมไทยเกิด Sentiment เชิงลบต่อบ่อนไก่มากขึ้นเรื่อย ๆ นอกเหนือจากการที่คนหลายกลุ่มแอนตี้ เพราะเป็นการทารุณสัตว์
แต่คำว่า "บ่อนไก่" สำหรับอีกหลายๆ คน ฟังชื่อแล้วอาจยัง งง งง ไม่คุ้น
หรือยังมีบ่อนแบบนี้อยู่อีกหรือ ? หรือ แล้วเอ้ย..ทำไมจำนวนมากมายขนาดนี้?
Market Size ขนาดตลาดของธุรกิจบ่อนไก่ หรือชื่อทางการว่า สนามชนไก่ นั้นใหญ่มากทั้งในแง่มูลค่า และขนาดกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่แค่กลุ่มตลาดแบบ Cluster
เพราะข้อเท็จจริงคือ มีบ่อนไก่ อยู่ทุกจังหวัดในประเทศไทย และบางจังหวัด อาจจะมีในทุกอำเภอ
เรียกได้ว่า ธุรกิจนี้ ครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางตั้งแต่ภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ และตะวันออก และยังเจาะลึกได้ถึงตลาดระดับรากหญ้า
ล่าสุด 24 มค64 ผู้การประจวบฯ สั่งรวบ 19 เซียนไก่ปราณบุรี แอบลอบเล่นการพนันในป่าละเมาะ มีการพนันไก่2 วง
ก่อนหน้านั่นต้นมค. เฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เปิดเผยว่า ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้าไปตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิดในสนามชนไก่ เกือบทุกอำเภอ ได้แก่ อ. เสนา, อ.บางปะหัน, อ.มหาราช, อ.บางไทร, อ.บางปะอินและ อ.ผักไห่ ฯลฯ
วิถีและการดำรงชีพของชุมชนชนบท และธุรกิจท้องถิ่นเครือข่ายขนาดใหญ่
ไก่ชนนเรศวร พันธุ์เหลืองหางขาว มีอัตลักษณ์ถูกต้องตามตำรา สมเป็นไก่ชนชั้นเยี่ยม
ธุรกิจไก่ชน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทยไม่น้อย เฉพาะจังหวัดสุพรรณบุรี คนสุพรรณฯ ลงทุนในธุรกิจไก่ชน มากกว่า 100,000 ครอบครัว
ลูกไก่ชนสายพันธุ์ดีขายได้ราคาคู่ละ 6,000-15,000 บาท ไก่ชนชื่อดังราคาขายตัว ละ 1- 4 ล้าน เช่น เจ้าโกโก้ ค่าตัว 4 ล้าน จากซุ้มจักรินฟาร์ม ราชบุรี, เจ้าฟรีคิ๊ก ค่าตัว 3.5 ล้าน จากซุ้มหนุ่มโรงหมี่ ฯลฯ
ซุ้มไก่ชนรายใหญ่ ยังมีการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ด้วยการซื้อพ่อพันธุ์ไก่ชนดัง มาเพาะพันธุ์ลูกไก่ ให้กับเกษตรกรไปเลี้ยงพัฒนาต่อ จนมีรายได้ถึง 10 ล้านบาทต่อหนึ่งตัวพ่อพันธุ์ที่ซื้อมา
รายได้สูงของธุรกิจนี้ ทำให้หลายๆคนจากหลากหลายอาชีพ รวมทั้งดารา ผันตัวเองเข้ามาทำ รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่บางราย ก็เข้ามาเป็น key player ในตลาด
Supply chain หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยง ก็มีรายได้เติบโตไปตามกัน
ไม่ว่าจะเป็นเช่น อาหารไก่ชน ยาบำรุงรักษาไก่ชน วัสดุอุปกรณ์ทำฟาร์ม โฆษณาออนไลน์ หรือธุรกิจจัดส่งไก่ชน โดยคิดค่าส่งไก่ครั้งละ 300 - 1,500 บ.
สำหรับบ่อนไก่ ในปัจจุบัน มีบ่อนถูกกฎหมายอยู่ 100 บ่อน แต่ทั่วประเทศนั้น มีหมู่บ้านชนบทที่เลี้ยงไก่ชนถึง 78,000 หมู่บ้าน ดังนั้น จึงคาดได้ว่า จำนวนบ่อนไก่ที่ไม่จดทะเบียน น่าจะมีจำนวนสูงมาก หรือมากกว่า
บ่อนไก่ ที่ถูกกฎหมาย สามารถเปิดได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ โดยรายได้หลักของบ่อนมาจาก 2 ทาง
1. การขายตั๋วเข้าชม ราคาตั้งแต่ 50 -200 บาทแล้วแต่ที่นั่ง ขายอาหาร เครื่องดื่มให้คนที่เข้ามาเล่นพนัน ส่วนใหญ่จะอยู่กันทั้งวัน ต้องดื่ม (ถึงเป็น Clusterโควิด?)
2. รายได้ก้อนใหญ่จาก ส่วนแบ่ง 10 % ของเงินวางเดิมพัน ที่เจ้าของไก่ที่แพ้ต้องจ่ายให้กับเจ้าของบ่อน ซึ่งเดิมพันนั้น มีตั้งแต่หลักหมื่น ถึงแสน แล้วแต่ชื่อชั้นของไก่และซุ้มฟาร์มที่ส่ง
สำหรับจำนวนบ่อนถูก และไม่ถูกกฎหมาย เคยมีผลงานวิจัย(1)ระบุไว้ว่า
-ภาคเหนือตอนบนมีบ่อนไก่ 66 แห่ง เงินเดิมพันหมุนเวียนสูงถึงเดือนละ 35,248,000 บาท
- ภาคเหนือตอนล่าง มี 17 บ่อน เฉพาะที่สนามระดับจังหวัดพิจิตรแห่งเดียว สร้างรายได้ให้จังหวัด ถึงปีละ 1,410,400 บาท
-จ. สุพรรณบุรี มีบ่อนไก่ 84 แห่ง สร้างรายได้ให้จังหวัดไม่น้อยกว่าปีละ
18,991,000 บาท
แต่สำหรับยอดเงินสะพัดในธุรกิจบ่อนไก่ ที่มีจำนวนสูง ๆ นั้น คือ เงินพนันที่นักพนัน เล่นกันเอง ระหว่างที่ไก่กำลังชนกัน เรียกว่า "เล่นนอก" และหากรวมถึง
- เกมส์พนันไก่ชนออนไลน์ ที่ร่วมเข้ามาแชร์ตลาด
-รายได้จากทุกธุรกิจที่เป็น supply chain แล้ว
มูลค่าของตลาดนี้ ในแต่ละเดือน แต่ละปี ไม่ใช่แค่สูง แต่ถึงขั้น .สูงลิบ.
โดยพรรคภูมิใจไทย ที่เข้าใจ+เข้าถึงตลาดกลุ่มรากหญ้า นี้เอง จึงสามารถกวาดเก้าอี้ ส.ส. พื้นที่อีสานล่าง เบียดชิงจากพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2552 มาได้ ด้วยการวางกลยุทธชูจุดขาย"เปิดบ่อนไก่ได้เสรี"*
สรุปก็คือ ธุรกิจไก่ชนไทย ใหญ่ไม่ใหญ่ ก็..ขนาดมีผลต่อการเลือกตั้งในไทยได้!
(เอ. แต่นับเป็นเรื่องอะไรดีนะ? ที่วันนี้พรรคภูมิใจไทย ฐานะเจ้ากระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องมาแก้ปัญหาผู้ติดเชื้อโควิด จากบ่อนไก่ ซึ่งพรรคเป็นผู้ริเริ่มไว้เมื่อ 10 ปีก่อน)
*พรรคฯ สามารถออกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ.2552 ที่อนุญาตให้มีการเปิดบ่อนไก่ได้เสรีทั่วประเทศ
ด้วยเหตุ+ปัจจัยดังกล่าวมา จึงปฎิเสธไม่ได้เลย หรือคงต้องยอมรับว่า ไก่ชน บ่อนชนไก่ เป็นวิถีชุมชนท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีพ
และเป็นการตลาดที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มคนจำนวนมากของประเทศนี้
อย่างไรก็ดี การชนไก่ กลับเป็นอีกเรื่อง ที่แทบจะแยกไม่ออก ระหว่างการเป็นกีฬาอิงการพนันที่คนไทยคุ้นชิน? เป็นศิลปวัฒนธรรม ? เป็นประเพณีนิยม ? หรือเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาแต่ครั้งโบราณ...
ตำนานการชนไก่ระหว่างพระนเรศวรมหาราช กับพระราชนัดดากรุงหงสาวดี
เพราะคนไทยรุ่นเก่านิยมเลี้ยงไก่ ไก่ชน มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ อาณาจักรศรีวิชัย*
ไก่ชนไทยนั้น ว่ากันว่า ได้รับการคัดเลือก ผสมพันธุ์ และพัฒนาพันธุ์ให้เป็นสุดยอดไก่ชน โดยเซียนไก่ชนรุ่นต่อรุ่น สืบมาไม่น้อยกว่า 500 ปี
เป็นความผูกพันที่มีกันยาวนานระหว่าง ไก่ชน กับคนไทยในทุกระดับชั้น จนถึงระดับชนชั้นกษัตริย์
หากใครเคยแวะไปสักการะอนุเสาวรีย์บูรพกษัตริย์บางพระองค์ หรือศาลพันท้ายนรสิงห์ ไม่ต้องสังเกตุ ก็จะพบว่า มีประชาชนนำรูปปั้นไก่ชนจำนวนมาก มาวางถวายบนบาน ตามความเชื่อในเรื่องราวไก่ชนที่เล่าสืบกันมา:
-"ไก่พ่อขุน" ไก่ชนประดู่หางดำพันธ์แสมดำ ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรด
-"ไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาว"จากบ้านกร่าง พิษณุโลกที่สมเด็จพระนเรศวรฯทรงโปรด
- “ไก่ประดู่หางดำ" ที่สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระเจ้าเสือ ทรงโปรด
-"ไก่พันธ์เทาทองหางขาว" ไก่ชนที่พระเจ้าตากสินทรงโปรด
- “ไก่เขียวพาลี" ไก่เขียวหางดำยอดนักสู้ของพระยาพิชัยดาบหัก
- ไก่ชนพม่า“สายพันธุ์แม่สะเรียง” ที่นิยมเลี้ยงในกลุ่มคนภาคเหนือ
- "ไก่พันธุ์โควิด19" อืม..แต่พันธ์ุนี้ ไม่น่าจะเป็นที่โปรดปรานของเซียนบ่อนไก่ เท่าไรนัก..
....................กวีธารา........................
*จากจดหมายเหตุนักเดินเรือชาวอาหรับ
กวีธารา เป็นร้านค้าแนวอนุรักษ์ขายโปสการ์ด&ถุงผ้า และรับทำถุงผ้า+screenโลโก้
ภาพลิขสิทธิ์ งาน Handmade อยู่ตลาดน้ำลัดมะยมโซน7 ตลิ่งชัน กทม
**ขณะนี้ ร้านปิด เนื่องจากภาวะโควิท**สนใจสั่งสั่งทำถุงผ้า Line ID 3514653
หรือซื้อถุงผ้าและโปสการ์ดแนวสวย ๆ ได้ที่ https://shopee.co.th/kwtara
มีบทความอื่น ๆ ที่ทางเรา กวีธารา ตั้งใจเขียน รวบรวมไว้และเนื้อหาน่าสนใจ ไม่แพ้กันเช่นกันนะคะ ติดตามได้ที่ https://www.blockdit.com/kaweetara
กวีธารา ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง
(1) ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการเรื่อง “การพนันรอบบ้าน : ปัญหาที่สังคมไทยไม่อาจมองข้าม”
-"ไก่พื้นเมืองไทย: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต" โดยบัญญัติ เหล่าไพบูลย์ และมนต์ชัย ดวงจินดา, KHON KAEN AGR. J. 40 : 309-312 (2012)
-"วิถีชีวิตคนเลี้ยงไก่ชนและการถ่ายทอดภูมิปัญญาการเลี้ยงไก่ชนบ้านดงแสนสุข หมู่ที่ 15 ตำบลไร่น้อย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี",อังศนา เสมอศรี1 จิตรกร โพธิ์งาม 2, หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
-"ตะลึงเงิน'พนันพื้นบ้าน'สะพัดนับแสนล้าน ทั้งไก่ชนเหนือ-วัวชนปักษ์ใต้-บั้งไฟอีสาน ชี้เลิกยาก-ขุมประโยชน์การเมือง-อิทธิพล" ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ 4 ก.ย. 2555
-ดุสิตโพล: ประชาชนคิดอย่างไร? กับ "การเปิดบ่อนชนไก่"
ช่วงเวลาในการสำรวจ: 23-26 มีนาคม 2540
กลุ่มตัวอย่าง: ประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวน 2,138 คน
(คนกรุงเทพฯ 1,236 คน 57.81%, คนต่างจังหวัด 902 คน 42.19%)
-"เปิดเสรีบ่อนไก่ชน ปฏิบัติการ(ภูมิใจ)ไทยเข้มแข็ง สังคมไทยฉิบหาย ช่างมัน "
: MGR Online ,3 ก.ย. 2552
-"พนันไก่ชน ความบันเทิงกีฬาพื้นบ้าน สู่การแทงไก่ชนออนไลน์" จิระพัตร
เจริญรัตน์ Dec 12, 2019
- นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2562
โฆษณา