11 ม.ค. 2021 เวลา 05:40 • ประวัติศาสตร์
Omega Moonwatch - ทำไมนาฬิกาจับเวลาแข่งรถ ถึงไปไกลถึงดวงจันทร์
หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียงของนาฬิกา Omega กันมาบ้าง และรุ่นที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดรุ่นหนึ่งก็คือ Speedmaster หรือที่มีคนเรียกเล่นๆกันว่า 'Moonwatch' ซึ่งต้นกำเนิดของนาฬิการุ่นนี้ สร้างมาเพื่อจับเวลาในการใช้แข่งรถ แล้วทำอย่างไร นาฬิการุ่นนี้ ถึงได้ไปไกลถึงดวงจันทร์
นาฬิกา Omeaga Speedmaster รุ่นที่ขายปัจจุบัน Ref. 311.30.42.30.01.006 ใช้เครื่อไขลาน กลไก 1863 ตัวเรือนและสายทำจาก stainless steel รูปจาก https://www.omegawatches.com/watch-omega-speedmaster-moonwatch-professional-chronograph-42-mm-31130423001006
ในช่วงปี 1962 NASA มีแผนทำภารกิจไปเหยียบดวงจันทร์ในโครงการ Apollo เครื่องมือต่างๆที่จำเป็นถูกเตรียมการณ์ให้พร้อมกับภารกิจนี้ หนึ่งในนั้นคือเครื่องมือที่ใช้ในการอ้างอิงเวลา และเป็นอุปกรณ์สำรองในการใช้จับเวลาในภารกิจในอวกาศ นั่นก็คือนาฬิกาจับเวลา (Chronograph watch)
ต้องท้าวความก่อนนิดนึงครับ ว่าในยุคนั้น ต่างกับสมัยนี้มาก ไม่มีการติดต่อสื่อสารไร้สาย ไม่มี smart watch หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลก็ยังไม่เกิดขึ้น นาฬิกาที่สวมใส่ในข้อมือกัน ก็มีเพียงนาฬิกากลไก นาฬิกาใช้ถ่านยังไม่ถือกำเนิดขึ้น ทุกอย่างเป็นกลไก เป็นเฟือง เป็นจักรที่หมุนขยับภายในเคสนาฬิกา
คุณ James H. Ragan เป็นผู้รับผิดชอบในการสรรหาอุปกรณ์สำคัญชิ้นนี้ โดยมีการร้องขอให้นาฬิกาแบรนด์ดัง 10 แบรนด์ส่งนาฬิกามาให้ โดยไม่ได้บอกว่าจะใช้ทำอะไร หรือจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร โดยมีนาฬิกาเพียง 4 แบรนด์ที่ตอบรับส่งนาฬิกามาเพื่อทำการทดสอบ ได้แก่ Omega Speedmaster, Rolex 6238 'Pre-Daytona', Longines-Wittnauer 242T และ Hamilton (แต่ Hamilton ส่งมาเป็นนาฬิกาพก - pocket watch ซึ่งทำให้ถูกตัดออกตั้งแต่ยังไม่เริ่มทดสอบ)
Rolex 6238 'Pre-Daytona' รูปจาก https://amsterdamvintagewatches.com/shop/rolex-pre-daytona-6238/
Longines-Wittnauer 242T รูปจาก https://www.gearpatrol.com/watches/a579680/this-chronograph-watch-almost-went-to-the-moon/
และแล้วชะตากรรมของนาฬิกาทั้ง 3 นั้น ก็ได้รับการเปิดเผย
คือนาฬิกาต้องผ่านการทดสอบอันสุดโหด 11 รายการ ถ้าไม่ผ่านรายการใดรายการหนึ่ง ก็จะถูกคัดออกจากภารกิจทันที ด่านทดสอบทั้ง 11 รายการ ได้แก่
1. High temperature: ทนทานในการทดสอบนาน 48 ชม.ที่อุณหภูมิ 71°C ตามด้วยการเพิ่มอุณหภูมินาน 30 นาทีที่อุณหภูมิ 93°C
2. Low temperature: ทดสอบในเวลา 4 ชม.ที่อุณหภูมิ -18°C
3. Temperature-Pressure: ทดสอบที่ความร้อน 71°C นาน 45 นาที ตามด้วยลดอุณหภูมิลงเหลือ -18°C นาน 45 นาที ที่ความดัน 10−6 บรรยากาศ (atm) ทำซ้ำไปมา 15 รอบ
4. Relative humidity: ทดสอบนาน 240 ชม.ที่อุณภูมิระหว่าง 20°C ถึง 71°C ที่ระดับความชื้นสัมพัทธ์อย่างน้อย 95%
5. Oxygen atmosphere: ทดสอบนาน 48 ชม.ที่บรรยากาศที่มีออกซิเจน 100% ที่ความดัน 0.35 atm
6. Shock: กระแทกด้วยแรงระดับ 40 G นานครั้งละ 11 ms ใน 6 ทิศทาง
7. Acceleration: เพิ่มความเร่งจาก 1 G ไปจนถึง 7.25 G ภายในเวลา 333 วินาที ในแกนที่ขนานกับแกนของยานอวกาศ
8. Decompression: ทดสอบ 90 นาทีของสภาวะสุญญากาศที่ความดัน 10-6 atm ที่อุณหภูมิ 71°C และนาน 30 นาที ที่อุณหภูมิ 93°C
9. High pressure: ทนแรงดัน 1.6 atm ได้อย่างน้อย 1 ชม.
10. Vibration: ทนแรงสั่นสะเทือน 5-2,000 Hz นาน 30 นาที ทดลองซ้ำ 3 รอบ
11. Acoustic noise: ทนเสียงระดับความดัง 130 db ในย่านความถี่ 40-10,000 Hz ได้นาน 30 นาที
แค่อ่านรายละเอียดการทดสอบยังจุกท้องแทนนาฬิกาเลยครับ คิดดูว่าในยุคนั้นนาฬิกาไหนกันที่จะทนทานผ่านด่านทดสอบสุดโหดขนาดนี้ได้ โดยที่ไม่ได้เตรียมการล่วงหน้ามาก่อนด้วย เป็นนาฬิกาที่ใช้วางขายในตลาดทั่วไป ไม่ใช่รุ่นทำพิเศษเพื่อเข้ามาทดสอบแบบนี้โดยเฉพาะ
และวันที่ 1 มีนาคม 1965 ก็มีการเผยผลการทดสอบสุดหินนี้ออกมา
Rolex หยุดเดิน 2 ครั้งระหว่างการทดสอบความชื้นสัมพัทธ์ และหยุดเดินครั้งหนึ่งระหว่างการทดสอบเรื่องอุณหภูมิ
Longines-Wittnauer สอบตกในด่านทดสอบอุณหภูมิและด่านสุญญากาศ
และผู้ชนะในการทดสอบสุดหินนี้ก็คือ Omega Speedmaster แต่ NASA ก็มีข้อแนะนำในการปรับปรุงคุณสมบัติบางอย่างให้ Omega ช่วยพัฒนาต่อให้ด้วย
รูปจาก https://www.gearpatrol.com/watches/a594621/50-year-anniversary-moon-landings-speedmaster/#:~:text=The%20NASA%20Watch%20Trials&text=Only%20four%20of%20the%20ten,not%20complying%20with%20NASA's%20specifications.
ปี 1969 Omega ก็ได้นำเสนอ Speedmaster รุ่นที่ได้รับการปรับปรุงมาแล้ว ซึ่งหน้าตาก็จะคล้ายมากๆกับรุ่นที่ยังวางขายจนถึงปัจจุบัน โดยมีรหัส Reference ST105.012 ซึ่ง Neil Armstrong ได้ใส่นาฬิกา Omega Speedmaster รุ่นนี้ ขึ้นไปพร้อมกับภารกิจเหยียบดวงจันทร์พร้อมยาน Apollo 11
อย่างที่เราทราบกันว่า Neil Armstrong เป็นคนแรกที่ประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ แต่นาฬิกาของเขาไม่ได้ติดตัวเขาลงไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นนาฬิกา Moonwatch เรือนแรกที่ลงแตะดวงจันทร์ จึงเป็นเรือนที่อยู่บนข้อมือของ Buzz Aldrin
รูป Buzz Aldrin ถ่ายโดย Neil Armstrong สังเกตข้อมือจะมีแถบสีดำๆอยู่ ก็คือสายนาฬิกา Moonwatch เรือนในตำนาน รูปจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Apollo_11
สายนาฬิกาแบบผ้ายาวๆ เพื่อพันข้อมือนอกชุดอวกาศได้ รูปจาก https://monochrome-watches.com/exclusive-truth-real-armstrong-aldrin-speedmaster-references-how-omega-speedmaster-became-moonwatch/
เรื่องราวของ Moonwatch ดูเหมือนจะลงเอยได้อย่างสวยสดงดงาม แต่มาสะดุดเล็กน้อยตรงนาฬิกาพระเอกที่ Buzz Aldrin ใส่ลงไปเหยียบดวงจันทร์นี้แหละ
The Only True Original 'Moonwatch' เรือนนี้กลับถูกขโมยไปอย่างไร้ร่องรอยในระหว่างการขนย้ายไปพิพิธภัณฑ์ Smithsonian ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 70 ฟังดูก็เป็นตลกร้ายน่าดูเลยที่นาฬิกาที่ Omega ภูมิใจนักหนา นาฬิกาเรือนแรกเรือนเดียวที่ได้สัมผัสบรรยากาศในอวกาศบนพื้นผิวดวงจันทร์ ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหนในตอนนี้
นี่ก็เป็นเรื่องราวของจุดเริ่มต้นของตำนานนาฬิกาเรือนแรกบนดวงจันทร์ ที่ Omega ใช้เป็นคำโฆษณาขายนาฬิกา Speedmaster หน้าตาแบบนี้อย่างต่อเนื่องมานานกว่า 60 ปี และก็น่าจะใช้เป็นจุดขายได้ไปอีกนานแสนนาน...
โฆษณา