14 ม.ค. 2021 เวลา 01:30 • กีฬา
รู้หรือไม่ : ในงานวิ่ง 1 งาน มี Pacer ได้กี่คน ?
เพื่อนๆ หลายคนที่เป็นนักวิ่งคงรู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า Pacer หรือ Pacemaker เป็นอย่างดี แต่ก่อนที่เราจะไปเข้าถึงเรื่องจำนวนของ Pacer ในแต่ละงานว่ามีได้เท่าไร เรามาทำความรู้จักกับคำว่า Pacemaker กันอีกซักครั้งก่อนดีกว่า
Pacer หรือ Pacemaker คือเหล่านักวิ่งที่ทำหน้าที่วิ่งตามเวลาและความเร็วที่ได้รับมอบหมายมา โดยจะควบคุมเวลาให้นิ่ง สม่ำเสมอ เปรียบเสมือนนาฬิกามนุษย์ภายในสนามแข่งขัน ส่วนคำที่นิยมใช้เรียกกันแพร่หลายทั่วโลกก็คือ Pacemaker ซึ่งทาง World Athletics เองก็ใช้คำนี้ด้วยเช่นกัน แต่ในบางสนามก็มีชื่อเรียกอื่น เช่น Pacesetter บ้าง Pace men บ้าง สำหรับในบ้านเรามักจะคุ้นเคยกันในชื่อ “Pacemaker” โดยก่อนหน้านี้มักจะพบบ่อยๆ ก็คือในการแข่งขันระยะมาราธอน และ ฮาล์ฟมาราธอน แต่ช่วงหลัง ๆ ที่ระยะที่มีนักวิ่งเป็นจำนวนมากอย่างระยะมินิมาราธอนเองก็เริ่มจะมีนักวิ่งกลุ่มนี้อยู่ด้วย
ลักษณะการวิ่งของ Pacemaker เป็นรูปแบบนาฬิกามนุษย์ที่วิ่งในเส้นทางตามเวลาที่กำหนดขึ้นมา โดยจะอิงจากเวลาที่ต้องการจะวิ่งให้เข้าเส้นชัย แล้วค่อยมากำหนดความเร็ว (pace) เพื่อให้ความเร็วในการวิ่งคงที่ และในแต่ละงานก็อาจจะพบเห็นว่ามีจำนวน Pacemaker ไม่เท่ากัน บางงานมี 3 คนบ้าง 5 คนบ้าง และอาจจะมีถึง 10 คนเลยก็มี แล้วจำนวนที่ถูกต้องตามกฎของ World Athletics นั้นมีได้กี่คนกันแน่?
ก่อนหน้านี้มีการกำหนดจำนวนของ Pacemaker ไว้ชัดเจน อ้างอิงจาก World Athletic Label Road Races - Regulations 2019 โดยจะมีหัวข้อหนึ่ง (Pacing) ที่พูดถึงเกี่ยวกับเหล่า Pacemaker ไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าร่วมประชุม pre-race technical meeting กับนักวิ่งอีลิทด้วย รวมถึงลักษณะการแต่งกาย, การติดบิบ และลักษณะของบิบที่ได้รับ ซึ่งในกฏดังกล่าวได้กำหนดไว้ว่า ...
.
“No more than three pacemakers may be engaged to run at any given pace.”
โดยใน 3 คนนี้จะแบ่งความรับผิดชอบคนละ 10 กิโลเมตร นั่นก็คือ Pace 1 สำหรับช่วงกม. แรกจนถึงกม. ที่ 10 จากนั้น Pace 2 ก็จะมารับช่วงถัดไปจนถึงกม. 20 จากนั้น Pace 3 ก็จะมารับต่อไปจนกม. 30 ซึ่งหลังจากกม. 30 เป็นต้นไปนั้น จะเป็นการวิ่งแบบไม่ต้องมี Pacer ไปอีก 12.195 กิโลเมตรจนถึงเส้นชัย (สำหรับระยะมาราธอน) โดยเหล่า Pacemaker นี้มักจะมีไว้สำหรับนักวิ่งอีลิทที่อยู่หัวแถวนั่นเอง เพื่อให้เหล่านักวิ่งอีลิทสามารถทำลายสถิติต่าง ๆ ดังที่ตั้งใจไว้ เช่น สถิติสนาม หรือ สถิติโลก เป็นต้น ซึ่ง Pacemaker ทั้งหลายจะมีการคัดเลือกมาเป็นอย่างดี อาจเป็นอดีตนักวิ่งฝีเท้าดีหรือดาวรุ่ง โดยเป็นการจัดเตรียมจากทางผู้จัดงานหรือการร้องขอจากตัวนักวิ่งอีลิทเองก็ได้ ซึ่งลักษณะการวิ่งก็จะวิ่งด้วย pace ที่คาดว่าจะทำลายสามารถสถิตินั้น ๆ ได้
ในบางครั้งก็มีบ้างที่เหล่า Pacemaker ไม่ยอมหยุดวิ่งเมื่อถึงระยะที่กำหนด ยังคงวิ่งต่อไปจนเข้าเส้นชัยจนได้เป็นผู้ชนะในที่สุด ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ยกตัวอย่างในกรณีของ Geoffrey Ronoh ชาวเคนย่า ที่เป็นเพื่อนร่วมซ้อมกับ Wilson Kipsang ผู้เป็นเจ้าของสถิติโลกระยะมาราธอนในขณะนั้น โดย Geoffrey Ronoh ได้ลงสนามทำหน้าที่เป็นตัวลากให้ Wilson Kipsang แต่สุดท้ายกลับพุ่งเข้าเส้นชัยซะเอง เฉือนเอาชนะ Wilson Kipsang ไป 8 วินาที ในงาน the fifth Mattoni Olomouc Half Marathon เมื่อปี 2014 ซึ่งสำหรับกรณีนี้ถือว่าทำผิดกติกาไหม อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้จัดการแข่งขันว่าได้วางกฎกติกาไว้อย่างไร แต่โดยปกติแล้วเหล่า Pacemaker มักจะลงทะเบียนเป็นผู้เข้าแข่งขันไว้อยู่แล้ว แต่อาจจะมีบางงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนเอาไว้ ถ้าหากเป็นกรณีหลังก็จะไม่ถือว่าเป็นนักกีฬาที่ลงแข่งขัน ถึงจะเป็นผู้ชนะก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับรางวัลในการแข่งขัน
สำหรับข้อกำหนดเรื่องจำนวนของ Pacemaker ในฉบับล่าสุดปี 2020 นั้น ทาง World Athletics ได้ถอดข้อความ “No more than three pacemakers may be engaged to run at any given pace.” ออกไปแล้ว จะเห็นได้ว่ากฎกติกาการแข่งขันจะมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ซึ่งกฎกติกาเหล่านี้ก็มักจะปรับเปลี่ยนเพื่อนำมาใช้กับนักวิ่งอีลิทเป็นหลัก ส่วนนักวิ่งทั่วไปนั้นการมีหรือไม่มี Pacemaker ไม่ได้มีการกำหนดกฎไว้ตายตัว คือ จะมีหรือไม่มีก็ได้ รวมถึงว่าไม่ได้มีการกำหนดจำนวนไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของผู้จัดการแข่งขันในแต่ละสนาม โดย Pacemaker ที่เชื่อถือได้จะต้องเป็น Pacemaker ที่ได้เตรียมไว้และผ่านการรับรองจากทางผู้จัดงานเท่านั้น หาก Pacemaker ไม่ได้มาจากผู้จัดงานอาจสร้างความสับสนให้กับนักวิ่งทั่วไปและอาจจะผิดกฏกติกาของสนามนั้นๆ ได้
สรุป คือ เดิมทีมีการกำหนดจำนวนไว้ชัดเจน และข้อกำหนดดังกล่าวมักจะนำไปใช้สำหรับนักวิ่งอีลิท แต่ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว ส่วนนักวิ่งทั่วไปทางผู้จัดงานก็สามารถจัดให้มี Pacemaker ได้
หวังว่าเพื่อนๆ นักวิ่งจะเข้าใจเกี่ยวกับ Pacemaker มากขึ้นนะ และเพื่อไม่ให้พลาดการติดตามข่าวสารข้อมูลในวงการวิ่งทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่าลืมกด ”ติดตาม” เพจ MICE Channel ไว้ด้วยนะ
#MICEChannel
ที่มา : worldathletics
โฆษณา