16 ม.ค. 2021 เวลา 04:40 • เกม

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตำแหน่ง Game Designer, Game Producer และ Game Tester

อ่านก่อน!! สมัครงานเกม
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตำแหน่ง Game Designer, Game Producer และ Game Tester
สวัสดีค่ะ โพสนี้เป็นโพสแรกของไมล์ใน Blockdit นะคะ ตัวไมล์เองมีประสบการณ์ทำงานบริษัทพัฒนาเกม เลยอยากมาเขียนบทความ แชร์ประสบการณ์ หรือความรู้ที่ได้เจอค่ะ
วันนี้เลยเริ่มจากตำแหน่ง Top hit ที่คนเข้าใจผิดกันเยอะมาก อย่าง Game Designer, Game Producer และ Game Tester ขนาดเพื่อนๆบริษัทอื่นมาตั้งกลุ่มเม้าส์มอยเรื่องนี้ได้เป็นวันๆเลยทีเดียว
1. Graphic Designer หรือ Artist สมัครมาเป็น Game Designer เยอะมาก เยอะแบบสุดๆไปเลย
ถึงมีคำว่า Designer เหมือนกัน แต่ Game Designer ไม่ได้ต้องการทักษะวาดรูปขนาดนั้นเลย ส่วนใหญ่จะยุ่งกับการวาง Mechanic เขียน flowchart ไม่ก็ยุ่งกับ Data ใน excel ซะ ถ้าวาดก็จะวาดเพื่อสื่อสารให้ทีมเข้าใจ เมื่อการเขียนด้วยตัวอักษรเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่การออกแบบทั้งหมดนั้นเพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจที่ทาง Game Producer แจ้งมามากกว่า (เงินๆทองๆทั้งนั้น)
ตัวอย่างการกำหนดและคำนวณค่าตัวละครใน Excel
ถ้าอยากสมัครมาจริงๆ อย่างที่บอกไปข้างต้นงานที่ทำส่วนใหญ่อยู่แต่ในเอกสาร เพราะฉะนั้นแนะนำโชว์พอร์ทที่เป็นด้านการทำเอกสารจะดีกว่า
โดยเอกสารที่รวมแนวคิด การออกแบบ mechanic การออกแบบ data ให้ตัวละคร หรือ อาวุธต่างๆ การกำหนด world theme จะเรียกกันว่า "เอกสารการออกแบบเกม Game Design Document" หรือที่เราเรียกกันย่อๆว่า GDD
ตัวอย่าง Game Design Document
หรือสำหรับคนเคยออกแบบ software สามารถโชว์มาได้เลย ว่า ทำไมถึงออกแบบฟีเจอร์นี้เพื่อตอบสนองต่อลูกค้า ใช้หลักการอย่างไรบ้างในการออกแบบ ทดสอบและวัดผลอย่างไร
หรือถ้าเน้นด้านการทำเงิน (Monetization) อาจจะบอกว่า software ที่เคยออกแบบ ทำเงินต่อคนขนาดไหน? (ARPDAU, ARPPU) คนจ่ายตังค์เยอะมั้ยเทียบเป็นกี่เปอร์เซน? (Conversion rate)คนเข้าใช้ต่อเนื่องมั้ย?(Retention) หรือว่าง่ายๆคือ Metrics ของ Software ที่เคยทำ เป็นตัวเลขวัดผลได้ชัดเจน แล้วคิดว่าเอาเรื่องนั้นมา adapt กับการออกแบบเกมยังไง
**Metrics ของ Game Analytics มาตรฐานที่ควรรู้**
ปล. ถ้ามีความรู้ด้าน programming ระดับนึงก็จะดี เพราะจะได้รู้ความเป็นไปได้ ของ idea ที่ตัวเองคิดขึ้นมาด้วยว่าทำได้จริงมั้ย?
1
2. Producer มาสมัคร Producer
งงอ่ะดิ คล้ายๆกับข้อบนนั่นล่ะ อันนี้ทางพวกเราและหลายๆที่เจอเลยคือ Producer สายโฆษณา อีเว้นท์ แอนิเมชั่น แม้แต่สายดนตรี ซึ่งบอกเลยว่า แทบจะไม่เหมือนกันเลย เพราะ Producer สาย Game ว่าง่ายๆ มันคือ Project Manager + Product Manager ที่เป็น software เกม ที่ต้องมีความรู้องค์รวมในการพัฒนาเกม และมีความเข้าใจด้าน trend อ่าน analytic ออก กำหนด KPI (พวกตัวย่อข้างบนช่วงอธิบาย Game Designer นั่นแหละ) ที่ต้องการจะปรับปรุง แล้วงานไม่ได้จบเป็นโปรเจคๆ หรือตอนๆไป เพราะต้องมีการ maintain อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่าง Analytic Dashboard ของเกม
นอกจากนั้น ยังต้องเป็นคน manage project คือคอยดูแลให้ release game ได้ตามเวลา (Time) ด้วย Quality เหมาะสมและ Budget ที่กำหนดไว้ นั่นรวมถึงการติดตามงาน การแก้ไขปัญหา การบริหาร resource การนำและ support ทีมให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วย
Hansoft เป็นซอฟแวร์ Task management อีกตัวที่นิยมใช้ สำหรับการ Track งาน
พูดถึงตำแหน่ง Game Producer เองนั้น เป็นตำแหน่งระดับค่อนข้างสูง จึงไม่เหมาะกับคนที่ต้องมานั่งเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานใหม่ทั้งหมด เช่นกัน ถ้าอยากข้ามสายมา แนะนำเริ่มด้วย Coordinator เพื่อศึกษาเรียนรู้วิธีการทำงาน workflow ของการพัฒนาเกมที่แตกต่างจากงานเดิม แล้วนำไปต่อยอดสู่ Game Producer ได้ในอนาคต ส่วนที่ใกล้เคียงจะข้ามมาได้สุด คือ พวก Product Manager หรือ Project Manager ฝั่ง Software ที่พร้อมเรียนรู้งานด้าน Game Production อาจจะสามารถเริ่มกับการเป็น Producer ได้เลย
ถ้าอยากอ่านเรื่องของ Producer เต็มๆ ไปอ่านต่อได้ที่
แต่ Game Tester ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเหมือนกัน เพราะหลายคนที่เป็น Producer ทุกวันนี้ก็เริ่มจากทาง Tester ซึ่งเราจะเล่าถัดไป
3. Streamer/ Gamer มาสมัครเป็น Game Tester
Game Tester กลุ่มหนึ่ง
ไม่ใช่ Streamer หรือ Gamer จะเป็น Game Tester ไม่ได้ แต่ Streamer หรือ Gamer ส่วนหนึ่งมักจะเข้าใจผิด ว่าแค่เล่นเกมเฉยๆ เลยส่งแต่ channel stream game มาสมัคร ทั้งที่ตำแหน่งนี้จริงๆควรมีความรู้ด้าน STLC บ้าง อย่างน้อยก็รู้ว่า test มีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น sanity test, stress test หรือ smoke test เป็นต้น
นอกจากนั้น การเทสเกมไม่ได้เล่น"เพื่อความสนุก" หรือดูประสบการณ์ที่ผู้เล่นจะได้รับเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องทดสอบเกมซ้ำๆรัวๆตาม Test case ยิ่งหาก Release ลงหลายๆ Platform เช่น ลงทั้ง PS5, Xbox, PC จำนวน Test case ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนตามไปด้วย Game Tester ต้องมีความรอบคอบอย่างมากอีกด้วย และอาจจะต้องอยู่กับเกมเดิมๆเป็นปีๆ หากเกมเป็นไปได้ด้วยดี เพราะฉะนั้นนะ บอกตรงๆเลย ไม่เหมาะสำหรับคนขี้เบื่อ
ตัวอย่าง Test case
นอกจากการเทสตาม Test case ข้างต้นแล้ว ยังมีการรายงานบั๊คหรือแจ้งบั๊คลงในระบบอีกด้วย และต้องคอยประสานงานกับทาง Dev รวมถึง ติดตามการแก้ไข และทดสอบซ้ำ
ตัวอย่าง JIRA เป็น software ยอดนิยมสำหรับการ Task management (รวมถึง Bug report และอื่นๆอีกด้วย)
อย่าเพิ่งตกใจไป!! ตำแหน่ง Game Tester เป็นแค่ตำแหน่งเริ่มต้น ในสายงาน QA เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นตัองเข้าใจทั้งหมดตั้งแต่แรก และในหลายๆที่ จึงยินดีรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ หรือเด็กจบใหม่เข้ามา แต่ถ้ามีความเข้าใจตำแหน่งงานและความรู้พวกนี้ นับเป็นข้อได้เปรียบที่ดีค่ะ
จบกันไปแล้วนะคะ หวังว่า ผู้อ่านคงพอมองเห็นภาพของงาน 3 ตำแหน่งนี้ได้ชัดเจนขึ้น หากต้องการพูดคุย หรือ หางานในสายงานเกม
สามารถเข้าลิงก์ด้านล่างได้เลยค่ะ 👇
กลุ่ม Thai Game Industry Career ของไมล์ลี่และผองเพื่อนนะคะ 💕 💕
บทความนี้เป็นบทความที่ไมล์ปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมจากบทความเดิมที่ไมล์เคยเขียนลงกลุ่ม TGIC เมื่อวันที่ 1/1/2020

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา