17 ม.ค. 2021 เวลา 10:07 • ประวัติศาสตร์
มุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์ก (Mustafa Kemal Atatürk): บิดาแห่งชาวเติร์ก
Mustafa Kemal Atatürk ภาพจากวิกิพีเดีย
ออกตัวก่อนว่า...ในระหว่างที่คิดอยู่ว่า...คนต่อไปจะเขียนถึงใครดีนั้น... ได้ไปอ่านบทความของ ซอลต์เบ (Salt Bae) เจ้าของร้านอาหารนูสเรต และท่าโรยเกลืออันโด่งดังของเขา เลยปิ๊งไอเดียว่า...เขียนถึง อะตาเติร์กดีกว่า....เผื่อจะได้มีคนรู้จักเค้ากันบ้าง เนื่องจากมีบทความเก่าๆที่เคยเขียนใว้ตอนป.ตรีอยู่นิดหน่อยแล้วด้วย....จึงเป็นที่มาของบุคคลสำคัญคนที่ 9 นี้ครับ ^^
ตุรกี ในความหมายของคนปัจจุบัน เป็นเพียง
ประเทศเล็ก ๆ ที่มีฐานะค่อนข้างยากจน ซุกตัวอยู่
ในโอบกอดของขุนเขาและที่ราบสูงบนคาบสมุทร
บอลข่าน ทางฝั่งตะวันออกของทวีปยุโรป เพิ่งจะมีอายุเพียงราวๆ 102 ปี
ภาพจากเว็บ Chuanteaw.com
แต่ตุรกีตามความหมายของคนในอดีตกลับกลายเป็นจักรวรรดิที่ทรงอำนาจอันยิ่งใหญ่น่าเกรงขามที่สุดจักรวรรดิหนึ่งของโลก เช่นเดียวกับจักรวรรดิอียิปต์ กรีก และโรมัน
ตุรกีในความหมายนั้นคือออตโตมานเติร์ก จักรวรรดิที่เป็นผู้พิชิตคาบสมุทรบอลข่าน ยุโรปตะวันออก เอเชียไมเนอร์ เมโสโปเตเมีย คาบสมุทรอาหรับ อัฟริกาตอนเหนือ และดินแดนภาคตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเอาไว้ในกำมือ
ภาพจาก http://history-on-timeline.blogspot.com/2013/12/blog-post_30.html
เชื่อกันว่า ก่อนที่ชนเผ่าเติร์กซึ่งมีถิ่นที่อยู่บริเวณแคว้นเตอรกีสถาน ภาคกลางของทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นดินแดนที่มีความแห้งแล้งทุรกันดารมากจะอพยพมาทาง
ตะวันตก และมีอำนาจเหนือดินแดนตุรกี ที่นี่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองซึ่งเป็นนักเกษตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมาก่อน เมื่อชนเผ่าเติร์กซึ่งเป็นชาตินักรบโจมตีอาณาจักรรัสเซียแล้ว ก็ยกทัพเร่ร่อนมายังลุ่มน้ำยูเฟรติส เข้าโจมตีเปอร์เซีย อิรัก และ ซีเรียจนราบคาบ จากนั้นก็จัดการยกเลิกตำแหน่งกาหลิบ ซึ่งเป็นตำแหน่งของประมุขฝ่ายศาสนาและปกครองของชาวมุสลิมในดินแดนนั้นลง พร้อมกับสถาปนาตำแหน่ง
สุลต่านขึ้นมาแทน
เป้าหมายต่อมาของกองทัพเติร์กก็คือที่ราบสูงอานาโตเลีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในดินแดนของประเทศตุรกี กองทัพเติร์กเข้ายึดกรุงเยรูซาเลม และทำสงครามกับชาวคริสเตียนเป็นเวลานานถึง 200 ปีอย่างที่ใคร ๆ เรียกกันว่า "สงครามครูเสด (Crusades)"
ภาพสงครามครูเสด จากเว็บ Angryskipper.org
ความยิ่งใหญ่ของชนเผ่าเติร์กเริ่มต้นขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 พอถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ก็สามารถแผ่ขยายให้ยิ่งใหญ่ และเกรียงไกรยิ่งขึ้น สุลต่านมูราดห์
เป็นผู้สถาปนาจักรวรรดิออตโตมานขึ้น โดยตั้งชื่อตามพระนามพระราชบิดาของพระองค์ คือ สุลต่านออตโตมาน
สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมานแผ่ขยายอำนาจและความยิ่งใหญ่ไพศาลออกไปเรื่อย ๆ โดยสามารถยึดกรุงคอนสแตนติโนเปิลอันเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันผู้เกรียงไกรได้ในเวลาต่อมา ความยิ่งใหญ่และร่ำรวยของจักรวรรดิออตโตมาน ทำให้สุลต่านองค์ต่อ ๆ มาไม่สนพระทัยที่จะใฝ่หาอาณาจักรเพิ่มขึ้น ซ้ำยังไม่ได้เหลียวแลกองทัพและทำนุบำรุงกองทหารให้มีความเข้มแข็งเช่นที่ผ่านมา คงมัวเมาอยู่แต่ความสุขสบาย ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยจึงทำให้ทรัพย์สมบัติร่อยหรอลง ประจวบกับชาติยุโรปต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาไปในทางสมัยใหม่ จึงทำให้มีฐานะเข้มแข็งและร่ำรวยขึ้นมาบ้าง
ภาพจาก http://historysaranaru.blogspot.com/2014/09/blog-post_21.html?m=1
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 จักรวรรดิออตโตมานก็เสื่อมอำนาจลง ถึงขนาดเป็นเหตุให้ซาร์นิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซียคิดจะยึดดินแดนต่าง ๆ ของออตโตมานเข้าเป็น
ของตน จึงทำให้เกิดการสู้รบกันขึ้น ขณะที่ออตโตมานทำท่าจะเพลี่ยงพล้ำนั้น อังกฤษก็เข้ามาแทรกทำให้รัสเซียต้องถอนทัพกลับ เพื่อตอบแทนบุญคุณอังกฤษครั้งนี้ออตโตมานต้องจำใจยกดินแดนที่เคยอยู่ในปกครองของตนในทวีปยุโรปแก่อังกฤษ
จักรวรรดิออตโตมานเสื่อมโทรมลงตามลำดับ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 สุลต่านออตโตมานมีความแค้นอังกฤษอยู่ในส่วนลึกมาก่อน จึงเข้าร่วมเป็น
พันธมิตรกับเยอรมัน ต่อมาเมื่อเยอรมันพ่ายแพ้ ออตโตมานจึงต้องแพ้ไปด้วย การพ่ายแพ้ครั้งนี้เอง ที่ถือเป็นจุดล่มสลายแห่งจักรวรรดิออตโตมานผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง เพราะต้องสูญเสียดินแดนส่วนที่เหลือคือ อียิปต์ ปาเลสไตน์ ทรานจอร์แดน อิรัก ซีเรีย เลบานอน ให้เป็นเอกราช เหลือเพียงกรุงคอนสแตนติโนเปิลกับบริเวณรอบ ๆ เท่านั้น
แต่ที่ถือเป็นวันสิ้นสุดแห่งจักรวรรดิออตโตมานอย่างแท้จริงคือวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ.1923 ซึ่งเป็นวันสถาปนาประเทศสาธารณรัฐตุรกีขึ้นมาอย่างเป็นทางการแทน ตั้งแต่วันนั้นมาอาณาจักรออตโตมานจึงเหลือเพียงชื่อและร่องรอยทางประวัติศาสตร์
โบราณคดีให้ผู้คนได้เรียนรู้และศึกษาถึงความรุ่งโรจน์และยิ่งใหญ่เท่านั้น
สำหรับบุคคลที่ทำให้ประเทศเล็ก ๆ ประเทศนี้ถือกำเนิดขึ้นมา พร้อม ๆ กับปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวเติร์กให้ก้าวมายืนทัดเทียมกับชาวโลกได้อย่างทันสมัย จนเป็นที่เคารพนับถือกันโดยทั่วไปในหมู่ชาวตุรกีมีชื่อว่า "มุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์ก"
ภาพจาก http://historysaranaru.blogspot.com/2014/09/blog-post_21.html?m=1
มุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์ก เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1881(พ.ศ.2424) ที่เมืองซาโลนิกา ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ในประเทศกรีซ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเทสซาโลกินี ในยุคที่ดินแดนส่วนนี้ยังอยู่ในปกครองของจักรวรรดิออตโตมาน พ่อของเขาเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรชั้นผู้น้อยที่ออกจากราชการมาเป็นประกอบอาชีพพ่อค้าไม้ในภายหลัง ส่วนปู่ของเขาเป็นครู
เดิมบิดาตั้งชื่อให้เขาว่ามุสตาฟา มีนิสัยเฉลียวฉลาดและเรียนดีมาตั้งแต่เด็ก แม้ว่าเมื่ออายุได้ 7 ปี บิดาของเขาจะถึงแก่กรรมลง แต่มุสตาฟาก็สามารถเรียนหนังสือต่อไปจนได้เข้าไปในศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหารประจำเมืองซาโลนิกา ที่โรงเรียนนี้
มีครูคนหนึ่งมีชื่อว่ามุสตาฟาเช่นกัน เพื่อป้องกันความสับสนครูคนนั้นจึงเติมชื่อมุสตาฟา ผู้เป็นลูกศิษย์เสียใหม่ว่า มุสตาฟา เคมาล ซึ่งมีความหมายว่ามุสตาฟาผู้สมบูรณ์แบบ
ต่อมามุสตาฟา เคมาลได้ย้ายไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นที่โรงเรียนนายทหารแห่งเมืองมานัสเตอร์ ซึ่งเป็นอีกเมืองหนึ่งในจักรวรรดิออตโตมาน ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อ
เป็นเมืองบีโดลา ของประเทศมาซิโดเนีย เมื่อจบแล้ว มุสตาฟา เคมาลได้ไปศึกษาต่อยังวิทยาลัยการทหารและการสงครามที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล อันเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิออตโตมาน ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอิสตันบูล
หลังจากได้ระดับยศนายร้อยเอก เขาได้เขารับราชการทหารประจำการอยู่ที่กองทัพที่ 5 แห่งเมืองดามัสกัส นายทหารหนุ่มมองความล้าหลังของออตโตมานแล้ว
รู้สึกไม่สบายใจ เขาแอบนึกคิดเอาไว้ว่า สักวันหนึ่งเขาจะต้องปฏิวัติออตโตมานให้เป็นดินแดนที่ทันสมัยให้ได้ ครั้งหนึ่งเขาสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมปฏิวัติ แต่ถูกทางการจับได้และลงโทษด้วยการคุมขัง แต่เพราะความดีความชอบที่ทำมาตลอด เขาจึงได้รับการอภัยโทษ
หลังจากประจำการได้ 5 ปี มุสตาฟา เคมาลได้ทำการรบกับกองทัพอิตาลีที่บุกเข้ามาเพื่อยึดแคว้นตริโปลี ซึ่งเป็นแคว้นในความปกครองของออตโตมาน ปัจจุบัน
เป็นเมืองหลวงของประเทศลิเบีย แต่เวลานั้นออตโตมานต้องเผชิญศึกสองหน้า คือ ต้องสู้รบกับประเทศต่าง ๆ ในคาบสมุทรบอลข่านที่แข็งข้อเพื่อเรียกร้องเอกราชด้วย จึงไม่อาจจะทำการรบจนมีชัยชนะได้ ในที่สุดก็ต้องยอมยกตริโปลีให้แก่อิตาลีไป
เคมาลและทหารของเขาในลิเบีย ภาพจาก Victorytale
นายทหารหนุ่มมุสตาฟา เคมาลยังได้รับคำสั่งให้มาประจำอยู่ในกองทัพด้านบอลข่านด้วย เขาทำการสู้รบกับกองกำลังของชาวบัลแกเรียถึงสองครั้งก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะระเบิดขึ้น พร้อมกับบ่ายเบนความสนใจในการรบของชาติต่าง ๆ เข้าสู่สงครามครั้งนี้
สุลต่านเมห์เม็ดที่ 6 แห่งออตโตมาน ตัดสินพระทัยนำกองทัพออตโตมานเข้าร่วมพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ มุสตาฟา เคมาสนำกำลังทหารทำการรบกับฝ่าย
สัมพันธมิตรจนไม่สามารถบุกเข้ายึดกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ ความดีความชอบนี้ ทำให้เขาได้รับเลื่อนยศขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลนำกำลังทหารเข้าสู้รบกับกองทัพอังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และสามารถรักษาสันเขาซารีอาบีร์เอาไว้ได้ การรักษาจุดยุทธศาสตร์นี้ไว้ทำให้ออตโตมานยังเป็นเจ้าของแหลมกัลลิโปลี ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของออตโตมานอีกส่วนหนึ่งไว้ได้ตลอดสงคราม
ภาพของสุลต่านเมห์เม็ดที่ 6 จากวิกิพีเดีย
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 นายพลมุสตาฟา เคมาลและกองกำลังของเขา ได้ทำการรบสำคัญ ๆ อีกหลายครั้ง โดยฝ่ายสัมพันธมิตรไม่สามารถเอาชนะได้ เช่น การรบที่แคว้นคอเคซัสและการรบที่ซีเรีย ซึ่งล้วนแต่เป็นการรบเพื่อปกครองดินแดนในปกครองของออตโตมานทั้งสิ้น
ท้ายที่สุด ฝ่ายอักษะก็พ่ายแพ้ สุลต่านเมห์เม็ดที่ 6 ยอมรับความปราชัยด้วยการออกคำสั่งให้นายพลมุสตาฟา เคมาลและแม่ทัพนายกองคนอื่น ๆ ปลดอาวุธ สำหรับเคมาลนั้นเขาได้รับมอบหมายเป็นพิเศษให้เดินทางไปยังแคว้นอะนาโตเลียเพื่อปลดอาวุธทหารประจำการที่นั่น
แม้จะรับราชการทหารจนได้รับตำแหน่งถึงนายพล แต่มุสตาฟา เคมาลก็หาได้ลืมความคิดเรื่องการปฏิวัติออตโตมานให้ทันสมัย ดังนั้นเมื่อได้รับคำสั่งให้เดินทางมา
ยังแคว้นอะนาโตเลีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี เขาก็หวลคิดกลับไปถึงการปฏิวัติขึ้นมาอีก จึงเริ่มต้นเคลื่อนไหวด้วยการรวบรวมชาวเติร์กรักชาติจำนวนหนึ่งที่มีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน กล่าวคือ ต้องการปฏิวัติการปกครองของสุลต่านที่สุดแสนล้าหลัง และเอาเปรียบลงเสีย จากนั้นก็สถาปนารัฐอิสระของชาวเติร์กขึ้นด้วยการปกครองแผนใหม่ที่เป็นไปตามแบบอย่างตะวันตกที่มีความเจริญแล้วทุกประการ
ข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวเติร์กผู้รักชาติ ภายใต้การนำของมุสตาฟา เคมาลกระจายไปตามที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ในที่สุดก็ล่วงรู้ถึงสุลต่านเมห์เม็ดที่ 6 พระองค์ทรงพิโรธมากเพราะการกระทำของเคมาลซึ่งถือเป็นนายทหารผู้ใหญ่ใกล้ชิดของกองทัพและสุลต่านครั้งนี้หมายถึงการก่อการกบฏ ดังนั้นจึงมีคำสั่งปลดเขาออกจากตำแหน่งทุกตำแหน่งที่มีอยู่ในรัฐบาลของพระองค์ทันที
สุลต่านเมห์เม็ดที่ 6 เข้าพระทัยว่า เมื่อมุสตาฟา เคมาลไร้ตำแหน่งหน้าที่แล้ว เขาก็คงไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อทำการปฏิวัติพระองค์ได้ แต่ผิดถนัด
แม้เขาจะต้องกลายเป็นพลเรือนผู้ไม่มียศศักดิ์แล้วก็ตาม เคมาลก็ยังมุ่งมั่นในอุดมการณ์เดิมของตนอยู่ เขาโหมรวบรวมสมาชิกชาตินิยมอย่างหนักจนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากนั้นก็กดดันรัฐบาลของสุลต่านให้จัดการเลือกตั้งขึ้น โดยตั้งศูนย์บัญชาการอยู่ที่
เมืองอังโกราซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอังการา เมืองหลวงของตุรกี
สมาชิกชาตินิยมเติร์กได้ประชุมกันพร้อมกับจัดตั้งสมัชชาใหญ่แห่งชาติและรัฐบาลตัวแทนของชาติขึ้น โดยมีมุสตาฟา เคมาลเป็นประธานสมัชชาและเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล การกระทำครั้งนี้สร้างความโกรธแค้นให้แก่สุลต่านมาก ถึงขนาดพิพากษาให้มุสตาฟา เคมาลถูกประหารชีวิต
ในช่วงเวลานี้กรีกได้ยกกองทัพมาขึ้นบกที่เมืองท่าสเมอร์นา เคมาลในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาลของสมัชชาแห่งชาติได้นำกำลังทหารไปขับไล่ จนทำให้เกิดเป็น
สงครามย่อย ๆ ขึ้น ในที่สุดเขาก็สามารถขับไล่ทหารกรีกกลับออกไปได้ สร้างความตื่นเต้นยินดีแก่ชาวเติร์กมาก ชัยชนะครั้งนี้นอกจากจะทำให้ประชาชนชาวตุรกียกย่องเคมาลเป็นกาซีหรือผู้พิชิต แล้วยังช่วยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรผ่อนผันให้แก่ตุรกีมากขึ้น
พลังศรัทธาของมหาชนชาวเติร์กหลั่งไหลมายังเคมาลอย่างมากมาย เป็นเหตุให้เขาสามารถประกาศยุบตำแหน่งสุลต่านลงได้อย่างง่ายดาย ซึ่งก็เท่ากับการปฏิวัติเขาสำเร็จลุล่วงลงด้วยดี สองปีต่อมามุสตาฟา เคมาลจึงได้ประกาศยุบตำแหน่งกาหลิบ ซึ่งสุลต่านเคยดำรงอยู่ และสถาปนาสาธาณรัฐตุรกีขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยตนเองดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ
สาธารณรัฐตุรกีจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่บัดนั้น เคมาลเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรให้รับรองประเทศตุรกี นอกจากนั้นยังเจรจาจนได้รับอธิปไตยกลับคืนมาได้ จากนั้นเขาก็เริ่มต้นปฏิรูปตุรกีตามแนวทางของตนไม่ว่าจะเป็นทางด้านการ
ปกครอง การศึกษา หรือแบบแผนความเป็นอยู่
ในด้านการปกครองนั้น แม้เคมาลจะยึดแนวทางการปกครองแบบเผด็จการ คือกำหนดให้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว และต้องเป็นพรรคการเมืองที่ให้การ
สนับสนุนรัฐบาล แต่ก็เน้นให้เกิดความกลมเกลียวกันระหว่างเอกชนและรัฐบาลเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ
เคมาลย้ายเมืองหลวงจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลซึ่งเขาได้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็นอิสตันบูล มายังเมืองอังโกรา ซึ่งเขาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอังการา แยกสถาบันศาสนา ออกจากสถาบันการปกครอง และเปลี่ยนมาใช้ประมวลกฎหมายตามแบบตะวันตก แทนกฎหมายศาสนาที่สุลต่านเคยใช้มาในอดีต ปรับเปลี่ยนประเพณีบางอย่างที่ขัดต่อความเจริญก้าวหน้า เช่น อนุญาตให้ประชาชนชาวตุรกีแต่งกายตามแบบตะวันตกได้ และให้สิทธิสตรีเท่าเทียมบุรุษ
ในด้านการศึกษาเคมาลได้ปฏิรูปการศึกษาของตุรกีใหม่หมด โดยเริ่มที่เปลี่ยนตัวอักษรราชการจากตัวอักษรแบบอาหรับมาเป็นแบบโรมัน ในการนี้เคมาลถึงกับลงทุนแสดงปาฐกถาและสอนการใช้ตัวอักษรโรมันด้วยตัวเอง การเปลี่ยนมาใช้อักษรโรมันที่ง่ายกว่าอักษรอาหรับทำให้อัตราการอ่านออกเขียนได้ของชาวตุรกีขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังมีการเรียนวิชาการแผนใหม่เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ต่าง ๆ แทนเรื่องราวทางศาสนาที่เคยมีมาแต่โบราณ
เคมาลเปลี่ยนรูปแบบมาใช้ตัวอักษรโรมัน
มีการใช้นามสกุลเป็นครั้งแรกในตุรกี สำหรับตัวเขาเอได้นามสกุลจากประชาชนเป็นผู้ตั้งให้ว่า "อะตาเติร์ก" ซึ่งแปลว่า บิดาของชาวเติร์ก ดังนั้นนับตั้งแต่นั้นมาเขาจึงชักชวนให้ประชาชนของเขาใช้ชื่อและนามสกุลอย่างถาวรสืบต่อมาจนปัจจุบัน
มุสตาฟา เคมาล อะตาเติร์กเป็นบิดาของชาวเติร์กสมัยใหม่อย่างแท้จริง เขาสร้างประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศตะวันตกในทุกด้านทุกทาง ไม่ว่า
จะเป็นเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือศิลปวัฒนธรรม หลังจากปกครองประชาชนชาวตุรกี อีกประมาณ 14 ปี เขาก็อำลาชีวิตไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ.1938
ที่วังโดลมาบาห์เช เมืองอิสตันบูล ขณะที่มีอายุเพียง 57 ปี
สุสานอะตาเติร์ก ที่กรุงแองการา ภาพจาก The Traveller
ด้วยความเคารพรักในบิดาแห่งชาวเติร์ก ประชาชนของเขาได้สร้างสุสานที่กรุงอังการา เพื่อเป็นที่ฝังศพและพิพิธภัณฑ์ ที่นี่นอกจากจะมีรูปและรูปปั้นของเขาแล้วยังมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและจดจำในความยิ่งใหญ่ของผู้ได้รับสมญาว่า "บิดาแห่งชาวตุรกีผู้นี้" ตราบนานเท่านาน...
#PassiveDeathWish
#รบชนฮซหคชห

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา