21 พ.ย. 2020 เวลา 03:46 • ประวัติศาสตร์
ดักลาส แมคอาเธอร์ (Douglas McArthur): อเมริกันที่ญี่ปุ่นยกให้เป็นโชกุน
รุ่งอรุณกรุงโตเกียววันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1951(พ.ศ.2494) ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากมายมหาศาลที่เดินทางมาจากที่ต่าง ๆ โดยไม่สนใจกับอากาศที่หนาวเย็นจับขั้วหัวใจ ทั้งที่ย่างฤดูใบไม้ผลิซึ่งควรจะอบอุ่นได้แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้มีฝนตกใหญ่นำลงมาก่อน จากนั้นก็พรำเม็ดเรื่อยๆมาจนข้ามวันข้ามคืน และทันทีที่ฝนหยุด ความหนาวอันร้ายกาจก็เข้ามาแทนที่ อากาศวิปริตเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่มันเคยเกิดมา
ก่อนหน้านี้แล้วหลายหน จนผู้เฒ่าผู้แก่พากันกล่าวว่า มันคือลางร้าย
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เข้าใจความหมายของมันดี และพวกเขาก็รู้ว่าการมารวมกันอยู่ ณ ลานอันกว้างใหญ่เบื้องหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ 3 วันก่อน หรือนับแต่ฝนเม็ดแรกตกลงมาจากท้องฟ้า ก็คือผลของความวิปริตแห่งฤดูกาลที่ก้าวเข้ามาเยือนพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง
ในจำนวนคนที่มาเบียดเสียดเยียดยัดกันเหล่านี้ มีไม่น้อยเลยที่รอนแรมเดินทางมาด้วยระยะทางอันยาวไกล บางคนมาพร้อมกับถุงนอนและเสบียงอาหาร ขณะที่บางคนต้องอาศัยก่อไฟขับไล่ความหนาวเหน็บที่ถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรงในเวลากลางคืน จำนวนค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งลานกว้างใหญ่ดูแคบเล็กลงไปถนัดตา และทำให้ชาวญี่ปุ่นอีกจำนวนมากมายไม่สามารถผ่านรั้วเข้ามาได้
กระนั้นทุกคนก็ยืนอยู่ด้วยความสงบ น้ำใจและความรักของพวกเขาที่มีต่อบุคคลเดียวกันทำให้กลายเป็นความสามัคคีอันยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะบาดหมางกันด้วย
เรื่องของการแก่งแย่งช่วงชิงพื้นที่และโอกาสที่จะได้เข้าไปใกล้ตัวอาคารสถานทูตให้มากที่สุด หัวใจทุกคนจดจ่ออยู่กับการรอคอยคนที่เขารักและนับถือจะก้าวออกมา
ไม่เพียงแต่ที่ลานหน้าสถานทูตอเมริกาในกรุงโตเกียวเท่านั้นที่เงียบงันไปด้วยอาการสงบ ชาวญี่ปุ่น 83 ล้านคนในทั่วทุกพื้นที่ของญี่ปุ่นต่างก็พากันเศร้าสลดกับเหตุการณ์นี้ไปด้วย พวกที่ไม่สามารถเข้าถึงลานหน้าสถานทูตอเมริกันได้ก็พากันมายืนเป็นแนวแน่นขนัดไปตลอดสองฟากถนน ในมือของพวกเขาซึ่งมีทั้งคนหนุ่มสาวคนแก่และเด็ก ๆ ถือธงชาติญี่ปุ่นและธงชาติอเมริกาโบกสะบัดอยู่ตลอดเวลา เสียงเพลงซาโยนาระซึ่งมีความหมายถึงการจากลาด้วยความอาลัยอาวรณ์จากปากของคนเหล่านั้นดังกระหึ่มกึกก้องขึ้นมาตั้งแต่ดวงอาทิตย์ยังไม่ส่องแสง
ยิ่งเวลาผ่านไป จำนวนคนยิ่งทวีมากขึ้นจนดูเหมือนมดเหมือนปลวก กระทั่งเวลา 06.29 น. รถไครสเลอร์เก๋งสีดำสนิทคันหนึ่งก็ค่อยเคลื่อนมาเทียบที่บันไดตึก
สถานทูต ร่างในเครื่องแบบทหารอเมริกันประดับยศนายพลเอกพร้อมด้วยภรรยาและลูกชายก้าวออกมาและเดินตรงขึ้นรถ นาทีต่อมาเก๋งดำสนิทกันนั้นก็เคลื่อนช้า ๆ ออกจากสถานทูตที่เนื่องแน่นไปด้วยชาวญี่ปุ่น
เสียงร้องตะโกนพร้อม ๆ กันของชาวญี่ปุ่นที่ยืนอยู่ตลอดทางที่รถแล่นผ่าน “ขอบคุณ ลาก่อน” สลับเสียงเพลงซาโยนาระทึกก้องยิ่งขึ้น นายพลอเมริกันยกมือคำนับ ขณะที่ภรรยาของเขาใช้ผ้าเช็ดหน้าสีขาวโบกสะบัดเป็นการอำลา
นี่คือการลาจากของเขานายพลห้าดาวผู้เหยียบย่างขึ้นมาบนผืนแผ่นดินแห่งดอกซากุระในฐานะผู้ยึดครองจากประเทศผู้ได้รับชัยชนะแห่งสงคราม ซึ่งเป็นพวกที่
ชาวญี่ปุ่นโกรธแค้นและพยาบาทอย่างรุนแรง ถึงขนาดต้องอพยพหนีไปจากเมืองโตเกียวและโยโกฮามาซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งทำการของกองทหารผู้ยึดครองเหล่านี้ก่อนที่อเมริกันจะเดินทางเข้ามา แต่เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็ได้พิสูจน์ตัวเองให้ชาวญี่ปุ่นประจักษ์ว่า มิใช่ยักษ์มารอย่างที่เข้าใจ ซ้ำยังกลายเป็นคนสำคัญที่ช่วยเหลือให้ญี่ปุ่นพลิกฟื้นขึ้นมาจากความบอบช้ำของสงครามได้ในเวลาอันรวดเร็ว เขาช่วยให้คนญี่ปุ่นหลังสงครามรอดพ้นจากภาวะอดตายและยังทำอะไรอีกหลายอย่างที่ประทับและตราตรึงเข้าไปในจิตใจของประชาชนญี่ปุ่น จนเกิดความรู้สึกรักและนับถือขึ้นมาอย่างจริงจัง ทำให้ลืมความรู้สึกว่าเคยเป็นคู่สงครามหรือศัตรูตัวร้ายกาจไปอย่างหมดสิ้น
5 ปีของการอยู่ที่ญี่ปุ่นของนายพลอเมริกันผู้นี้มีค่าใหญ่หลวงต่อชาวญี่ปุ่น ทำให้พวกเขาลืมความเป็นอเมริกันไปเสียหมดสิ้น ซ้ำยังรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยอย่างแนบแน่นเสียจนกล้าที่จะยกย่องให้เขาเป็นโชกุนคนหนึ่งของพวกตน
นายพลอเมริกันแต่ไปสร้างความยิ่งใหญ่ในญี่ปุ่นจนได้รับการเล่าขานสืบต่อมาจนทุกวันนี้มีชื่อว่า พลเอกดักลาส แมคอาเธอร์ (General of the Army Douglas MacArthur)
ดักลาส แมคอาเธอร์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1880 (พ.ศ.2423) ที่ลิตเติล รอค มลรัฐอาร์คันซอ ซึ่งเป็นรัฐที่ติดกับแม่น้ำมิสซิสซิปปี เส้นเลือดใหญ่สายสำคัญของสหรัฐอเมริกา (Little Rock, Arkansas, U.S.)
เขาเกิดในตระกูลนายทหารคนสำคัญของอเมริกา โดยมีเชื้อสายมาจากขุนนางชั้นสูงของอังกฤษ ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งรกรากในทวีปนี้ บิดาของเขาเป็นผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งของอเมริกามีชื่อว่า นายพลอาร์เธอร์ แมคอาร์เธอร์ (Arthur MacArthur) ซึ่งได้รับเหรียญกิตติมศักดิ์ ในการรบอย่างกล้าหาญจนได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองสหรัฐอเมริกา สงครามระหว่างสหรัฐกับสเปน และสงครามกบฏในฟิลิปปินส์ จึงนับได้ว่าเขาเกิดมาจากสายเลือดอันเข้มข้นของนายทหารโดยแท้
ดักลาส แมคอาร์เธอร์ เป็นคนเฉลียวฉลาดและเรียนหนังสือเก่งมาก หลังจากจบชั้นมัธยมแล้วเขาก็เข้าเรียนต่อในโรงเรียนนายทหารเวสท์ปอยต์ (The United States Military Academy at West Point) และสามารถทำคะแนนสูงสุดจนได้รับเกียรตินิยม
แมคอาร์เธอร์เป็นคนมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงและขี้ใจน้อย กระนั้นเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นจอมทรหดในการทำงานหนักและยืดเยื้อคนหนึ่งทีเดียว หลังจากเรียนจบจากเวสท์ปอยต์เขาก็ถูกส่งตัวไปประจำการที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา
พออายุ 38 ปี นายทหารหนุ่มแมคอาร์เธอร์ถูกเรียกตัวเข้าประจำการในฝรั่งเศส และสามารถนำหน่วยของเขาชนะข้าศึกได้อย่างงดงาม จนสิ้นสงครามในปี ค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) เขาจึงได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายทหารเวสท์ปอยต์
ในปีท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเวสท์ปอยต์นี้เองที่เขาได้รู้จักกับ สุภาพสตรีผู้หนึ่งมีชื่อว่า หลุยส์ ครอมเวลล์บรูคส์ (Louise Cromwell Brooks) และได้แต่งงานกันเมื่อปี ค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) นั่นเอง แต่เวลาของการอยู่ร่วมกันกับภรรยาของแมคอาเธอร์มีไม่มากนัก 7 ปีต่อมา (ค.ศ.1929, พ.ศ.2472) ทั้งคู่ก็มีอันต้องแยกทางกัน โดยที่ยังไม่มีบุตร
หลังจากที่เขาได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับไปยังฟิลิปปินส์อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเขาได้เป็นประธานเสนาธิการทหารบก จัดเป็นนายพลที่หนุ่มและปราดเปรื่องที่สุดในเวลานั้น ประมาณ ค.ศ. 1935 (พ.ศ.2478) แมคอาร์เธอร์ได้รับคำสั่งให้สร้างฐานทัพที่ฟิลิปปินส์ เขาก็ได้เลือกนายทหารรุ่นน้องที่มีความเฉลียวฉลาดและสามารถในการวางแผนรบได้อย่างยอดเยี่ยจากกระทรวงการสงคราม ซึ่งต่อมาได้เป็นแม่ทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรปและเป็นวีรบุรุษคนสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สามารถพิชิตกองทัพอันเกรียงไกรของนาซีให้สงบลงได้เพื่อไปเป็นผู้ช่วย นายทหารหนุ่มผู้นั้นก็คือ ดไวท์ ดี ไอเซนฮาวน์ (Dwight D. Eisenhower) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกา
ในระหว่างที่ไอเซนฮาวน์ทำหน้าที่ผู้ช่วยอยู่ในฟิลิปปินส์นั้น แมคอาร์เธอร์ซึ่งมองเห็นความสามารถอันเหนือชั้นของผู้ช่วยของเขา และมองเห็นภัยอันร้ายแรงของสงครามที่อาจก่อตัวขึ้นในเอเชียแปซิฟิกซึ่งเกิดจากญี่ปุ่น จึงขอให้วางแผนสงครามเอาไว้ให้ ซึ่งแผนการณ์นี้ต่อมาเป็นประโยชน์แก่กองทัพสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง
2 ปีต่อมา นับจากทำหน้าที่ผู้บัญชาการฐานทัพสหรัฐอเมริกาประจำฟิลิปปินส์ ดักลาส แมคอาร์เธอร์ได้พบรักกับสตรีผู้เลอโฉมชื่อ จีน แฟร์โคลท (Jean Faircloth) และได้แต่งงานกัน เธอให้กำเนิดบุตรชายชื่ออาร์เธอร์แก่เขาในปีต่อมา
แมคอาร์เธอร์ทำหน้าที่ผู้บัญชาการฐานทัพฟิลิปปินส์เรื่อยมาจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น ญี่ปุ่นส่งกองเรือรบโจมตีฐานทัพเรือที่อ่าวเพิร์ล จากนั้นก็เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วตรงมายังฐานทัพอื่น ๆ ของอเมริกา รวมทั้งฟิลิปปินส์ด้วย
กว่าแมคอาร์เธอร์จะได้รับคำเตือนจากรัฐบาลว่าสงครามกำลังจะเกิด เครื่องบินญี่ปุ่นก็เข้าโจมตีฐานทัพอากาศในกรุงมะนิลาเสียแล้ว แมคอาร์เธอร์พยายามอย่างหนักที่จะหยุดการบุกของกองทัพญี่ปุ่น แต่ก็ไม่สามารถทำได้ดีนัก ในที่สุดเขาก็ได้รับอนุญาต
จากประธานาธิบดีรุสเวลท์ (Theodore Roosevelt) ให้ถอนกำลังออกจากฟิลิปปินส์ ก่อนจากฐานทัพที่เขาสร้างมากับมือแมคอาร์เธอร์ลั่นวาจาเอาไว้ว่า "ฉันจะกลับมา!!!"
แล้วเขาก็กลับมาจริง ๆ พร้อมด้วยตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตรในมหาสมุทรแปซิฟิก แมคอาร์เธอร์นำหน้านายทหารของเขาออกตรวจและบัญชาการรบอย่างใกล้ชิดจนสามารถยึดฟิลิปปินส์กลับคืนมาได้
หลังสงครามสงบลงโดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายยอมแพ้ สหรัฐอเมริกาก็เข้ายึดครองญี่ปุ่น โดยออกคำสั่งให้แมคอาร์เธอร์เป็นผู้รับผิดชอบในตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของญี่ปุ่น เขานำทหารยกพลขึ้นบกที่สนามบินใกล้กรุงโตเกียวท่ามกลางสายตาอันเต็มไปด้วยความไม่เป็นมิตรของประชาชนญี่ปุ่น เล่ากันในหมู่คนเก่าคนแก่ของญี่ปุ่นที่ได้พบเห็นวันเวลาเหล่านั้นว่า แมคอาร์เธอร์ จะพำนักอยู่ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐในกรุงโตเกียว โดยจะขึ้นรถยนต์ที่มีคนขับไปยังที่ทำงานในตึกไดอิจิหน้าพระราชวังตรงเวลาทุกวัน และจะกลับบ้านตรงตามเวลาทุกวันด้วย ไม่มีใครเคยเห็นเขาออกนอกเส้นทางตลอดเวลากว่า 5 ปีที่อยู่ในญี่ปุ่น
2-3 ปีแรกของการทำงานในญี่ปุ่น เขาทุ่มเทความสนใจทั้งหมดให้กับการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องความอดอยาก เขาทำเรื่องให้สหรัฐ ลำเลียงอาหารมาให้ชาวญี่ปุ่นอยู่นานจนสามารถรอดพ้นภาวะร้ายแรงไปได้ จนกระทั่ง
หนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นสดุดีเขาว่าเป็นผู้ช่วยให้ชาวญี่ปุ่นรอดจากการอดตาย
เขายังได้วางรากฐานการศึกษา การทำงาน กฎหมาย และการป้องกันชาติให้แก่ญี่ปุ่น จนคนญี่ปุ่นในวลานั้นชื่นชอบเขามากถึงขนาดยกย่องว่าเป็นโชกุนโตกุกาวา
กลับมาเกิด ความรู้สึกของผู้ถูกยึดครองที่มีแต่ความเกลียดชังผู้เข้ามายึดครองก็เปลี่ยนเป็นนับถือศรัทธา
ดักลาส แมคอาร์เธอร์ ทำหน้าที่ผู้บัญชาการสูงสุดประจำญี่ปุ่นอยู่ประมาณ 5 ปีเศษก็เกิดสงครามเกาหลี ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเข้าไปร่วมรบด้วย ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดเอเชียแปซิฟิก แมคอาร์เธอร์เข้าบัญชาการรบครั้งนี้ แต่เกิดความเห็นขัดแย้งกับประธานาธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมน (Harry S. Truman) ในเรื่องแผนการรบ เขาจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งทุกตำแหน่งรวมทั้งตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดประจำญี่ปุ่น และจะต้องเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาทันทีที่ส่งมอบงานให้แก่ผู้บัญชาการสูงสุดคนใหม่
สิ่งนี้สร้างความเศร้าโศกและเสียใจให้แก่ชาวญี่ปุ่นในเวลานั้นมาก เพราะพวกเขามีความรักและผูกพันกับแมคอาร์เธอร์ประหนึ่งพ่อกับลูกทีเดียว ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า นอกจากจะมีประชาชนชาวญี่ปุ่นมาส่งแมคอาร์เธอร์อย่างเนืองแน่นแล้ว ยังมีบรรดานายทหาร คณะรัฐมนตรี ทูต และข้าราชการมาร่วมด้วยอีกมากมาย หมดจากแถวประชาชนที่เบียดเสียดเยียดยัดตลอดสองฟากถนนก็มีทหารและตำรวจญี่ปุ่นมาตั้งแถวเรียงรายตลอดระยะทาง 8 ไมล์ สู่สนามบินฮาเนดะ สิ่งที่เป็นเกียรติสูงสุดของนายทหารใหญ่ผู้นี้ก็คือ มีผู้แทนจากสมเด็จพระจักรพรรดิมาส่งเขาด้วย สำนักข่าว ยู.พีรายงานไปทั่วโลกว่า มีประชาชนมาส่ง แมคอาร์เธอร์ ในวันนี้ถึง 500,000 คน และหากอากาศไม่หนาวอย่างทารุณเช่นนี้ คาดว่าอาจจะมีประชาชนมามากกว่า 1,000,000 คน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาวญี่ปุ่นที่แสดงต่อคนต่างชาติอย่างยิ่งใหญ่เช่นนี้
แมคอาร์เธอร์เดินทางกลับมาถึงฮอนโนลูลูในวันจันทร์ที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1951(พ.ศ.) และมาถึงซานฟรานซิสโกในวันพุธต่อมา นับเป็นครั้งแรกใน 14 ปีของชีวิตที่เขาไม่ได้กลับมาเหยียบแผ่นดินเกิดของเขาเลย
เล่ากันว่ามีคนกว่า 300,000 คนมาต้อนรับเขาที่นี่ และเมื่อแมคอาร์เธอร์เดินทางต่อไปยังนิวยอร์ค ก็มีคนเดินขบวนต้อนรับเขาถึง 800,000 คน ต้องใช้วงดนตรี
ร่วมขบวนถึง 10 วง และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างผ่านพ้นไป เจ้าหน้าที่เก็บกระดาษสีชนิดต่าง ๆ ที่ประชาชนนำมาทอดโปรยต้อนรับเขาได้ถึง 720 ตัน สามารถนำไปพิมพ์
หนังสือได้ประมาณ 5,000,000 เล่ม!!!
นับเป็นความยิ่งใหญ่อย่างหาผู้ใดเปรียบเทียบได้ยาก!!!
ดักลาส แมคอาร์เธอร์ใช้เวลาช่วงท้ายของชีวิตกับการเล่นกีฬาที่ชื่นชอบโดยอาศัยอยู่ในนครนิวยอร์คร่วมกับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก ใช้เวลาส่วนหนึ่งกับการบรรยายให้สาธารณชนก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) ขณะที่มีอายุได้ 84 ปี
#PassiveDeathWish
#รบชนฮซหคชห

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา