20 ม.ค. 2021 เวลา 07:30 • สุขภาพ
เช็ก 2 โรคที่มาจาก "ความผิดหวัง" มีผลกระทบต่อร่างกาย แนะวิธีป้องกัน
- เช็กลิสต์สัญญาณเตือน "โรคซึมเศร้า"
- สาเหตุที่อาจทำให้เป็น "โรคหัวใจสลาย"
1
- วิธีรับมือกับความผิดหวัง
2
ความผิดหวัง ความล้มเหลว การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย โดยสิ่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกเจ็บปวด ทุกข์ทรมานใจ และมักส่งผลกระทบทางลบต่อการดำเนินชีวิตในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะสุขภาพจิต และก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายได้ ทั้งนี้ กนก จะพาไปรู้จัก "โรคซึมเศร้า" และ "โรคหัวใจสลาย" ที่มีต้นตอมาจากความผิดหวังด้วยเช่นกัน
4
:: โรคซึมเศร้า (Depression)
หนึ่งในโรคที่ทำให้คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โรคซึมเศร้า ปรากฏเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจำนวนมาก โดยโรคซึมเศร้า คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าโรคซึมเศร้าเป็นเพียงอาการ หรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จึงคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เช่น ภาวะเศรษฐกิจการเงิน ความผิดหวัง ความสัมพันธ์ ความรัก ความสูญเสีย ฯลฯ และจะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ
2
แต่เมื่อไรก็ตามที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่ "ภาวะซึมเศร้า" และคิดทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายได้
ทั้งนี้ ทางการแพทย์ระบุว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน, นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย
สำหรับอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า, หดหู่, ซึม, เบื่อหน่าย, หงุดหงิด, ฉุนเฉียว, อ่อนไหวง่าย, ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย, รู้สึกสิ้นหวัง, ดูถูกตนเอง, อาจมีอาการวิตกกังวล, เครียด, ไม่อยากทำอะไร, ไม่อยากอาหาร, นอนไม่หลับ, เหนื่อยล้า, อ่อนเพลีย, หมดแรง, ขาดความมั่นใจในตัวเอง, รู้สึกหมดหวัง และร้ายแรงที่สุดคือมีความคิดอยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย
1
ส่วนวิธีการรักษาโรคซึมเศร้า เริ่มจากแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยว่า เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยจะเริ่มต้นจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และระดับความรุนแรง ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กินอยู่ รวมถึงประวัติครอบครัว ทั้งนี้แพทย์จะประเมินอาการร่วมกับบุคลิกภาพที่สังเกตได้ และให้ทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ก่อนจะนำผลมาประเมินว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรักษาด้วยยา และการรักษาทางจิตใจ
:: การรักษาด้วยยา
การใช้ยาแก้เศร้า เนื่องจากโรคซึมเศร้าสาเหตุที่พบเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้นการให้ยาแก้เศร้าเพื่อไปปรับสมดุลสารเคมีในสมองจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ยาแก้เศร้าช่วยบรรเทาอาการเศร้า ทานยาจนรู้สึกดีขึ้น และเมื่อดีขึ้นแล้วควรทานยาต่อไปอีก 6-12 เดือน เพื่อป้องกันอาการกลับมาเป็นซ้ำอีก ดังนั้นแม้จะรู้สึกสบายดีก็ยังต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง
1
:: การรักษาทางจิตใจ
มีวิธีรักษาทางจิตใจอยู่หลายรูปแบบ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจเป็นการพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจตนเอง สาเหตุที่ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ ซึมเศร้า เข้าใจปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมในที่สุด
1
:: หัวใจสลาย (Broken Heart Syndrome)
คือภาวะเจ็บหน้าอกกะทันหัน ร่วมกับหายใจลำบาก คล้ายอาการของหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกิดจากการเผชิญสถานการณ์เครียดจัดอย่างทันทีทันใด เช่น การสูญเสียคนรัก การบาดเจ็บสาหัส หรือการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งทำให้หัวใจสูญเสียการทำงานชั่วคราว และเกิดขึ้นได้หลายนาที หรือเป็นชั่วโมง
1
อาการของโรคหัวใจสลายที่พบได้บ่อยคือ เจ็บหน้าอกรุนแรงกะทันหัน คล้ายอาการของภาวะหัวใจขาดเลือด นานหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง หน้ามืด ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก อาการของหัวใจสลาย จะไม่สามารถแยกโรคออกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ จนกว่าจะได้รับการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งในผู้ป่วยที่แพทย์สงสัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนั้นมีประมาณ 1% ที่เป็นโรคหัวใจจากความเครียด
1
ขณะที่ประมาณ 90% ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิง และ 80% เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ช่วงอายุที่พบบ่อย 58-77 ปี ใครที่อกหักแล้วรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่ควรเศร้าหรือร้องไห้ฟูมฟายนาน เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคซึมเศร้าจนอาจคิดสั้นได้
สำหรับวิธีการรักษาโรคนี้นั้น โดยปกติอาการของหัวใจสลายจะเกิดขึ้นชั่วคราว และค่อยๆ หายไปได้เอง การรักษาโดยทั่วไปจะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง โดยให้ยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว ยาขับปัสสาวะ ยาควบคุมการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ ในบางรายที่อาการรุนแรงมากมีภาวะหายใจล้มเหลวด้วย อาจจะต้องใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1-4 สัปดาห์ นอกจากการให้ยา หรือเครื่องมือรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว ยังจำเป็นที่ต้องรักษาภาวะเครียดที่เป็นต้นเหตุของภาวะหัวใจสลายควบคู่กัน
:: วิธีรับมือกับความผิดหวัง
- ยอมรับความผิดหวัง
ความผิดหวังเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ และไม่มีใครที่ไม่เคยรู้สึกผิดหวัง ซึ่งการยอมรับความผิดหวังอาจช่วยลดความเจ็บปวด และช่วยให้รับมือกับความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้นครั้งต่อไปได้ดีขึ้น
- หยุดตั้งคำถาม
การโทษตัวเองและตั้งคำถามในทางลบกับตัวเอง จะยิ่งบั่นทอนจิตใจและตอกย้ำถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นไม่ควรปล่อยให้ตนเองจมอยู่กับความรู้สึกผิดหวังมากเกินไป พยายามทำใจให้สงบ รวบรวมสติ และหยุดตั้งคำถามให้เร็วที่สุด
- เบี่ยงเบนความสนใจ
เพื่อลดโอกาสที่จะหวนไปรู้สึกผิดหวัง ดังนั้นการหากิจกรรม งานอดิเรกทำในยามว่าง หรือในช่วงที่เกิดความคิด ความรู้สึกในทางลบ อาจช่วยให้ฟื้นฟูจากความผิดหวังได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมที่ให้พลังทางบวก อย่างการเป็นอาสาสมัครในงานต่างๆ หรือทำสาธารณประโยชน์
- ก้าวไปข้างหน้า
การตั้งเป้าหมายใหม่ๆ โดยเริ่มต้นด้วยเป้าหมายที่สามารถทำสำเร็จได้ง่ายๆ และทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือการหาบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจ อาจเป็นคนใกล้ตัว อย่างคนในครอบครัว เพื่อน หรือจะเป็นผู้มีชื่อเสียงที่เป็นบุคคลต้นแบบให้ใครหลายคน ก็มักจะช่วยให้ก้าวข้ามผ่านความผิดหวังได้ง่ายขึ้นเช่นกัน.
ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ
กราฟิก : Supassara Traiyansuwan, sathit chuephanngam
👇 อ่านบทความต้นฉบับ👇
โฆษณา