19 ม.ค. 2021 เวลา 23:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Deep Tech Startup
ที่เป็นมากกว่า Startup
1
Deep Tech Startup
ในการทำ Startup แต่เดิมเติบโตมาจากการจับคู่ไอเดียแปลกใหม่เข้ากับเทคโนโลยีที่มีอยู่ทั่วไปที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เกิดเป็นธุรกิจที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ไม่เหมือนใครในตลาด เช่น บริการขนส่งครบวงจรที่เรียกใช้งานผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ เป็นต้น
แต่ปัญหาในระยะยาวของ Startup ในรูปแบบนี้คือ การไม่มีจุดแข็ง เกิดคู่แข่งที่สามารถเลียนแบบและพัฒนาระบบได้ดีกว่าในระยะเวลาอันสั้น ทั้งยังเข้ามาแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างรวดเร็ว จนหลายครั้งก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับคลื่นลูกใหม่ที่เข้ามาจากการที่คิดกลยุทธ์ใหม่ขึ้นเพื่อโต้ตอบได้ไม่สำเร็จ
1
Startup หลายรายจึงเริ่มมองหาทางออกในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่ง 1 ในนั้นก็คือ Deep Tech นั่นเอง
Deep Tech (Deep Technology) หรือเทคโนโลยีขั้นสูง คือ ผลลัพธ์ที่ได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร ลอกเลียนแบบได้ยาก และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีสิทธิบัตรคุ้มครองเพราะผ่านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมอย่างยาวนาน
ตัวอย่าง Deep Tech ที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ AlphaGo ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เรียนรู้ด้วยการเก็บข้อมูลจากการเล่นเกมโกะ (กระดานหมากล้อม) กับมนุษย์แล้วประมวลผลข้อมูลจนเข้าใจกติกา และพัฒนาแนวการเล่นขึ้นเรื่อย ๆ จนเอาชนะแชมป์โกะระดับโลกได้สำเร็จ
ความซับซ้อนของ AlphaGo นี้เองที่เป็นจุดแข็งที่คู่แข่งลอกเลียนแบบได้ยาก ผลลัพธ์อันน่าทึ่งนี้เกิดขึ้นด้วยแรงกระตุ้นจากประเด็นใหญ่ระดับมหภาคที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน การขาดแคลนพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เป็นต้น
Deep Tech Startup ถือเป็น Startup ที่ก้าวไปอีกขั้น ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นของใหม่ ซับซ้อน คู่แข่งน้อย มีความได้เปรียบทางธุรกิจในระยะยาว ปัจจุบันมี Deep Tech Startup เกิดขึ้น 8 ประเภท ได้แก่
1
1. Artificial Intelligence (AI) :
ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาให้ฉลาด รู้จักวิเคราะห์ ประมวลข้อมูล วางแผน และตัดสินใจได้ เช่น ระบบค้นหาและจองสายการบินของ Sky Scanner ระบบจดจำเสียงและใบหน้าบนสมาร์ทโฟน
2. Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) :
AR เป็นเทคโนโลยีที่ผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง เช่น เกม Pokemon GO หรือคิวอาร์โค้ดสำหรับแสกนเป็นภาพ 3 มิติในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะต่างจาก VR ที่เป็นการจำลองโลกจริงในโลกเสมือน (Simulation) โดยอาศัยแว่น VR เป็นตัวช่วย เช่น เกม PlayStation VR
3. Internet of Things (IoT) :
การเชื่อมโยงทุกอย่างสู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้อุปกรณ์เชื่อมต่อและสั่งการได้ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น การเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า การตั้งค่าให้เซ็นเซอร์วัดระดับน้ำส่งสัญญาณเตือนเข้ามือถือคนในชุมชนเมื่อระดับน้ำขึ้นสูง
4. Blockchain :
เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูล เป็นโครงข่ายไร้ศูนย์กลาง เชื่อถือได้ ชุดข้อมูลจะตรงกันทุกชุด สามารถตรวจสอบและป้องกันการแก้ไขข้อมูลได้ นำมาใช้ประโยชน์ในการทำสัญญาที่ทุกคนจะเห็นต้นฉบับตรงกัน
5. Biotech :
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับระบบชีวภาพ เช่น การสร้างกระดูกเทียมผ่านการพิมพ์สามมิติด้วยไทเทเนียมของ Meticuly บริษัท Startup ของไทย
 
6. Robotics :
วิทยาการหุ่นยนต์ที่นำมาใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น YOMI หุ่นยนต์ทันตกรรม Atlas หุ่นยนต์ขนของกู้ภัย
7. Energy :
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับระบบพลังงาน เช่น แบตเตอรีลิเธียมแอร์ (Lithium-air Battery) ที่ดึงออกซิเจนรอบตัวมาใช้ ทำให้ใช้งานได้นานขึ้น การใช้อัลกอริธึ่มอัจฉริยะควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารแบบเรียลไทม์ ลดการใช้พลังงานได้สูงสุดถึงร้อยละ 40
2
8. Spacetech :
เทคโนโลยีอวกาศ เช่น เทคโนโลยีส่งข้อมูลหรือติดต่อสื่อสารระหว่างโลกและอากาศยาน การสำรวจนอกโลก การวิเคราะห์ข้อมูลวัตถุอวกาศ
#สาระจี๊ดจี๊ด
การที่ไทยตื่นตัวเรื่อง Deep Tech Startup นั้นถือเป็นเรื่องดี แต่การสนับสนุน และเตรียมความพร้อมจากภาครัฐอย่างเต็มที่ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นในระยะยาว
ตอบโจทย์โมเดลไทยแลนด์ 4.0 ด้วยนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมอย่างครบวงจร เพื่อให้ตัว Startup นักวิจัย นักลงทุน และฝ่ายอื่น ๆ ได้มีพื้นที่ร่วมกันผลักดันให้ Deep Tech Startup เติบโตอย่างยั่งยืน
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
แหล่งที่มา:
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา