22 ม.ค. 2021 เวลา 08:30 • ธุรกิจ
หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น ผลกระทบธุรกิจเกี่ยวกับคนตาย ยุคโควิด-19
- ธุรกิจเกี่ยวกับงานศพ ความตายที่เลือกไม่ได้ ผลกระทบในยุคโควิด-19
- งานศพแบบ New Normal
- เจ้าภาพจัดงานงานศพ รัดเข็มขัด ตัดรายจ่ายไม่จำเป็น
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 หลายอาชีพต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก เจ้าของธุรกิจหลายแห่งประกาศปรับลด
พนักงานเพื่อลดรายจ่าย กระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ หลายธุรกิจที่กำลังทรุดหนักอยู่แล้ว ก็ถึงวิกฤติขั้นสุด ทำให้ต้องปิดกิจการ กระทบทั้งคนงานและเจ้าของกิจการ กลายเป็นคนตกงานชั่วข้ามคืน
:: โควิด-19 กระทบอาชีพเกี่ยวกับคนตาย
แต่ก็ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่หลายคนมองว่า คงไม่ได้รับผลกระทบ นั่นก็คือ ธุรกิจเกี่ยวกับความตาย เพราะมีคนเสียชีวิตทุกวัน แต่จะพูดว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เลย คงไม่ถูกนัก เพราะเจ้าของกิจการพูดเองว่า ได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่อาจจะไม่มากเท่ากับธุรกิจอื่น
จากการพูดคุยกับ นายประสาท เค้าหม่อง หรือ หนานสารท อายุ 59 ปี เจ้าของร้าน "พิณพาทย์มาลัยทอง" ใน อ.เมืองแพร่ เจ้าของสโลแกน "หายใจไม่ออก บอกหนานสารท" ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับความตายครบวงจร เปิดเผยว่า ธุรกิจของตนเองเริ่มตั้งแต่รับศพผู้เสียชีวิตจากโรงพยาบาลฟรี แต่ต้องซื้อชุดจัดงานขาว-ดำ ทั้งโลงศพ ดอกไม้ บ้านน้อย ฟืนเผาศพ และปี่พาทย์ รวมไปถึงบริการสัปเหร่อ หากเจ้าภาพต้องการ
ก่อนหน้านี้เมื่อมีการจัดงานศพ ลูกค้าจะใช้บริการ โลงศพ ดอกไม้ บ้านน้อย วงปี่พาทย์ ของสำหรับถวายวัด และโลงเย็น แต่หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 สิ่งที่ลดน้อยลงก็คือ ลูกค้าจะจัดงานศพเพียงไม่กี่คืน เช่น จาก 5-6 คืน เหลือเพียง 2-3 คืนก็เผา สิ่งที่ตามมา คือ รายได้จากการเช่า "โลงเย็น" ลดลง ที่เคยว่าจ้างวงปี่พาทย์มาบรรเลงในงาน ก็เปลี่ยนมาใช้เครื่องเสียงแทน
ส่วนของ "โลงศพ" ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้บรรจุศพ ซึ่งโลงศพมีหลายแบบ หลายลวดลาย ในแต่ละภาคจะใช้ไม่เหมือนกัน เช่น ภาคเหนือจะนิยมใช้ไม้สัก ภาคกลางจะใช้ไม้อัดพ่นสี
นายประสาท กล่าวต่อว่า รายได้จากงานศพไม่แน่นอน ไม่มีฤดูกาล เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้คนที่ตกงานจากที่อื่น ไม่มีงานทำ เห็นโอกาสก็หันมาทำธุรกิจนี้ ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เฉพาะในตัวอำเภอเมืองแพร่ มีร้านขายโลงศพมาเปิดเพิ่ม รวมประมาณ 5 แห่ง ลูกค้าก็เกลี่ยๆ กันไป ไม่กระจุกตัวเหมือนก่อน เวลาสินค้าราคาแพงขึ้น ทำให้เราไม่กล้าขึ้นราคา เพราะกลัวจะไม่มีลูกค้า กำไรที่เคยได้เท่านี้ ก็ลดลงไปด้วย แต่ก็อาศัยว่าพอมีงานเรื่อยๆ พอเลี้ยงดูแลลูกน้องได้ก็พอ
ในส่วนของลูกจ้าง เมื่อถามว่าปลดคนออกไหม นายประสาท เปิดเผยว่า ร้านของตนจ้างงานเป็นรายชิ้น ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย เมื่อมีคนมาสั่งทำบ้านน้อย ก็ให้ค่าจ้างเป็นหลัง หรือวงปี่พาทย์จะให้ค่าจ้างเป็นงานไป หากตนได้รับผลกระทบ ลูกจ้างก็จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
"คนที่ซื้อโลงศพจากร้านไปบริจาค ยังคงมี แต่น้อยลง ส่วนใหญ่เมื่อซื้อจากร้านไปแล้วจะนำไปทำพิธีกับพระ จากนั้นจึงนำไปบริจาคให้กับมูลนิธิต่อไป"
:: งานศพในยุค New Normal
อีกหนึ่งสิ่งในการจัดงานศพที่เปลี่ยนไป คือ เรื่องของอาหารในงานศพ เมื่อก่อนจะมีการรวมตัวทำกับข้าว เลี้ยงแขกที่มาร่วมงานศพ แต่ปัจจุบัน เจ้าภาพจะเปลี่ยนไปใช้การสั่งอาหารแบบกล่องแทน นอกจากจะต้องเว้นระยะห่างเพราะโรคโควิด-19 แล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ยิ่งสั่งหลายกล่อง ราคาต่อกล่องก็จะยิ่งถูกลง
เช่น ข้าวกล่อง 40 บาท เมื่อสั่งครั้งละมากๆ ก็จะเหลือกล่องละ 30 กว่าบาท.
ผู้เขียน : J. Mashare
👇 อ่านบทความต้นฉบับ👇
โฆษณา