23 ม.ค. 2021 เวลา 11:30 • ธุรกิจ
LVD97: ทักษะโค้ชชิ่งในที่ทำงานที่ทำได้ทันที (Coaching Series #2)
สวัสดีครับทุกท่าน สำหรับบทความวันนี้ ผมจะมาชวนคุยต่อกับซีรีย์โค้ชชิ่งยังไงให้ได้ผลในชีวิตการทำงาน ตอนที่แล้วเราทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับโค้ชชิ่ง ว่ามันคืออะไรและต่างกับการสอนปกติยังไงไปแล้ว ตอนนี้เราก็จะเริ่มเอา mindset แบบโค้ชมาใช้ในที่ทำงานจริงๆ ถ้าท่านเป็นหัวหน้างานไม่ว่ามือใหม่หรือมือเก๋า บทความนี้ก็น่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าท่านเป็นผู้ปฎิบัติท่านก็จะเข้าใจวิธีการสื่อสารแบบโค้ชในบริบทที่ทำงานได้ดียิ่งขึ้นครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
ก่อนที่เราจะคุยในวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องจากตอนที่แล้วที่เราพูดคุยกันว่าการโค้ชทีมงานที่ดีต้องมีพื้นฐานมาจากความเชื่อมั่น ยอมรับ และไว้วางใจ ในศักยภาพของทีมงาน และพยายามใช้ขั้นตอนการโค้ชชิ่งในการดึงศักยภาพของทีมงานออกมา ไม่ใช่การลงไปทำเอง โดยวันนี้จะเน้นขั้นตอนที่เป็นทักษะโค้ชในทางปฎิบัติ แต่ในความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า การโค้ชในที่ทำงานต่างกับการโค้ชทั่วไปเล็กน้อย คือ การโค้ชในที่ทำงานโดยหัวหน้างาน ต้องสร้างความรู้สึกเป็นทีม และทำไปด้วยกันได้ด้วย ผมเอาเนื้อส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ Coaching เทคนิคกระตุ้นทีมจนสำเร็จ ของคุณ Honma Masato และมาผสมผสานกับความรู้ด้านการโค้ชและประสบการณ์การทำงานของตัวผมเองจนกลมกล่อมเป็น 3 ขั้นตอนการโค้ชของหัวหน้างานที่ทำได้เลย ลองตามมาครับ
ขั้นตอนที่ 1 เตรียมพร้อมก่อนการโค้ช
การโค้ชคือ การดึงศักยภาพของโค้ชชี่ออกมา ดังนั้นในขั้นตอนแรกๆของการโค้ช เราต้องเตรียมความพร้อมให้โค้ชชี่ก่อน ด้วยการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้โค้ชชี่พร้อมที่จะเปิดรับการโค้ชด้วยความไว้วางใจ
1.1 เริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
อย่างแรกเราต้องเตรียมสภาพแวดล้อมที่ดี ตั้งแต่สถานที่ที่เหมาะสมไม่เสียงดังเกินไป และเป็นส่วนตัว แต่คำว่าสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ใช่หมายถึงแค่สถานที่นะครับ มันรวมถึงการสื่อสารถึงโค้ชชี่ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มเปิดรับ ควรหลีกเลี่ยงภาษากายที่แสดงถึงความปิดรับความเห็น เช่น การนั่งกอดอก เอนไปข้างหลัง เป็นต้น เรื่องตำแหน่งการนั่งก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรนั่งตรงข้ามกันเพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนนั่งประจันหน้า แต่ควรนั่งทำมุม 90 หรือ 120 องศาจะดีกว่า
1.2 ฟังอย่างตั้งใจ
การฟัง ถือ เป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สุดของการโค้ช นอกจากการฟังจะทำให้เราได้ข้อมูลแล้ว แต่ในช่วงแรกของการพูดคุย การฟังยังเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้างสายสัมพันธ์ในการสนทนาด้วย “การฟังอย่างตั้งใจ” ซึ่งต่างจากการได้ยินอย่างมาก การได้ยินคือ เราได้ยินแต่ไม่จำเป็นต้องตั้งใจ แต่การฟังอย่างตั้งใจเราต้องใช้ใจและหูฟัง วัตถุประสงค์การฟัง ไม่ใช่แค่การรับสารเพื่อความเข้าใจ แต่เป็นทำให้ผู้พูดทราบว่ากำลังถูกเข้าใจด้วย และความรู้สึกนี้จะทำให้ทีมที่คุยเรื่องต่างๆให้เราฟังเกิดความไว้วางใจมากขึ้น นอกจากตั้งใจฟัง การใช้เสียงตอบรับหรือภาษากายอย่างการพยักหน้าก็ช่วยได้มาก และเมื่อเริ่มต้นด้วยการฟังที่ดี บรรยากาศการสนทนาก็จะดีขึ้นอย่างมากเลยละครับ
ขั้นตอนที่ 2 ดึงศักยภาพระหว่างการโค้ช
เมื่อเตรียมความพร้อมด้วยการสร้างบรรยากาศและความไว้ใจแล้ว ต่อมาเราก็จะเริ่มพูดคุย โดยต้องการพูดคุยเพื่อดึงศักยภาพของทีมเราออกมา ผ่านการถาม ชม และติ ดังนี้
2.1 ทักษาการถาม
การถามถือเป็นทักษะหลักของการโค้ช ที่ทำให้เราสามารถดึงเอาข้อมูล ไอเดีย วิธีแก้ปัญหา จนไปถึงเรียกไฟในการทำงานของทีมเราได้ หลักการถามที่ดีต้องเริ่มที่วัตถุประสงค์ ที่ต้องเป็นการถามเพื่อให้ทีมคิดและดึงให้ทีมสามารถหาคำตอบได้ ไม่ใช่การคาดคั้นเพื่อหาคำตอบได้ เพราะการคาดคั้นเพื่อหาคำตอบ สิ่งที่เราจะได้จากทีมคือ ความเงียบและคำขอโทษ (ส่วนใหญ่คุณแทบจะรู้คำตอบอยู่แล้ว)
เมื่อสามารถตั้งวัตถุประสงค์ได้แล้ว ต่อมาคือการตั้ง Mindset ของการถาม การถามที่ดีต้องแยก “คน” ออกจาก “การกระทำ” เช่น หากการกระทำบางอย่างของทีมมีข้อผิดพลาด สิ่งที่เราต้องการคือ สาเหตุที่ผิดพลาด แต่อย่ามุ่งเป้าไปที่ใครผิดพลาด เปลี่ยนคำถามจาก “ทำไมคุณทำไม่ได้เป้าหมาย” เป็น “อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาด” จะช่วยพาทีมให้ช่วยกันหาคำตอบได้ดีขึ้น
นอกจากนี้การถามที่ดีควรถามแบบปลายเปิด คำถามแบบ Yes/No มักจะทำให้บทสนทนาติดขัด เปิดด้วยคำถามที่ชวนแสดงความคิดเห็น จะช่วยให้ทีมค้นหาความคิดภายในออกมาได้มากกว่า
2.3 ทักษะการชมและติ
การชมไม่ใช่การยอ เพราะชมต้องมีพื้นฐานจากความจริง แต่การยอไม่จำเป็นต้องมาจากความจริงหรือไม่ก็เป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้ การยอจึงอาจทำให้ทีมรู้สึกว่าเราไม่จริงใจ การชมที่ดีต้องจับต้องได้ จึงควรบอกรายละเอียดว่างานนั้นๆดีตรงไหน ช่วยอะไร และชมจากใจ เพราะการชมแบบนี้ทีมจะทราบว่าเราจริงใจ และยังทราบชัดเจนว่าอะไรที่ทำแล้วดีต่อทีมภาพรวมบ้าง
เช่นเดียวกับ การติก็ต้องไม่ใช่การโกรธ การติหรือดุทีมงานทำได้ แต่ต้องตัดอารมณ์ออก และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน คือ ติเพื่อให้ทีมรู้เป้าหมายว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร ไม่ใช่ติหรือดุเพื่อระบายอารมณ์ ติดเพือก่อต้องบอกด้วยว่าต้องการอะไรครับ
ขั้นตอนที่ 3 สร้างพลังหลังการโค้ช
หลังการพูดคุยผ่านการถาม ชม ติ เป้าหมายของเราและทีมน่าจะเห็นภาพเดียวกันแล้ว หลังจากนั้นหน้าที่ของหัวหน้า คือ การส่งให้ทีมหรือโค้ชชี่ สามารถมีกำลังไปทำตามเป้าหมายต่อ โดยพลังงานที่ดีที่สุดของคน คือการได้รับความยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหัวหน้างาน
3.1 ให้กำลังใจ
เป้าหมายหลักของการให้กำลังใจ คือ สร้างความคิด “เราทำได้” ให้เกิดขึ้นร่วมกัน ถ้ามองให้ลึกมันคือการให้ทีมรู้สึกถึงความเป็นไปได้ รู้สึกมั่นคง รู้สึกเป็นทีม และกระตุ้นพลังใจ การให้กำลังใจควรพูดระบุตัวคนด้วย เพื่อให้ทีมรับรู้ถึงการยอมรับในระดับบุคคล
3.2 ขอบคุณ
ขอบคุณช่วยให้บรรยากาศการคุยดีขึ้นเสมอ ขอบคุณที่ดีควรระบุถึงการกระทำด้วย จะเป็นการตอกย้ำให้ทีมเข้าใจว่าอะไรดีทำให้ได้รับคำขอบคุณ และยังช่วยตัวหัวหน้าให้ไวต่อการสังเกตข้อดีจากการกระทำจริงๆด้วย
ทั้งสามขั้นตอนนี้ ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการโค้ช เป็นเทคนิคที่ไม่ได้ยากหรือใหม่ แต่เป็นเรื่องของรายละเอียดของการตั้งเป้าหมาย Mindset ในการใช้งานจริง จะยังมีรายละเอียดอีกมากที่เราจะเรียนรู้จากการทำจริง เพราะคนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เริ่มจากวิธีคิดแล้วก็ลงมือทำเพื่อเรียนรู้ไปพร้อมกับ Process ครับ ผมเองก็ทำแบบนี้ เรียนรู้ แก้ไข สะท้อนกลับ ไปเรื่อยๆ รับรองว่าอย่างน้อยทีมก็จะเห็นความพยายามของคุณและบางทีคุณจะได้ความร่วมมือมาเองเป็นของแถมด้วยครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
ฝากก่อนจบเหมือนเดินครับ สำหรับท่านสนใจศาสตร์ของการโค้ช หรืออยากลองรับการโค้ช สามารถติดต่อผมได้ผ่าน inbox ครับ เพื่อรับการโค้ชจากผมโดยตรงเป็นเวลา 1 ชั่วโมงตามหลักการและจรรยาบรรณการโค้ชที่เป็นสากล โดยมีค่าใช้จ่ายที่ 199 บาทต่อครั้ง (รายได้ทั้งหมดหักค่าใช้จ่ายจะใช้เพื่อการกุศลทั้งหมด)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา