25 ม.ค. 2021 เวลา 10:05 • ไลฟ์สไตล์
5. มนุษย์ รับรู้กลิ่นได้ด้วยการจำ
อัลแฟกทอรีบัลบ์ Olfactory Bulb
นักดมกลิ่น นักปรุงน้ำหอม นักชิมไวน์ นักชิมกาแฟ พวกเขามีความสามารถจำกลิ่นต่างๆได้มากมายเป็นร้อยเป็นพันกลิ่นได้อย่างไร ในจมูกของพวกเขานั้นมีอะไรพิเศษกว่าคนทั่วไปหรือเปล่าวลองมาหาคำตอบกัน
เมื่อเราสูดดมกลิ่นเข้าทางจมูกนั้น กลิ่น จะถูกแปลงเป็นรหัสสัญญานไฟฟ้าอย่างอ่อนๆแล้วส่งไปที่เส้นประสาทเพื่อส่งต่อไปยังสมองให้แปลความหมายออกมา ว่านั่นคือกลิ่นอะไร ซึ่งก็อาจจะมีทั้งแปลได้และไม่ได้หรือแปลผิดไปก็มี เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับหลายๆคน คุณคงจะเคยดมกลิ่นของบางอย่างแล้วนึกไม่ออกว่าเป็นกลิ่นอะไร หรือไม่สามารถอธิบายด้วยคำพูดได้ว่ากลิ่นนั้นเป็นอย่างไรใช่ไหมเป็นเรื่องธรรมดามาก
การรับรู้กลิ่นของมนุษย์ ใช้อวัยวะที่ชื่อว่า อัลแฟกทอรีบัลบ์ Olfactory Bulb ที่อยู่ด้านบนของโพรงจมูกเป็นจุดรับกลิ่นและนำส่งไปยังสมอง ในส่วนของการประมวลผลแปรสัญญาณข้อมูลกลิ่นใช้สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับกลิ่นมีชื่อว่า ลิมบิค ซิสเตม (limbic System) อันเป็นเครือข่ายของสมองที่สามารถส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ทางด้านอารมณ์ พฤติกรรม สัญชาติญาณและแรงจูงใจ
สมอง แปลสัญญาน กลิ่น เป็นชื่อกลิ่น ต่างๆได้จากการเรียนรู้และการจดจำหากต้องการจดกลิ่นใดๆก็ต้องให้สมอง ได้เรียนรู้และบันทึกข้อมูลเอาไว้ก่อน
ตัวอย่างเช่นกลิ่นกาแฟทุกคนไม่มีใครไม่รู้จักกลิ่นกาแฟแล้วรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นกลิ่น กาแฟ หากให้ มนุษย์ที่ไม่เคยเห็น เคยดมและสัมผัสกับกาแฟมาก่อนเลยแล้วส่งแก้วให้ดม เค้าไม่มีทางตอบได้ว่านี่คือกลิ่นของกาแฟแน่เพราะว่าในสมองไม่เคยมีข้อมูลนี้อยู่
ส่วนขั้นตอนการดมกลิ่นมีดังนี้เมื่อจมูกของเราดม กลิ่นของน้ำสีดำเข้มในแก้วใบหนึ่ง แล้วส่งสัญญานไปที่สมอง ระบบสมองก็จะไปเปิดลิ้นชักคลังข้อมูลกลิ่นต่างๆที่จำเอาไว้เพื่อเปรียบเทียบหาความใกล้เคียงกันที่สุดเพื่อเป็นคำตอบว่ากำลังได้กลิ่นอะไร
1
ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีเพียงแค่นั้น ระบบสมองในการดมกลิ่นมีการทำงานซับซ้อนกว่านั้นมากเพราะว่าในความเป็นจริงไม่ได้มีกลิ่นของ กาแฟ อยู่จริงๆ ในระบบการรับรู้การดมกลิ่นของเราก็ไม่ได้มี เซลรับกลิ่น สำหรับรับกลิ่นกาแฟโดยเฉพาะ และในอากาศที่ดมกลิ่นก็ไม่มีได้มีโมเลกุลที่ชื่อว่ากาแฟอยู่เพื่อที่จะให้เกิดการจับคู่และจดจำกลิ่นได้โดยตรงแบบนั้น
ในกลิ่นแต่ละชนิดมีโมเลกุลกลิ่นต่างๆหลายร้อยชนิดผสมกันอยู่ระบบเซลรับกลิ่นภายในจมูกจำนวนมากแต่ละเซลรับกลิ่นแยกกันจับโมเลกุลกลิ่นได้ต่างๆตามความสามารถของแต่ละเซลรับกลิ่นจากนั้นส่งต่อไปในรูปสัญญานจำนวนมากมาย เข้าสู่สมอง ตรงนี้หละที่สมองจะนำสัญญานเหล่านั้นมาประมวลผลโดยใช้การเปรียบเทียบข้อมูลใหม่กับข้อมูล
เปรียบเทียบคล้ายกับการเกิดภาพบนจอดิจิตอล ที่เกิดขึ้นจากการเรียงเม็ดสี ทีละพิคเซลๆ จำนวนมากมายมาต่อรวมกันจนเป็นรูปภาพขึ้นมาแล้ว แปลความหมายของภาพนั้นว่าคือรูปภาพของอะไร ซึ่งขั้นตอนการตีความหมายนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้เคยเรียนรู้ จดจำ ทำความรู้จักกับข้อมูลนั้นมาก่อนแล้วเท่านั้น
หรืออีกแบบหนึ่งคือการส่งอักษรทีละตัวอักษรเป็นจำนวนมากที่ปะปนกันไปเพื่อไปจัดเรียงใหม่ให้เป็นคำศัพท์คำๆ คนที่รู้จักการเล่น scrabble จะนึกออกได้ว่าถ้าท่องจำคำศัพท์ได้มากๆ ก็จะเล่นเกมดีได้ดี เช่นกันดังนั้น การที่จะดมกลิ่นได้ดีก็จำเป็นต้องฝึกหัดดมมากๆและจำเอาไว้เพื่อเป็นคลังข้อมูล ให้กับสมองเก็บเอาไว้ เปรียบเทียบและประมวลผล
ในขั้นตอนการแปลสัญญานของกลิ่นกาแฟก็เช่นกัน ระบบสมองก็จะจัดเรียง เปรียบเทียบข้อมูลของสารชนิดต่างนับร้อยชนิดนั้น จนได้ค่าใกล้เคียงกับฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วในสมอง แล้วจึงสรุปว่าเป็นกลิ่นกาแฟ ถ้าสมองของคุณไม่เคยถูกสอนให้รู้จักกับกลิ่นของกาแฟมาก่อน คุณก็ไม่มีทางบอกได้ว่าคุณกำลังได้ดมกลิ่นของกาแฟอยู่
เช่นเดียวกันตัวเราเองก็ไม่มีทางที่จะบอกออกมาได้ว่า นี่คือกลิ่นดอกเวอร์บีน่า กลิ่นเห็ดทรัฟเฟิลดำ กลิ่นดอกประยงค์ ในขณะที่เพิ่งจะเคยได้กลิ่นเป็นครั้งแรก โดยที่ไม่เคยทำความรู้จักฝึกดมกลิ่นและจำกลิ่นเหล่านั้นมาก่อน
โชคดีที่ระบบความจำกลิ่นในคลังสมองของคุณได้เคยจดจำกลิ่นของกาแฟมาก่อนตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆแล้ว โดยผ่านทางสิ่งแวดล้อมและชีวิตประจำวัน จึงสามารถประมวลผลออกมาได้ว่านั่นคือกลิ่นกาแฟที่โชยมา
ถ้าคุณได้ดมกลิ่นบางอย่างแล้วไม่สามารถบอกได้ว่านั่นคือกลิ่นของอะไร ก็เป็นสิ่งปกติไม่ต้องแปลกใจเพราะนั่นหมายความว่าในสมองคุณยังไม่เคยเรียนรู้จักกับกลิ่นนั้น นั่นเอง ถ้าเราบอกกับฝรั่งว่าได้กลิ่นหอมของข้าวที่เพิ่งหุงเสร็จใหม่ๆจากหม้อหุงข้าว พวกเขาก็คงไม่เข้าใจเช่นกันถ้าพวกเขาไม่เคยหุงข้าวกินมาก่อน
การดมกลิ่นอย่างตั้งใจสนใจในรายละเอียด ก็จะช่วยให้เข้าใจในความแตกต่างของกลิ่นได้มากขึ้นจนทำให้คุณระบุความแตกต่างของชนิดกลิ่นกาแฟได้ละเอียดขึ้นว่าเป็นกาแฟของ Starbucks หรือเป็นกาแฟของเนสกาแฟก็ได้โดยง่าย นั่นเอง
จะเห็นได้ว่า การดมกลิ่นมีความเกี่ยวข้อกับความทรงจำร่วมอยู่ด้วยและมันเกิดขึ้นที่สมองของเรา ดังนั้นหากต้องการเพิ่มความสามารถในการดมกลิ่นก็จะต้องฝึกให้สมองเรียนรู้จดจำกลิ่นต่างๆอยู่บ่อยๆ นั่นเอง
เนื่องด้วยมนุษญ์เราก็มีระบบรับกลิ่นและระบบสมองประมวลผลอันมีประสิทธิภาพดีเยี่ยมอยู่แล้ว เราไม่ได้ไร้ความสามารถในการดมกลิ่นหรอกเพียงแต่เราไม่ได้สนใจและให้ความสำคัญน้อยไป เท่านั้นเอง
หากคุณต้องการเปลี่ยนโลกเดิมรอบตัวให้เป็นโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยกลิ่นต่างๆทดลองทำได้เลย
ให้เริ่มฝึกหัดกับสิ่งรอบๆตัวในชีวิตประจำวันที่รู้จักคุ้นเคย โดยเฉพาะกลิ่นอาหาร ดมก่อนที่จะทานอาหารทุกมื้อฝึกดมกลิ่นก่อนและสังเกตกลิ่นต่างๆในจาน มีกลิ่นอะไรบ้างและฝึกจดจำกลิ่นนั้นไว้ ถึงแม้จะนึกเป็นคำพูดอธิบายกลิ่นไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร
ให้จำเป็นภาพสิ่งนั้นเอาไว้ก่อนเช่น เมื่อเจอใบสะระแหน่บนอาหารก็ลองหยิบขึ้นมาดมแล้วจำเอาไว้ ฝึกทำบ่อยๆ ก็จะช่วยทำให้ คุณรู้จักกลิ่นนี้ และจำได้ แล้วต่อเมื่อไปเจอกลิ่นนี้ผสมอยู่ในสิ่งอื่นๆ เช่น เครื่องดื่ม ชาสมุนไพร น้ำผลไม้โดยไม่มีหน้าตาใบสะระแหน่มาให้เห็นสมองส่วนความจำกลิ่นก็จะจดจำกลิ่นนี้ขึ้นมาได้ทันที การฝึกแบบนี้บ่อยๆก็จะช่วยให้กลายเป็นนักดมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาได้เลย
เนื้อหาในเพจพลังแห่งกลิ่น เป็นงานเรียบเรียง เล่าเรื่อง ร่วมกับความคิดเห็นผ่านประสบการณ์จากการทำงานด้านกลิ่นของผู้เขียนเองและมีหนังสือที่ใช้อ้างอิงข้อมูลดังนี้
1. How the Brain Works
By Peter Abrahams
2.Learning to Smell: Olfactory Perception from Neurobiology to Behavior By Donald A. Wilson, Richard J. Stevenson
3.Smellosophy: What the Nose Tells the Mind Hardcover
By A. S. Barwich (Author)
4.The Neurology of Olfaction
By (author) Christopher H. Hawkes , By (author) Richard L. Doty
5.The Smell Report By Kate Fox
แปลและเรียบเรียง: ทรงพล รัตนเสถียร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา