5 ก.พ. 2021 เวลา 01:30 • ธุรกิจ
จบวิศวะแต่มาเป็น Content Creator?
วันนี้ Career Fact จะมาบอกต่อเรื่องราวของ ‘อู๋ spin9' ยูทูปเบอร์ที่ทุกคนนึกถึงเมื่ออยากดูรีวิว Gadget ออกใหม่ ผู้มองการทำคอนเทนท์เหมือนกับการทำการบ้าน เพราะเขาเชื่อว่าคนเล่าต้องรู้มากกว่าคนฟัง
ทำไมจบวิศวะแล้วไม่เป็นวิศวะ? ชีวิตเบนมาสายคอนเทนท์ได้อย่างไร? อะไรทำให้คนเชื่อใจรีวิวของ Spin9? ติดตามได้ที่นี่
#หลงใหลในเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก
พี่อู๋บอกว่า ตอนเด็กๆ เขาไม่ได้ฝันว่าอยากโตไปทำอาชีพอะไรชัดเจน แต่อย่างหนึ่งที่รู้คือชอบเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีในยุคนั้นก็คือคอมพิวเตอร์ เขาใช้เวลาอยู่กับมันได้ทั้งวัน เพราะรู้สึกว่าในคอมพิวเตอร์ก็มีโลกของมัน ซึ่งเป็นคนละโลกกับที่เราใช้ชีวิตอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นในคอมพิวเตอ์กับชีวิตจริงนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง เลยรู้สึกว่ามีหลายอย่างในนั้นให้เรียนรู้ ตอนเรียนที่โรงเรียนก็สนใจวิชาคอมพิวเตอร์เป็นพิเศษ พอจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย เห็นชื่อวิศวะคอมพิวเตอร์ก็เลือกไว้ก่อน ไม่ได้วางแผนอนาคตอะไรไว้จริงจังว่าจบมาจะทำงานอะไร
3
#เป็นอย่างที่คิดไหม?
“ไม่เป็นอย่างที่คิดเลย” พี่อู๋กล่าว โดยสิ่งที่เรียนนั้นจะเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม เรียนว่าจะใช้ทักษะทางคอมพิวเตอร์ไปช่วยทุ่นแรงคนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งตอนเรียนก็รู้สึกสนุกดี ถึงแม้สุดท้ายจบมาก็ไม่ได้นำวิชายากๆ มาใช้ในชีวิตหลังเรียนจบเท่าไร แต่ก็ยังขอบคุณการตัดสินใจของตัวเองที่เลือกเรียนวิศวะ เพราะช่วยสอนพื้นฐานที่เอามาใช้ในการทำงานหรือในชีวิตประจำวันได้ หลักๆ ก็คือเรื่องการมีตรรกะที่ดี มองที่มาและผลลัพธ์ออก ทำให้รู้ว่าต้องทำแบบไหนถึงจะได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร
4
#เริ่มเบนสาย
หลังเรียนจบปริญญาตรี พี่อู๋รู้ตัวว่าไม่ได้ชอบเรียนวิศวะมากพอจะไปต่อยอดสายเดิมอย่างลึกซึ้ง เลยตัดสินใจเบนไปสายธุรกิจเพราะมองว่าความรู้ทางธุรกิจเป็นพื้นฐานที่ดีของการทำงาน โดยพี่อู๋เรียนต่อปริญญาโทด้าน Global Business ที่ University of Westminster และด้าน International Entrepreneurship ที่ Hochschule Bremen แต่พอไปเรียนก็เจออุปสรรคเหมือนกัน เพราะไม่ได้มีพื้นฐานเท่าคนที่จบสายตรงมา ไม่ว่าจะด้านการเงิน ทรัพยากรบุคคล การบริหารจัดการ ยังไม่นับเรื่องรูปแบบการเรียนในต่างประเทศที่ค่อนข้างแตกต่างจากในไทย แถมมหาวิทยาลัยที่ไปเรียนก็ไม่มีคนไทยเลย ทำให้ต้องปรับตัวเยอะพอสมควร การเอาตัวรอดก็ไม่ได้มีทางลัดอะไรเป็นพิเศษนอกเสียจาก
3
“ต้องยอมรับให้ได้ว่าเราไม่เก่งศาสตร์ด้านนี้เท่าคนอื่น และหากพื้นฐานไม่เท่าคนอื่น เราก็ต้องขยันกว่าคนอื่น”
2
#จุดเริ่มต้นDigilife
เรียนจบปริญญาโทมา พี่อู๋ก็ลองสมัครบริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงตามความชอบของตัวเองที่มีมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งก็ผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ลึกๆ อยู่หลายที่ แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้หลังจากได้พบปะพูดคุยกับคนในองค์กรคือ บางครั้งเราก็ชอบแบรนด์ๆ หนึ่งในฐานะผู้บริโภค แต่อาจจะไม่ใช่ในฐานะส่วนหนึ่งขององค์กร ซึ่งขั้นตอนการสัมภาษณ์งานนี้เองที่ทำให้พี่อู๋คิดว่าตัวเองอาจจะยังไม่อยากทำงานเป็นพนักงานบริษัท จึงตัดสินใจหยุดส่งใบสมัครงานเพื่อไปช่วยงานที่บ้านก่อน
5
ในเวลาเดียวกัน พี่อู๋ก็มีงานอดิเรกเป็นการทำเว็บไซต์รีวิว Gadget ต่างๆ ซึ่งเขาเคยทำมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย พอได้กลับมาทำงานกับที่บ้านก็เลยมีโอกาสเขียนต่อ ทำให้มีคนมาติดต่อชวนไปทำรายการทีวี จึงได้ทำรายการทีวีเป็นรายการแรกภายใต้ชื่อ Digilife ถือเป็นจุดริเริ่มการรีวิวแบบ “เห็นหน้า” ของพี่อู๋
1
#ContentCreator
ระหว่างทำรายการทีวีพี่อู๋ก็ทำคอนเทนท์บนอินเทอร์เน็ตควบคู่กันไปด้วย โดยแบ่งชัดเจนว่า ถ้าเป็นคอนเทนท์เกี่ยวกับเทคโนโลยีก็จะอยู่ในรายการทีวี นอกเหนือจากนั้นก็อยู่ในยูทูบหรือช่องทางส่วนตัวอื่นๆ แต่เมื่อทำรายการไปได้ราว 5 ปี ทีวีก็เริ่มอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งแน่นอนว่าพอมีอะไรลงมา ก็ต้องมีบางอย่างขึ้นไป นั่นคือคอนเทนท์บนอินเทอร์เน็ต พักหลังคอนเทนท์ออนไลน์ของพี่อู๋ก็เลยเริ่มกลับมามีเรื่องเทคโนโลยีด้วย จนสุดท้ายพี่อู๋ก็ไม่ได้ทำรายการทีวีต่อและออกมาเป็น Online Content Creator เต็มตัว
6
#อะไรทำให้ทั้งแบรนด์และคนดูเชื่อใจ
2
“เวลาที่เราจะเชื่อใจเพื่อนเราซักเรื่อง แต่ละคนก็จะมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน เช่น ถ้าเป็นเรื่องอาหารต้องถามเพื่อนคนนี้ ถ้าเป็นเรื่องรถเราจะเชื่ออีกคน”
1
พี่อู๋อยู่วงการรีวิว Gadget มานาน อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าเริ่มเขียนรีวิวตั้งแต่ตอนเรียนมหาลัย จึงทำให้เป็นที่รู้จักในแวดวงนี้ อีกสาเหตุที่แบรนด์ไว้ใจให้พี่อู๋เป็นคนเล่านั้นเพราะพี่อู๋รีวิวทั้งมุมที่เป็นจุดเด่นและจุดด้อย พูดง่ายๆ คือ ในมุมมองคนดู พี่อู๋ก็จะมีความจริงใจกว่าและดูน่าเชื่อถือกว่าแบรนด์เล่าเอง
#จุดเปลี่ยนที่มารีวิวสายการบิน
แน่นอนว่าในชีวิตเราไม่จำเป็นต้องชอบแค่อย่างเดียว นอกจากเทคโนโลยีพี่อู๋ก็ชอบเรื่อง Transportation ชอบยานพาหนะ สำหรับเครื่องบิน พี่อู๋มองว่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเวลาอยู่บนเครื่องบินก็จะมีกฏเกณฑ์เยอะไปหมด บางอย่างแม้จะดูเล็กน้อยก็เกิดจากการคำนวณความเสี่ยงมาหมดแล้ว เช่น เวลาเทคออฟเครื่องบินก็จะประกาศให้เปิดหน้าต่างเพื่อต้องการให้ผู้โดยสารดูตามปีกบ้างว่ามีส่วนไหนเสียหรือเปล่าเพราะนักบินที่อยู่หัวเครื่องบินจะมองไม่เห็น พอยิ่งได้เรียนรู้เยอะก็ยิ่งสนุก และการทำงานสายเทคโนโลยีก็ได้เปิดโอกาสให้พี่อู๋ได้เดินทางเยอะ เช่น เวลามีงานเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ๆ ก็ต้องเดินทางตามประเทศต่างๆ พี่อู๋เลยใช้โอกาสนี้ในการทำคอนเทนท์ที่เกิดระหว่างการเดินทาง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนทั่วไปมองว่าน่าเบื่อ แต่สำหรับคนชอบเครื่องบินอย่างพี่อู๋ นี่กลับเป็นช่วงเวลาที่สนุกไม่แพ้ตอนหลังเครื่องแลนดิ้ง
7
ความแตกต่างของการรีวิวสายการบินและ Gadget คือคราวนี้ต้องเป็นฝ่ายล่าคอนเทนท์เองบ้าง ปกติเวลาเราพิจารณาไฟลท์บิน ก็มักจะพิจารณาจากราคาตั๋วและเวลา แต่พี่อู๋จะเลือกจากสายการบินที่ไม่เคยบิน เครื่องบินรุ่นที่ไม่คุ้น หรือคลาสที่ไม่เคยนั่ง เพื่อให้ได้คอนเทนท์ที่แปลกใหม่แตกต่างจากเดิม ซึ่งบางทีก็ต้องยอมบินอ้อมหรือซื้อตั๋วแพงกว่าปกติ
1
#การรีวิวและความรับผิดชอบ
“เราจะรู้สึกผิดกับตัวเอง ถ้าเราเล่าในเรื่องที่เราไม่รู้”
1
สำหรับพี่อู๋การรีวิวก็เหมือนทำหนังเรื่องหนึ่ง ที่ต้องมีเส้นเรื่อง ต้องมีอินโทรเกริ่นว่าสิ่งที่คนดูสงสัยคืออะไร แล้วพอดูไปเรื่อยๆ ก็จะตอบข้อสงสัยนั้นเอง ได้ของชิ้นหนึ่งมาก็ต้องศึกษาและจำลองหลายๆ สถานการณ์ว่าคนกลุ่มไหนน่าจะซื้อของชิ้นนี้ ซื้อไปแล้วเอาไปทำอะไรได้บ้าง
หลายครั้งของที่รีวิวก็ไม่ได้ราคาถูกๆ ถ้าคนๆ หนึ่งจะซื้อโทรศัพท์ราคาสามหมื่น สิ่งที่เขาจะทำก็คือหารีวิวดู ซึ่งหลายๆ คนก็เข้ามาบอกพี่อู๋ว่า เขาซื้อเครื่องนี้เพราะรีวิวพี่อู๋ ถึงพี่อู๋จะชอบแซวว่า เขาเป็นคนพาทุกคนเสียเงิน แต่ในขณะเดียวกัน พี่อู๋ก็มองว่าถ้ามีคนที่เชื่อใจเขามากขนาดนี้ เขาก็ยิ่งต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูด ถ้าพูดในสิ่งที่ไม่ได้รู้จริง หรือลองใช้แล้วเอามาเล่าไม่ครบทุกมุม คนดูก็คงเสียความรู้สึก และยิ่งเป็นของที่ชิ้นใหญ่ขึ้นอย่างรถราคาหลักแสนหลักล้าน ความรับผิดชอบก็ยิ่งมากขึ้น ทุกวันนี้เลยรู้สึกว่าที่ลงทุนทำการบ้านมาเยอะแยะนั้นคุ้มค่าและเป็นสิ่งที่ควรทำ
7
#เป้าหมายและความท้าทายในอนาคต
พี่อู๋บอกว่า ด้วยนิสัยส่วนตัวก็คงพาตัวเองไปเจอความท้าทายใหม่ๆ ตลอดอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรชัดเจน ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้วถ้าถามว่าเห็นตัวเองมาอยู่จุดนี้ไหม ก็คงไม่ ถ้าถามว่าเป้าหมายในอนาคตคืออะไร คำตอบก็คล้ายๆ กัน คือไม่ได้มีเป้าหมายระยะยาวชัดเจน อาจจะมีเป้าหมายระยะสั้นบ้างแต่ไม่ได้เครียดกับมันเกินไปว่าต้องทำให้ได้ เน้นยืดหยุ่นให้ตัวเองทำสิ่งที่อยากลองทำหรือควรทำในช่วงเวลานั้นๆ มากกว่า เช่น ปีนี้ไม่สามารถทำคอนเทนท์ที่ต้องไปต่างประเทศได้ ก็ใช้เวลาช่วงนี้วางแผนว่าคนดูหรือตัวพี่อู๋เองอยากได้คอนเทนท์อะไรมาทดแทน และถ้ากลับมาทำได้จะทำยังไงให้มันดีขึ้น
2
#คิดอย่างไรกับการจบมาทำงานไม่ตรงสาย
“ไม่เป็นไรเลย!”
2
พี่อู๋มองว่าด้วยระบบการศึกษาไทยที่บังคับให้เราเลือกเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ยังมองไม่เห็นว่าตัวเองต้องการอะไร การจะจบมาแล้วทำงานไม่ตรงสายที่เรียนก็ไม่ใช่เรื่องผิด ประเด็นอยู่ที่ว่าทำแล้วมีความสุขไหม มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำไหม บางครั้งความชอบกับสิ่งที่ตัวเองเรียนมันไม่ตรงกันก็ค้นหาไปก่อน ต่อให้เริ่มทำงานแล้วก็อย่าเพิ่งคิดว่าไม่ทันแล้ว
1
#อยู่ในค่าเฉลี่ยก็ถือว่ามีชีวิตที่ดีแล้ว
2
“โลกอินเทอร์เน็ตทำให้เราเห็นชีวิตคนที่ประสบความสำเร็จเต็มไปหมดจนรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแย่ แต่ความเป็นจริงแค่คุณอยู่ในค่าเฉลี่ย ก็ถือว่าคุณมีชีวิตที่ดีแล้ว”
1
สมัยก่อนตอนยังไม่มีอินเทอร์เน็ต อย่างมากก็เปรียบเทียบกับคนรอบตัวที่มองเห็นได้อย่างเพื่อนที่โรงเรียน แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เราเจอมันกว้างมาก บางคนเคยคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่อินเทอร์เน็ตและ Social Media กลับทำให้เห็นว่ามีคนเก่งกว่าเราอีกมาก ทำให้มีแนวโน้มว่าจะไม่พอใจในตัวเองได้ง่าย แล้วพอคนเราไม่เชื่อในความสามารถตัวเอง ก็จะไม่กล้าลงมือทำอะไรต่อ พี่อู๋จึงอยากให้หันมาโฟกัสกับการอยู่ในค่าเฉลี่ยมากกว่าการจะต้องเป็น “ที่สุด” ในทุกๆ ด้าน เพราะบางครั้งการอยู่ในค่าเฉลี่ยได้ก็แปลว่าคุณ “ดีพอ” แล้ว
8
“Career Fact เพราะทุกอาชีพมีเรื่องราว”
#careerfact
………………
สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ต่อได้ที่ Career Fact เพราะทุกอาชีพ... มีเรื่องราว (อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเท้นท์ดีๆ)
Subscribe Career Fact - https://bit.ly/CareerFactYT
โฆษณา