28 ม.ค. 2021 เวลา 05:13 • หุ้น & เศรษฐกิจ
แท็กซี่หนี้พุ่ง ขาดส่งโดนยึด 5 หมื่นคันหายจากถนน "เราชนะ" ไม่ช่วย
1
หลัง “โควิด-19” กลับมาโจมตีระลอกใหม่ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 63 จนถึงวันนี้ดูเหมือนว่าการระบาดโควิดระลอกสองนี้จะยืดเยื้ออีกนาน เพราะคนติดเชื้อโควิด แม้ไม่มีอาการก็แพร่เชื้อได้ อีกทั้งคาดการณ์ได้จากจำนวนผู้ป่วยสะสมล่าสุด ณ วันที่ 26 ม.ค. 64 จำนวน 14,646 ราย และไวรัสโควิดร้ายกระจายไปในหลายจังหวัด มากกว่า 60 จังหวัดแล้ว ทำให้ประชาชนทุกอาชีพ รวมถึง “คนขับแท็กซี่” ได้รับผลกระทบซ้ำรอยเดิม ทำให้ชีวิตลำบากมากขึ้นๆ ทั้งที่กำลังจะลืมตาอ้าปากได้ไม่นาน
: จอดรอสุ่มเสี่ยงโดนจับ พึ่งไฟแนนซ์ หมุนเงินใช้ในครอบครัว :
ผลกระทบจากโควิดระบาดรอบสอง จากการที่ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ลงพื้นที่คุยกับคนขับแท็กซี่ที่มาจอดรถเข้าคิวรอรับผู้โดยสารอยู่ด้านหน้าและด้านในขนส่งหมอชิต รวมถึงด้านหน้าห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ต่างพูดบอกกับทีมข่าวฯ อย่างโอดครวญเป็นเสียงเดียวกันว่า “สถานการณ์ย่ำแย่กว่าโควิดระบาดรอบแรก ผู้โดยสารใช้บริการแท็กซี่น้อยลงมาก คนไม่ค่อยเดินทาง เพราะประหยัดกันมากขึ้น”
แท็กซี่รอรับผู้โดยสารหน้าห้างฯ
แม้แต่คนขับแท็กซี่เองก็ต้องประหยัดเช่นกัน พวกเขาเลือกที่จะ "จอดรอรับผู้โดยสาร" ตามจุดสำคัญต่างๆ แทนการขับวิ่งเร่ที่ทำให้สิ้นเปลืองแก๊ส ขับไปเป็นชั่วโมงก็ยังไม่มีลูกค้า แต่การจอดรอ บางทีก็ได้ผู้โดยสารสักเที่ยว ได้เงิน 60 บาท 100 บาทก็ยังดีกว่า แม้ว่าต้องจอดรอเข้าคิวนานหลายชั่วโมงกว่าจะได้วิ่งสักรอบ รวมถึงมีความเสี่ยงถูกโดนจับก็ตาม
นายทัตธนา แข็งพิลา อดีตพนักงานบริษัทหันมาขับแท็กซี่กว่า 10 ปี ขณะเข้าคิวรอรับผู้โดยสารหน้าห้างฯ แห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว กทม. บอกกับทีมข่าวฯ ว่า หลังปีใหม่ โควิดรอบสอง เหมือนตายอีกรอบ ทั้งๆ ที่กำลังจะฟื้นจากโควิดระบาดรอบแรก
จากเคยขับรถได้เงินวันละ 700-800 บาท ปัจจุบันเหลือเพียง 200-300 บาท ได้พอจุนเจือครอบครัว โดยมากจะได้ผู้โดยสารจากการมาจอดรอรับที่ห้างฯ แต่ก็ต้องเสี่ยงวัดดวงแต่ละวันว่าต้องมารอนานกี่ชั่วโมง รวมถึงสุ่มเสี่ยงถูกโดนจับ โดนใบสั่งได้ถ้าไปจอดในจุดที่ไม่ได้มีบริการให้จอด
สำหรับรายได้ก่อนเกิดการระบาดโควิดรอบสอง บรรดาคนขับแท็กซี่ต่างเจ็บปวดซ้ำรอยเดิม จากข้อมูลที่ได้พูดคุยกับคนขับแท็กซี่กว่าสิบราย พบว่า โควิดระบาดรอบแรก พอหาเงินได้ เหลือวันละ 400-700 บาท ปัจจุบันรายได้ต่อวัน หลังหักค่าเช่ารถ ค่าแก๊ส มีเงินเหลือเพียงวันละ 100-200 กลับบ้านได้พอแค่ค่ากับข้าว ไม่มีเงินเหลือเก็บไว้จ่ายค่าเช่าบ้าน จ่ายค่างวดเช่าซื้อรถแท็กซี่
อีกทั้งจากเดิมเคยทำงาน 8 ชั่วโมง ปัจจุบันต้องใช้เวลากว่า 15 ชั่วโมง บางคนต้องควบกะ หรือนอนบนรถเพราะไม่อยากเสียโอกาสและเสียเวลาพลาดผู้โดยสารหากขับรถกลับบ้าน ซึ่งบางคนมาจากนนทบุรี นครปฐม
จากรายได้ที่ฝืดเคือง เงินไม่พอใช้แต่เพื่อความอยู่รอดแท็กซี่หลายคนนอกจากทำงานหนักขึ้นแล้ว ยังพยายามดิ้นรนทุกทางเพื่อให้ผ่านวิกฤตโควิดครั้งนี้ให้ได้ แม้ต้องเป็นหนี้กันมากขึ้นๆ ก็ต้องทำ เพื่อลูกและเมีย ดังกรณีของ นายรุ่งอรุณ งามเสน่ห์ ซึ่งขับแท็กซี่มากว่า 14 ปี
1
“ช่วงโควิดมารอบสอง ผมไม่มีเงินก็เอาเล่มทะเบียนรถไปเข้าไฟแนนซ์แสนห้า ส่งเดือนละ 11,000 ช่วงโควิดรอบนี้ เขาก็ยังให้ผ่อนเต็มๆ ยังไม่ลดให้ เพราะว่ายังไม่มีนโยบายอะไรเลย"
2
: หากินลำบาก 80% ถูกยึดรถ แม้ได้รับผ่อนปรนยืดเวลา :
1
นอกจากปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นแล้ว อีกปัญหาของคนขับแท็กซี่ที่ฟังแล้วน่าหดหู่ใจ คือ “ถูกยึดรถ” เพราะไม่มีเงินจ่ายค่างวด แม้ไฟแนนซ์จะยืดเวลาผ่อนชำระ
1
นายคารมย์ วิลัยศรี วัย 57 ปี ขับแท็กซี่มา 30 ปี หนึ่งในผู้ถูกยึดรถแท็กซี่ที่ผ่อนส่งเดือนละ 18,000 บาท มาเกือบ 4 ปี และอีกไม่กี่เดือนจะผ่อนชำระหนี้หมด แต่กลับต้องถูกยึดรถแท็กซี่เมื่อ ธ.ค. 63 หลังขาดส่งเป็นเวลานานถึง 6 เดือน ซึ่งเป็นพลพวงจากรายได้ที่ลดลงตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรก
นายคารมย์เปิดใจ "เสียใจและเสียดาย แต่ก็ต้องยอมรับความจริง" ด้วยอายุที่มากแล้ว ความหวังในการไปทำอาชีพอื่นจึงริบหรี่ เขาจึงยึดอาชีพขับแท็กซี่ต่อไป โดยเช่ารถวันละ 900 บาท แต่เถ้าแก่อู่ลดให้เหลือวันละ 500 บาท หากวันใดหาเงินได้ไม่ถึง 500 ก็ผ่อนจ่ายค่าเช่ารถได้ ความทุกข์ยากลำบากในครั้งนี้นายคารมย์ฝากถึงรัฐบาลว่า
2
“อยากให้ช่วยลงมาดูแลแท็กซี่ มีรายได้อย่างไร กินอยู่อย่างไร พวกผ่อนรถ 80% โดนยึดหมดแล้ว”
แท็กซี่เข้าคิวรอรับผู้โดยสารด้านในขนส่งหมอชิต
ด้านนางประทีป นิ่มทอง ขับแท็กซี่มา 16 ปี และเพิ่งผ่อนซื้อรถแท็กซี่มาได้เพียง 1 ปี ก็ได้รับความเดือดร้อนเงินไม่พอจะจ่ายค่างวดเช่าซื้อรถแท็กซี่เช่นกัน เล่าความทุกข์ใจกับทีมข่าวฯ ว่า โควิดระบาดรอบแรกต้องให้เพื่อนนำข้าววัดมาให้กินทุกวัน และต้องขายทองหนัก 2 บาท เพื่อนำเงินมาส่งค่างวดรถเดือนละ 2 หมื่นกว่า ขณะนี้รู้สึกเครียดและกังวลใจที่ยังไม่มีเงินส่งงวดรถเดือนนี้ ถ้าบริษัทยืดเวลาผ่อนส่งรถให้ ก็อาจไปได้ต่อ ถ้าไม่ยืดให้ ก็ไม่รู้จะทำยังไงต่อไป
1
: โครงการ "เราชนะ" วอนรัฐให้เงินสดชำระหนี้ คนละครึ่งก็ยังดี :
และแม้มีข่าวดีที่รัฐฯ ออกมาตรการช่วยเหลือคนขับแท็กซี่ผ่านโครงการ "เราชนะ" เพื่อลดภาระค่าครองชีพ โดยสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือนในเดือน ม.ค.-ก.พ. 64 นี้ ถือเป็นการช่วยเหลือที่ดี แต่ยังไม่ตรงกับความต้องการของคนขับแท็กซี่มากนัก
1
นายบุญเลิศ ศรีษะเกตุ ขับแท็กซี่มา 11 ฝากถึงรัฐบาลว่า การจ่ายให้เดือนละ 3,500 บาท เพื่อใช้จ่ายซื้อของ ถ้าเป็นไปได้ให้ซื้อของครึ่งหนึ่ง ให้เงินสดครึ่งหนึ่ง หรือจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมดจะดีกว่า เนื่องจากคนขับแท็กซี่จะได้นำเงินไปชำระหนี้ที่หยิบยืมมาใช้จ่าย รวมถึงฝากให้รัฐบาล ช่วยให้คนขับแท็กซี่เข้าถึงแหล่งกู้เงินของรัฐ อาทิ ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน ได้ง่ายกว่าเดิม เพื่อทดแทนการกู้เงินนอกระบบ
1
ด้านหน้าขนส่งหมอชิต ผู้โดยสารเงียบเหงาจนคนขับหลับรอ
“อยากให้รัฐช่วยเหลือ ให้มีสิทธิ์เข้าถึงแหล่งเงินกู้ของรัฐ เพราะดอกถูก ออมสินแทนที่จะให้กู้หนึ่งหมื่นบาท คนอาชีพอิสระให้ 5 หมื่นได้ไหม เพราะ 5 หมื่น ให้เฉพาะกลุ่มมีสลิปเงินเดือน” นายบุญเลิศ กล่าว
: เปิดมาตรการสหกรณ์แท็กซี่ ช่วยเหลือคนขับ รอลุ้นอนุมัติลดค่าแก๊ส :
จากปัญหา 80% รถถูกยึดไปนั้น คนขับแท็กซี่หลายคนนอกจากฝากถึงรัฐให้ช่วยเหลือมาปิดยอดหนี้ แล้วให้เข้าถึงระบบเงินกู้ของรัฐได้มากขึ้นเผื่อผ่อนชำระหนี้แล้ว อีกที่พึ่งความช่วยเหลือคือ สหกรณ์แท็กซี่ที่ได้มีมาตรการการต่างๆ ช่วยเหลือพวกเขาเช่นกัน
นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมแท็กซี่แห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ ในเขตกรุงเทพมหานคร เผยมาตรการช่วยเหลือแท็กซี่ว่า การระบาดโควิดรอบสองถือว่าหนักสุด ก่อนเกิดโควิดระบาดมีรถแท็กซี่จดทะเบียน 8 หมื่นกว่าคัน แต่ปัจจุบันวิ่งไม่เกิน 3 หมื่นกว่าคัน รถแท็กซี่หายไปเกินครึ่ง เพราะคนขับบางคนกลับไปอยู่ต่างจังหวัด หันไปทำอาชีพอื่น เพราะรถถูกยึด
หลังเกิดสถานการณ์โควิดระบาดรอบแรกและรอบสอง สมาคมแท็กซี่ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เข้าไปเจรจากับธนาคารแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางบก จัดประชุมร่วมกับบริษัทไฟแนนซ์ เพื่อเจรจาช่วยเหลือคนขับแท็กซี่ รวมถึงต่อรองกับสหกรณ์แท็กซี่ต่างๆ หรือไฟแนนซ์ที่คนขับไปเช่าซื้อรถ ขอพักชำระหนี้ 3 เดือน ไม่ส่งต้น ส่งดอก จากนั้นสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็ช่วยเจรจาให้พักชำระหนี้ต่ออีก 3 เดือน กระทั่งล่าสุดอะลุ่มอล่วยเพิ่มพักหนี้ไปอีก 2 เดือน รวมทั้งสิ้นเป็น 8 เดือนแล้ว
1
นอกจากนี้ยังมีบริการให้คนขับแท็กซี่กู้เงินฉุกเฉิน จำนวนตั้งแต่ 5,000-70,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละบาทต่อเดือน กรณีกู้เงินไม่เกิน 1 หมื่น จะอนุมัติภายใน 1 วัน หากต้องการกู้เงินมากกว่านั้น ต้องรอ 15 วัน หรือ 1 เดือน สำหรับมาตรการขอลดค่าก๊าซ ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายคนขับรถแท็กซี่เหมือนที่ได้รับรอบแรก ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำตอบจากกระทรวงพลังงาน
“โควิดรอบแรกร้องขอจนได้ลดค่าก๊าซลิตรละ 3 บาท นาน 4 เดือน แต่โควิดรอบสองร้องขอมาตรการเดิมไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังเงียบอยู่ โควิดรอบแรกเคยไปรวมตัวประท้วงหน้าทำเนียบ ขอแท็กซี่ร่วมใช้บริการคนละครึ่งแต่ไม่ได้รับพิจารณา โควิดรอบสองคราวนี้มีประกาศมาแล้วจะช่วยผ่านโครงการ "เราชนะ" ก็รู้สึกดีใจแทนคนขับแท็กซี่ แต่ส่วนมากคนขับอยากได้เงินสดมาใช้หนี้มากกว่า” นายวิฑูรย์ กล่าว.
👇 อ่านบทความต้นฉบับ👇
โฆษณา