28 ม.ค. 2021 เวลา 08:00 • ข่าว
เช็กอีกครั้ง 7 เงื่อนไขได้สิทธิ์ "เราชนะ" ฟังเหตุผล ทำไม รบ.ไม่จ่าย "เงินสด"
- "เราชนะ" มาตรการลดค่าครองชีพ ช่วยเหลือประชาชน
จากพิษโควิดฯ ระลอกใหม่
- เปิด 7 เงื่อนไข ผู้มีสิทธิ์รับเงินจากโครงการ "เราชนะ"
- ฟังเหตุผล ทำไมโครงการ "เราชนะ" ไม่จ่ายเงินสด แย้มอาจเปิดคนละครึ่ง เฟส 3
หลังจาก ครม.มีมติอนุมัติโครงการ "เราชนะ" เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพจากพิษ "โควิด-19" ระลอกใหม่ โดยจะมีการสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31.1 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 3,500 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.64) วงเงินรวม 210,200 ล้านบาท
คาดว่าจะเริ่มจ่ายให้ผู้ได้รับสิทธิ์ภายในต้นเดือน ก.พ.นี้
โดยวงเงินช่วยเหลือดังกล่าว รัฐบาลหวังให้ประชาชนนำไป "ใช้จ่าย" ซื้อสินค้าสาธารณูปโภคที่จำเป็น และใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง ซึ่งจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไปในคราวเดียวกัน ซึ่งการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์นั้น จะพิจารณาจากความสามารถด้านรายได้ การมีระบบคุ้มครองทางสังคม และความช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่ได้รับไปแล้วเป็นสำคัญ ซึ่งความช่วยเหลือจะครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร เป็นต้น
:: ส่องเงื่อนไข "ผู้มีสิทธิ์" เข้าร่วมโครงการ
1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
1
2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งที่มีคุณสมบัติครบและไม่ครบ ตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จากสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใด ในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทน จากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐให้หมายความถึงหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
1
4. ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
:: ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ "เราชนะ"
1. กลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน สามารถรับเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ทันที แต่จะไม่ได้รับเป็นรายเดือน แต่ได้รับเป็นรายสัปดาห์ต่อเนื่องกันจนครบ 8 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะครบ 7,000 บาท รวมกับเงินที่ได้จากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดิมประมาณ 700-800 บาท/เดือน
โดยจะสามารถได้รับเงินในวันที่ 5 ก.พ. 64
2. ประชาชนที่เคยลงทะเบียนโครงการ "คนละครึ่ง" และติดตั้งแอปฯ "เป๋าตัง" ก็สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ โดยรัฐบาลจะใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในการตรวจสอบคัดกรอง ผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการเยียวยา หากผ่านการอนุมัติจะได้รับเงินผ่านแอปฯ เป๋าตัง โดยจะจ่ายเป็นรายสัปดาห์จนครบ 8 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะครบวงเงิน 7,000 บาท รับเงินวันที่ 18 ก.พ. 64
2
3. กรณีผู้ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูล กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชันเป๋าตัง จะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์เราชนะ หากผ่านการตรวจสอบและคัดกรองตามคุณสมบัติข้างต้น จากฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง
:: ฟังเหตุผลทำไม "เราชนะ" ไม่จ่ายเงินสด?
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวทำความเข้าใจว่า โครงการเราชนะเป็นผลต่อเนื่องมาจากระบาดโควิดฯระลอกใหม่ ประชาชนได้รับผลกระทบและความเดือดร้อน โดยโครงการเราชนะมีลักษณะคล้ายกับโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ที่เคยเติมเงินช่วยเหลือประชาชนในการระบาดระลอกแรก และในการระบาดระลอกใหม่พบว่า มีผู้ติดเชื้อมากกว่าระลอกแรก ทำให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแก่ประชาชน
"ส่วนสาเหตุว่าทำไมไม่ให้เงินในโครงการเราชนะเป็นเงินสดนั้น เพราะดูจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน เห็นว่ามีประชาชนจำนวนมากกดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็ม ทำให้ต้องใช้เวลาการต่อแถวนาน และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมทั้งเมื่อคนใช้ตู้เอทีเอ็มพร้อมกันจำนวนมาก อาจทำให้ระบบของตู้เอทีเอ็มมีปัญหา อีกทั้งเพื่อให้เงินเข้าสู่กระเป๋าได้ทันทีโดยไม่ต้องกดเงิน รองรับสังคมไร้เงินสด จึงตัดสินใจเติมเงินเข้าระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) ในแอปพลิเคชันเป๋าตัง" นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวต่อว่า กลุ่มเป้าหมายในโครงการเราชนะ ครอบคลุมอาชีพอิสระ รวมทั้ง ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย สามารถเข้าร่วมในฐานะประชาชนและในฐานะร้านค้าได้ ส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ โครงการเราชนะได้เพิ่มบริการขนส่งสาธารณะ เพราะจากการสำรวจปีนี้ประชาชนให้ความเห็นว่า ได้รับความเดือดร้อนด้านค่าเดินทาง รัฐบาลจึงเพิ่มเติมส่วนนี้ อาทิ รถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง และรถโดยสารสองแถว ที่ผู้ให้บริการต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ผ่าน www.เราชนะ.com และรับเงินผ่านแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน"
:: แย้มผุด "คนละครึ่ง" เฟส 3
ส่วนกรณีมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ "คนละครึ่ง" จำนวนมาก และเสนอให้รัฐบาลขยายต่อโครงการระยะที่ 3 (เฟส 3) นั้น นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา เรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดฯ ระลอกใหม่ และเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศว่า มีความคึกคักมากขึ้นหรือไม่ โดยก่อนมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่นั้น ตัวเลขเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ พอมาถึงช่วงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทำให้เศรษฐกิจลดลงอีกครั้ง จึงเป็นที่มาของการขยายโครงการคนละครึ่งเฟสที่ 2
"ถ้าไตรมาส 2/2564 การใช้จ่ายยังไม่ดีเท่าที่เราอยากจะเห็น กระทรวงการคลังอาจจะพิจารณาขยายโครงการคนละครึ่งเฟส 3 เพราะการใช้จ่ายของประชาชนคิดเป็น 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ถ้าสามารถกระตุ้นให้ประชาชนมีรายได้-มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นได้" นายอาคม กล่าว
เรียบเรียงโดย : หงเหมิน
กราฟิก : Theerapong.c
👇 อ่านบทความต้นฉบับ👇
โฆษณา