6 ก.พ. 2021 เวลา 03:00 • กีฬา
Silenzio Stampa’ กลยุทธสู่แชมป์โลกของ ‘อิตาลี 1982’
หลังจากได้พูดถึงทีมชาติอิตาลีชุดปัจจุบัน รวมถึงโอกาสการคว้าแชมป์ ในมุมมองของแฟนบอลอิตาลีไปแล้ว แต่ก็อยากพาไปให้ทุกท่านไปสัมผัสเรื่องราวของทีมชาติอิตาลีอย่างเต็มอิ่มปิดท้ายสัปดาห์นี้
แม้ว่าจะเคยทำ Podcast ไปเมื่อต้นปี 2020 แต่อยากเรียบเรียงเป็นบทความขึ้นใหม่อีกครั้ง สำหรับท่านที่เพิ่งเข้ามาติดตาม นักเขียนจับฉ่ายคนนี้ที่อยากเล่าทุกเรื่องเท่าที่เป็นไปได้
ย้อนไปฟัง Podcast: https://youtu.be/FiEDGL6lBYo
จากสารคดี Becoming Champions บท Netflix ที่พาไปส่องเส้นทางของแชมป์โลก แม้จะมีทีมเข้าแข่งขันอย่างมากมาย จนนับไม่หวาดไหว แต่มีเพียงแค่ 8 ทีม จากทั้งหมด ที่สามารถคว้าถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกมาครอบครองได้ ซึ่งอิตาลีเป็นหนึ่งในนั้น
หลายคนอาจคิดว่าแชมป์โลกอันน่าทึ่งของอิตาลีในปี 2006 เป็นความทรงจำของแฟนบอลยุคปัจจุบัน แต่แฟนอิตาลีรุ่นเก๋า ต่างก็พูดว่านอกจากปี 2006 ที่รวมใจเป็นหนึ่ง สามารถเอาชนะจุดโทษในนัดเจอฝรั่งเศสที่นำทัพโดย ซีเนอร์ดีน ซีนดาน มาได้แล้ว อีกหนึ่งโมเมนต์แห่งความประทับใจไม่แพ้กันคือ แชมป์สมัยที่ 3 ในปี 1982
เส้นทางของแชมป์ไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ แถมเต็มไปด้วยความน่ากังขา แม้กระทั้งคนในชาติตัวเองต่างก็ด่าทอ และสบประมาททีมชาติของตัวเองว่า ยังไงก็กลับบ้านเร็ว แถมยังไร้ออร่ารัศมีแชมป์ เชียร์ไปก็เหนื่อยเปล่าๆ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ต้องย้อนกลับไปปี 1980 มีข่าวอื้อฉาวของวงการฟุตบอลอิตาลี โดยศาลอิตาลีมีคำสั่งลงโทษนักเตะอิตาลีจำนวนทั้งสิ้น 15 คน รวมถึง เฟลิเช่ โคลอมโบ ประธานสโมสรของ “ปีศาจแดงดำ” เอซี มิลาน ในขณะนั้น ด้วยข้อหาศดีการล้มบอล โดย 15 นักเตะที่กล่าวมานั้น ประกอบด้วย นักเตะในลีกซีเรียอา 9 คน ซีเรียบี 2 คน แถม 1 ใน 9 มีชื่อของ เปาโล รอสซี่ เข้ามาเกี่ยวข้อง
นั่นทำให้เจ้าของศาสตร์เกมรับสไตล์ “คาเตนัชโช่” ยิ่งถูกมองอย่างหมดศรัทธา เพราะหลังจากการปฏิรูปการเมืองในปี 1950 พวกเขาแพ้บราซิลอย่างหมดรูปในปี 1970 ตกรอบแบ่งกลุ่มรอบแรกในปี 1974 และได้ที่ 4 ในฟุตบอลโลกปี 1978 ดูจากผลงานที่ผ่านมา 3 ครั้งจาก 4 ครั้ง ก็ดูไม่แย่เท่าไหร่นัก แต่หากเทียบกับความยิ่งใหญ่ในอดีตที่พวกเขาสามารถคว้าแชมป์โลก 2 สมัยติดในช่วงปี 1934 และ 1938 ภายใต้การปกครองของ เบลิโต้ มุสโสลินี สมัยยังเป็น “จักรวรรดิ์อิตาลี” ไม่ได้อยู่ดี แม้ว่าแชมป์โลก 2 สมัยแรกอาจได้มาอย่างง่ายดายก็ตาม
กลับมาที่ปี 1980 แน่นอนว่า ชื่อของเปาโล รอสซี่ ที่มีเอี่ยวกับคดีล้มบอลสุดอื้อฉาว ถูกแบนจากการเล่นฟุตบอลเป็นระยะเวลา 2 ปี ในช่วงอายุ 24 ปี ซึ่งเป็นจุดพีคสุดของนักฟุตบอลอาชีพ แม้ว่าจะไม่ได้เล่นฟุตบอลช่วงระยะเวลานั้น แต่โชคยังดีที่ยูเวนตุสที่ได้เห็นฟอร์มเพชรฆาตอันเก่งกาจ จึงซื้อตัวเขามาจาก วิเซนซ่า 1.75 ล้านยูโร (อ้างอิงตามเว็บไซต์ Transfermarkt) และให้โอกาส รอสซี่ ซ้อมกับทีมขณะที่ยังโดนแบนจากคำสั่งศาล ก่อนได้รับการอภัยโทษเพราะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์
เอนโซ่ เบียร์ซ็อต กุนซือขรัวเฒ่า ของทัพอัซซูรี่ในขณะนั้น ตัดสินใจใส่ชื่อของ เปาโล รอสซี่ ที่ทำได้เพียง 1 ประตู ในฤดูกาล 1981/82 ติดไปกับทีมเพื่อลุยศึกฟุตบอลโลกปี 1982 ที่สเปนด้วย ทำให้เป็นจุดชนวนของสื่ออิตาลียิ่งประทุดุเดือดยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าที่ประเทศสเปน ผลงานรอบแรกของทีมชาติอิตาลี ถึงขั้นเรียกได้ว่า “ไม่เอาอ่าว” จาก การเสมอโปแลนด์ 0-0 เสมอ เปรู 1-1 และ เสมอ แคเมอรูน 1-1 ไม่สามารถชนะใครได้เลย แถมเปาโล รอสซี่ กองหน้าที่ เบียร์ซ็อต มั่นใจในศักยภาพ กลายเป็นมือปืนเป้าสะอาด เหมือนผีที่ล่องลอยแบบไร้ตัวตน แต่กลับเข้ารอบเพราะ สถิติ Head to Head ดีกว่าแคเมอรูนมาอย่างโชคช่วย
นั่นทำให้แฟนบอลอิตาลียิ่งไม่พอใจ และสื่ออิตาลีโถมคำวิจารณ์อย่างหนัก ขึ้นหนังสือพิมพ์ด่าทอ เบียร์ซ็อต เหมือนเป็น “ไอ้ง่เง่า” ดิโน่ ซอฟฟ์ ประตู และกัปตันทีม เหมือน “คนตาบอด” มองไม่เห็นลูกบอล รวมถึงการเขียนข่าวโจมตีต่างๆนาๆ สร้างเรื่องราวให้เป็นข่าวเท็จ โดยเฉพาะ รอสซี่ และเบียร์ซ็อต ที่ถูกเพล่งเล็งแบบพิเศษใส่ไข่สองฟอง จนดิโน่ ซอฟฟ์ ถึงขั้นออกปากว่าการให้สัมภาษณ์กับสื่อยิ่งกว่าการขึ้นศาลเสียด้วยซ้ำ
โปรแกรมในรอบสองของอิตาลีนั้น จะต้องเตะรอบแบ่งกลุ่มรอบสอง (Second Group Stage ก่อนถูกเปลี่ยนเป็น Knockout 16 ทีมสุดท้ายในปี 1990) กับ บราซิล และอาร์เจนติน่า ในกลุ่ม C เมื่อเทียบชื่อชั้นแล้ว อิตาลีกับฟอร์มปืนฝืดขนาดนี้ แทบจะไม่มีอะไรเอาไปสู้กับยอดทีมทั้งสองที่มีพระเจ้าแห่งโลกฟุตบอลอย่าง ดิเอโก้ มาราโดน่า ของอาร์เจนติน่า หรือ บราซิลที่มี “พ่อหมอยอดนักเตะ” โซคราเตส รวมถึง “เปเล่ขาว” ซิโก้ นำทัพทีม
เมื่อเห็นท่าทีของนักข่าวที่พยามยามทำลายความมั่นใจของนักเตะ เบียร์ซ็อต จึงแสดงการตัดสินใจอันเด็ดขาดด้วยยุทธวิธี “Silenzio Stampa” หรือ “Media Blackout” ในภาษาอังกฤษ ไม่ให้นักเตะภายใต้การดูแลของเขาพูดคุยให้คำสัมภาษณ์กับสื่อ ไม่พูด ไม่ตอบโต้ และให้ดีโน่ ซอฟฟ์ ผู้เป็นกัปตันทีมเป็นเหมือนโฆษกแถลงข่าวทุกเวลา 6 โมงเย็น แบบถามคำตอบคำเท่านั้น
เมื่อนักข่าวได้ยินแบบนี้ยิ่งไม่พอใจ เพราะข่าวฟุตบอลโลกเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจ และการที่ทำแบบนี้ พวกเขาจะเอาข่าวอะไรไปเขียน แต่ก็ต้องยอมรับกันตามตรงว่า “Silenzio Stampa” ทำให้เหล่านักเตะโฟกัสแต่ตัวเอง ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อบรรลุเป้าหมายมากขึ้น
เมื่อรอบที่สองได้เริ่มต้น เหล่าขุนพลอัซซูรี่ คว้าชัยเหนืออาร์เจนติน่าไป 2-1 และชนะบราซิลไป 3-2 ซึ่ง 3 ประตูดับซ่าแซมบ้า เป็นแฮตทริกของเปาโล รอสซี่ ว่ากันว่าแฮตทริกในครั้งนั้น เหมือนเป็นระเบิดที่ทลายความอัดอั้น ความกดดัน สร้างความมั่นใจของเขาให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่เขาจะยิงใส่โปแลนด์ที่มียอดกองหน้าอย่าง ซบิกนิเยฟ โบนิก ไปอีก 2 ประตู ในรอบรองชนะเลิศ โหม่งใส่เยอรมันตะวันตกในรอบชิงชนะเลิศพร้อมจบไปด้วยผลการแข่งขัน 3-1 คว้าแชมป์โลกมาครอบครอง เปลี่ยนสถานะเป็นฮีโร่ในชั่วข้ามคืน
เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว เราได้เห็นภาวะการเป็นผู้นำของ เอนโซ่ เบียร์ซ็อต ในฐานะผู้จัดการทีม และตัวเขาที่รู้วิธีการกระตุ้น ส่งเหล่านักเตะลงสนามอย่างหิวกระหาย โกรธ พร้อมระเบิดโลกด้วยผลงานอันน่าทึ่ง ซึ่งทำให้เขาได้สร้างยอดทีมที่แข็งแกร่งขึ้นมาจากทัวร์นาเม้นต์นั้น พร้อมประจักษ์ให้โลกได้รู้ถึงความแข็งแกร่งนี้ แม้ช่วงระยะเวลาแรกจะทุลักทุเลเต็มไปด้วยอุปสรรค รวมถึงเรื่องอื้อฉาวมากมาย แต่พวกเขาก็เป็นปึกแฟ่น สามารถผ่านพ้นขวากหนามสู่เส้นทางแชมป์โลกมาได้ โดย จานดินี่ บอดินี่ นักข่าวมากประสบการณ์ยกให้ทีมชาติอิตาลีปี 1982 เป็นทีมที่แกร่งสุด
หลายครั้งเมื่อเราเจอเรื่องแย่ๆ ถาโถมเข้ามา เพื่อบั่นทอนในเป้าหมายที่เรากำลังทำอยู่ จนเกิดคำถามมากมายต่างๆนาๆจากสังคมรอบข้าง และดูเหมือนเป็นเรื่องยากที่จะผ่านพ้นเรื่องราวเหล่านี้ บางทีการฟังเสียงหัวใจตัวเอง โฟกัสสิ่งที่ทำอยู่ รวมถึงสร้างหัวใจที่แข็งแกร่ง นับเป็นสิ่งสำคัญให้เราผ่านอุปสรรคเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ เฉกเช่น ทีมชาติอิตาลีปี 1982 ที่ฟันฝ่าคำวิจารณ์ ทำผลงานพิสูจน์เรื่องอื้อฉาว ให้กำลังใจตัวเองเพิ่มความแข็งแกร่ง จนสามารถคว้าแชมป์โลกกลับสู่มาตุภูมิมาได้ นับเป็นเรื่องควรค่าแก่การเรียนรู้ พร้อมนำไปปรับใช้ให้ทุกวันของเราเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน
ไม่ว่าวันนี้จะเจออะไรมา ขอให้รู้ว่าตัวเราแข็งแกร่งขึ้นอยู่เสมอ
- โพนี่จี้จุด
#WorldCup #Italy1982 #Football #PonyJeeJud #โพนี่จี้จุด
โฆษณา