9 ก.พ. 2021 เวลา 02:00 • บันเทิง
วิตก / กังวล / กดดัน / แข่งขัน [BNK48]
เป็นอีกครั้งที่ได้มีโอกาสในการพูดเชิงจิตวิทยากันอีกสักครั้ง แต่อย่าเพิ่งเบือนหน้าหนี หรือไถหน้าจอเฟซบุ๊คของคุณหนีบทความนี้กันไปก่อน เพราะว่าหัวข้อที่เราจะมาพูดกันถึงเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ผมได้สังเกต และค้นพบคำตอบนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน โดยผมจะพยายามเล่าข้อมูลเชิงจิตวิทยาให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด ตามความเข้าใจของผมเอง
ในสมัยการทำเพจแรกๆ ผมได้นำเรื่องราวของ ไอดอล กับ กีฬาออกมาเชื่อมโยงกันหลายต่อหลายครั้ง โดยให้เหตุผลว่า สำหรับความคิดส่วนตัวแล้ว ไอดอลก็เหมือนนักกีฬาที่ต้องหมั่นฝึกซ้อม พัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ มีวินัยในการรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ จัดสรรเวลาการทำงานไม่ให้เสียสมดุล รวมไปถึงบริหารจัดการความวิตกกังวล ความกดดัน อันเนื่องมาจากการแข่งขันภายในวง ซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสภาวะทางอารมณ์ของตัวเอง แทบไม่ต่างอะไรกันเลยแม้แต่น้อย
แน่นอนว่าความสมหวังถาโถมเข้าหาคุณตั้งแต่ได้ยินเบอร์ของตัวเองถูกประกาศขึ้น หรือได้จรดปากกาเซ็นสัญญาเข้าเป็นคนในสังกัด แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่คุณคนเดียวที่เข้าไปอยู่ในวง แต่ยังมีพลพรรคมิตรสหายอีกมากมายเข้าไปพร้อม ๆ กัน แถมยังไม่ได้นับรุ่นพี่ที่อยู่ก่อนหน้านี้ การแข่งขันที่เป็นส่วนผสมเจอปนมากับความฝันมันเป็นความจริงที่ต้องเจออย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ เคล้ากันกลายเป็นบ่อเกิดของความวิตกกังวล และความกดดันขึ้นมาเรื่อยๆเหมือนเป็นดินพอกหางหมูสะสมจนยากที่จะล้างออก
แล้วถ้าหากเราเป็นไอดอล ที่ต้องไปอยู่ในสถานการณ์นี้จะต้องรับมืออย่างไร ??
จริง ๆ แล้ว มันเป็นเรื่องปกติมาก เพราะความวิตกกังวล เป็นกลไกของมนุษย์จะเกิดขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมในการเผชิญหน้ากับปัญหา ซึ่งแสดงออกทางความคิด และความรู้สึกทางกาย ผลักดันให้เราสามารถแก้ปัญหา และคิดพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในระยะเวลาอันสั้น แต่ถ้ามีมากเกินไปก็จัดเป็นความผิดปกติ หากอ้างอิงจากจิตวิทยาทางการกีฬานั้น สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ปัจจัยได้แก่
1. การรับรู้ถึงความสามารถของตนเอง (Percieved Ability)
การรับรู้ตัวเองว่าจะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวจากการแข่งขัน หรือรับรู้ความสามารถของตัวเอง ซึ่งเกิดได้ทั้งการวิจารณ์ของคนรอบข้าง หรือความสามารถจริงทั้งก่อน และหลังการแข่งขัน ทำให้เกิดความวิตกกังวลได้
2. การคาดหวังความสำเร็จสูง (Expectancy of Success)
ตั้งความหวังสูง กลัวที่จะไม่สามารถเค้นฟอร์มเก่งของตัวเองออกมา คิดไปเองว่าจะเล่นได้ไม่ดี
3. การคาดว่าจะได้รับการประเมินที่ไม่ดีจากคนรอบข้าง (Expectancy of Negative Evaluation)
กลัวโดนคนรอบข้าง โค้ช พ่อแม่ ผู้ปกครองให้ฟีดแบ็กที่ไม่ดีหลังจากการเล่น กลัวไม่เป็นที่รัก ของคนอื่น
ซึ่งวิธีการแก้ไขความวิตกกังวลนั้น สามารถทำได้ไม่ยากเริ่มต้นจาก การรู้ทันความเครียดอันเป็นที่มาของความวิตกกังวล สำรวจใจตัวเอง ปรึกษาคนใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ หรือปรับตัวเองให้เหมาะสม รู้จักให้กำลังใจตนเอง ยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ให้ตัวเรานั้นรู้สึกผ่อนคลาย
แน่นอนว่าการพูดมันง่ายกว่านำไปทำจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากหากจะเริ่มต้นจะทำมัน ผมว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในมุมมองของแฟนคลับ แต่ก็สามารถรับรู้ถึงความวิตกกังวล ความเครียด และแรงกดดัน อันเนื่องมาจากการแข่งขันภายในวงเป็นอย่างดี สิ่งที่เราช่วยได้ คือ การให้กำลังใจพร้อมอยู่เคียงข้าง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด และคอยให้คำแนะนำอย่างเข้าใจ ค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่ต้องคาดหวังอะไรกลับมา
ซึ่งพักหลังนี้ผมได้เห็นสมาชิกหลายคนประสบภาวะซึมเศร้า จิตตก และมีท่าทีว่าจะเป็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยเป็นแรงบันดาลใจของการเขียนบทวามนี้ เพื่อให้ทุกคนรับรู้ และเข้าใจ พร้อมเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ได้ดีขึ้น ไม่มากก็น้อย
#BNK48 #CGM48 #PonyJeeJud #โพนี่จี้จุด
โฆษณา