5 ก.พ. 2021 เวลา 04:10 • ธุรกิจ
บริษัทน้ำมันโลกเสียงแตก ถึงเวลาปรับธุรกิจหรือไม่
ภาวะวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) และการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส กำลังทำให้เกิดการแบ่งแยกของยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นสองฝ่าย และแน่นอน การแบ่งแยกนี้ จะทำให้เกิดผลที่ตามมาซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแต่ละฝ่ายจะเลือกกลยุทธ์ปรับธุรกิจ หรือมุมมองทิศทางความต้องการน้ำมันอย่างไร
กลุ่มแรก เป็นการรวมตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่น้ำมันสัญชาติยุโรป อย่าง BP, Shell และ Total ซึ่งพยายามเบนเข็มออกจากธุรกิจผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนอีกกลุ่มคือบริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน อย่าง ExxonMobil และ Chevron ซึ่งผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้มีมุมมองว่าความต้องการน้ำมันจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส แม้จะมีแรงกดดันจากทั่วโลกในเรื่องการมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Decarbonization)
ทั้งนี้ในปี 2563 หากดูจากการรายงานผลประกอบการประจำปี บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั้งสองฝั่ง ต้องเผชิญกับการขาดทุนเป็นหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังต้องประสบกับความไม่แน่นอนในปี 2564 ทำให้ต้องมีการปรับตัวอย่างมาก โดยฝั่ง BP และShell ได้แสดงจุดยืนในการหันมาดำเนินธุรกิจพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่ทางด้านผู้ผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯกลับต้องเจอกับแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศตั้งแต่วันแรกที่นายโจ ไบเดน เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ผู้เชี่ยวชาญต่างกล่าวว่า หากบริษัทเหล่านี้ต้องการจะเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ จะต้องรีบดำเนินการด่วน มิฉะนั้นธุรกิจของพวกเขาจะย่ำแย่เกินแก้
BP, Shell และ Total ได้เริ่มเส้นทางใหม่เมื่อปีที่แล้วเมื่อบริษัทเหล่านี้ได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานลงให้เป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 และซีอีโอของบริษัทเหล่านี้ก็ได้พูดถึงความจำเป็นที่จะพัฒนาธุรกิจใหม่ๆที่จะมาแทนความต้องการน้ำมันที่ลดลง
BP มองว่าความต้องการน้ำมันนั้นได้ถึงจุดสูงสุดในปี 2562 และ BP มีความตั้งใจที่จะลดการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลง 40% ภายในปี 2573 ขณะที่จะมีการเพิ่มการลงทุนคาร์บอนต่ำรายปีให้เป็น 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รอยเตอร์รายงานว่า Shell ต้องการให้ความสำคัญการซื้อขายพลังงานสะอาดให้มาเป็นอันดับแรก และสร้างธุรกิจให้ลูกค้า ด้วยแผนที่จะขายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ลูกค้า รวมถึงให้มีโครงข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ใหญ่ขึ้นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
ในเดือนที่แล้ว Total ยักษ์ใหญ่น้ำมันจากฝรั่งเศส ได้กลายเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่รายแรกที่ตัดความสัมพันธ์จาก สถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (American Petroleum Institute – API) จากการที่สถาบันดังกล่าวมีนโยบายที่ตรงกันข้ามกับการจัดการสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงมีการสนับสนุนนักการเมืองที่มีความเห็นต่างจากความตกลงปารีส (Paris Agreement)
การดำเนินการเหล่านี้ในยุโรป ตรงกับความต้องการของนักลงทุนใน Wall Street ที่เริ่มหันมาถือหุ้นบริษัทที่มีมาตรฐานด้านสภาพภูมิอากาศที่สูงขึ้น อย่าง BlackRock ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ส่งจดหมายให้กับบริษัทจดทะเบียน ขอให้มีการเปิดเผยแผนรูปแบบธุรกิจว่าจะทำอย่างไรให้เข้ากับเศรษฐกิจคาร์บอนเป็นศูนย์ซึ่งจะต้องทำให้ได้ภายในปี 2573 จากการที่ BlackRock นั้นมีสินทรัพย์ที่บริหารจัดการเกือบ 8.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้คำขอนี้สำคัญมาก
สำหรับปี 2564 นี้ จะเป็นปีที่บริษัทสัญชาติยุโรปจะมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่าน และแน่นอน การเปลี่ยนผ่านอาจจะทำให้เกิดความเจ็บปวด เพราะการยกเครื่องบริษัทใหม่จะทำให้ต้องเลิกจ้างพนักงานไปราวๆ 20,000 ตำแหน่ง ใน BP และ Shell และยังต้องโน้มน้าวผู้ถือหุ้น ว่าการเข้าสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่มีการแข่งขันสูงไปแล้วนี้ จะเป็นไปด้วยดี และความเชี่ยวชาญของพวกเขาจะสามารถนำมาใช้กับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆได้
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีความเคลือบแคลงใจในหมู่นักลงทุนเกี่ยวกับทักษะของบริษัทน้ำมันเหล่านี้ที่จะนำมาใช้กับพลังงานสะอาด
หันมาดูบริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน อย่าง Exxon และ Chevron กันบ้าง ซึ่งที่ผ่านมานั้น ทั้งสองบริษัทก็พยายามต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจ
คงจะจำกันได้ว่า Exxon นั้นถูกเตะออกจากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average) เมื่อปีที่แล้ว และตอนนี้กำลังต่อสู้กับนักลงทุนหัวรุนแรงที่เสนอแคมเปญให้บริษัทพิจารณาการดำเนินธุรกิจใหม่ โดยบริษัทกล่าวว่า ได้มีการสร้างธุรกิจใหม่ที่จะใช้เทคโนโลยีของบริษัทในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ช่วยดึงคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศได้ และบริษัทจะลงทุน 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเทคโนโลยีซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซได้
อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยด้านการเมืองในสหรัฐฯ อาจจะทำให้ Exxon และ Chevron เปลี่ยนทิศทางในการดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น ทัง้นี้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เขาได้ประกาศว่าสหรัฐฯจะกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส ในวันแรกที่เข้ามาทำงาน และได้ระงับการเช่าพื้นที่สำหรับการสำรวจขุดเจาะน้ำมันใหม่ๆในแผ่นดินของรัฐอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม การแบ่งแยกระหว่างบริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯและยุโรป ทำให้เกิดความเห็นที่แตกแยกในเรื่องของความต้องการน้ำมันดิบหลังจากที่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด
การแพร่ระบาดของไวรัสนี้ ได้สร้างความเสียหายให้กับผลการดำเนินงานทั้งอุตสาหกรรม และจากการล็อคดาวน์ไปเมื่อต้นปีที่แล้ว ได้ทำให้ราคาน้ำมันในเดือนมี.ค. ลดฮวบอย่างรุนแรง ทำให้ทั้ง Exxon และ BP ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน
Exxon ขาดทุนไป 22,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็นปีแรกที่ขาดทุนตั้งแต่ปี 2542 ส่วน BP รายงานผลขาดทุน 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 10 ปีของบริษัท
บริษัทสัญชาติอเมริกันเหล่านี้ กำลังดำเนินธุรกิจภายใต้สมมติฐานที่ว่าปัญหาเหล่านี้จะเป็นปัจจัยระยะสั้น ขณะที่พวกเขาเองก็ไม่ได้ให้ไทม์ไลน์ที่ชัดเจนเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส ได้แต่ระบุว่าจะเห็นความต้องการน้ำมันกลับมาเฟื่องฟูในอีกทศวรรษข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอย่าง อินเดีย จะเติบโตอย่างรวดเร็ว
ทางด้าน Goldman Sachs เองก็คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันนั้นจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีก 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาที่ระดับ 65 ดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.ค. ปีนี้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะเป็นการฟื้นตัวที่ดีมากๆจากปีที่แล้ว แต่ก็ยังต่ำกว่าราคาที่เคยทำไว้มากกว่า 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เนลเมื่อสิบปีก่อน ที่ตอนนั้นบริษัทน้ำมันต่างก็ทำกำไรกันมหาศาล
ทุกท่านมองว่าอย่างไรคะ ทางไหนน่าจะเป็นทางรอดของธุรกิจน้ำมัน ปรับธุรกิจ หรือยึดกับการคาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันจะกลับมาฟื้นได้อีก ที่แน่ๆ บริษัทใดตีโจทย์แตก ก็รอดล่ะค่ะ
โฆษณา